‘คนเลือดบวก’ มีเพศสัมพันธ์แบบสดได้จริงหรือ?

จากกระแสสังคมที่แรงเกินต้าน กรณี #พีทเลือดบวก ประกาศเตรียมเปิดคอร์สสอนวิธีการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สวมถุงยางอนามัยอย่างไร โดยไม่ให้ติดเชื้อ HIV กลายเป็นประเด็นร้อนและสร้างความฮือฮาทันที หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว รวมถึงพยาบาลหญิงรายหนึ่งที่ออกมาโต้แย้งถึงคำเคลมที่ #พีทเลือดบวก ใช้การันตีนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับชุดความรู้ในตำราเรียนอย่างรุนแรง 

WAY ชวน อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ไขข้อสงสัยในสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ว่า “จริงๆ แล้วคนมีเลือดบวกสามารถมีเพศสัมพันธ์แบบสดได้จริงหรือไม่?”

 

Q: ผู้ติดเชื้อ HIV ควรมีพฤติกรรมทางเพศแบบไหน

A: ขออธิบายก่อนว่าการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยคือหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีหรือไม่มีเชื้อ HIV ทุกคน ‘ควร’ จะต้องป้องกันตัวเอง เพื่อให้ไม่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงในการรับเชื้อที่มาพร้อมเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองใน (gonorrhea) ติดเชื้อ HPV โรคหูดหงอนไก่ (condyloma acuminata) โรคเริมที่อวัยวะเพศ (genital herpes) โรคซิฟิลิส (syphilis) ฯลฯ รวมถึงการท้องไม่พร้อมอีกด้วย 

เมื่อแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อ HIV 2. กลุ่มคนที่มีเชื้อ HIV 

หากคนกลุ่มแรกได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ตัวเองโดยไม่ได้ป้องกัน คำถามคือ พวกเขาเหล่านี้เห็นความเสี่ยงของตัวเองไหม ถ้าเขาเห็นความเสี่ยงของตัวเอง เขาจะลดความเสี่ยงตรงนี้ได้อย่างไร และจะทำได้โดยวิธีไหน เพื่อให้เขารู้จักประเมินความเสี่ยงของตัวเองและไม่กลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่

ส่วนคนกลุ่มถัดไป ปัจจุบันประเทศไทยเราพบผู้ที่ติดเชื้อ HIV อยู่ในระบบเกือบ 400,000 คน ที่ได้รับยาต้านอย่างต่อเนื่อง คำถามสำคัญคือ หากคนในกลุ่มนี้มีเพศสัมพันธ์เขาควรต้องป้องกันไหม คำตอบคือทุกคนต้องป้องกันครับ ถึงแม้คนในกลุ่มนี้จะมีภาวะ viral load หรือปริมาณไวรัสในเลือดต่ำ แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อ แถมการไม่ป้องกันก็เสี่ยงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส หูดหงอนไก่

ดังนั้นสรุปได้ว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ก็ต้องมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยเหมือนกัน

Q: กรณีพีทเลือดบวกออกมาแอคชั่นแบบนี้ พอจะอธิบายเจตนารมณ์ของเขาได้ไหม

A: น้องเขาอาจจะเป็นคนที่ศึกษาข้อมูลเยอะ แต่จุดอ่อนคือการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เขาพูดในส่วนที่เขาเชื่อ และเอาแค่ตอกย้ำในประเด็น self-stigma หรือตราบาปจากตนเอง จากการดูพฤติกรรมของเขา เราคิดว่าเขาอาจจะคิดว่า ‘เรื่องเอดส์เป็นเรื่องของผู้ติดเชื้อเท่านั้น คนที่ไม่ติดเชื้อไม่มีวันเข้าใจหรอก’ แต่ผมในฐานะผู้ติดเชื้อและอยู่กับมันมา 20 ปี มีบางอย่างที่เราก็แอบห่วง เพราะคนที่เขาคิดต่างหรือยังไม่เข้าใจ สังคมเราควรมีพื้นที่ในการถกเถียง พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ใช่ใครคิดต่างกับตัวเองแล้วไปตำหนิ ตัดสิน ด่าทอกันด้วยความรุนแรงจนเกิดเป็นวิวาทะ ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะไม่มีใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เลย

Q: เรื่องนี้จะมีผลต่อการรณรงค์ให้ความรู้ด้านสาธารณสุขอย่างไรบ้าง 

A: เราเชื่อว่าหน้าที่ของหน่วยงาน หน้าที่ของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเอดส์และเพศ กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ รวมถึงคนทำงานด้านนี้ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการทำงานให้ข้อมูล สื่อสารข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน แล้วสื่อสารออกมาให้คนที่รับสารคิดและตัดสินใจด้วยตัวเองว่า เรื่องไหนเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ เรื่องไหนเป็น ‘ทัศนคติ’

 

สนับสนุนโดย

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า