ฟังเสียงมวลมหาประชาชน: 4 ปีปฏิรูป ‘สมหวัง’ หรือ ‘เสียของ’

เป่าเทียนตัดเค้กวันเกิดรัฐบาล คสช. ไปแล้ว ต่อจากนี้ก็ต้องนั่งลุ้นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือว่าต้องเตรียมเทียนเล่มที่ 5 สำหรับปักเค้กอีกรอบ พอพูดถึงการเลือกตั้งก็ไพล่นึกถึงความหลังเมื่อครั้งมวลมหาประชาชนเปี่ยมความหวังว่าจะสามารถ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ แล้วนำประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบมาสู่ประเทศชาติ

ความหวังนั้นถูกส่งต่อทั้งทางนามธรรมและรูปธรรมไปยังรัฐบาลทหาร จาก ‘ลุงกำนัน’ ถึงมือ ‘ลุงตู่’ แต่ทำไปทำมาไม่รู้ว่าการปฏิรูปรุกคืบหรือคลานต้วมเตี้ยมกันแน่ เราจะพูดเองเออเองก็ดูไม่สมมาพาควรสักเท่าไหร่ ครั้นจะฟังเสียงของคู่ตรงข้ามก็ประเดี๋ยวจะหาว่าเป็นขาประจำที่วิจารณ์ด้านลบเพราะเสียประโยชน์ทางการเมือง เราจึงไล่เช็คความรู้สึกของมวลมหาประชาชนระดับคีย์แมนที่เคยอยู่บนท้องถนนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีกช้าเร็วหรือไม่ ประเด็นที่น่าสนใจคือ 4 ปีที่ผ่านมา เขาเหล่านั้นเห็นว่าการปฏิรูป ‘สมหวัง’ หรือ ‘เสียของ’ กันแน่

…..

สุริยะใส กตะศิลา

เพิ่งออกมาพูดเมื่อ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) บุคคลระดับแกนนำตั้งแต่ยุคพันธมิตรจนถึง กปปส. ‘พี่ยะใส’ ของน้องๆ มองว่าความคาดหวังเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ คสช. ควรน้อมรับคำวิจารณ์แล้วรายงานต่อประชาชนว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง อะไรคืบหน้าก็บอก อะไรยังไม่ได้ทำก็แจ้ง นอกจากนี้ยังเห็นว่าการปฏิรูปจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง

“ทุกฝ่ายต้องเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องได้รับการผ่าตัดหรือปฏิรูปในระดับโครงสร้างอย่างจริงจัง บางคนอาจมองว่าการปฏิรูปประเทศอาจจะเสียของในรัฐบาลหนึ่งหรือล้มเหลวในยุคสมัยหนึ่ง แต่ต้องไม่ทำให้การปฏิรูปกลายเป็นของเสีย หรือทำให้ประชาชนสิ้นหวังเพราะไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต”

ก่อนหน้านั้น สุริยะใส กตะศิลา เคยพูดในเว็บไซต์โลกวันนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ว่า

“ขณะนี้ความสนใจของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีพุ่งไปที่การเตรียมการเลือกตั้งและการเมืองหลังการเลือกตั้ง และเริ่มถูกดูดไปอยู่ในเกมของนักการเมืองมากขึ้น จนทำให้ขาดคนนั่งหัวโต๊ะที่จะกำกับและบัญชาการแผนการปฏิรูปให้ถึงฝั่ง ฉะนั้น 4 ปี คสช. ถ้าจะเรียกว่าการปฏิรูปค้างเติ่งก็คงได้ เพราะมีแต่แผนการ มีวาระ มีพิมพ์เขียว แต่ยังขาดการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม”

สุเทพ เทือกสุบรรณ

“พลเอกประยุทธ์ ครับ ผมและประชาชนจำนวนหนึ่งคิดว่าไม่เสียเวลา ไม่เสียของ ทำอะไรได้ทำเถอะครับ ปฏิรูปเถอะครับ เสร็จเสีย 1 เรื่อง 2 เรื่องก็ยังดี ที่เหลือเรามาช่วยกันผลักดันต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ พลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการของนายมีชัยด้วย”

