ระหว่างการประชุมสภาสมัยวิสามัญช่วงหัวค่ำเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ขณะที่ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ สส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย กำลังลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม เขาได้คว้ามีดขึ้นมากรีดข้อมือตัวเอง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปแล้วหลายสิบราย รวมไปถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ผิดหลักสากลด้วย
วันนี้ผมคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง ทุกคนทราบดีว่า ผมรักสภาแห่งนี้มาก แต่วันนี้คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยวิกฤติครั้งนี้ได้ เพราะไม่อยากให้เด็กๆ ต้องเลือดตกยางออกอีก
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิสารถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที สส. ท่านอื่นให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ทำให้สภาเสื่อมเสีย กระแสบนโลกออนไลน์ ยังได้วิพากษ์วิจารณ์การกรีดเลือดด้วยว่า ดูจะคิดน้อยและ ‘ไร้สาระ’ เกินไป
สันติวิธี 101
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิการเมืองไทยค่อยๆ ไต่ระดับพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากท่าทีการเคลื่อนไหวของม็อบที่มีแทบทุกวัน พวกเขาเปลี่ยนสถานที่นัดหมายไปเรื่อยๆ ทั้งยังมีการก่อม็อบขึ้นพร้อมกันหลายจุด จนเกิดเป็นการชุมนุมแบบ ‘coordinated protest’ ที่รวมตัวพร้อมกันทั่วประเทศ หลายจังหวัดในช่วงเวลาเดียวกัน
ด้วยจุดเดือดที่ทะลุปรอท รัฐจึงได้บังคับใช้อำนาจด้วยการขยับขยายกลไกการปราบปรามให้เข้มข้นมากขึ้น ตั้งแต่การจับกุมแกนนำทุกคนที่ปรากฏตัวบนเวที หรือแม้กระทั่งบุคคลที่ไม่ได้เป็นแกนนำแต่มีสถานะโดดเด่น และเป็นที่จับตาของรัฐอย่าง นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ ที่เข้าไปทำหน้าที่หน่วยแพทย์อาสาในม็อบ ก็ยังโดนจับกุมในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน
ตั้งแต่ช่วงที่การจัดตั้งขบวนการม็อบเยาวชน จนมีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมมากขึ้น หลักยึดที่ม็อบปักธงไว้มาโดยตลอดก็คือ การต่อสู้ด้วยหลักสันติวิธี
สันติวิธีคือ กระบวนการตอบโต้กับสถานการณ์ความขัดแย้งทุกรูปแบบที่ไม่ใช้กำลังทางกายภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากแต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น การอดข้าวประท้วง การฉีกบัตรเลือกตั้ง การติดป้ายสัญลักษณ์ การแสดงละครล้อการเมือง การแต่งเพลงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
การประท้วงแบบสันติวิธีไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่อะไร แต่เป็นแทคติคที่ขบวนการประชาชนใช้ขับเคลื่อนกันมานานหลายทศวรรษแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวด้วย สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) ของ มหาตมะ คานธี ที่ใช้แนวทางการต่อสู้สันติวิธีให้ได้มาซึ่งสิทธิอันเท่าเทียม เรียกร้องเอกราชของชาวอินเดียจากอังกฤษ ด้วยวิธีเช่นนี้ จึงทำให้อินเดียไม่มีการนองเลือดเกิดขึ้น และชัยชนะครั้งนั้นยังทำให้สันติวิธีกลายเป็นแนวคิดที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกด้วย
หรือถัดมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กับการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี นำโดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ด้วยความเป็นนักบวชจึงทำให้เขามีวาทศิลป์ในการพูดอันทรงพลัง คิงเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสื่อสารกับคนผิวสี ให้ทุกคนกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่า คิงมีบทบาทสำคัญมากในการทำให้กฎหมายแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติสิ้นสุดลง รวมถึงการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และทำให้คนผิวสีมีสิทธิในการเลือกตั้งตามลำดับ
ขอบข่ายการประท้วงแบบสันติวิธีจึงไม่ได้ถูกนิยามไว้ว่า ต้องสุภาพ และมีความเป็น ‘ปัญญาชน’ แต่สันติวิธีคือ การไม่ใช้ความรุนแรง ปราศจากอาวุธ เคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งม็อบก็เป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่ควรจะเป็นของทุกคนที่ต้องการเข้าร่วม และกำแพงของการเข้าร่วมนี้ ก็ควรจะอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ
เทเลือด พ่นสี กรีดข้อมือ: เพราะไม่สบายตาจึงไม่ใช่ ‘สันติวิธี’ ?
