ข้อเท็จจริง ‘พาราควอต’ สารพิษที่ไม่มียาถอนพิษ

ในยุค ‘กรีน’ และ ‘คลีน’ ที่ใครต่อใครต่างถวิลหาอาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ เราทุกคนต่างรู้ดีว่า สารเคมีที่ใช้ในภาคการเกษตรมีพิษร้ายต่อร่ายกายมากมายเพียงใด และหลายประเทศได้ออกมาตรการแบนสารเคมีอย่างเข้มงวด แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่ได้รับความกระจ่างก็คือ เมื่อไหร่หนอประเทศไทยจึงจะปลอดจากสารเคมีเหล่านี้เสียที

เวทีวิชาการเรื่อง ‘ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย: พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริออส (Chlorpyrifos)’ จัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน โดยมีประเด็นที่สังคมควรรับฟังและใส่ใจอยู่หลักๆ 3 ประเด็น คือ การเกิดพิษเฉียบพลันสูงในสิ่งมีชีวิต ผลกระทบต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเกษตร จัดโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขสาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัย สิ่งแวดล้อม และพิษวิทยา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาเภสัชกรรม ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) แผนงานวิจัยนโยบายอาการและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศชาติ

 

หลายประเทศเลิกใช้ แต่ไทยยังเฉย

เป้าหมายของวงเสนาวิชาการ คือการเสนอข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายุติการใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เภสัชกรหญิงนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวในช่วงท้ายว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายควรพิจารณาให้ยุติการใช้สารเคมีอันตรายทั้งสามชนิดนี้ โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และคณะผู้จัดการประชุมในครั้งนี้จะส่งหลักฐานทางวิชาการให้คณะกรรมการพิจารณายกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริออส และไกลโฟเซต ตามมติของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

“ถ้าตราบใดสารพิษ (พาราควอต คลอร์ไพริออส และไกลโฟเซต) ยังอาบแผ่นดินอยู่แบบนี้ โดยสามัญสำนึกและข้อมูลทางวิชาการ เราเชื่อว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายควรจะต้องแบนสารเคมีเกษตรทั้งสามชนิดนี้”

ปัจจุบันมี 52 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรปและเอเชีย รวมถึงประเทศที่เป็นผู้พัฒนา ผู้ครอบครองตลาด และผู้ผลิตรายใหญ่ ได้ประกาศแบนพาราควอตอย่างเป็นทางการแล้ว และอีก 17 ประเทศ มีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ขณะที่ประเทศที่เหลือ รวมถึงประเทศไทย ยังคงใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะพิจารณาให้มีการต่ออายุพาราควอตหรือยกเลิกการใช้หรือไม่

อันตรายถึงตาย

ไขข้อสงสัยประเด็นแรกว่าด้วยพิษร้ายของสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดย รองศาสตราจารย์จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงการจัดการความเป็นอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยอาศัยข้อมูลความเป็นพิษเฉียบพลันที่ได้จากสัตว์ทดลองและความเข้มข้นที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ ซึ่ง WHO ได้จัดพาราควอตให้เป็นสารอันตรายระดับปานกลาง แต่มีหมายเหตุเพิ่มเติมระบุไว้ว่า

หากพาราควอตถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ แม้จะมีความรุนแรงน้อยหากใช้ตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง แต่เมื่อใดก็ตามที่พาราควอตปริมาณเข้มข้นเข้าสู่ร่างกายทางปากหรือสัมผัสทางผิวหนัง ก็อาจส่งผลกระทบถึงชีวิตได้ ที่สำคัญคือ พาราควอตเป็นสารพิษที่ไม่มียาถอนพิษ”

รศ.จุฑามาศ กล่าวเพิ่มอีกว่า ในงานวิจัยเปรียบเทียบอัตราการตายของผู้ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศศรีลังกาของ Andrew H. Dawson และคณะ เมื่อปี ค.ศ. 2010 พบผู้ป่วยที่ได้รับสารพาราควอตมีอัตราการตาย 42.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่ากลุ่มสารเคมีอันตรายระดับสูง ในขณะที่ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2553-2559 พบว่า อัตราการตายของผู้ป่วยในประเทศไทยจากพาราควอตสูงถึง 46.18 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ป่วยทั้งหมด 4,223 คน เสียชีวิตมากถึง 1,950 คน

ผลการทดลองของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า กลไกการทำงานของพาราควอตจะเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลอง ทำให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของสัตว์ และยังทำให้เซลล์มะเร็งปอดตายแบบ Apoptosis ซึ่งเป็นการตายที่มีการตั้งโปรแกรมไว้แล้ว และเป็นสารก่อกลายพันธุ์ชนิดอ่อน

สำหรับผลการทดลองสารคลอร์ไพริออส มีผลทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้เพิ่มการเจริญเติบโตได้ ส่วนสารไกลโฟเซตมีผลกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดพึ่งพาฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณที่ต่ำมาก ซึ่งสารไกลโฟเซตระดับต่ำนี้เองทำให้เซลล์มะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น 5-13 เท่า

 

แผ่นดินอาบสารพิษ

ประเด็นต่อมาในส่วนผลกระทบต่อสุขภาพ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกเล่าถึงประสบการณ์ในปี 1985 เมื่อครั้งที่ได้ฟังบรรยายที่โรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ จากที่มีผู้ค้นพบว่า สาร MPTP สามารถทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ ซึ่งสาร MPTP นี้เองมีโครงสร้างเหมือนกับยาฆ่าหญ้าพาราควอตที่เกษตรกรไทยใช้กันในปัจจุบัน