หัวเรือใหญ่ของขบวนมวลมหาประชาชนออกลูกอ้อนและแสดงความมั่นใจอย่างสุดลิ่มว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำพานาวาประเทศไปสู่แสงสว่างได้ การพูดใน Facebook Live เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ของเขามีทั้งคำชื่นชมและเห็นใจ เพราะการปฏิรูปไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์ว่าเสียของ กระนั้นลุงกำนันของหลานๆ ก็เชื่อว่าเขามองคนไม่ผิด

“ผมเห็นใจนายกฯ ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย ในการปฏิรูปจะต้องกระทบต่อคนที่คุ้นเคยกับระบบเก่า และแน่นอนการเสียประโยชน์ ซึ่งทำให้มีกลุ่มต่อต้านคัดค้าน จึงเป็นหน้าที่สำคัญของประชาชนที่จะต้องรวมพลังกัน เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศให้บรรลุ และจะต้องทำให้ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเราจะเสียโอกาสมากในการพัฒนาประเทศเพื่อความกินดีอยู่ดีของเราเอง”

คนรักกันนี่มันรักกันจริงๆ นะ

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

9 ธันวาคม 2556 ก่อนรัฐประหาร เนติบริกรชั้นเซียนที่ไปร่วมชุมนุม กปปส. เคยกล่าวเอาไว้ในฐานะที่ตนเองเป็นอุปนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

“ขณะนี้ประชาชนหมดความเคารพนับถือรัฐบาล ทำให้ชาวจุฬาฯ ต้องออกมาทำหน้าที่รวมตัวเพื่อปกป้อง ซึ่งการรวมครั้งนี้มาด้วยใจ และแม้รัฐบาลจะประกาศยุบสภาแล้ว แต่เหตุการณ์ต่างๆ คงไม่ยุติง่ายๆ เพราะยังไม่ใช่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม”

14 พฤษภาคม 2561 ผ่านวันนั้นมา 4 ปี 5 เดือน 5 วัน เขาออกมาพูดในบทบาทใหม่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย กล่าวในไทยโพสต์ว่า ตนเองรู้สึกเหนื่อย เพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร ก่อนหน้านี้มีการตั้งองค์การอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนยุบตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้วยุบตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ 11 คณะ ซึ่งทุกคณะมีแต่แผน แล้วให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ แต่คิดว่าการใช้ส่วนราชการเป็นฝ่ายปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ เพราะเหมือนกับให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเสียเอง นอกจากนี้ระบบราชการยังคิดแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ต่างจากกรรมการปฏิรูปที่ต้องการลงมือทำในทันที

“ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ เพราะเหมือนกับให้ผู้รับเหมามาทำหน้าที่ตรวจงานตัวเอง ดังนั้นจึงอยากมีข้อเสนอแนะให้กรรมการปฏิรูปมีอำนาจในการเสนอกฎหมายด้วย ไม่ใช่ให้ส่วนราชการเป็นผู้เสนอกฎหมายอย่างเช่นเวลานี้”

ในไทยโพสต์ยังอ้างคำพูดของบวรศักดิ์อีกว่า แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และตอบไม่ถูกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้การปฏิรูปอยู่ในบทถาวร ซึ่งหมายความว่าจะต้องปฏิรูปต่อไป ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราจะปฏิรูปไปตลอดชาติไม่ได้

แม้จะบ่นเหนื่อย แต่เนติบริกรอย่างเขาก็ยังไม่ถึงขั้นหมดความเคารพต่อรัฐบาล นี่ถ้าฟิตเหมือน 4 ปีที่แล้ว ไม่แน่ว่าคงได้เห็นนักกฎหมายอย่างเขาเดินลงบนท้องถนนไปแล้ว

วิทยา แก้วภราดัย

ถ้าสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นลุงกำนัน วิทยา แก้วภราดัย ก็น่าจะเป็นพ่อผู้ใหญ่ บนเวที กปปส.

