ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: บำนาญถ้วนหน้า-บันไดแรกสู่รัฐสวัสดิการ

บางคำถามเขาอาจต้องตอบไปหลายรอบแล้ว บางข้อสงสัย เขาอาจต้องนิ่งคิดและใช้เวลาเรียบเรียงเพื่อสื่อสารประเด็นตรงหน้าให้รอบคอบที่สุด เป็นประโยชน์ต่อคนอ่านมากที่สุด เพราะอย่างที่รู้กัน ‘รัฐสวัสดิการ’ นับเป็นนโยบายหลักที่พรรคการเมืองใดก็ตาม ซึ่งต้องการประกาศต่อสังคมว่าตนสังกัดอยู่ฝ่ายก้าวหน้าจำ ‘ต้องมี’

มี-ชนิดไม่อาจหลีกเลี่ยง

แม้ต้องพูดบ่อยๆ แต่คำตอบที่ได้จากอาจารย์หนุ่มอย่าง ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังดูหนักแน่นและเอาจริงเอาจัง ปราศจากวี่แววของความท้อถอยหรือเบื่อหน่าย

ระหว่างจากบ้านเกิดไปเป็นนักวิชาการรับเชิญ เรื่องการสถาปนารัฐสวัสดิการในฐานะสิทธิมนุษยชนในประเทศรายได้ปานกลาง ศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ เขาโพสต์บางข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวประมาณ…

หัวใจของการสร้างรัฐสวัสดิการคือ ‘ความเชื่อใจ’ มันไม่ได้ตกมาจากฟากฟ้า หรือความเมตตา หรือการอบรมสั่งสอน แต่มันมาจากการที่รัฐดูแลประชาชนตั้งแต่พวกเขายังไม่เกิดมาดูโลก ด้วยสิทธิลาคลอดของแม่ จนกระทั่งเขาตายจากโลกนี้ไปเป็นเถ้าธุลีดินด้วยบำนาญวัยชรา…

สอดคล้องกับคำถามข้อสุดท้ายที่เราถามเขา อะไรทำให้เกิดความ ‘ไม่เชื่อใจ’ จนฝังลึกว่า เมืองไทยไม่สามารถทำสวัสดิการเต็มรูปแบบเหมือนกลุ่มประเทศนอร์ดิกหรือแถบสแกนดิเนเวีย ษัษฐรัมย์ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจ แต่ก่อนไปถึงคำถามนั้น เราซักไซ้เขาตั้งแต่เรื่องพื้นฐานของสวัสดิการจากรัฐ ปัญหาคาใจนานา เพื่อขมวดสู่ประเด็น ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ

และนี่คือทัศนะจากนักวิชาการคนสำคัญ ผู้ทุ่มเทผลักดันรัฐสวัสดิการอย่างจริงจังที่สุดในชั่วโมงนี้

คำว่ารัฐสวัสดิการมีความสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยอย่างไร และแตกต่างกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล คสช. อย่างไร

การพัฒนาของประชาธิปไตยมาพร้อมกับการพัฒนาหลักการว่าด้วยสิทธิ เริ่มต้นด้วยสิทธิทางการเมือง การลงคะแนนเสียง ขยายสู่สิทธิทางเศรษฐกิจ การไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยสีผิว ชนชาติ ศาสนาชาติกำเนิดในตลาดแรงงาน ทั้งหมดนี้เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องในกระบวนการประชาธิปไตยตามช่องทางปกติผ่านรัฐสภา ผ่านผู้แทน ควบคู่กับขบวนการภาคประชาชน ขบวนการแรงงาน

การเรียกร้องสิทธิสวัสดิการจากรัฐจึงนับเป็นหนึ่งในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถเท่ากันในระบบทุนนิยมได้อย่างน้อยในเรื่องพื้นฐาน ไม่ว่าการเกิด คือให้เราเกิดมาไม่ติดลบ แม่ไม่ต้องออกจากงานเสียสละชีวิต เมื่อเราป่วยไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องออกจากงาน ไม่ต้องสูญเงินเก็บทั้งชีวิต

