เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ชัยชนะของฝ่ายก้าวหน้า และภาพสะท้อนความล้มเหลวของสหภาพแรงงานในระบบไตรภาคี

การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 นับเป็นครั้งแรกของการเลือกผู้แทนทางตรงของผู้ประกันตน นอกจากเป็นชัยชนะของการเมืองประชาธิปไตยของทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ แล้ว ยังสะท้อนเบื้องหลังอีกด้านของ ‘ขบวนการสหภาพแรงงาน’ ที่อ้างความเป็นผู้แทนของแรงงาน แต่กลับได้รับคะแนนเสียงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้แทนของทีมประกันสังคมก้าวหน้าและผู้แทนของสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย 

ถัดจากนี้ ผู้ประกันตนในฐานะคนทำงาน ไม่ว่ารัฐและกระทรวงแรงงานจำแนกให้พวกเราทุกคนเป็นคนทำงานในเศรษฐกิจภาคทางการ/ไม่เป็นทางการ และไม่ว่าเราจะเป็นคนทำงานในกลุ่มอาชีพใด ทั้งในภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือแรงงานอิสระ เราคือคนส่วนใหญ่ของกำลังแรงงานในประเทศ แต่ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แบ่งคนทำงานให้แยกออกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 39 และ 40 และการได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะเงื่อนไขของการเป็นผู้ประกันตนที่มีความสัมพันธ์การจ้างงานหรือเป็นการจ้างงานตนเอง 

บทความนี้จึงชวนตั้งข้อสังเกตต่อบทบาทของสหภาพแรงงานในระบบไตรภาคีที่ไม่ใช่เฉพาะคณะกรรมการประกันสังคม และกระบวนการที่ยังขาดความเป็นประชาธิปไตย และขาดการมีส่วนร่วมของแรงงานทุกภาคส่วน

เบื้องหลังของปัญหาสหภาพแรงงานในระบบไตรภาคี

1. พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนด ‘กรอบ’ ให้แรงงานอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัว จัดตั้งกลุ่ม เข้าเป็นสมาชิก การเจรจาต่อรอง ล้วนแล้วต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่วางไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงและนัดหยุดงาน แล้วการนัดหยุดงานในช่วง พ.ศ. 2516-2518 ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ควรนำมาอ้างว่าขบวนการแรงงานเข้มแข็ง แต่อุณหภูมิทางการเมืองเป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานตื่นตัวเนื่องจากระบอบการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย 

หากพิจารณาขั้นตอนการยื่นข้อเรียกร้องและระงับข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทำให้การนัดหยุดงานต้องมีระเบียบขั้นตอนให้ทำหนังสือล่วงหน้าและขอมติที่ประชุมของสหภาพ กระบวนเหล่านี้จึงเป็นปัญหาสำหรับการวางแผนกลยุทธ์ของฝ่ายแรงงานในการต่อสู้เรียกร้องกับนายจ้าง 

กระบวนการข้างต้นจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อระบบไตรภาคีของฝ่ายลูกจ้างมีอำนาจเจรจาต่อรองระดับชาติได้อย่างแข็งขัน ไม่ใช่มีแต่ผู้แทน แต่ไม่มีมวลชนสนับสนุนอย่างแท้จริง แล้วหากทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แรงงานจะพบว่า ระบบไตรภาคีไม่มีความยุติธรรมตั้งแต่แรกที่กำหนดสัดส่วนรัฐ นายจ้าง และแรงงานในสัดส่วนที่เท่ากัน เพราะเป็นไปได้ยากมากที่รัฐบาลจะโน้มเอียงมาสนับสนุนแรงงาน และยังพบว่าฝั่งแรงงานกลับโน้มเอียงไปทางฝั่งนายจ้างเสียเอง

2. ขบวนการสหภาพแรงงานมี ‘ขุนนางกรรมกร’ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนและอ้างจำนวนสมาชิกจำนวนหลักหมื่นและหลักแสนคน แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า จำนวนสมาชิกเหล่านั้นต้องได้รับการตรวจสอบและติดตามว่าเป็น ‘ตัวเลขที่มีคุณภาพ’ จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงปริมาณที่มาจากจำนวนสมาชิกของสหภาพ และมีการนับซ้อนของของสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และสภาองค์การลูกจ้างหรือไม่ เพราะจำนวนที่รวบรวมและเผยแพร่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีสหภาพแรงงานในภาคเอกชน 1,293 แห่ง และมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในภาคเอกชน 388,587 คน จำนวนนี้ควรพิจารณาว่าเป็นตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่ และมีการติดตามและตรวจสอบหรือไม่ (ดูเพิ่มเติม – จำนวนองค์กรแรงงานทั่วราชอาณาจักร ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 โดยสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน)

