เครือข่ายฯยืนยันเรียกร้องเพื่อฐานทรัพยากรและอนาคตประเทศ

IMG_0284PNSD

ความคืบหน้าล่าสุด ขณะนี้ (25 กุมภาพันธ์) เครือข่ายฯได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของ สน.นางเลิ้ง ขณะที่ สน.นางเลิ้ง ไม่อาจรับแจ้งหรือพิจารณาหนังสืออุทธรณ์ได้

(24 กุมภาพันธ์) หลังจากเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (People’s Network for Sustainable Development) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรประชาชน ประชาสังคม มากกว่า 100 เครือข่าย แสดงสัญลักษณ์เรียกร้องเพื่อให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3 และ 4/2559 ซึ่งจะก่อผลกระทบต่อมิติการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ และได้ไปแจ้งการชุมนุมต่อ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยได้รับจดหมายตอบกลับมาว่า ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม เนื่องจากตีความว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการชุมนุมทางการเมือง

ทางเครือข่ายฯเห็นว่า ข้อวินิจฉัยดังกล่าว มีผลร้ายแรงต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสาธารณะ และอาจมีผลในทางไม่ดีต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เครือข่ายฯจึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อความกระจ่างในประเด็นนี้ โดย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก และ สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

IMG_0327PNSD

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ชี้แจ้งใน 2 ประเด็น โดยยืนยันว่าการกระทำของเครือข่ายฯเป็นไปตามกฎหมาย ประเด็นที่เรียกร้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาโดยตรง และไม่มีนัยทางการเมือง

“ในประเด็นแรก อยากปูพื้นทางกฎหมายว่า สิ่งที่เราได้ดำเนินการนั้นอยู่บนหลักของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่คนไทยเคยได้รับ ก็ยังคงดำรงอยู่ รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครอง นั่นหมายความว่า เรายังคงมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง

“ประเด็นถัดมา สน.นางเลิ้งได้วินิจฉัยว่า การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายของเรา เป็นการชุมนุมทางการเมือง ข้อนี้เราคิดว่ามีความไม่ถูกต้อง ถ้าเราพิจารณา สาระของคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3 และที่ 4 นั้น ไม่มีเนื้อหาใดเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เป็นการยกเลิกผังเมือง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมหาศาล

“โดยเนื้อหาของข้อกฎหมายที่เราเรียกร้องให้ยกเลิก ไม่มีข้อไหนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง รวมถึงในมาตรา 44 นั้น ก็ระบุชัดเจนว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของการบริหารราชการแผ่นดิน แต่การออกคำสั่งในฉบับ 3 และ 4 เราคิดว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 44

“พื้นฐานทั้งหมดที่ได้ดำเนินการมา เราเชื่อว่าสิ่งที่เราได้กระทำลงไปนั้น อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย และได้แสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่วันที่ 4 ที่ไปยื่นหนังสือ แถลงการณ์ในวันที่ 23 บ่งบอกชัดเจนว่า ไม่มีนัยทางการเมือง เป็นเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ยกเลิกคำสั่งสองฉบับ ซึ่งมีผลต่อกระบวนการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการพัฒนา รวมทั้งมนุษยชนด้วย นี่คือหลักกฎหมายที่เราคิดว่าเราได้ดำเนินการมาอย่างถูกต้อง” ประสิทธิ์ชัยชี้แจง

IMG_0315PNSD

สมนึก จงมีวศิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าด้วยเนื้อหาสาระของคำสั่งฉบับที่ 3 และ 4/2559 ที่เครือข่ายฯขอให้ยกเลิก

เนื่องจากประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 เป็นฉบับที่ลิดรอนสิทธิในการพัฒนาของชุมชนโดยตรง เพราะคำสั่งที่ 3/2559 เป็นคำสั่งที่ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเราทราบแล้วว่ามีทั้งหมด 10 จังหวัดในประเทศไทย ณ ขณะนี้

และคำสั่งที่ 4/2559 เป็นคำสั่งที่พูดถึงเรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงเพื่อใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งในคำสั่งนี้ระบุไว้ทั้งหมด 5 ประเภทกิจการ ซึ่งเป็นกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ ซึ่งประกาศสำหรับพื้นที่ทั้งหมด 77 จังหวัด