เมื่ออยากเรียนหนังสือ ก็ได้เรียนเต็มที่ ไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยค่าใช้จ่าย กระทั่งเมื่อไม่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลของความชราหรือเจ็บป่วย ก็ได้รับการดูแลตามมาตรฐานเสมอกัน นี่คือพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้คนเท่ากัน การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจย่อมลดความเหลื่อมล้ำจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางการเมือง

แต่สิ่งที่คงอยู่ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันคือการทำลายสิทธิพื้นฐานทางการเมือง จึงเกิดการทำลายสิทธิด้านสวัสดิการต่างๆ ตามมา เช่น การพยายามสร้างเงื่อนไขร่วมจ่ายในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการสร้างระบบบัตรคนจนขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ คนรวยให้คนจน ไม่ใช่สิทธิพื้นฐาน

ทำไมคนทำงานด้านนี้ จึงต้องซีเรียสกับคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ กับการ ‘สังคมสงเคราะห์’

มันแตกต่างกันมากทั้งในทางหลักการและการดำเนินการ ในทางทฤษฎี สวัสดิการในระบบทุนนิยมแบ่งออกเป็นสามแบบ กอสตา แอสปิง แอนเดอร์สัน (Gosta Esping Andersen – นักสังคมวิทยาชาวเดนมาร์ก) จำแนกตามลักษณะความเป็นสินค้าของสวัสดิการ ยิ่งประชาชนมีอำนาจมีการต่อสู้ตามครรลองของประชาธิปไตยเยอะ สวัสดิการก็จะเป็นสินค้าในระดับต่ำหรือกลายเป็น ‘สิทธิ’ มากขึ้น

ระบบแรกที่ตัวสวัสดิการเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนมากที่สุด คือตัวแบบรัฐสวัสดิการ-หรือตัวแบบสังคมประชาธิปไตย นั่นคือประชาชนได้สิทธิพื้นฐาน เงินสมทบการเลี้ยงดูบุตร การศึกษาฟรี มีเงินเดือนให้ถึงปริญญาตรี การลางาน ลาคลอด การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย กระทั่งเกษียณรัฐบาลก็จ่ายบำนาญให้ในอัตราที่ทำให้เราสามารถยังชีพได้

สิ่งเหล่านี้ให้ในฐานะสิทธิ ดังนั้นหัวใจของมันคือ ‘ความถ้วนหน้า’ ไม่ว่าคนรวย คนจน ชนชั้นกลาง ก็เข้าถึงสวัสดิการเหล่านี้ได้ทุกคน สำหรับคนที่มีความต้องการเฉพาะ รัฐก็สมทบดูแลให้เพิ่มเติมตามความต้องการ

ระบบถัดมาคือระบบประกันสังคม ระบบนี้จัดสวัสดิการให้ผ่านฐานการมีส่วนร่วมของปัจเจกชนต่อระบบเศรษฐกิจส่วนมาก คือผู้ที่มีรายได้ประจำ ระบบนี้มีข้อจำกัดสำคัญคือไม่สามารถขยายสิทธิการคุ้มครองแก่แรงงานนอกระบบได้ และอาจสร้างวัฒนธรรมอำนาจนิยมในที่ทำงาน เพราะคนไม่สามารถย้ายที่ทำงานได้ เนื่องจากกลัวเสียประโยชน์ด้านสวัสดิการ พร้อมทั้งอาจสร้างวัฒนธรรมจารีตนิยมในครอบครัวที่ทำให้ผู้ชายออกไปทำงานและผู้หญิงอยู่บ้านเพื่อสนับสนุนให้ผู้ชายเติบโตในอาชีพและให้ครอบครัวได้สวัสดิการเพิ่ม