ดังนั้น เหล่านักสหภาพแรงงานอาวุโสควรเลิกพร่ำสอนให้คนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการสหภาพแรงงานของขุนนางกรรมกร ว่ามีความไม่รู้และอ่อนประสบการณ์ เพราะทางกลับกัน ผลการเลือกตั้งทางตรงบ่งชี้แล้วว่า ขุนนางกรรมกรเหล่านั้นไม่มีมวลชนสนับสนุนจริงตามจำนวนที่ปรากฏในฐานข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นตัวเลขที่ใช้การไม่ได้และสะท้อนข้อเท็จจริงในขบวนการแรงงาน และควรทบทวนสัดส่วนการเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบไตรภาคีทุกคณะที่มาจากการสรรหาคัดเลือกและแต่งตั้งโดยกระทรวงแรงงาน รวมถึงหลักเกณฑ์ตำแหน่งอื่น เช่น ที่ปรึกษาด้านแรงงานสัมพันธ์ (ดูเพิ่มเติม – การจดทะเบียนที่ปรึกษาด้านแรงงานสัมพันธ์) เพราะการเข้าถึงตำแหน่งเหล่านี้ไม่ใช่ใครจะทำหน้าที่ก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

3. ความหนาแน่นของจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน (trade union density) จากข้อมูลสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สะท้อนสัดส่วนความหนาแน่นของจำนวนสมาชิกสหภาพที่ต่ำมากเพียงร้อยละ 3.3 จนเกือบรั้งท้าย โดยจัดอยู่ในลำดับที่ 131 จากทั้งหมด 139 ประเทศ ส่วนอัตราการเจรจาต่อรองร่วม (collective bargaining coverage) มีเพียงร้อยละ 1.1 เกือบรั้งท้ายเช่นกัน โดยจัดอยู่ในลำดับที่ 96 จากทั้งหมด 99 ประเทศ 

จำนวนข้างต้นนี้มองผิวเผินก็อาจกล่าวได้ว่า ระบบการบริหารแรงงานของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ความจริงแล้วต้องพิจารณาเหตุการณ์และปัญหาหลายอย่างประกอบกัน เช่น ภารกิจการคุ้มครองแรงงานโดยการตรวจแรงงานในสถานประกอบการ (Labour Inspection) มีข้อมูลในปี 2565 ตรวจพบปฏิบัติถูกต้อง 20,482 แห่ง และปฏิบัติไม่ถูกต้อง 8,134 แห่ง หากใช้จำนวนสถานประกอบการทั้งหมดในปี 2564 ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีถึง 2,626,700 แห่ง เมื่อพิจารณาสัดส่วนตามหน้าที่ของการตรวจแรงงาน มีเพียงร้อยละ 1.08 ซึ่งถือว่าน้อย และอาจประเมินว่า บทบาทของการคุ้มครองแรงงานเชิงป้องกันยังมีประสิทธิภาพต่ำ 

นอกจากนี้ ปัญหาการกดขี่ขูดรีดแรงงานไม่ใช่มีเฉพาะสถานประกอบการที่เป็นโรงงาน แต่เวลานี้การทำงานที่บ้าน ท้องถนน และโลกออนไลน์ ก็กลายเป็นพื้นที่ของการกดขี่ขูดรีดแรงงานได้เช่นกัน

สหภาพแรงงานไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริง

เมื่อสัดส่วนของสหภาพแรงงานไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริงของขบวนการแรงงาน ควรกลับมาพิจารณาต่อ 3 ประเด็น ในมุมการเมืองของขบวนการแรงงานและการบริหารแรงงาน ดังนี้

1. การไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัวและคุ้มครองการจัดตั้ง และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิการจัดตั้งและเจรจาต่อรองร่วม  

  • การไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO มีผลให้การจัดตั้งและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ จำกัดอยู่เฉพาะลูกจ้างตามนิยามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับรองและคุ้มครอง ‘สิทธิแรงงาน’ แต่กำหนดกรอบความชอบธรรมเพื่อละเมิดสิทธิการรวมตัวและจัดตั้ง ทำให้แรงงานถูกพรากสิทธินี้ไป 

    กฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ทั้งที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกแรกเริ่มก่อตั้ง ILO และเวลานี้มีสมาชิกให้สัตยาบันแล้ว 158 ประเทศ แต่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 187 ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบัน ทั้งที่ การรวมตัวตามสิทธิแรงงานบรรจุในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และปฏิญญา ILO ว่าด้วยหลักการพื้นฐานและสิทธิการทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) เป็นหลักการคุ้มครองตามสิทธิมนุษยชน 

