เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563
เนื้อหาของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติ เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ เครื่องสำอาง ออกประกาศไว้ มีดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย
ข้อ 2 พลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) หมายถึง พลาสติกสังเคราะห์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดอนุภาคน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ในรูปแบบของแข็งที่ไม่ละลายน้ำ ไม่สามารถสลายตัวได้เอง ตามธรรมชาติ มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อขัดทำความสะอาด
ข้อ 3 เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีดส์ (plastic microbeads) ที่มีการวางขายอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
อนุทิน ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ห่วงโซ่เม็ดบีดส์ จากเครื่องสำอางถึงจานข้าว
Greenpeace Thailand ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ ‘ไมโครบีดส์’ (Microbeads) หรือเม็ดบีดส์ หมายถึง ชิ้นส่วนเล็กๆ ของพลาสติก ซึ่งมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด โฟมล้างหน้า และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนใหญ่ทำจากโพลีเอทิลีน แต่สามารถทำจากพลาสติกปิโตรเคมีอื่นๆ ได้ เช่น โพลีโพรพิลีนและโพลีสไตรีน มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร เล็กพอที่จะการผ่านระบบกรองน้ำได้อย่างง่ายดาย
เมื่อเม็ดบีดส์มีขนาดที่เล็กจิ๋วเช่นนี้แล้ว มันจึงสามารถเล็ดลอดไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยไหลผ่านท่อระบายน้ำจากบ้านเรือนไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และสุดท้ายปลายทางอาจปนเปื้อนอยู่ในท้องทะเล ที่น่ากังวลคือเม็ดพลาสติกเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เมื่อสัตว์น้ำกินเข้าไป ท้ายที่สุดก็อาจเป็นวงจรย้อนกลับมาสู่ผู้บริโภคจนได้
Greenpeace Thailand ยกผลการศึกษาของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่าการหลุดลอดของเม็ดไมโครบีดส์สู่แหล่งน้ำในรัฐนิวยอร์คเพียงรัฐเดียว คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 19 ตันต่อปี และเมื่อไมโครบีดส์อยู่ในแหล่งน้ำ มันจะดูดซึมสารเคมีเป็นพิษต่างๆ โดยเฉพาะโพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ สารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายโดยไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อและเป็นสารก่อมะเร็ง
แม้ว่าไมโครบีดส์จะมีคุณสมบัติในการขัดเซลล์ผิวหนังได้ดี แต่ Greenpeace Thailand มีข้อแนะนำด้วยว่า เราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อทดแทนไมโครบีดส์ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์หลายชนิดยังมีคุณสมบัติเทียบเท่าหรือดีกว่า เช่น การใช้สครับจากเกลือ มะขามเปียก หรือผงถั่วเขียว ปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงมีการรณรงค์เลิกใช้ไมโครบีดส์ เพราะตระหนักถึงผลกระทบต่างๆ ขณะที่การรณรงค์ในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น ดังปรากฏในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว
สนับสนุนโดย