ระบบสุดท้ายคือระบบที่เน้นกลไกตลาด ให้ปัจเจกชนรับผิดชอบชีวิตตนเองผ่านค่าจ้างแล้วซื้อประกันเอกชน ออมเงิน ลงทุนการศึกษาพัฒนาตัวเอง รัฐจะช่วยเฉพาะกรณีผู้ที่ยากจนจริงๆ มีการพิสูจน์ความจน มีนักสังคมสงเคราะห์มาประทับตราความจน แล้วให้เงินช่วยเหลือในอัตราส่วนที่พอกันตายในระยะเวลาจำกัด เพราะกลุ่มแนวคิดนี้มักมีข้อสมมุติฐานว่า เมื่อคนได้สวัสดิการเยอะคนจะขี้เกียจ งอมืองอเท้า อันนี้พัฒนากลายเป็นฐานของระบบสงเคราะห์ ซึ่งตรงข้ามกับหลักการ ‘สวัสดิการในฐานะสิทธิของประชาชน’

การสงเคราะห์จริงๆ มาพร้อมๆ กับการกำเนิดของระบบทุนนิยม เพราะมันลดแรงเสียดทานได้ แถมได้ผลิตซ้ำศีลธรรมสูงส่งของชนชั้นนำอีก แต่ภายใต้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนเกิดรัฐสวัสดิการ การสงเคราะห์หรือกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ต่างๆ ก็หายไป แต่ปัจจุบันภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ที่เพิ่มอำนาจการสะสมทุนของกลุ่มทุนมากขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 กลับเกิดแนวคิดสวัสดิการตามแนวทางที่ 3 (third way) ที่ใช้โดย โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานในอังกฤษ ที่มีส่วนในการทำลายรัฐสวัสดิการตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990

แบลร์พยายามใช้ระบบประกันเอกชนเข้ามา สร้างลำดับชั้นของสวัสดิการ เช่น ชนชั้นกลางก็ซื้อประกันแล้วรับสิทธิที่ดีขึ้นไป คนจนก็รับสิทธิพื้นฐานตามสภาพไป ในอังกฤษไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง เพราะมีการต่อต้านการทำลายรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล แต่ลักษณะนี้กลับมาเกิดในไทย เราจะพบว่าโรงพยาบาลเอกชนเติบโตอย่างมาก เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชน กองทุนประกันต่างๆ ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานมากขึ้น

คนส่วนมากอยู่กับสวัสดิการที่ไม่สามารถใช้ได้จริงของรัฐ และเมื่อเกิดปัญหาก็ถูกแทนที่ด้วยระบบอาสาสมัคร หรือการสงเคราะห์เป็นกรณีไป ผมมองว่าระบบสงเคราะห์ถูกนำมาใช้มากขึ้นในเงื่อนไขของเสรีนิยมใหม่ ที่ผลักให้มนุษย์รับผิดชอบตนเอง ระบบนี้จะมีผู้แพ้ปริมาณมาก รัฐก็จะเก็บตก ให้ในฐานะผู้แพ้อย่างน่าละอาย ไม่ใช่หลักการสิทธิพื้นฐานแบบรัฐสวัสดิการ

มนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจน รัฐสวัสดิการมีความสัมพันธ์กับเรื่องนี้อย่างไร

ในสังคมทุนนิยมย่อมมีความเหลื่อมล้ำ แต่ผมไม่อยากให้มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งปกติ มัน ‘ผิดปกติ’ สังคมที่สร้างความมั่งคั่งให้คนส่วนน้อย ในขณะที่คนทำงานหนักที่สุดกลับยากจน มันผิดปกติ ในปรากฏการณ์ปัจจุบัน รายงานจากธนาคารโลกปี 2018 เรื่องการเลื่อนลำดับชั้นระหว่างรุ่นในสังคมไทยโดยสรุปคือ ถ้าคุณเกิดในครึ่งล่างของสังคม คุณจะมีโอกาสแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือใน 7 คนจะมีแค่ 1 คน ที่สามารถไปอยู่ใน 25 เปอร์เซ็นต์บนของประเทศได้ และมีโอกาสสูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์ที่จะอยู่ในครึ่งล่างของสังคมแบบเดิม