    การรวมตัวควรเป็นสิทธิตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นใครและใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนก็ต้องรวมตัวได้ เหมือนกับการรวมตัวเป็นกลุ่มในบ้าน ชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน และอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้กฎหมายมารับรองสิทธิหรือจำกัดสิทธิด้วยเงื่อนไขต่างๆ 
  • ความคืบหน้าในการดำเนินการของกระทรวงแรงงาน กำหนดแนวทางปฏิบัติของแรงงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบไว้ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … (เรียกง่ายๆ คือ ใครที่ไม่มีนายจ้างก็เข้าข่ายอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้) (อ่านบทความเพิ่มเติม – ผู้ประกอบอาชีพ ‘กึ่ง’ อิสระ (ที่ไม่อิสระ) ข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … และ ข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอิสระ (ที่ไม่อิสระ) และหลงลืมแรงงานนอกระบบ

    ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการรวมตัวและจัดตั้งองค์กรแรงงาน แต่ก็มีการใช้อำนาจแทรกแซงการจัดตั้งโดยฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ แล้วแนวทางปฏิบัติยังทำให้แรงงานให้รู้สึกว่า แต่ละคนแต่กลุ่มไม่ใช่พวกเดียวกัน เพราะพยายามแยกส่วนแรงงานเหล่านี้ออกจากแรงงานภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เหมือนกับพฤติกรรมที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์ที่แยกส่วนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แนวทางปฏิบัติเช่นนี้ยิ่งทำให้การรวมตัวและจัดตั้งกลุ่มของแรงงานมีสัดส่วนที่น้อยลง และไม่สามารถพัฒนาหลักการคุ้มครองแรงงานตามที่ควรจะเป็นในแง่สิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานได้

2. คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้างในระบบไตรภาคี ไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริงของแรงงาน 

  • ประเด็นที่สื่อและสังคมติดตามมากกว่าการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ จึงขอยกตัวอย่างกรณีฝ่ายลูกจ้างในระบบไตรภาคีของคณะกรรมการค่าจ้าง ตามที่มีข่าวและเสียงผู้ให้สัมภาษณ์ของผู้แทนฝ่ายลูกจ้างปกป้องผลประโยชน์การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้นายจ้าง ทั้งที่ความจริงแล้ว ‘แรงงานคือการเมือง’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การประกันสังคม สิทธิการลาคลอด เหล่านี้ล้วนแล้วมาจากการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ไม่ใช่การได้มาโดยชนชั้นนำ 

    การที่ระบบไตรภาคีค่าจ้างพยายามบอกว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องการบริหาร การเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซง” แต่ขั้นตอนการสรรหาคัดเลือกและแต่งตั้ง ก็ผ่านกระบวนการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ไม่มีสถานที่ใดหลีกเลี่ยงการเมืองได้ แม้แต่บทบาทของคณะกรรมการค่าจ้างสมัยแรกเริ่มในชุดที่ 2 ที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การนิยามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ 2 คน เป็นเรื่องที่ยอมรับว่าทำไม่ได้ จึงเป็นเหตุที่ชนชั้นนำพยายามนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้มีนิยามดูแลเพียงตนเองคนเดียวมาโดยตลอด และสะท้อนอำนาจฝ่ายแรงงานมีในระดับต่ำ
  • หากพิจารณาถึงข้ออ้างที่ชนชั้นนำใช้สร้างเงื่อนไข นอกจากสูตรคำนวณที่ไม่อ้างอิงจากสภาพการดำรงชีวิตที่แท้จริงทางสังคมแล้ว ยังทำให้เรื่อง ‘งานและการทำงาน’ เป็น ‘ความรู้เฉพาะทางและเทคนิคการบริหาร’ เพื่อลดอำนาจการเจรจาต่อรองของฝ่ายแรงงานลง เพราะแรงงานไม่มีความรู้แบบเดียวกันกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ 

    กรณีนี้เทียบเคียงกับขบวนการแรงงานและภาคประชาสังคมหลายประเทศในโลกที่เรียกร้อง ‘ค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิต’ (living wage) เพื่อยกระดับค่าจ้างที่เป็นธรรม แต่กระทรวงแรงงานและฝ่ายนายจ้างก็วกวนอยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำ และสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับดูแลคนคนเดียว ทั้งที่จุดตั้งต้นไม่มีจำนวนของแรงงานรับค่าจ้างขั้นต่ำที่แน่ชัด และใช้ชุดข้อมูลทางเศรษฐกิจจนละเลยชีวิตจริงของคนทำงาน ไม่ว่าจะผ่านมากี่ทศวรรษ ปัญหาเรื่องของกฎหมายแรงงาน การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การประกันสังคม และสิทธิการทำงานด้านต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนบริบทของเวลา 

