‘People Go’ ฉากที่ 5 ไปให้ถึงการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน

 

go5

ขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับคำว่า ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อหันกลับมาพินิจเศรษฐกิจไทยภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เราอาจพบว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจถูกแยกขาดจากสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จนไม่อาจจินตนาการต่อได้ว่า ประเทศไทย 4.0 จะไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

สาระสำคัญต้องจับตา

  • กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
  • การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  • การปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการสังคม
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

 go5-icon

สิ่งที่เขียนในร่างรัฐธรรมนูญ

กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

  • มาตรา 65 ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ มาตรา 65 ยังระบุว่า ต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง
  • มาตรา 142 กำหนดว่า การเสนองบประมาณของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
  • มาตรา 162 กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แถลงนโยบายหลังเข้ารับตำแหน่ง นโยบายต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

  • สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ซึ่งกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ถูกย้ายไปอยู่ในหมวดหมู่ ‘หน้าที่ของรัฐ’ โดยมีกฎหมายลูกกำกับ สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการลดสิทธิของประชาชนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ
  • มาตรา 58 ตัดหลักการสำคัญบางเรื่องออกไป เช่น สิทธิชุมชนที่จะส่งเสริม รักษา อนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามมาตรา 67 วรรค 1 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้หายไป ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559

การปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการสังคม

  • สวัสดิการด้านสาธารณสุข มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • สวัสดิการด้านการศึกษา จากเดิมที่กำหนดให้การศึกษาเป็น ‘สิทธิ’ ของประชาชน ย้ายไปไว้ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’ ให้รัฐมี ‘หน้าที่’ จัดการศึกษาให้ประชาชน ตามมาตรา 54

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ร่างรัฐธรรมนูญได้พูดถึงอำนาจหน้าที่ของ อปท. ไว้ในมาตรา 250 กล่าวไว้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ความหมายที่แท้จริงคือ อำนาจหน้าที่ที่ถูกตัดออกไปเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ ความอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหารงานบุคคล และอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ

go5-icon

สิ่งที่ คสช. ทำ

รับมือความถดถอยทางเศรษฐกิจ

การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและมาตรการอัดฉีดต่างๆ แม้จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในบางไตรมาส แต่ภาพรวมของภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งภาคการเกษตรที่หดตัวลงในช่วงปี 2557-2558 เนื่องจากภัยแล้งและราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ภาคการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวเป็นอย่างมาก ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ระหว่างทางของการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังต้องประดิษฐ์ภาษาใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายประชานิยมในอดีต

จับมือกับอำนาจทุน

แนวคิดที่ปรากฏชัดในรัฐบาล คสช. คือ การผนวกรัฐเข้ากับทุนใหญ่ในนาม ‘ประชารัฐ’ แนวนโยบายเศรษฐกิจกำหนดร่วมกับทุนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายปลูกพืชอาหารสัตว์แทนนา นโยบายการนำเข้าพืชอาหารสัตว์จากต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นโยบายวิสาหกิจเพื่อสังคมในนามประชารัฐ ฯลฯ

สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ ‘กระบวนการนโยบายสาธารณะ’ ที่ทุกฝ่ายควรเข้ามามีส่วนร่วม เพราะในปัจจุบันนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจมาจากการ ‘เคาะ’ ร่วมกันของรัฐและทุน โดยไม่มีการปรึกษาหารือและถกแถลงอย่างแท้จริง

การฝากความหวังไว้กับเอกชนรายใหญ่ไม่กี่รายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อาจเป็น ‘ความเข้าใจผิด’ ที่นำมาสู่หายนะของรัฐบาล คสช. และประเทศไทย

การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ

ข้อเสนอที่ฝ่ายทุนใหญ่เรียกร้องจากรัฐบาล คสช. คือ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งในนามเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือในนามของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก นำไปสู่การแก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐเพื่อให้สามารถเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน

รัฐบาล คสช. สนองตอบความต้องการดังกล่าว ด้วยการใช้ ม.44 ยึดเอาพื้นที่สาธารณประโยชน์ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เพื่อลดต้นทุนและเวลาในการรวบรวมที่ดิน การยกเว้นกฎระเบียบต่างๆ ในการลงทุนตามที่ภาคเอกชนร้องขอ เช่น การยกเว้นกฎหมายผังเมือง ให้อำนาจการอนุมัติผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ฯลฯ

