เมื่อบ้านเมืองเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอีกครั้ง แน่นอนว่าอาวุธสำคัญที่แต่ละพรรคการเมืองต่างงัดออกมาชิงชัยในสนามแข่งครั้งนี้ คือ ‘นโยบาย’ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายช่วยขจัดปัญหาปากท้อง ปัญหาการคมนาคม ปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงปัญหาด้านความรัก ก็เป็นอีกจุดแข็งที่หลายพรรคชูให้เป็นวาระสำคัญเช่นกัน
แล้วความรักและการเมือง เกี่ยวกันอย่างไร?
สำหรับในประเทศไทย หากย้อนกลับไปประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว การพูดถึงความรักของ ‘เพศอื่น’ นอกจากความเป็นชาย-หญิงตามอวัยวะกำเนิดที่ติดตัวมา พบว่ามีน้อยมาก แถมยังถูกเสนอซ้ำแค่ในบางมิติ โดยเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์
แต่ปัจจุบันเนื้อหาภายใต้จอทีวี เสียงจากวิทยุ หรือโลกอินเทอร์เน็ต เราสามารถพบเจอเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้ง่ายขึ้น สื่อ ซีรีส์ นิยาย ภาพยนตร์ ละคร มิวสิควิดีโอ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนช่วยบุกเบิกเสรีภาพและสร้างการยอมรับ รวมถึงไปขยายให้เห็นอัตลักษณ์ของทุกบุคคลมากขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2559 พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดระหว่างปี 2525-2548 ยอมรับพฤติกรรมชายรักชายและหญิงรักหญิงมากขึ้นร้อยละ 28.6 และ 29.1 ตามลำดับ แตกต่างกับกลุ่มคนที่เกิดปี 2486-2503 ซึ่งการยอมรับอยู่ที่ร้อยละ 12.7 และ 12.6 ตามลำดับ
แม้กาลเวลาจะช่วยละลายคำพูดโบราณที่เคยบอกว่า ‘ผู้ครองนคร คือเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ แม้กระทั่งความรัก’ ให้ค่อยๆ จางลงไป เราไม่ปฏิเสธว่าประตูแห่ง ‘ความหลากหลาย’ ในเมืองไทยได้เปิดขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะกว้างขึ้น แต่ความเป็นจริงบุคคลหลากหลายเพศ กลับมีตัวตนอยู่แค่ภายในสื่อที่สังคมให้ไว้เท่านั้น ในมิติเชิงกฎหมายอาจยังมีปัญหาและไม่มีพื้นที่มากมายให้ยืนอย่างภูมิใจนัก ทั้งที่สิทธิบางอย่างเป็นสิ่งธรรมดาที่ทุกคนพึงได้รับในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีให้ประเทศ
เพราะเพศและความรักเกี่ยวพันกับการเมือง ในวันแห่งความรักนี้ ระหว่างขีดปฏิทินนับถอยหลังเข้าสู่วันเลือกตั้ง สำรวจ ‘นโยบายความรัก’ ของ 10 พรรคการเมือง ดูว่าพวกเขาเห็นอะไรบ้าง และมีแนวคิดแก้ปัญหาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
สนับสนุนสิทธิพื้นฐาน
เมื่อกฎหมายหมุนตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม คู่รักเพศกำเนิดเดียวกัน ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายได้ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ชีวิต เกิดข้อจำกัดทางสิทธิที่ตามมา 8 ด้าน ได้แก่
- สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาลและจัดการศพ
- สิทธิเกี่ยวกับการมีบุตรและการปกครองบุตรร่วมกันได้
- สิทธิในการให้และรับมรดก
- สิทธิในการทำนิติกรรมและจัดการหนี้สินร่วม
- สิทธิเกี่ยวกับผลประโยชน์จากการเป็นคู่สมรสหรือสามีภรรยาตามกฎหมาย
- สิทธิในสินสมรสและการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
- สิทธิในการได้รับการยอมรับและมีศักดิ์ศรีในฐานะคู่สมรสหรือสามีภรรยาตามกฎหมาย
- สิทธิของบุคคลทุกอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศในการเข้าถึงกฎหมายสมรส
