ไหนว่าเลิกใช้พาราควอตแล้ว แต่องค์กรผู้บริโภคยังตรวจพบปนเปื้อนใน ‘น้ำปู’

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างของสารพาราควอตจำนวน 8 ตัวอย่าง จากจำนวน 24 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33 หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจทั้งหมดใน 6 จังหวัดภาคเหนือ โดยตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยการตกค้างของพาราควอตในปริมาณ 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่

  1. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากตำบลบ้านลา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  2. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากตำบลทุ่งฮั้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  3. น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  4. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้าน น.ส.นิตยา ตำบลแม่ยางฮ่อ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  5. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  6. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  7. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน อำเภอปง จังหวัดพะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้สนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีอันตราย 3 รายการ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ยกเลิกไปจำนวน 2 รายการ คือ พาราควอต และคลอไพริฟอส ส่วนไกลโฟเสตใช้มาตรการจำกัดการใช้

องค์กรผู้บริโภคจึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการในการตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์แม้จะพบสารพาราควอตในปริมาณไม่มาก แต่ก็ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ปูนาที่เก็บมาจากท้องนานั้นมีการปนเปื้อนสารเคมีพาราควอต

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า แม้จะมีการห้ามการนำเข้า การผลิต และการจำหน่ายสารพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังพบการตกค้างของสารพาราควอตในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร ไม่สอดคล้องกับการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูลของ ‘ฉลาดซื้อ’ ไปอ้างว่าไม่พบพาราควอตในปูนา ตามที่เป็นข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืนยันว่า น้ำปูหรือน้ำปู๋ มีพาราควอตตกค้างถึง 1 ใน 3 จากทั้งหมด 24 ตัวอย่างที่ได้ทำการทดสอบ ซึ่งพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน มีอันตรายร้ายแรง การพบตกค้างในอาหารจึงเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคทุกคน และเป็นต้นทุนในการรักษาพยาบาลของรัฐ โดยผู้ค้าสารเคมีไม่เคยต้องแบกรับและไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

“องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอคัดค้านการทบทวนการยกเลิกพาราควอตและคลอไพริฟอสของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 28 กันยายนนี้ โดยขอให้คงมติยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสองชนิด และเร่งเพิกถอนไกลโฟเส เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค”

พวงทอง ว่องไว เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่า น้ำปูหรือน้ำปู๋ เป็นอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น วิธีการทำน้ำปูนั้นชาวบ้านจะนำปูนามาล้าง ใส่ขมิ้น ตะไคร้ โขลกรวมกันจนละเอียด จากนั้นเคี่ยวเป็นเวลา 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียวสีดำ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า