สิทธิเลือกตั้งของคนที่ถูกลืม

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

 

ในวาระที่ประเทศไทยเตรียมที่จะจัดการเลือกตั้งตามที่ทุกคนรอคอย ขณะที่สิทธิในการเลือกตั้งของคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็น ‘ผู้พิการ’ ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมควรทำความรู้จัก เข้าใจ และไม่มองข้ามคนกลุ่มนี้ที่ควรได้รับสิทธิอย่างเสมอหน้าเช่นเดียวกับคนทุกคน

“วงเสวนาครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อปูพื้นฐานให้สื่อมวลชนเกิดความเข้าใจคนพิการ เป็นการพูดคุยในเรื่องสื่อกับสิทธิการเข้าถึงทางการเมือง เพื่อให้สื่อได้รู้ว่าการเรียกคนพิการ หรือการนำเสนอภาพลักษณ์ของคนพิการต้องเป็นอย่างไร” นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ thisable.me และผู้สื่อข่าวประชาไท กล่าวเปิดวงเสวนาในหัวข้อ ‘บทบาทของสื่อในการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการ’ เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจต่อสิทธิของผู้พิการที่มักถูกละเลย กระทั่งถูกปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติในความเป็นมนุษย์เพียงเพราะเป็นผู้พิการ ตลอดจนถึงน้ำหนักของความสงสารที่หาได้เป็นสิ่งที่ผู้พิการต้องการไม่

สิทธิพื้นฐานอันพึงมีและการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสมในฐานะของพลเมืองเช่นกันต่างหาก คือสิ่งที่ผู้พิการปรารถนาและอยากให้สังคมเข้าใจ


สิทธิการเลือกตั้งที่ยังเอื้อมไม่ถึง

แม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นสิทธิทางการเมืองของพลเมืองในประเทศอย่างเท่าเทียม อย่างน้อยในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ ปัญหาการเข้าถึงของคนพิการยังคงปรากฏอยู่ อย่างเช่นคูหาการเลือกตั้งที่ไม่มีการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ ไม่ว่าจะเป็นทางลาด หรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่ไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ทางสายตา ด้วยเพราะทั้งในสายตาของภาครัฐและประชาชนด้วยกันต่างไม่เคยให้ความสำคัญกับคนพิการ

รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า สิทธิพลเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ควรได้รับอย่างเสมอภาคกันโดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเลือกปฏิบัติ รักศักดิ์มองไปยังบทบาทของสื่อว่า สื่อสามารถกระตุ้นให้ผู้พิการเกิดความตระหนักในสิทธิทางการเมืองของตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ต้องเริ่มก่อนเรื่องอื่นๆ เพราะหากไม่เริ่มจากการกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้พิการตระหนักในสิทธิของตนเองแล้ว การจะไปบอกถึงเหตุผลสำคัญของการเลือกตั้งว่าสำคัญอย่างไร มีวิธีอย่างไร ก็ไม่มีประโยชน์

“พูดง่ายๆ ว่า เมื่อจิตใจเขาไม่ตระหนักแล้ว หรือไม่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมแล้ว เขาก็อาจจะไม่สนใจ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกอาจจะมีแคมเปญรณรงค์ให้ผู้พิการแต่ละกลุ่มเข้ามาพูดคุยผ่านสื่อที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่สื่อด้านใดด้านหนึ่ง” รักศักดิ์กล่าว

อุปสรรคในการเลือกตั้งที่ผ่านมา รักศักดิ์กล่าวในฐานะของผู้บกพร่องทางการมองเห็นไว้ว่า สื่อประชาสัมพันธ์ที่ถูกส่งมานั้นยังไม่คำนึงถึงผู้พิการ ไม่มีตัวอักษรเบรลล์ให้อ่านได้ นอกจากนี้อีกปัญหาที่รักศักดิ์ประสบคือ แม้จะมีแผ่นภาพสำหรับไว้ทาบเพื่อกากบาทช่อง แต่หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยกลับไม่รู้ว่ามีแผ่นภาพ หรือรู้ว่ามี แต่กลับไม่มีการให้ความรู้ว่าต้องมีคลิปสำหรับยึดแผ่นภาพกับแผ่นกากบาทไม่ให้เคลื่อนออกจากกัน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คือสิ่งที่รักศักดิ์สะท้อนต่อปัญหาการเข้าถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