ทางกลับกัน ถ้าคุณเกิดในครอบครัวที่รวยที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์ คุณมีโอกาสสูงถึง 81 เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีชีวิตอยู่ครึ่งบนของสังคมแบบเดิม เอาเป็นว่าในปี 2018 คนไทยส่วนมากยังถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด ถ้าย่อยลงไป ใน 10 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ล่าง โอกาสการเลื่อนชั้นในสังคมถือว่าจำกัดมาก และไม่ใช่ว่าพวกเขาขี้เกียจ ไม่พัฒนาตนเอง คนที่ทำงานหนักที่สุดในประเทศนี้คือคนจน ยิ่งคุณจนยิ่งทำงานหนัก ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ครึ่งหนึ่งทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน

เรานึกถึงว่าถ้าคนเกิดมาในครอบครัวที่ได้รายได้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ พ่อแม่พวกเขาต้องเป็นหนี้จากการเลี้ยงลูก ในเวลาก่อนเข้าชั้นประถม ครอบครัวนี้อาจเป็นหนี้นับแสนบาทจากการเลี้ยงลูก

จากข้อมูลของ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) อธิบายว่า ส่วนมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้กู้ยืม กู้เพื่อศึกษาคณะด้านศิลปศาสตร์ มีเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่กู้เพื่อศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ ฟังดูน่าแปลก ทั้งๆ ที่คณะด้านศิลปศาสตร์รายได้เฉลี่ยน้อยกว่าคนจบคณะแพทย์ราว 4-5 เท่า ตรงนี้จะเห็นว่าถ้าคุณเกิดมาจน โอกาสการศึกษาของคุณก็ยิ่งน้อย ต่อให้คุณดิ้นรนจนจบ ม.ปลายได้ โอกาสในการเลือกคณะก็ไม่เท่ากับคนที่เกิดมาฐานะดีกว่า แถมคุณต้องเป็นหนี้ระหว่างเรียน ซ้ำจบออกมารายได้น้อยกว่า

ผมไม่ได้หมายความว่าสาขาไหนดีกว่าอีกสาขาหนึ่ง แต่สภาพเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า คนที่เกิดมาจน ทางเลือกในชีวิตของพวกเขาถูกจำกัดตั้งแต่เกิด แล้วส่งต่อความจนไปเป็นทอดๆ ตลอดชีวิตของพวกเขา การจะทำให้คนเราเท่ากันอย่างน้อยโดยกำเนิดคือการสร้างรัฐสวัสดิการ การสร้างให้สิ่งพื้นฐานเป็นสิทธิ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องซื้อขาย หรือดิ้นรนเพื่อให้เราได้มา

มีคำยืนยันไหมว่า สวัสดิการจากรัฐ ‘ไม่ได้’ ทำให้คนขี้เกียจหรือทะเยอทะยานน้อยลง

ไม่มีงานวิจัยที่บอกว่าระบบสวัสดิการถ้วนหน้า (ทุกคนได้สิทธิ) ทำให้คนขี้เกียจหรือไม่ดิ้นรน แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบบสงเคราะห์ ในระดับปัจเจกชนมันมาจากการที่เราสามารถวางแผนได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เช่น ถ้าเรารู้ว่าเราป่วย เราจะได้รับการรักษาพยาบาลที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เราก็สามารถคิดได้ว่าจะเอาเงินที่เรามีในแต่ละเดือนไปทำอะไร ความสร้างสรรค์ก็เกิดจากการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรเมื่อลูกเราต้องเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อพ่อแม่เราแก่ เมื่อเราป่วยเป็นมะเร็ง การตัดสินใจของเราเกี่ยวกับเงินที่เรามีก็จะสมเหตุสมผลน้อยลง เพราะมันคือการโยนปัญหาที่เกิดจากสังคมให้ปัจเจกชนรับผิดชอบ ปัจเจกชนไม่มีทางเอาชนะได้ ความสมเหตุสมผลจากการตัดสินใจก็จะน้อยลง แม้แต่การต้องยอมทำงานอยู่ในที่ทำงานซึ่งไม่มีความหมายต่อตนเอง (dirty job) เพียงเพื่อให้มีชีวิตที่ปลอดภัย