3. คณะกรรมการประกันสังคม 1 ใน 15 ของระบบไตรภาคีที่มาจากเสียงประชาชน

คณะกรรมการประกันสังคม เป็น 1 ใน 3 คณะที่สังกัดภายใต้สำนักงานประกันสังคม และเป็น 1 ใน 15 คณะที่สังกัดในกระทรวงแรงงาน ที่มาจากการเลือกผู้แทนของฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้าง ผลการเลือกตั้งที่นับคะแนนเสร็จเมื่อคืนวันที่ 24 ธันวาคม 2566 มีผู้แทนทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และผู้แทนจากทีมประกันสังคมก้าวหน้าอีก 5 คน รวม 6 คน และ ปรารถนา โพธิ์ดี จากเครือข่ายพนักงานราชการ 

หากพิจารณาจากจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง เกิดเป็นข้อสังเกตต่อเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึงของสำนักงานประกันสังคม และการจัดให้มีหน่วยเลือกตั้งอยู่ห่างไกลและมีจำนวนน้อย แต่เหตุผลเท่านี้เป็นระดับผิวหน้าของปัญหานี้ เนื่องจากเบื้องหลังของความสนใจและการให้ความสำคัญต่อระบบประกันสังคมที่น้อยเช่นนี้ มีสาเหตุจากทัศนะดังนี้

  • ที่ผ่านมาระบบประกันสังคม สร้างความหมายให้ยึดโยงกับคนทำงานในกลุ่มผู้ใช้แรงงานหนัก มากกว่าขยายขอบเขตการดูแลมาถึง ‘ชนชั้นกลาง’ เพราะคนเหล่านั้นอาจเข้าถึงแผนประกันสุขภาพของบริษัทเอกชน หรือนายจ้างจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ลูกจ้าง ซึ่งมีระดับของการให้บริการที่ดีกว่าการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมมาตรา 33 การขัดขวางระบบประกันสังคมเคยเกิดขึ้นมาในกลางทศวรรษ 2490-2500 ไม่ให้ประกันสังคมกลายเป็นสวัสดิการของคนทำงาน สาเหตุเช่นนี้ นิคม จันทรวิทุร เคยกล่าวว่าอาจทำให้ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเรื่องใหม่แล้วประชาชนขาดการสำรวจความต้องการและความเข้าใจ (นิคม จันทรวิทุร. (2528). การประกันสังคม : 30 ปีแห่งการรอคอย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.)  แต่หาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2497 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่นั้น ป่านนี้ระบบสวัสดิการสังคมจะได้วางรากฐานและก้าวหน้า แทนที่จะเป็นปัญหาอย่างปัจจุบัน

  • การประกันสังคมแยกส่วนคนทำงานมาตรา 39 และ 40 ออก แม้ว่ามาตรา 39 จะให้สิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม แต่กรณีของมาตรา 40 ให้ใช้สิทธิของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามประสบการณ์ภาคสนามครั้งที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ เคยสอบถามกรณีของการมีสิทธิสวัสดิการอะไร มีประกันสังคมมาตรา 40 และสมัครกองทุนการออมแห่งชาติหรือไม่ คำตอบในกรณีของประกันสังคม กล่าวทำนองว่า “ชีวิตตายเพียงครั้งเดียว พิการก็มีโอกาสน้อย แต่รักษาพยาบาลต้องใช้บัตรทองอยู่ดี” คำกล่าวนี้ควรกลับมาพิจารณาหลายแง่ที่ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น (1) การทำให้ประกันสังคมมีบทบาทมากกว่าการจัดการความเสี่ยงระยะยาวและเหตุฉับพลัน (2) การยกระดับสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม เทียบเท่า และมีคุณภาพ (3) การทำให้ประกันสังคมนับรวมคนเข้ามามากที่สุด ไม่ใช่การหลอกล่อด้วยมาตรการช่วยเหลือเหมือนครั้งที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด จนทำให้จำนวนผู้ประกันตนไม่ใช่เลขที่แท้จริง เช่น มาตรา 40 มีถึง 10,955,096 คน (จำนวนผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40)

