‘วาดหวังหนังสือ’ ชุดหนังสือนิทานภาพที่ถูกมองว่าเป็นภัยความมั่นคง

กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญและพูดถึงกันเป็นอย่างมาก เมื่อหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก ชุด ต้นกล้าและฟ้าใหม่ จำนวน 8 เล่ม จากเพจ ‘วาดหวังหนังสือ’ ถูกกระทรวงศึกษาธิการมองว่า เป็นนิทานที่มีเนื้อหาปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง และครอบงำความคิดเด็ก

หลังปรากฏเป็นข่าว ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สั่งการให้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจ โดยมี นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย เป็นประธานในเรื่องนี้ พร้อมด้วย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพร้อมประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงต่อไปว่า เนื้อหาในนิทานมีเจตนาปลุกระดม ล้างสมอง หรือปลุกปั่นเด็กๆ หรือไม่ และมีใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากพบว่าผิดจริง จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“คุณหญิงกัลยาได้ทราบเรื่องนี้แล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งเร่งให้ตรวจสอบโดยด่วน หากพบว่าหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาที่ปลุกปั่น สร้างความเกลียดชัง และครอบงำความคิดเด็กโดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในหลายด้าน จึงอยากให้ครูและผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปที่เสพข้อมูลดังกล่าวจะต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริง แยกแยะ และไม่ยอมรับหรือสนับสนุนให้เชิดชูความรุนแรง รวมถึงการสร้างข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่บิดเบือนเพื่อปลุกปั่นเยาวชนให้หลงผิดได้” นางดรุณวรรณ กล่าว

จากกรณีข้างต้น ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหาร คณะก้าวหน้า ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเพจ ‘The Politics ข่าวบ้าน การเมือง’ ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ว่า

“ภาครัฐมองว่า หนังสือชุดนี้เป็นหนังสืออันตรายที่ต้องตรวจสอบ แต่อยากถามกลับว่า หนังสือชุดนี้ไม่ได้มีหลักฐานว่าถูกใช้ในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รมช.ศึกษาธิการ เอาอำนาจส่วนไหนมาตรวจสอบหนังสือเล่มนี้ เอกชนมีสิทธิที่จะผลิตหนังสือตามสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ส่วนประชาชนจะซื้อหรือนำไปใช้ก็แล้วแต่วิจารณญาณ กระทรวงศึกษาธิการจะเข้ามาจัดการได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้หนังสือในบริบทของโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบ การที่ออกมาสั่งให้ตรวจสอบ ขอให้อธิบายกับประชาชนด้วยว่าใช้อำนาจส่วนใด”

ครูจุ๊ยกล่าวด้วยว่า การที่หนังสือเล่มหนึ่งๆ จะเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ต้องมีประกาศออกมาว่าเป็นหนังสือต้องห้าม เพราะอะไร อย่างไร และจากการตั้งทีมเพื่อตรวจสอบชุดหนังสือดังกล่าว สะท้อนความคิดของรัฐว่า

“รัฐผูกเอาการศึกษาไว้กับความมั่นคง ไม่ได้มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล หรือมนุษย์คนหนึ่งที่จะเติบโตมาได้ฝึกฝนทักษะคิดวิเคราะห์ เพื่อในที่สุดจะได้มีวิจารณญาณของตัวเองและคิดในแบบของตัวเองได้ อันนี้คือชัดเจนว่า รัฐมองว่าการศึกษาที่อยากให้ประชาชนได้รับ เป็นการศึกษาที่คุณไม่ต้องคิด แต่มีหน้าที่ทำตามสิ่งที่เขาบอกไปเรื่อยๆ

“คำว่าล้างสมองหรือไม่ล้างสมอง รัฐสามารถทำได้ยิ่งกว่าประชาชน เพราะประชาชนไม่มีอำนาจหรือเครื่องไม้เครื่องมือเหมือนรัฐ เรื่องนี้ก็เช่นกัน การปิดกั้นข้อมูล หรือไม่ให้เห็นแง่มุมอื่นที่เกิดขึ้นในสังคม โดยรัฐบอกว่าเป็นเรื่องอันตราย ไม่ให้ดู ไม่ให้เห็น ไม่ต้องใช้วิจารณญาณ สะท้อนได้ว่ารัฐไม่ต้องการให้มีการคิดวิเคราะห์ในประเทศนี้”

ครูจุ๊ยตั้งข้อสงสัยอีกว่า หนังสือของกระทรวงศึกษาธิการเองที่บรรจุและใช้เพื่อการเรียนการสอนก็มีปัญหา เช่น บ้างมีข้อมูลผิดพลาด บ้างมีการเอาข้อมูลของผู้อื่นมาใช้โดยไม่มีการอ้างอิง และบ้างก็มีการตีตรากลุ่มในสังคมว่ามีศักดิ์ศรีต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่งหรือคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เธอมองว่าเป็นภัยต่อการศึกษาและสังคมทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนจะสามารถร้องเรียนได้ที่ใคร

อ้างอิง:

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า