ตัวอย่างที่มีในเมืองไทยเมื่อเริ่มใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชัดเจนคือการที่คนไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล คนมาหาหมอได้ไวขึ้น เรียนรู้การดูแลสุขภาพที่เหมาะสมต่อโรคได้ดีขึ้น

“ไม่มีงานวิจัยไหนที่บอกว่าเมื่อรักษาพยาบาลฟรีคนจะทำลายสุขภาพตนเองอย่างเต็มที่เพื่อให้มาได้ใช้สิทธิ”

ผมอยากให้มองใหม่ว่า ถ้ารัฐรับรองสิทธิพื้นฐานที่คนพึงมี คนก็จะขยันไปทำอย่างอื่นที่มีความหมายต่อตัวเขาเอง ต่อสังคมรอบข้าง ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ขึ้นชื่อเรื่องความสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก ประเทศไทยเราคนทำงานหนักมาก แต่การทำงานของคนไทยทำเพื่อให้กลุ่มทุนรวยขึ้น ช่องว่างทางชนชั้นมากขึ้น เหมือนให้เราวิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่า

เมื่อพูดถึงรัฐสวัสดิการ ย่อมเกี่ยวพันไปถึงการเก็บภาษี ซึ่งคนไทยมองการใช้ภาษีของตนโดยนักการเมืองอย่างสุรุ่ยสุร่ายมานาน อยากรบกวนอาจารย์อธิบายทั้งมาตรการป้องกันการ ‘คอร์รัปชัน’ และการปฏิรูประบบ ‘ราชการ’ เพื่อความโปร่งใส

รัฐสวัสดิการจะเป็นการเปลี่ยนให้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่อนุสาวรีย์ แต่จะทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องที่จับต้องได้ ก่อนหน้านี้เรามองสวัสดิการเป็นเรื่องคนรวยให้คนจน ถ้าเราไม่ใช่คนจน หรือชนชั้นนำเราก็ยิ่งรู้สึกว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา แต่ถ้ามันหมายถึงค่าเลี้ยงดูบุตรที่เราควรได้รับ การเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย สิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน สวัสดิการการว่างงาน หรือบำนาญเมื่อเราเกษียณ เราจะรู้สึกว่าการเมืองและประชาธิปไตยเป็นเรื่องใกล้ตัว ความตื่นตัวในการตรวจสอบก็จะตามมา

สิ่งที่ผมอยากย้ำให้เห็นคือ การเซ็นเซอร์ที่มีพลังมากที่สุดในปัจจุบันมาจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ อาจมีพลังพอๆ กับเผด็จการทางการเมือง เราจะเอาเวลาที่ไหนไปตรวจสอบรัฐบาลถ้าเราต้องทำโอทีวันเสาร์อาทิตย์ ต้องพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาล ทำงานพิเศษเพื่อส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ระบบสงเคราะห์ต่างหากที่เอื้อต่อการคอร์รัปชัน เพราะมันให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจว่าใครควรได้หรือไม่ได้ ผมยกตัวอย่าง ระบบสงเคราะห์ที่จะช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ คุณต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปนั่งสัมภาษณ์ หมดเวลาไปครึ่งวัน ไหนจะค่าน้ำมันรถ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารกลางวัน กลับมาเขียนรายงานส่งให้หัวหน้าประชุมเพื่ออนุมัติ เดือนถัดมาเบิกค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยง ไปมอบนมผงสองกระป๋อง ระบบสงเคราะห์แบบนี้นอกจากไม่มีประสิทธิภาพ ยังแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้

แต่ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการ สิ่งเหล่านี้ถูกวางเงื่อนไขให้เป็นสิทธิ ผู้คนก็จะตื่นตัว และเมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจของประชาชนขยายตัว อำนาจทางการเมืองในการตรวจสอบรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นตามมา

