การประชุมรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกระทั่งเที่ยงวัน มีการถกเถียงกันเรื่องการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ โดยฝ่ายพรรคเสียงข้างน้อยระบุว่าเป็น ‘ญัตติ’ ที่ไม่สามารถเสนอชื่อเดิมซ้ำได้ ส่วน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอภิปรายถกเถียงว่าไม่ใช่ ‘ญัตติ’ แต่เป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ
ต่อมาประธานรัฐสภาจึงวินิจฉัยเสนอให้มีการอภิปรายและลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 ว่าการพิจารณาวาระดังกล่าวนี้เป็น ‘ญัตติ’ และขัดต่อข้อบังคับที่ 41 หรือไม่
การอภิปรายถัดจากนี้จึงต้องจับตาดูกันอย่างต่อเนื่อง เพราะหากที่ประชุม ‘เห็นด้วย’ ว่าขัดต่อข้อบังคับที่ 41 การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 จะต้องตกไป
ก้าวไกล
- การพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ แต่เป็นข้อพิจารณาให้รัฐสภาเห็นชอบตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272
- การโหวตนายกฯ ต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
- ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไม่สามารถนำมาหักล้างเจตจำนงของรัฐธรรมนูญในการเลือกนายกฯ ได้
เพื่อไทย
- การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นกระบวนการเสมือนญัตติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ไม่สามารถนำข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 มาใช้บังคับได้
รวมไทยสร้างชาติ
- เสนอญัตติว่า การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่
ประธานรัฐสภา
- วินิจฉัยให้พิจารณาตามข้อบังคับที่ 151 เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับที่ 41