Paris syndrome: เมื่อปารีสไม่ตรงปก นักท่องเที่ยวจึงอกหัก

อาจไม่เกินจริงหากกล่าวว่าโอลิมปิกปารีส 2024 เป็นงานมหกรรมกีฬาที่สวยงามที่สุดงานหนึ่งในทศวรรษนี้ ฉากหลังเป็นสถานที่สำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของปารีส เช่น หอไอเฟล กรองด์ ปาเลส์ (Grand Palais) ปงอาแล็กซองดร์-ทรัว หรือ สะพานอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Pont Alexandre-III) มหาวิหารนอเทรอดาม (Notre-Dame de Paris) และพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musée du Louvre) สถานที่เหล่านี้ถูกนำเสนอออกมาพร้อมการประดับประดาและการแสดงที่ซ่อนอยู่ในนั้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสถานที่นั้นได้สวยงามตระการตา ชวนให้ผู้คนทั่วโลกไปเยี่ยมเยือนเมื่อไปท่องเที่ยวปารีส

ภาพวาดสีนํ้ามัน Rue de Paris, temps de pluie หรือ ถนนในกรุงปารีสในวันฝนตก ของ กุสตาฟว์ ไคล์บอตต์ (Gustave Caillebotte) ในปี 1877 เผยให้เห็นความสวยงามและภาพจำอันเป็นเอกลักษณ์ของเมือง | ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Paris_Street;_Rainy_Day 

กรุงปารีสที่เป็นที่เลื่องลือในด้านความสวยงาม วัฒนธรรม และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคมถึง 11 สิงหาคม ค.ศ. 2024 คาดว่าการแข่งขันนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 15 ล้านคน โดยจะมีนักท่องเที่ยวไหลเข้ามาในเมืองแห่งนี้มากกว่า 50 ล้านคนตลอดทั้งปี 

มหกรรมโอลิมปิกไม่เพียงเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล ซึ่งอาจก่อให้เกิดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวได้มากถึง 4,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคึกคักทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ ยังมีปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วย นั่นก็คือ ‘โรคปารีสซินโดรม’ เพราะกรุงปารีสอาจ ‘สวยแต่รูป จูบไม่หอม’

ปารีสซินโดรมคืออะไร?

โรคปารีสซินโดรม (Paris syndrome) เป็นภาวะทางจิตใจ ในกลุ่มอาการ culture shock ที่นักท่องเที่ยวมักประสบพบเจอมากที่สุด อันเกิดจากความรู้สึกผิดหวังอย่างมาก เมื่อความเป็นจริงของกรุงปารีสไม่เป็นไปตามความคาดหวังที่วางไว้ โรคนี้สามารถทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล เวียนศีรษะ เหงื่อออก และไปจนถึงการเกิดภาพหลอนได้ 

ปารีสซินโดรม ได้รับการพูดถึงเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 มักพบได้บ่อยในหมู่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่ไปเยือนกรุงปารีส (ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ปาริโชโคกุน; パリ症候群) โรคนี้เกิดจากความไม่ลงรอยกันระหว่างภาพลักษณ์ในอุดมคติของกรุงปารีสที่สื่อนำเสนอและการสร้างการรับรู้เชิงวัฒนธรรมว่า กรุงปารีสเป็นศูนย์กลางของความหรูหราสวยงามและศิลปวัฒนธรรมที่เฟื่องฟูแห่งหนึ่งในยุโรป 

ในอีกด้าน ปารีสอาจเต็มไปด้วยความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ไปทำลายภาพฝันของนักท่องเที่ยว จากสภาพท้องถนนที่สกปรก กลิ่นอุจจาระและปัสสาวะที่เหม็นคลุ้ง แม่นํ้าแซนที่เน่าเสีย โจรล้วงกระเป๋า มิจฉาชีพรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการปฏิบัติตัวอันหยาบกร้านของชาวปารีส (Parisienne) ที่มีต่อนักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดอาการต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวอยู่เป็นนิจ จนสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงปารีสต้องเปิดสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอาการโรคนี้

ปารีสซินโดรมแก้ได้หรือไม่?

ปารีสซินโดรมนับเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่อยู่คู่กรุงปารีสมาช้านาน และปัญหานี้อาจเพิ่มขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวในช่วงโอลิมปิก 2024 การแก้ไขปัญหาโรคปารีสซินโดรม อาจสามารถแก้ไขด้วยหลายวิธีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

วิธีการเฉพาะหน้า เช่น การสร้างศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมทางวัฒนธรรม และลดความคาดหวัง ให้อยู่บนความเป็นจริง การเปิดตัวแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ และเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็นผ่านตัวแทนท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น 

ในอีกทางหนึ่ง เมืองควรรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเข้ากับเครือข่ายสนับสนุนและเสนอบริการให้คําปรึกษาที่เข้าถึงได้ง่าย การฝึกอบรมการบริการสําหรับผู้อยู่อาศัยและธุรกิจต่างๆ แต่นี่อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งเหล่านี้อาจลดความทุกข์ทางจิตใจของผู้คนได้บ้าง แต่ไม่อาจแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างสภาพแวดล้อมในปารีสได้ 

พฤติกรรมของผู้คนและความสะอาดของเมืองไม่ใช่สิ่งที่แก้ไม่ได้

กรุงโตเกียวก่อนการแข่งขันโอลิมปิกปี 1964 เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษจากอุตสาหกรรม อันเกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนไม่มีใครอยากไปเยือน แต่การเตรียมการของกรุงโตเกียวสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ได้พลิกโฉมเมืองโตเกียวไปตลอดกาล

กรุงโตเกียว ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1964 | ที่มา: https://www.japantimes.co.jp/sports/2021/07/15/summer-olympics/1964-tokyo-olympic-landmarks/ 

การปรับตัวทางวัฒนธรรมและการปรับปรุงเมืองของญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างสำคัญ การปรับตัวเช่นนี้ทำให้เมืองและผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น รวมถึงมีการฝึกภาษาสำหรับคนในท้องถิ่นและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับชื่อเสียงของโตเกียวในระดับโลก ทำให้โตเกียวยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลกมาถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับที่โตเกียวเคยเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อการจัดโอลิมปิกมาแล้ว หากปารีสแก้ปัญหาเป็นที่ประจักษ์มากว่าหลายทศวรรษได้ ปารีสก็มีโอกาสที่จะเพิ่มความน่าดึงดูดใจและสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมได้อย่างสถาพรและกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าที่เคย

อ้างอิง

Author

ไตรรัตน์ พุทธรักษา
ซ้ายตกขอบไร้สังกัด ผู้เป็นมิตรกับแมวจรทั่วโลก เสพติดอาหารเลิศรส ดนตรี ภาพยนตร์ และ ศิลปะ ฝันอยากเปลี่ยนโลกก่อนที่จะโดนโลกเปลี่ยน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า