‘บำนาญถ้วนหน้า’ ที่มีกระแสผลักดัน แตกต่างจาก ‘เบี้ยยังชีพ’ ผู้สูงอายุอย่างไร

ก่อนอื่น ระบบบำนาญโดยรัฐเรามีอยู่สามแบบ คือ บำนาญข้าราชการ บำนาญประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กลุ่มแรกได้รับบำนาญเทียบกับฐานเงินเดือนสุดท้ายและอายุราชการ เป็นกลุ่มที่ได้รับสูงสุด แต่มีประชากรน้อยสุด รองลงมาคือประกันสังคม ได้รับในกรณีส่งเกิน 180 งวด หรือ 15 ปี โดยเริ่มต้นจากร้อยละ 20 ของฐานเงินเดือนและขยับขึ้นตามปีที่สมทบ ปัจจุบันฐานเงินเดือนสูงสุดคือ 15,000 บาท ทำให้ได้รับบำนาญสูงสุด ประมาณ 7,500-8,000 บาท/เดือน

แต่ผู้ส่งมาตรา 39 สำหรับแรงงานนอกระบบที่เคยประกันตน จะคิดฐานเงินเดือน 4,800 บาท ทำให้บำนาญเหลือเพียงสูงสุดประมาณ 2,400 บาท/เดือนเท่านั้น และข้อเท็จจริงสำคัญคือมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ทำให้เมื่อพวกเขาเกษียณก็จะได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เริ่มต้นที่ 600 บาท/เดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของธนาคารโลกเสียอีก

ผู้สูงอายุร้อยละ 80 ของไทยจึงต้องพึ่งพาลูกหลาน ซึ่งก็สร้างความยากจนและเปราะบางให้แก่วัยแรงงานต่อไปเป็นทอดๆ ปัจจุบันเส้นความยากจนของธนาคารโลกอยู่ที่ 1.9 ดอลลาร์/วัน หรือประมาณ 1,900 บาท/เดือน ขณะที่เส้นความยากจนของไทยอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท/เดือน การจัดบำนาญประชาชนอย่างน้อยที่สุดต้องอิงกับเส้นความยากจนทั้งหลายเหล่านี้ และต้องมีการปรับตามค่าครองชีพทุกปี

ในมุมมองของอาจารย์แล้ว บำนาญถ้วนหน้าที่เหมาะสมกับประเทศไทยควรมีหลักจัดการอย่างไร

เราอาจไม่จำเป็นต้องรื้อระบบทั้งหมด แต่ขยับสิทธิถ้วนหน้าให้ดีขึ้น ให้สวัสดิการไม่ใช่อภิสิทธิ์แต่เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี หากเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,500 บาท/เดือน และผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ได้เพิ่มอีก โดยเราต้องมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมควบคู่กันไป

ข้าราชการเองก็ควรได้รับส่วนนี้เช่นกัน แต่ข้าราชการที่เงินบำนาญเกิน 20,000 บาท/เดือน ก็ควรถูกตัดบำนาญลงเป็นอัตราก้าวหน้า

ทั้งหมดจะสร้างสำนึกรวมหมู่สู่การเรียกร้องให้เงินบำนาญถ้วนหน้าอยู่ในอัตราที่ใช้ชีวิตได้จริง โดยมีกำหนดการปรับอัตราบำนาญทุกห้าปี เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพปัจจุบัน บำนาญส่วนนี้ควรจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลางเข้าถึงมือประชาชนเลย ด้วยเทคโนโลยีการธนาคารปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีนัยอะไรที่น่าเป็นห่วงไหม

มันจะค่อยๆ เปลี่ยน แต่สิ่งที่ผมอยากย้ำคือสังคมไทยเราไปเข้าใจว่าคนจนน่าสงสาร สวัสดิการจะไปช่วยเขา ซึ่งไมใช่หลักของรัฐสวัสดิการ ระบบนี้ให้ในฐานะสิทธิ แล้วจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์จากรัฐสวัสดิการโดยรวมคือ ‘ชนชั้นกลาง’ เรานึกถึงภาพว่าคนจนที่สุดเมื่อได้รัฐสวัสดิการเขาอาจพอหายใจหายคอได้ แต่ชนชั้นกลางที่ปากกัดตีนถีบทุกวันนี้เมื่อได้รัฐสวัสดิการ มันจะยกระดับให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้ตามความฝันของตนเอง