รักศักดิ์ ชัยรัญจวนสกุล

ต่อเนื่องมายัง พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ กรรมการสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย สะท้อนปัญหาของผู้เป็นแม่ที่มีลูกเป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญาไว้ว่า เด็กกลุ่มนี้มักไม่ได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติโดยอำนาจรัฐ แต่เป็นการตัดสินใจโดยครอบครัวของเด็กเองที่มองว่าเด็กประเภทนี้เลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการขาดความเข้าใจของผู้ปกครองเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กกลุ่มนี้มีสิทธิเลือกตั้งได้ และคิดเป็น หากได้รับการชี้แนะที่ถูกต้อง ไม่ใช่การชี้นำ

“พอมีการเลือกตั้งจะมีใบแจ้งมาที่บ้านว่า ใครบ้างที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในรายชื่อก็จะมีชื่อลูกเราด้วยที่เป็นผู้พิการ และเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งได้”

จำลองการเลือกตั้งเพื่อทบทวนความเข้าใจ

พรสวรรค์สะท้อนความเห็นต่อบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การนำเสนอข้อมูลของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งควรจะมีการใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจสำหรับเด็กพิเศษ รวมถึงการจำแนกสีของบัตรลงคะแนน ตลอดจนการจำลองคูหาเลือกตั้งเพื่อให้เด็กได้ทดลองก่อนจะเข้าสู่คูหาจริง โดยการจำลองคูหาเลือกตั้งไม่อาจสอนได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือวันเดียว แต่ต้องมีการสอนซ้ำๆ เพื่อให้เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาเข้าใจจนสามารถทำได้เอง

บทบาทของสื่อมีความสำคัญไม่น้อย พรสวรรค์มองว่า ทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์ว่าผู้พิการสามารถเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการแบบใด หากมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมสามารถเลือกตั้งได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องเหล่านี้ให้บุคคลทั่วไปได้ทราบ รวมถึงเจ้าหน้าที่และตัวผู้พิการเอง

พรสวรรค์ เมตตาประเสริฐ

มายาคติของบุคคลไร้ความสามารถ

นุจจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย เริ่มต้นอธิบายก่อนว่า ผู้บกพร่องทางจิตนั้นมี 2 ประเภท คือ ผู้บกพร่องที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการแล้ว จะเรียกว่า ‘ผู้พิการทางจิต’ ขณะผู้ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนจะเรียกเพียง ‘ผู้บกพร่อง’ ซึ่งกลุ่มหลังยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก รอการวินิจฉัยจากแพทย์ กับอีกประเภทคือ ครอบครัวไม่ยินยอมให้ขึ้นทะเบียนผู้พิการ เพราะกลัวสายตาของสังคมจะมองคนในครอบครัวเป็นผู้พิการทางจิต

มายาคติหนึ่งที่นุจจารีสะท้อนคือ ความเข้าใจของคนทั่วไปที่มักมองว่า ผู้พิการทางจิตไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจอะไรได้ หรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ทั้งนี้ ในแง่กฎหมาย ผู้ที่จะถูกระบุว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถต้องระบุโดยคำสั่งศาลเท่านั้น แต่ผู้พิการทางจิตที่ขึ้นทะเบียนแล้วไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สามารถไปเลือกตั้งเองได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมเฉกเช่นคนทั่วไปได้

