นกน้อย อุไรพร: เสียงอีสานที่สั่นเครือ​ เมื่อเจอโรคระบาดที่ชื่อว่าหนี้สิน

“แม่ต้องดูแลลูกวง 300-400 ชีวิต จะไปเล่นคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง ยกโขยงกันไป 20 กว่าคันรถ เครื่องเสียง หางเครื่อง นักร้อง ไฟ วงดนตรี เจ้าภาพจัดจ้างแล้วก็บ่ต้องหาอิหยังอีก เรามีพร้อมทุกอย่าง”

ครึ่งค่อนปีแล้ว ที่ นกน้อย อุไรพร หัวหน้าคณะหมอลำเสียงอีสาน ต้องประคองชีวิตของตนและลูกวงอีกหลายร้อยให้มีกินมีใช้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้

โรคระบาดระลอกแรกก็ว่าหนักหนาแล้ว รายจ่ายยังคงซื่อสัตย์ แต่รายได้ที่ต้องมาเติมท้องเติมปากกลับหดหาย

“บ่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ตั้งหลักบ่ทัน แม่ก็ช็อก ฮ้องไห้ เจ้าภาพเขาก็บอกว่า – แม่ไม่ต้องมาแล้ว ยกเลิกงานแล้วนะครับ”

ในหนึ่งเดือน ‘แม่นกน้อย’ ต้องมีรายได้มาจุนเจือคณะหมอลำ เป็นตัวเลขที่สูงถึงสองล้านบาท ลูกวงที่เปรียบเสมือนลูกหลาน เพราะฟูมฟักดูแลกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด

“นึกเอาเด้อ ลูกวงแม่เกือบ 400 แต่ละคนก็ต้องเลี้ยงดูส่งเสียครอบครัว ยิ่งเป็นคนอีสาน มีครอบครัวใหญ่ เฉลี่ยแล้วลูกวงหนึ่งคนต้องดูแลครอบครัวอีกราว 4 ชีวิต ถ้าเราไม่สู้ จะมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องลำบาก ลองคูณดูเด้อ”

ตีเป็นตัวเลขคร่าวๆ ถึง 1,600 ชีวิต ที่บ่าไหล่ของแม่นกน้อยในฐานะหัวหน้าคณะต้องแบกรับ ตลอด 46 ปีของคณะเสียงอีสาน แม่นกน้อยบอกว่า ครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุดแล้ว

“ลูกๆ ก็จะบอกเราว่า ยังไงหนูก็ไม่ทิ้งแม่นะ ผมก็ไม่ทิ้งแม่นะ พูดตรงๆ ก็คือกอดคอกันตกงาน แม่บ่อยากใช้คำว่ากอดคอกันตายเลย เราต้องไม่ตายเด้ลูก เราต้องสู้ต่อ”

ปากยังไม่ทันได้อ้า ตายังไม่ทันได้ลืม

คล้ายว่า COVID-19 ระลอกแรกกำลังจะพัดผ่าน ทุกคนในคณะกำลังจะได้ปัดกวาดฝุ่นไรที่เกาะกรังอยู่บนชุดหางเครื่องแวววาว หนี้กองโตกำลังถึงคราวชำระสะสาง ล้อของเสียงเพลงเริ่มหมุนอีกครั้ง เพื่อโลดแล่นไปบนถนนของชีวิต

แต่ยังไม่ทันได้ลืมตาอ้าปาก โรคระบาดก็หวนกลับมา

“ช่วงก่อนการระบาดรอบสอง งานเริ่มกลับมาแล้ว เพราะช่วงปีใหม่ไปจนถึงกลางปี มันเป็นช่วงเทศกาล วันเด็ก ตรุษจีน สงกรานต์ เราก็เริ่มเตรียมตัว แต่ยังไม่ทันไร เจ้าหน้าที่ก็มากระซิบบอกแม่ว่า ‘สถานการณ์ไม่ค่อยดี แม่ต้องเตรียมตัวแล้วนะครับ’

“เขาบอกให้เตรียมตัว แต่ไม่ได้บอกให้เตรียมอะไร ทำยังไง มีนโยบายอะไรจนถึงตอนนี้”

ไม่มีในความคิดเรื่องยุบคณะหมอลำ แต่หากจะให้คาดหวังการเยียวยาจากรัฐ หรือนโยบายประคองธุรกิจในภาคบันเทิง – เธอรอจนล้มเลิกไปนานแล้ว

“จาก 300-400 คน ตอนนี้ทุกคนต้องแยกย้ายเพื่อรอวันกลับมาอยู่ด้วยกัน คนที่อยู่กับแม่เหลืออยู่ประมาณ 50 ชีวิต ช่วยกันขายขนม ขายของ ทำมาหากินเล็กๆ น้อยๆ ให้มีข้าวกิน ตอนนี้นอกจากรองาน แม่ก็กำลังรอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะประกาศอะไรอีก แน่นอนว่าชะตาชีวิตจะต้องตกงาน เพราะรัฐบาลประกาศขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

การขายบัตรคอนเสิร์ตเฉพาะกิจ ‘เพื่อความอยู่รอดของหมอลำ’ ในราคา 99-100 บาท จึงได้เริ่มขึ้น แม่นกน้อยและลูกวงที่ยังอยู่ด้วยกันขนข้าวของออกมาปัดฝุ่นอีกครั้ง แต่คราวนี้ล้อขบวนรถไม่ได้หมุนเช่นคราวก่อน เพราะเธอตั้งกล้องไลฟ์ จัดเวทีขนาดย่อม และเปล่งเสียงร้องเพลง ลำกลอน ให้แฟนคลับได้พอหายคิดถึง

“นอกจากเราต้องช่วยตัวเองให้ได้แล้ว แม่เป็นประธานภาคีหมอลำเรื่องต่อกลอนภาคอีสาน เราต้องเปิดใจช่วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าจะทำยังไง สมมุติว่าคณะแม่ขายบัตรไลฟ์สดให้ชมผ่านออนไลน์ คณะอื่นๆ ก็มาช่วยกันโปรโมทเพื่อให้มีกระแสจะได้ขายบัตรบ้าง ถ้าคณะอื่นๆ เปิดคอนเสิร์ตหรือจัดกิจกรรมบ้าง คณะแม่หรือน้องๆ ก็ต้องช่วยกัน เราไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาเยียวยาแล้ว เพราะแม่มองแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลย”

ว่ากันตามตรง บัตรคอนเสิร์ตออนไลน์ก็ใช่ว่าขายได้มากนัก

“คนอีสานเป็นนักสู้เด้ลูก เป็นคนจริงใจ รักใครรักจริง เฮาต้องสู้ เพราะหมอลำไม่ใช่แค่อาชีพที่เรารักและเลี้ยงเราได้ แต่มันคือวัฒนธรรมที่เราอยากสืบทอด ต้องรักษาไว้ให้เป็นตำนานที่ยังมีชีวิต”

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า