กรณีผังเมืองรวมจังหวัด สมนึกกล่าวว่า เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันกว่า 10 ปี ก็ถูกประกาศทั้งสองฉบับนี้ทำให้หายไป

“ผังเมืองรวมที่เราเคยมีอยู่ในมือ เป็นผังเมืองรวมที่มีการพัฒนาร่วมกับภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ถือเป็นผังเมืองที่มีการพัฒนาก้าวหน้า แต่หลังจากคำสั่งนี้ออกมา ทำให้กิจการหลายประเภทเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เราจัดโซนนิ่งไว้แล้วอย่างชอบธรรม ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตามที่เคยทำผังเมืองรวมกันมา”

เราก็ได้ยินจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเองว่า เขาจะใช้เรื่องผังเมืองรวม ‘ชั่วคราว’ ซึ่งมันไม่มีบังคับอยู่ในกฎหมายที่เราเคยมี เป็นกฎหมายที่มาจากไหน เราก็ไม่ทราบได้

ผมขอยืนยันว่า เราขอให้ยกเลิกเฉพาะคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 เท่านั้น เพราะทั้งสองฉบับนี้เป็นกฎหมายจาก คสช. ที่มาทำลายกฎหมายส่วนรวม ที่เรียกว่า กฎหมายผังเมือง จนทำให้พวกเราอาจประสบความเดือดร้อนในอนาคต เพราะจะเกิดความขัดแย้งในทุกพื้นที่จากโครงการและกิจการต่างๆ ที่อนุญาตให้เข้ามาสร้างในบริเวณเดิมที่ไม่อนุญาต ตรงนี้เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด

IMG_0325PNSD

เครือข่ายฯย้ำว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าวว่า หลังจากทางเครือข่ายฯได้มายื่นหนังสือเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุชัดเจนว่า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ จะมาสอบถามความคืบหน้าและผลการพิจารณาอีกครั้ง

“เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เราได้ไปรอฟังผลการพิจารณาทั้งวัน ก็ไม่มีหน่วยงานใด หรือเจ้าหน้าที่คนใดมาตอบผลการพิจารณา เราคิดว่า เราคงจะต้องออกมาใช้สิทธิ์ในการชุมนุมสาธารณะ เพื่อสื่อสารกับผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบและสนใจประเด็นนี้

“เราจึงมีตัวแทนไปยื่นเพื่อขอใช้สิทธิ์ในการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนในหมวดที่ 2 เรื่องการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 ว่า ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งเราก็ไปแจ้งเพื่อดำเนินการการชุมนุมสาธารณะในวันพรุ่งนี้ (25 กุมภาพันธ์)”

“ในพระราชบัญญัตินี้ระบุไว้ชัดเจนใน มาตรา 11 ว่า เมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้ผู้รับแจ้งส่งสรุปสาระสำคัญในการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้แจ้งทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง ในกรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ให้ผู้รับแจ้งมีคำสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด

เนื่องจากพื้นที่การชุมนุมอยู่ในความรับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง สุภาภรณ์กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ สน.นางเลิ้งถือเป็นผู้รับแจ้ง ดังนั้น สน.นางเลิ้งต้องเป็นฝ่ายสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะส่งมาให้เครือข่ายฯ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า การชุมนุมสาธารณะนั้นจะต้องดำเนินการในสาระสำคัญอย่างไร และหากพิจารณาว่าไม่ตรงกับ พ.ร.บ. นี้ ก็ต้องแจ้งมาว่า ต้องมีการแก้ไขอย่างไร

เมื่อพิจารณาแล้ว เครือข่ายฯเห็นว่า การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ขัดต่อ มาตรา 7 และ มาตรา 8 ตาม พ.ร.บ. นี้ จึงยืนยันว่า การใช้สิทธิ์การชุมนุมของเครือข่ายฯเป็นไปตามกฎหมาย และเรียกร้องว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจผิด ก็ขอให้ยกเลิกคำสั่งนี้ และออกใบรับแจ้งเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ตามเสรีภาพการชุมนุม และตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะต่อไป

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า