“เลือกตั้งครั้งต่อไปถ้าจะมีการผลักดันให้ผู้พิการ 7 ประเภทเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้ง ก็อยากให้มีการเรียนรู้ในแต่ละประเภทของผู้พิการ เหมือนอย่างที่คุณแม่ (พรสวรรค์) ถามว่าน้องอยากไปไหม อยากไปค่ะ แต่สังคมไม่ให้โอกาส ซึ่งผู้พิการทางจิต ถ้าหมอวินิจฉัยว่าหายแล้วก็ไปเลือกตั้งได้ ถ้าเขากินยาอย่างสม่ำเสมอ เขาสามารถฟังปราศรัยได้ สามารถเลือกได้ว่าใครดีไม่ดี แต่ที่ผ่านมาคนมักจะคิดว่า ถ้าให้คนพิการทางจิตไปกากบาทเดี๋ยวก็เป็นโมฆะ เพราะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ นี่คือความไม่เข้าใจ”

นุจจารียังเน้นย้ำถึงบทบาทของสื่อมวลชนให้ตระหนักเรื่องการใช้คำเรียกประเภทของผู้พิการต่างๆ อย่างถูกต้องและเกิดความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะผู้พิการทางจิต ซึ่งไม่ได้แตกต่างใดๆ จากผู้พิการประเภทอื่นๆ เพียงแต่ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น

เธอเชื่อว่า หากสื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ให้เข้าถึงคนพิการแล้ว จำนวนผู้ใช้สิทธิการเลือกตั้งก็จะมีมากขึ้น ขอเพียงแต่ให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกัน ไม่ใช่ความเข้าใจจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

“ที่ผ่านมาเราเน้นแต่คนทั่วไป แต่เราลืมไปว่าประเทศไทยยังมีคนพิการอีกหนึ่งล้านเจ็ดแสนคนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าต่อไปมีการรณรงค์ให้ผู้พิการออกมาใช้สิทธิ แม้ว่าจะไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าทุกคนจะต้องอยากออกมาใช้สิทธิในฐานะของคนไทย”

นุจจารี สว่างวรรณ

สำหรับกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สะท้อนถึงปัญหาในการได้รับข่าวสารไว้ว่า ผู้พิการกลุ่มนี้แทบไม่เคยได้รับข่าวสารโดยตรงเกี่ยวกับการเลือกตั้งเลย

ปัญหาที่ปรียานุชสะท้อนจากประสบการณ์คือ ในอดีตที่ผ่าน ผู้พิการทางการได้ยินไม่เคยได้เลือกผู้แทนตามความต้องการของตัวเองด้วยข้อจำกัดเรื่องการอ่านออกเขียนได้ และการสื่อสารต้องผ่านล่ามภาษามือ ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงเป็นผู้เลือกให้ว่า ลูกจะต้องกากบาทให้ผู้แทนคนใด

คำถามคือ การนำเสนอข้อมูลของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นควรมีสื่อเฉพาะสำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูล ในเมื่อผู้พิการกลุ่มนี้เองก็มีชื่อปรากฏในทะเบียนบ้านในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล

มองให้ลึกกว่าความพิการ

ปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไปและค่อนข้างชัดเจนคือ ปัญหาด้านกายภาพของผู้พิการ สว่าง ศรีสม ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ สะท้อนปัญหาไว้ว่า อุปสรรคในการเข้าถึงการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคูหาที่ไม่มีทางลาด ไม่มีการจัดวางสถานที่ที่เอื้อต่อผู้พิการ และหากผู้พิการทางแขนต้องให้เจ้าหน้าที่มากากบาทให้แทน สามารถทำได้ไหม ผิดกฎหมายการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งสว่างเสนอว่า ควรต้องมีการระบุให้ชัดเจนลงไปว่า การยินยอมให้มีผู้ช่วยเหลือได้นั้นควรถูกนำมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น

“การช่วยเหลืออีกวิธีที่บ้านเราไม่เคยทำสำหรับผู้พิการที่ไม่อาจตัดสินใจได้ด้วยตัวเองคือ ต้องมีผู้ร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งผู้พิการทางสติปัญญาและทางจิตจะต้องได้รับสิทธิ แต่บางกรณีเขากลับถูกตัดสิทธิไปเลย อันนี้ถือว่าเป็นละเมิด ในเมื่อเราให้สัตยาบันในอนุสัญญาคนพิการว่าด้วยสิทธิการเลือกตั้ง[1]