ทัศนคติต่อระบบสวัสดิการสังคม

ความพยายามที่จะปรับระบบสวัสดิการสังคม ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิเรียนฟรี 12 ปี ปรากฏชัดเจนในการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การกำหนดให้สิทธิในการเรียนฟรีมีเพียงแค่การศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แต่เนื่องจากมีเสียงคัดค้าน และอาจส่งผลต่อการลงประชามติ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปแบบคลุมเครือ ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ยืนยันการให้โอกาสเรียนฟรีจนถึง ม.6

รัฐบาล คสช. ยังมองการจัดระบบสวัสดิการเป็นการสงเคราะห์ ดังจะเห็นได้จากการเชิญชวนให้คนจน หรือ ‘ผู้มีรายได้น้อย’ มาลงทะเบียนและจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ในนามของ ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’ รวมถึงการจะจัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ ‘ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์’ แทนที่จะสนับสนุนระบบสวัสดิการ ‘ถ้วนหน้า’ เช่นที่ผ่านมา

แนวคิดดังกล่าวมีช่องโหว่อย่างน้อย 3 ประการ

  • หนึ่ง รายได้ครัวเรือนอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามสภาวการณ์เศรษฐกิจ ครัวเรือนที่มีรายได้มากในวันนี้ อาจกลายเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในอนาคต ระบบการลงทะเบียนจึงไม่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์
  • สอง การแบ่งระบบสวัสดิการระหว่างผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ กับผู้ที่ไม่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อาจมีผลต่อคุณภาพบริการที่แตกต่างกัน
  • สาม การกำหนดให้คนกลุ่มหนึ่งต้องจดทะเบียนว่าเป็น ‘คนจน’ จึงจะได้รับสวัสดิการบางรูปแบบจากรัฐ อาจมีผลกระทบทางสังคมต่อคนกลุ่มนั้นและคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การยอมรับของนานาชาติ

รัฐบาล คสช. เข้ามามีอำนาจด้วยวิธีการไม่ปกติ จึงเกิดปัญหาการยอมรับจากนานาชาติ ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อการยอมรับจากนานาชาติ เช่น เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน การทำประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม การค้ามนุษย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาล คสช. จึงตื่นตัวเป็นพิเศษ

ภาคประชาชนบางส่วนเมื่อเห็นท่าทีดังกล่าว จึงถือโอกาสผลักดันนโยบายหรือข้อเรียกร้องของตนบ้าง เช่น การรณรงค์เรื่องการยกเลิกเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย การรณรงค์เรื่องการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่รัฐบาลได้ไปทำข้อตกลงไว้

go5-icon

สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

  • ติดตามกระบวนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้ง กฎหมายที่ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ กฎหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  • สร้างกระบวนการ เวที วัฒนธรรมในการถกแถลงและการเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นนโยบายต่างๆ
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดัก ‘ประเทศรายได้ปานกลาง’ ต้องการการเติบโตแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ผู้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มิใช่กระจุกตัวอยู่กับทุนรายใหญ่
  • การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า มีความสำคัญมากในการกระจายโอกาสและความมั่นคงในชีวิตให้กับคนจน เป็นการช่วยให้คนจนพ้นจาก ‘กับดักความยากจน’ และเมื่อประชาชนพ้นจากความยากจนแล้วก็จะมีส่วนช่วยให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้น
  • ภาคประชาชนจะร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิสังคม หรือนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ประกอบรวมกันเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่ละเลยต่อความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเงื่อนไขการพัฒนาในแต่ละพื้นที่
  • เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวทางพื้นฐานสำหรับภาคประชาชน จึงต้องให้ความสำคัญกับ

(ก) ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

(ข) การสนับสนุนภาคการเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมชีวภาพ

(ค) การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมที่หลากหลาย เคารพซึ่งกันและกัน

(ง) การพัฒนาเศรษฐกิจสาขาการดูแลช่วยเหลือกัน (Caring Sector) ให้เป็นฐานการจ้างงานที่มั่นคง ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมไทย


peoplego-logo

ที่มา: People Go Network Forum

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า