22 เมษายน วิทยาเพิ่งออกมาให้ความเห็นในเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ต่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจว่าเขารู้สึกผิดหวัง เนื่องจากร่างปฏิรูปนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ เป็นร่างที่ไม่สอดคล้องกับการถ่วงดุลอำนาจระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ

เขาบอกว่า หลักของการปฏิรูปมีสองเรื่องคือ หนึ่ง-รายงานฉบับนี้ประชาชนได้อะไร แนวทางการปฏิรูปทั้ง 7 ด้านนั้นทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน แต่รายงานของคณะกรรมการฉบับนี้ทำได้แค่ปรับปรุงระเบียบในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย ซึ่งไม่ต่างจากการปฏิรูปการศึกษา หรือการปฏิรูปการเมืองที่ยังเป็นไปในทิศทางเดิม

“การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ได้เริ่มต้นเลย คสช. ต้องเดินให้จบ ก้าวแรกปฏิรูปตำรวจล้มเหลวคณะกรรมาธิการไม่ยอมทำ จะปล่อยให้ตามกระแสไม่ได้ต้องเอาจริงเอาจังจะปล่อยให้รัฐบาลหน้าทำ ก็ถือว่าจบจะไปฝากความหวังกับรัฐบาลหน้ายากเพราะจะเป็นรัฐบาลผสมแน่”

แม้ถ้อยคำจะดูหงุดหงิดอยู่บ้าง แต่วิทยายังมีความหวังว่าการปฏิรูปนี้จะไม่เสียของ และเขาเล็งเป้าใหญ่ไปที่การปฏิรูประบบราชการซึ่งกำลังครองเมืองอยู่ในขณะนี้

“ถ้า คสช. ไม่ปฏิรูประบบราชการ ก็หวังได้ยากว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นในรัฐบาลข้างหน้า ฝากความหวังไว้กับ คสช. เวลาที่เหลืออีกหนึ่งปี ถ้าการปฏิรูปไม่เกิดเท่ากับการปฏิวัติเสียของแน่นอน การทุจริตที่กำลังเกิดขึ้นแทบทุกหน่วยงาน ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่ทุจริต ที่ยังเงียบอยู่คือการกระจายอำนาจในระบบราชการ ผ่านผู้ว่า ผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้านมีการก้มกราบกันที่ประชุมนายอำเภอเพื่อไม่ให้เรียกเปอร์เซ็นต์จนมีการโยกย้าย หลังจากนั้นมีการกระจายลงไปซ้ำๆ ผ่านระบบราชการ ยืนยันว่ามีการทุจริตกันมากไม่ได้น้อยกว่าองค์กรท้องถิ่นบางหน่วยงาน มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภาพสุดคลาสสิกของพี่มาร์คที่โอบกอดลุงกำนันขณะปากคาบนกหวีดโดยมีประจักษ์พยานเป็นมวลมหาประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนบ่งบอกแทบทุกอย่างว่าเขาเชื่อมั่นแค่ไหนกับแนวทางของ กปปส. แต่พอพ้นจากการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์เขาก็กลายเป็นคนที่พูดจามีหลักการอีกครั้ง และโดยเฉพาะในช่วงหลังมานี้แทบจะเป็นเดือดเป็นร้อนจาก คสช. มากกว่าใคร กระทั่งต้องออกมาพูดอะไรกระตุกรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง เพราะเวลาที่เหลือน้อยตามคำสัญญาของรัฐบาลนั้นนโยบายหลายต่อหลายเรื่องก็เป็นการทำเพียงลูบหน้าปะจมูก ใช้เงินเกือบล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ผลที่ได้รับกลับไม่ช่วยอะไรคนส่วนใหญ่เลย

“ส่วนการปฏิรูปในแง่ของการเมืองที่น่าเป็นห่วงคือ ใช้รัฐธรรมนูญมาปีเศษปรากฏว่า หลักการหลายอย่างมีแต่ความสับสน ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือสถานะองค์กรอิสะ จากปัญหาการทำกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระ การปลดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเพิกเฉยต่อมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำให้ระบบการตรวสอบถ่วงดุลอ่อนแอ” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา

และยังกล่าวในคราวเดียวกันนั้นอีกว่า การออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สะท้อนถึงความไม่รอบคอบของการทำกฎหมายและไม่เข้าใจเงื่อนไขความเป็นจริงของสังคม หากเขียนกฎหมายเอาใจเฉพาะกลุ่มคนจะนำปัญหามาในอนาคต

หลักการดีจริงๆ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
มติชน
ไทยโพสต์
คมชัดลึก
เดลินิวส์
โลกวันนี้

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า