ในช่วงที่แกนนำถูกจับกุมส่งตัวเข้าเรือนจำหลายสิบคน มูฟเมนต์ของม็อบก็ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เช่นกัน ลากยาวมาตั้งแต่กรณีสาดสีของ แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั้งทางบวกและทางลบ บางส่วนแสดงความเห็นว่า การสาดสีไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเท่าไร อาจจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของม็อบดูไม่เป็นปัญญาชนแบบที่ผู้เข้าร่วมม็อบบางส่วนพึงปรารถนา รวมไปถึงกรณีพ่นสี-ขีดเขียนบริเวณถนนหน้าเรือนจำคลองเปรมเมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาด้วย
พูดกันตามตรงแล้ว วิธีการทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่ได้มีการใช้อาวุธหรือมุ่งหวังที่จะประทุษร้ายฝั่งตรงข้ามด้วยซ้ำ เป็นเพียงมูฟเมนต์ที่เกิดจากความรู้สึกโกรธเกลียด เคียดแค้น กับรัฐที่บังคับใช้อำนาจด้วยความไม่ชอบธรรมมานาน พูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ติดต่อกัน 8 เดือน โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมโรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้นเลย เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่มีจำนวนป็นศูนย์ติดต่อกันหลายเดือนแล้ว
หากถอดรหัสทั้งการพ่นสี การตะโกน ‘I hear too’ จนมาถึงการกรีดเลือด ทั้งหมดเป็นช่องทางที่ผู้คนต้องการระบายออกด้วยวิธีอันสันติ ไม่ได้ทำให้ใครต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือไปลิดรอน-เบียดขับสิทธิเสรีภาพคนอื่นๆ ดังนั้น การไปชี้หน้าว่า พวกเขาเหล่านี้กำลังทำให้ม็อบดูไม่ดี หรือทำให้ขบวนการดูแย่ลง ก็ไม่ต่างอะไรกับการเข้าไปลดทอนการต่อสู้ของม็อบ มากไปกว่านั้น วิธีคิดนี้ยังไปสร้างความเข้มข้นให้กับการบังคับใช้อำนาจรัฐ ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งด้วย
การเผชิญหน้ากับรัฐด้วยคำหยาบคาย ไม่สบายหู หรือการระบายความโกรธเกลียดไม่พอใจเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนไปไกลกว่านั้นในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2552 – 2553 ที่มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ล้มตาย และยังคงไม่ได้รับความยุติธรรมมาจนถึงตอนนี้ วิธีการระบายความคั่งแค้นของพวกเขาก็คือ การระดมบริจาคเลือดจำนวนมากเพื่อไปเทตามจุดสำคัญๆ ของรัฐบาลในตอนนั้น ทั้งหน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และบริเวณหน้าบ้านพัก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ ‘สั่งยิง’ ประชาชน
การกระทำของมวลชนเสื้อแดงถูก ‘ยี้’ จากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ปัญญาชน อย่างมาก ถูกมองว่า เป็นการกระทำที่ไร้สาระ น่ารังเกียจ ไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งถ้ามองลึกลงไปแล้วก็จะพบว่า การเทเลือดไม่ได้เป็นเพียงการแสดงสัญญะของเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริงเท่านั้น แต่การเทเลือดหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม สัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่พรรคเคารพนับถือ ยังเจือไว้ด้วยการปะทะสังสรรค์ของความเชื่อทางไสยศาสตร์ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า สกปรกและอาจจะทำให้ ‘ของเสื่อม’ ได้
