#เลือกตั้ง66 THE PARTIES NEVER END: ส่องเพจพรรค กลยุทธ์หาเสียงออนไลน์ ใครปังสุด

23 เมษายน 2566 iLaw, Bangkok Through Poster และ KINJAI CONTEMPORARY เปิดนิทรรศการ Election Through Poster 2023 รวบรวมผลงานโปสเตอร์ของนักออกแบบทั่วประเทศกว่า 66 ชีวิต พร้อมจัดแสดงข้อมูลความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง 2566

ภายในงาน มีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ ‘THE PARTIES NEVER END: Re-Branding ปรับภาพลักษณ์ เปลี่ยนกลยุทธ์ รับศึกเลือกตั้ง 66’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิยพงศ์ ภูมิจิตร Shake & Bake Studio และ น้ำใส ศุภวงศ์ WeVis ดำเนินรายการโดย อัญชลี อนันตวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้ก่อตั้ง Speedy Grandma 

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ให้ภาพรวมว่าการเลือกตั้ง 2566 มีความแตกต่างจากการเลือกตั้ง 2562 ค่อนข้างมาก เนื่องจาก หนึ่ง-สถานะของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เหมือนเดิม เพราะไม่มีบารมีและไม่มีกองทัพอยู่ในมือ สอง-การปรับสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 150 คน เป็น 100 คน จำนวน ส.ส.เขต จึงเพิ่มขึ้น 50 คน นำไปสู่การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบแปลกๆ เช่น เขต ก ยกเว้นแขวง ข ซึ่งอาจเข้าข่าย ‘Gerrymandering’ (การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่ยุติธรรม) สาม-การทวงบัลลังก์คืนของพรรคเพื่อไทยที่ใช้กลยุทธ์ ‘แลนด์สไลด์’ ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นภัยคุกคามต่อพันธมิตรเดิม รวมถึงพันธมิตรใหม่ สี่-พรรคร่วมรัฐบาลเดิมกำลังต่อรองท่ามกลางความสิ้นหวัง

ผศ.ดร.บัณฑิต ชี้ว่า ความต่าง 4 ประการ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เสมือนการรบแบบ ‘หมัดต่อหมัด’ ในแต่ละเขต ซึ่งหากย้อนไปในการหาเสียงเลือกตั้ง 2562 จะสามารถแบ่งพรรคการเมืองได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง-พรรคที่เน้นผลิตภัณฑ์ ขายของโดยไม่สนใจคนซื้อ เช่น พรรคพลังประชารัฐ สอง-พรรคที่เน้นการขาย หีบห่อสิ่งของแล้วจึงขายของ เช่น พรรคภูมิใจไทย สาม-พรรคที่เน้นการตลาด แบ่งเป็นตลาดอนาคต เช่น พรรคอนาคตใหม่ และตลาดเฉพาะ เช่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเสรีรวมไทย

ข้อสังเกตของ ผศ.ดร.บัณฑิต คือ พรรคการเมืองยังจัดอยู่ในประเภทเดิม เพียงแต่การเลือกตั้ง 2566 เป็นการรบระยะประชิดระหว่างพรรคที่เน้นการตลาดอย่าง พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

ถัดมา น้ำใส ศุภวงศ์ ชวนมองข้อมูลจากการสำรวจเพจเฟซบุ๊กของพรรคการเมือง 11 พรรค โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 20 เมษายน 2566 พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำคอนเทนต์มากที่สุด รองลงมาคือพรรคเพื่อไทยและพรรคเสรีรวมไทยตามลำดับ แต่เมื่อดูจำนวนโพสต์ในวันประกาศยุบสภา 20 มีนาคม โดยเฉพาะ จะพบว่า พรรคก้าวไกลปล่อยคอนเทนต์ในวันดังกล่าวมากที่สุดกว่า 648 โพสต์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชุดนโยบายของพรรค

สำหรับข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนโพสต์และจำนวนการมีส่วนร่วมเฉลี่ยต่อโพสต์ หรือ engaged พบว่า พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีจำนวนการมีส่วนร่วมเฉลี่ยต่อโพสต์สูงสุด 3 อันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่มียอด engaged หลักสิบ ขณะที่จำนวนโพสต์ของพรรคภูมิใจไทยกว่า 58.3 เปอร์เซ็นต์ และพรรคไทยสร้างไทย 51.7 เปอร์เซ็นต์ ไม่มียอด engaged

ในด้านค่าใช้จ่ายในการบูสต์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊กพรรค พบว่า พรรครวมไทยสร้างชาติใช้เงินซื้อโฆษณากว่า 427,597 บาท จำนวน 313 โพสต์ รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ 143,887 บาท จำนวน 1,022 โพสต์ พรรคไทยสร้างไทย 125,705 บาท จำนวน 130 โพสต์ และพรรคเพื่อไทย 109,962 บาท จำนวน 21 โพสต์ พรรคไทยภักดี 18,967 บาท จำนวน 50 โพสต์ พรรคพลังประชารัฐ 500 บาท จำนวน 1 โพสต์ถ้วน 

ผศ.ดร.บัณฑิต เสริมว่า แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กยังคงเป็นสมรภูมิหลัก แม้เครื่องมือที่มีจะยังไม่สามารถเปิดเผยให้เห็นได้ว่า รายละเอียดหรือการพูดคุยในโพสต์นั้นๆ เป็นไปในทิศทางใด จึงอาจทำให้เกิด echo chamber หรือเป็นเพียงเสียงสะท้อนของคนที่คิดเห็นแบบเดียวกัน ขณะที่แพลตฟอร์ม TikTok นับเป็นอีกสนามคอนเทนต์ของการหาเสียงที่น่าสนใจ 

ปิยพงศ์ ภูมิจิตร พูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำแคมเปญของพรรคการเมือง โดยตั้งข้อสังเกตว่า พรรคก้าวไกลคือภัยคุกคามที่แย่งคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทย ซึ่งแต่เดิมพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์จากกลุ่มคนเสื้อแดงและคนที่ไม่สนับสนุนเผด็จการ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ตัวอย่างคือ แคมเปญ ‘The Change Maker’ ที่สรรหาคนรุ่นใหม่เข้าพรรค การจัดนิทรรศการ ‘นิทรรศกี’ รณรงค์สวัสดิการผ้าอนามัย หรือกลุ่มแฟนด้อม ส.ส.น้ำ-จิราพร สินธุไพร ซึ่งนับเป็นการขยายฐานเสียงคนรุ่นใหม่และกลุ่ม LGBTQ+

นอกจากนี้ ลักษณะพิเศษของการเลือกตั้ง 2566 ยังมีปรากฏการณ์ ‘นางแบกปะทะติ่งส้ม’ ซึ่ง ผศ.ดร.บัณฑิต มีความเห็นว่า การปะทะกันเป็นผลมาจากพรรคเพื่อไทยประกาศยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ซึ่งเป็นธรรมชาติในการต่อสู้ของพรรคการเมือง

“ผมเชื่อว่าคนตัดสินกันได้พอสมควร เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพยายามจะแบกหรือพยายามจะติ่งจนผิดปกติ ความไร้เหตุผลจะเริ่มมา และเมื่อนั้นคุณจะพังเอง

“คำที่แย่ที่สุดของวงการนี้คือ การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร แต่ผมอยากให้ใช้คำว่า การเมืองคือศิลปะของความเป็นไปได้ การทะลุเพดาน การทะลุทางตัน คือหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่ต้องสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้” ผศ.ดร.บัณฑิต ทิ้งท้าย

นิทรรศการ ‘Election Through Poster 2023’ จัดแสดงที่ KINJAI CONTEMPORARY (MRT สิรินธร) ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เมษายน 2566 เวลา 11.00 -19.00 น.

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Photographer

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า