  • ชัยชนะของทีมประกันสังคมก้าวหน้า อาจไม่ใช่ความน่าสนใจถึงขนาดต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของการศึกษาปัจจัยความสำเร็จ แต่เพราะทีมประกันสังคมก้าวหน้าน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า ขบวนการสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่ใช่เสียงประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ คะแนนเสียงที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้รับจึงเป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพแรงงาน และสมาชิกเหล่านั้นที่ออกเสียงเลือกตั้งก็อาจไม่ได้เลือกผู้แทนที่มาจากสภาองค์การลูกจ้างและสหภาพแรงงานตามที่กล่าวไป ขณะที่การเลือกตั้งไม่ว่าสนามการแข่งขันใดก็ไม่มีทางแยกส่วนจากการเมือง เพราะการประกันสังคมก็มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาคุณภาพชีวิต การประท้วงเรียกร้อง และการย้ายถิ่นอพยพมาหางาน เหล่านี้เป็นบริบทของการก่อรูปประกันสังคมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่น่าเสียดายที่ชนชั้นนำพยายามขัดขวางมาตลอด 

  • เรื่องการบริหารกองทุนประกันสังคมในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ ควรทำให้เห็นทิศทางต่อจากนี้ของกองทุนประกันสังคม เช่น (1) กองทุนประกันสังคมจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนในอนาคต และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการมามีส่วนร่วม (2) การบริหารจัดการที่มีส่วนร่วม โปร่งใส และประชาชนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนควรนำเสนอเรื่องนี้ให้มากขึ้น (3) การทบทวนรายการสิทธิประโยชน์และพิจารณาให้สอดคล้องกับงานรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต (4) การประกันสังคมจะเป็นมากกว่าจัดการความเสี่ยงได้หรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายบทบาทด้านอื่นที่นอกเหนือจากการจัดสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ 7 กรณี (5) การลงทุนของกองทุนประกันสังคมตามแนวทางของ International Social Security Association ตามระดับความเสี่ยงต่ำและสูง ต้องแสดงให้เห็นธรรมาภิบาลต่อสาธารณชนและผู้ประกันตน (6) การใช้วิธีการทำให้เป็นทางการหรือนำเข้าระบบ (formalization) ควรพิจารณากับข้อเท็จจริงนอกเหนือจากการต้องการเพิ่มจำนวนในเศรษฐกิจภาคทางการของมาตรา 40 สำนักงานประกันสังคมต้องเสนอข้อมูลว่า จำนวน 10.9 ล้านคน ยังส่งเงินสมทบจำนวนเท่าไร และควรมีระบบคัดออกเพื่อให้เป็นจำนวนที่แท้จริงและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการบริหารจัดการกองทุนด้วย (7) การผลักดันระบบการมีส่วนร่วมทางตรงในกรณีที่ระบบไตรภาคีไม่เข้มแข็ง ให้กลไกนี้เป็นตัวแบบของการเลือกตั้งทางตรงให้มีผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมกำหนดนโยบาย ควรใช้ผู้แทนหลากหลาย (multi-stakeholders) เป็นเวทีเสวนาระดับชาติ (national dialogue) ที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพราะยังมีสหภาพแรงงานที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทหลักขับเคลื่อนสังคม ที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานแรงงานและสวัสดิการแรงงาน

  • อีกสองเรื่องคือ เรื่องแรก การประชาสัมพันธ์ของสำนักงานประกันสังคมแล้วจะสร้างความตื่นตัวให้ผู้ประกันตนมาร่วมเลือกตั้งอีก 2 ปีถัดจากนี้ คงเป็นไปได้ยาก หากไม่ทำให้ประกันสังคมกลายเป็นเรื่องของคนทำงานทุกคน และให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนนี้ เรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหาที่ชนชั้นนำที่ทำให้ประกันสังคมไม่สำคัญต่อชีวิตคนทำงาน แต่แรงงานบางกลุ่มทำให้ประกันสังคมเป็นเรื่องของกลุ่มพรรคพวก ไม่ได้สื่อสารและสร้างแนวร่วมกับสาธารณะ เวลากล่าวถึงคำว่าสหภาพแรงงานจึงกลายเป็นความแปลกแยกและถูกมองว่าเรียกร้องแต่ผลประโยชน์ของกลุ่ม แต่ไม่ได้เรียกร้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

    และเรื่องสอง การเลือกตั้งผู้แทนที่มีปัญหาเรื่องพื้นที่และการเดินทาง สำนักงานประกันสังคมควรใช้ระบบออนไลน์ เข้าถึงระบบสามด้วยเลขหลังบัตรประชาชน และใช้ OTP ในโทรศัพท์ หรือตรวจสอบซ้ำผ่านอีเมล หรือวิธีการอื่นที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่าย 

    สองประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นปัญหาที่ความเป็นระบบราชการที่มีระเบียบและขั้นตอนยุ่งยาก

Author

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจเรื่องแรงงานและนโยบายสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า