สว่างยังกล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาการเข้าถึงสิทธิและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในการเลือกตั้ง ยังต้องมีสื่อหรือวัสดุที่ครอบคลุมถึงผู้พิการด้วย เช่น อักษรเบรลล์ หรือแผ่นภาพสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน โดย กกต. ควรทำหน้าที่ผลักดันให้นักการเมืองตระเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้สำหรับประชาชนด้วย

สุดท้าย สว่างเสนอประเด็นเรื่องการนำเสนอของสื่อที่มีต่อผู้พิการว่า สื่อจำเป็นต้องคำนึงด้วยว่า มีการล้ำเส้นผู้พิการหรือไม่ และไม่ควรนำเสนอเฉพาะในแง่มุมของความพิการ แทนที่จะสะท้อนถึงประเด็นที่ผู้พิการต้องการ

“ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นการทำทางลาด ถามว่าเราทำให้เพราะเขาเป็นคนพิการ หรือทำให้เพราะมีคนพิการต้องการใช้ สองวิธีคิดนี้ไม่เหมือนกันนะครับ ถ้าเราทำให้เพียงเพราะเขาพิการ เราก็จะมองเห็นแค่ความพิการของเขา เราจะโฟกัสแค่ตรงนั้น เมื่อโฟกัสตรงนั้นมากเกินไปก็อาจทำให้เราลืมพูดถึงประเด็นด้านสิทธิของเขา หรือปัญหาที่เขาเผชิญอยู่”

นอกจากประเด็นของความพิการ เสียงจากตัวแทนต่างต้องการให้สื่อทำหน้าที่เสมือนเป็น ‘ข้อต่อ’ ระหว่างนักการเมือง องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง และผู้พิการ เพื่อให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิการเลือกตั้งที่ครอบคลุมถึงผู้พิการทุกประเภท

สว่าง ศรีสม

ภายใต้วาทกรรมของความเป็นเมืองพุทธดั่งที่เรานิยามตัวเองนั้น เอาเข้าจริงแล้วใช่หรือไม่ว่า เรายังคงกักขังมายาคติที่มีต่อคนพิการไว้ภายใต้ ‘วัฒนธรรมความสงสาร’ ที่มองผู้พิการแต่เพียงมิติแคบๆ ด้วยคำว่าบุคคลผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งไม่เพียงจะลดทอนศักดิ์ศรี แต่ยังลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ สุดท้ายแล้วเท่ากับลดทอนผู้พิการออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิต ตลอดจนการออกแบบสังคมในฐานะพลเมือง

ดังเช่นที่ ชูเวช เดชดิษฐ์รักษ์ นักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการออกแบบสำหรับทุกคน ได้ทิ้งคำถามต่อประเด็นสิทธิผู้พิการต่อการเลือกตั้งไว้ว่า

“…เมื่อมีการช่วงชิงเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองด้วยความรุนแรงโดยผู้มีกองกำลัง จึงออกแบบกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองที่ลดทอนความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกในสังคมทุกคนได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการนับคะแนนเสียง ดังนั้น การเข้าไม่ถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ย้อนกลับไปสู่คำถามตั้งต้นที่ว่า ‘ใครถูกนับรวมเป็นสมาชิกในสังคม’[2]


[1] อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษย์ 1 ใน 9 ฉบับขององค์การสหประชาชาติ หรือ CRPD เป็นกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ส่งเสริม พิทักษ์ และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ระดับพื้นฐานได้อย่างเสมอภาคอย่างเต็มที่ และยังเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของคนพิการ ไม่แต่เพียงด้านสิทธิพลเมือง แต่ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และครอบครัว โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 และมีผลบังคับใช้วันที่ 27 สิงหาคม 2551
[2] อ้างอิงจาก ‘คำนำ’ คู่มือสำหรับสื่อมวลชน ในการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งของคนพิการในประเทศไทย

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า