และกรณีล่าสุด เลือดที่ถูกมองว่า เป็นสิ่งสกปรกกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อ สส.วิสาร กรีดข้อมือในสภา ไม่ใช่แค่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่ออกมาประณามการกระทำนี้ แต่ฝ่ายสนับสนุนม็อบบางกลุ่มก็มองว่า แอคชั่นดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ขบวนการได้เปรียบไปมากกว่าเดิม แถมยังถูกตีตราว่า ไร้สาระ (อีกครั้ง)
จากม็อบคนดี ถึงม็อบปัญญาชน
ประเด็นที่ต้องนำมาขบคิดต่อจากกรณี สส.วิสาร มีทั้งการเข้าไปลดทอนขบวนการ การสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ และการพยายามยัดเยียดว่า สันติวิธี = ม็อบปัญญาชน
ในระยะหลังจะพบว่า ม็อบคณะราษฎรมีสัดส่วนที่ผสมผสานกลุ่มคนไว้หลากหลายมากๆ ทั้งนักเรียนมัธยม นิสิตนักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ ตลอดจนแม่ค้า ชาวบ้าน วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนหาเช้ากินค่ำ รวมถึงกลุ่มมวลชนเสื้อแดงที่เข้ามาสนับสนุนจำนวนหนึ่ง ฉะนั้น การนิยามตัวเองว่า เป็นม็อบปัญญาชนอยู่ตลอดเวลา นอกจากจะไม่ได้ช่วยยกระดับการเคลื่อนไหวแล้ว ยังเป็นความพยายามที่จะสวมแว่นแบบ ‘ม็อบคนดี’ หรือ ‘ม็อบปัญญาชนกรุงเทพฯ’ เมื่อปี 2557
บทเรียนจากม็อบ กปปส. แสดงให้เห็นมาแล้วว่า ท้ายที่สุด คุณก็ยังมองคนด้วยสายตาแบบแบ่งก๊กแบ่งเหล่า นิยามว่า การกระทำแบบคนเสื้อแดงไม่ใช่คนมีการศึกษา จนหลงลืมไปว่า การเกิดขึ้นของม็อบตั้งต้นมาจากความอยุติธรรมในสังคม ที่ไม่ได้ฟังก์ชั่นโดยมีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 อำนาจทั้งสามคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมไปถึงองค์กรอิสระก็ไม่ได้เป็นอิสระโดยแท้จริง แนวคิดที่ว่า อำนาจทั้งสามส่วนเกิดขึ้นเพื่อคานและถ่วงดุลซึ่งกันและกันกลับใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะแม้แต่ระบบศาลที่ควรจะเป็นธรรมและอยู่ข้างความถูกต้องมากที่สุด ยังแสดงให้เห็นถึงความเอนเอียงของตราชั่งแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากจะพูดว่า ศาลได้สมาทานตัวเป็นอำนาจรับใช้เผด็จการก็คงไม่ผิดนัก
แม้แต่ในยุคที่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เรียกร้องเรื่องสิทธิคนผิวสี ศาลยังตัดสินโดยยึดตามรัฐธรรมนูญ และอยู่ข้างความเป็นธรรม การเรียกร้องด้วยสันติวิธีจึงจะใช้งานได้ผลกับรัฐที่ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการมีความเป็นอิสระ เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทยตอนนี้จะพบว่า กระบวนการยุติธรรมกลับหัวกลับหางยิ่งกว่าอเมริกาเมื่อ 70 ปีที่แล้วเสียอีก
บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำบางอย่างของม็อบหรือฝ่ายค้านในฐานะตัวแทนประชาชนก็ได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า สิ่งที่พวกเขาแสดงออกนั้นไร้ความหมาย การแสดงออกซึ่งความเจ็บปวดรวดร้าวภายใต้การกดขี่ของแต่ละคนย่อมมีวิธีการแตกต่างกัน เคารพซึ่งกันและกันให้มากๆ มองลึกไปให้ถึงแก่นของการกระทำทั้งหมดนี้ อะไรไม่ดี อะไรเกินเลย ก็ตักเตือนแสดงความเห็นกันได้ แต่อย่าให้ถึงกับมาจับผิดเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง จนกลายเป็นการตีกรอบ และลิดรอนเสรีภาพกันเองเลย
เพราะสำหรับบางคนแล้ว ความอยุติธรรมที่บ่มเพาะกดทับเขามาหลายปี การพ่นสี เทเลือด ตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือกรีดข้อมือ อาจจะเป็นสันติวิธีที่สุดที่เขาจะมอบให้แล้วก็ได้