จากผลที่เกิดจากความไม่ครอบคลุมของกฎหมาย จึงมีการพยายามแก้ไขโดยการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อดูแลกลุ่มคู่รักที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง แต่ก็มีเสียงคัดค้านว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะเป็นการรับรองในฐานะ ‘คู่ชีวิต’ ขณะที่กฎหมายและความเข้าใจเดิม เช่น การกรอกเอกสารราชการต่างๆ จะมีช่องว่างสำหรับ ‘คู่สมรส’ เท่านั้น ถ้าหากเกิดเปลี่ยนคำใหม่เป็น ‘คู่ชีวิต’ จะทำให้เกิดความยุ่งยากตามมา
สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 นี้ ทิศทางหรือแนวคิดนโยบายที่ส่งเสริมความรักของหลายๆ พรรคการเมือง นับว่าอยู่ในเส้นกราฟเดียวกัน นั่นคือ การเน้นให้ความสำคัญของสิทธิขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมความเท่าเทียมด้านสิทธิของบุคคลทุกเพศ
พรรคประชาธิปัตย์
เสนอให้มีการออกกฎหมายสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เช่น สิทธิในการจัดการมรดก สิทธิการตัดสินใจทางการแพทย์ของคู่ชีวิต สิทธิในเรื่องประกันสังคมของกันและกัน สิทธิในการขอลดหย่อนภาษี
แต่ในส่วนการจะออกกฎหมายใหม่หรือควรไปแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งในเรื่องเหล่านี้ ก็ยังมีบางเรื่องที่สังคมไทยอาจจะยังไม่ให้การยอมรับเท่าที่ควร ซึ่งประชาธิปัตย์ศึกษาเรื่องเหล่านี้และพบปะกับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่า การจะคืนสิทธิให้กับกลุ่มคน LGBTQ ได้ ก็ต้องมีการออกกฎหมายมารับรอง
พรรคมหาชน
พรรคมหาชนบอกว่า ประเด็นบุคคลความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญมายาวนาน ต้องการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลทุกเพศ ไม่ใช่แค่กลุ่มหลากหลาย แต่รวมถึงชายและหญิง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และการยอมรับในที่ทำงาน รวมถึงเรื่องเพศในเชิงสาธารณสุขและประกันสุขภาพ
โดยอีกหนึ่งสีสันของพรรคมหาชน เพื่อเน้นย้ำว่าเรื่องเพศสำคัญ นั่นคือการเสนอชื่อ พอลลีน งามพริ้ง นั่งแคนดิเดตชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะคนข้ามเพศ (transgender) เป็นคนแรกและครั้งแรกของประเทศไทย หลังจากเธอตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ โดย พอลลีน หรืออดีต พินิจ งามพริ้ง เคยเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเชียร์ไทย เพาเวอร์ และเป็นหัวเรือสำคัญที่ทำให้กระแสฟุตบอลไทยคึกคัก
พรรคเกียน
เป็นอีกหนึ่งพรรคที่สนับสนุนความหลากทางเพศในสังคมไทย โดยนโยบายที่น่าสนใจของพรรคเกียน นั่นคือ การส่งเสริมให้เกิดวิชาเรียนเรื่องเครื่องเพศตั้งแต่เด็กปฐมวัย เพื่อเด็กได้เรียนรู้ความหลากหลาย การให้เกียรติกัน สร้างความเข้าใจให้กับครอบครัวในเรื่องเครื่องเพศศึกษา
ปรับแก้มิติกฎหมาย
เรื่องความรักควรเป็นเรื่องตามความต้องการของตัวเอง ทุกคนควรมีเสรีภาพในการออกแบบความรักอย่างเป็นปัจเจก
แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายที่ดูแลความรักนอกจาก ชาย-หญิง ยังคงมีช่องโหว่งและไม่อาจครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นโจทย์สำคัญต่อไปคือการทบทวนมิติกฎหมายและสร้างกรอบดูแลให้ชัดเจนและดีขึ้น
พรรคเพื่อชาติ
พรรคเพื่อชาติสะท้อนแนวคิดที่เป็นรูปธรรมของพรรคว่า ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเสนอให้ปรับกฎหมายเพื่อคู่ชีวิตหลากหลายเพศ ได้มีสิทธิดังต่อไปนี้ คือ การสมรส การรับมรดก การมีอำนาจตามกฎหมายยามคู่รักเจ็บป่วย ให้ความเป็นคู่ชีวิตที่ถูกกฎหมายในทุกมิติ
รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาในประเด็น LGBT จัดตั้งบ้านพักฉุกเฉินสำหรับบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิ สนับสนุนงานศึกษาวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพื่อนำมาปรับปรุงทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติ
พรรคเสรีรวมไทย
พรรคของ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส มองว่า ความรักเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิมีเสรีภาพที่จะรักใครก็ได้ ไม่ว่าเพศสภาพจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อกฎหมายไม่ครอบคลุมและไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้คนทุกกลุ่มได้ ก็ควรจะมีการแก้ไข เพื่อทำให้ชีวิตคู่ของกลุ่มบุคคลหลากหลายเพศมีความสมบูรณ์ที่สุด
พรรคไทยรักษาชาติ
แนวคิดของพรรคไทยรักษาชาติคือ มิติของกฎหมายยังไม่สามารถดูแลความรักของกลุ่มหลากหลายทางเพศได้ พรรคจึงขอเดินหน้าสนับสนุนการใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และยังคิดต่อไปว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่ควรปรับแก้ให้สมบูรณ์มากขึ้น
พรรคพลังท้องถิ่นไท
เช่นเดียวกับพรรคพลังท้องถิ่นไทที่มีนโยบายในการดูแลกลุ่มบุคคลหลากหลายเพศ โดยการทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ และมีชีวิตคู่เหมือนคู่ชีวิตชาย-หญิงทั่วไป เช่น มีสิทธิในการรักษาพยาบาล มีสิทธิในการจัดการมรดกของคู่ชีวิต
นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางการทำความเข้าใจกลุ่มบุคคลหลากหลายเพศ สร้างโมเดลเพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหา เช่น ครอบครัวหนึ่งมีลูกเป็น LGBT ควรจะทำอย่างไร รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพ การใช้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาล และอีกจุดสำคัญที่พรรคต้องการสร้างคือ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ LGBT โลก
ถอนรากถอนโคน แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้ว่าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจะมีการขับเคลื่อนและเรียกร้องโอกาสในการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยผ่านการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาเรื่องสิทธิของคู่รักที่ไม่ใช่ชาย-หญิง ตามเพศกำเนิด แต่ปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังไม่แน่นอนและไม่มีบทสรุป
ซึ่งสามพรรคสุดท้ายต่างเห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เคยถูกเสนอนี้ ยังมีรายละเอียดหลายประการไม่ครอบคลุมเท่ากับการรับรองการสมรสของคู่รักชาย-หญิงตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448
พรรคเพื่อไทย
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยชูแนวคิดอย่างชัดเจนว่า ต้องปฏิบัติตามหลักสากลเรื่องสิทธิความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ บวกกับการเคลมว่าเป็นพรรคขนาดใหญ่ หากได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง การแก้กฎหมายเดิมที่เป็นปัญหาย่อมทำได้ไม่ยาก และง่ายกว่าออกร่างกฎหมายใหม่
พรรคสามัญชน
พรรคสามัญชนยืนยันเดินหน้าสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศในระยะยาว โดยเปิดพื้นที่ให้กับสามัญชน ประชาชน หรือประชาชนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถผลิตนโยบายเองได้ ก่อนจะนำเสนอสู่สภา
พรรคอนาคตใหม่
การแก้ไขอย่างสุดทาง รื้อไปถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือนโยบายความรักที่พรรคอนาคตใหม่ใช้เป็นจุดแข็ง โดยเสนอให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า บุคคลสองบุคคลในการสมรสกัน แทนคำว่าชาย-หญิง เพื่อไม่ให้เกี่ยวกับเพศ และพรรคพร้อมสนับสนุนการแก้กฎหมายการรับบุตรบุญธรรม รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เคยต้องถกเถียงกันมา โดยอยู่บนฐานคิดที่ว่า ถ้าไม่ใช่การแก้ไขที่ตัวต้นขั้ว ความเท่าเทียมก็ย่อมไม่เกิดขึ้น