จากการเฝ้าติดตามผู้ที่สัมผัสยาฆ่าหญ้าพาราควอตมาตั้งแต่ปี 2000 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคพาร์กินสันมากขึ้น และในปี 2006 มีรายงานผลจากการติดตามผู้ที่สัมผัสสารเคมีเหล่านั้นมาเป็นเวลา 9 ปี ก็พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยพาราควอตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า

จากผลการศึกษาตั้งแต่ปี 2011-2018 มีการศึกษาโดยใช้พยาธิตัวกลมซึ่งมีกระจุกประสาทแบบเดียวกับคน พบว่า สารพาราควอตและไกลโฟเซตมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ประสาทที่สร้างสารโดปามีน นอกจากนั้น ในปี 2017 ที่ผ่านมามีการรวบรวมรายงานทั้งหมดในคน เพื่อทำการวิเคราะห์เชิงสถิติจนสามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหญ้ากับการเกิดโรคพาร์กินสัน

“ขณะนี้เรารู้แล้วว่า หลักโภชนาการที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ผัก ผลไม้ปลอดสารเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน ผัก ผลไม้ และอาหารกากใยที่เรารับประทาน ถ้าพูดถึงแค่สารกันบูด สารกันเหม็นหืน ก็พบว่าสารเหล่านี้มีปริมาณมากกว่าที่กำหนดถึง 10 เท่า และสารเหล่านี้ก็มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย

หากพูดถึงเรื่องงบประมาณ ถ้าเรายึดโมเดลของอังกฤษมาใช้ในการรักษาโรค เราจะต้องใช้งบประมาณสูงถึงสองแสนล้านบาท แต่เรามีโรคเยอะกว่าเขามาก เพราะฉะนั้นงบประมาณย่อมไม่พอถ้าเราไม่ป้องกันตั้งแต่ตอนนี้ แม้มีข้อมูลถึงขนาดนี้แล้วยังไม่ทำอะไรเลย ประเทศไทยไม่มีความหวัง”

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ศาสตราจารย์พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการศึกษาของศูนย์ CWEND ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์โลเวลล์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า พาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลันสูง การฉีดพ่นด้วยอุปกรณ์สะพายหลังโดยชุดป้องกันที่เกษตรกรใช้อยู่ไม่สามารถป้องกันการรับสัมผัสจากพาราควอตได้

“พาราควอตและไกลโฟเซตยังสามารถส่งผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ โดยพบการตกค้างของพาราควอตในทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20 เปอร์เซ็นต์ และพบไกลโฟเซตระหว่าง 49-54 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงในการรับสารเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไปถึง 12 เท่า”

ไม่เพียงแต่เท่านี้ หากหญิงตั้งครรภ์มีประวัติการขุดดินในพื้นที่การเกษตรที่มีการใช้พาราควอต จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า

รองศาสตราจารย์พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล

จากไร่นาสู่ก้นครัว

ผลกระทบจากสารเคมีเกษตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งประเด็นนักวิชาการให้ความสนใจ รองศาสตราจารย์พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงข้อถกเถียงในการตรวจพบพาราควอตปนเปื้อนในพื้นที่จังหวัดน่าน พิษณุโลก และอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าเกิดขึ้นจากการฉีดพ่นสารเคมีแล้วไม่ได้เสื่อมฤทธิ์ในทันที แม้ว่าสารพาราควอตและไกลโฟเซตจะมีการดูดซับได้ดีในดิน

“ปัญหาคือเมื่อมีการใช้สารเคมีต่อเนื่องซ้ำๆ หลายปี หรือมีการใช้ในปริมาณมาก จะทำให้สารเคมีสะสมจนเกินสภาวะอิ่มตัวเกินกว่าที่สารอินทรีย์ในดินจะดูดซับได้”

กระบวนการนี้ รศ.พวงรัตน์ อธิบายว่า จะเกิดการคายซับเกิดขึ้น ทำให้สารเคมีถูกชะล้างออกจากดินไปสู่แหล่งน้ำ ส่งผลให้พืชดูดซับสารเคมีเหล่านี้ไปสะสมในลำต้น

“สารฆ่าหญ้าจะเข้าสู่รากพืชด้วยการแพร่ตามกลไก carrier mediated system เป็นการดูดซึมสารเคมีเข้าสู่พืชในรูปแบบของ active absorption ผ่านเยื่อเมเบรน โดยมีโปรตีน กรดอะมีโน เป็นสารนำพาทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายพาราควอตและไกลโฟเซตจากรากไปเซลล์ต่างๆ ของพืช ซึ่งพาราควอตที่ผ่านเข้าสู่พืชด้วยกลไกนี้จะทำให้เกิดการสะสมในพืชนั้นๆ โดยผู้บริโภคไม่สามารถขจัดสารตกค้างออกได้ด้วยการล้าง”

การตกค้างของสารเคมีในผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และน้ำอุปโภคบริโภค ในมุมของ รศ.พวงรัตน์ ส่งผลให้ผู้บริโภคและประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับสารเคมีเหล่านี้ไม่ต่างจากเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีฆ่าหญ้าแต่อย่างใด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล กิตนะ

หากมองในมุมของนักชีววิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล กิตนะ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการศึกษาแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร จังหวัดน่าน พบการปนเปื้อนของพาราควอตในกบ ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง มีค่าเกินกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดไว้ในอาหาร ซึ่งจำกัดปริมาณพาราควอตให้มีในสัตว์ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม แต่กลับพบในปูนา 24-56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6-1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1-12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5-7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม

“นี่คือสัญญาณเตือนภัยใกล้ตัวจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้” ผศ.นพดล ระบุ


Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า