ดังที่มีการจัดอันดับว่านอร์เวย์เป็นประเทศที่คนรวยง่ายที่สุด ด้วยการที่ชีวิตพื้นฐานทุกคนปลอดภัย พร้อมกันนั้น คนแก่นอร์เวย์ยังมีความสุขก่อนตายมากที่สุด เพราะชีวิตไม่มีอะไรติดค้าง ได้ทำอะไรตามที่ต้องการมาหมดแล้ว มันจะทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับชีวิตเราเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่จะไม่ถูกค้ำคอด้วยความกตัญญู คนวัยเกษียณจะมีอิสระมากขึ้น

เงินเท่านี้มันไม่ทำให้คุณขี้เกียจได้หรอก สมมุติ 2,500-3,000-3,500/เดือน คุณก็ต้องทำงานเก็บเงินผ่านการออมต่างๆ อยู่ดี เพื่อมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น แต่มันจะเป็นหลักประกันพื้นฐานในชีวิต ว่าสังคมเห็นค่าความเป็นมนุษย์ของคุณ เพื่ออวสานวาทกรรมเช่าประเทศเขาอยู่ เราสามารถเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นของประชาชนได้ด้วยรัฐสวัสดิการ

ต้องใช้เงินเยอะแค่ไหนและจากไหนบ้าง เพื่อมาทำเรื่องบำนาญถ้วนหน้า

ปัจจุบันมีผู้รับสิทธิอยู่ 9-10 ล้านคนต่อปี การสร้างระบบบำนาญถ้วนหน้าหากพิจารณาตัวเลขกลมๆ ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเหมือนเป็นตัวเลขที่เยอะ แต่คือประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น หลายท่านอาจแย้งว่าต่อไปคนแก่เยอะระบบจะเลี้ยงไม่ไหว แต่หากเรามองหลักการของรัฐสวัสดิการแล้ว ในสังคมผู้สูงอายุ เรายิ่งต้องทำให้คนแก่ปลอดภัย

คนแก่ไทยไม่ได้อยู่ๆ ก็แก่ พวกเขาทำงานหนักมาทั้งชีวิต ส่วนมากเป็นหนี้จากการใช้ชีวิตในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการ ถ้าคนแก่ปลอดภัย คนหนุ่มสาวก็ลดภาระลง การเติบโตทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น เรานึกถึงแรงงานวัย 40 ปีที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่เกษียณ ถ้าเกิดมีระบบบำนาญถ้วนหน้าที่ใช้ได้จริง เท่ากับว่าเขาประหยัดเงินไปได้ 5,000 บาท/เดือน

เราต้องอย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสงสารคนแก่ หรือความยากจน เราต้องมองว่ามันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้ ลดหย่อนภาษีคนรวยให้น้อยลง แล้วคืนภาษีในรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้าแทน การปรับลักษณะทางภาษีบางอย่างทำให้เงินหลัก 200,000 ล้านดูเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย

มีเหตุผลใดอีกที่เราทุกคนซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวในวันนี้ ต้องร่วมรณรงค์เรื่องบำนาญถ้วนหน้า

แนวคิดเสรีนิยมใหม่มักแบ่งคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ออกจากกัน และสร้างความรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ไม่ต้องพึ่งพารัฐ ไม่ต้องพึ่งพาสังคม รับผิดชอบตนเองได้ แต่ความจริงแล้วระบบปัจจุบันไม่ได้ออกแบบให้ทุกคนปลอดภัย คนหนุ่มสาวควรมีอิสระในการตามความฝันของตัวเอง เรื่องบำนาญก็เป็นหนึ่งในนั้น จากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าช่วงที่คนไทยมีแนวโน้มจะจนที่สุด ไม่ใช่ตอนแก่ แต่เป็นตอนอายุประมาณ 39 ปี

เมื่อพ่อแม่เริ่มแก่ เริ่มป่วย ทำงานไม่ได้ เมื่อลูกเริ่มโต เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ เงินเก็บเท่าไรก็ไม่พอถ้าไม่มีรัฐสวัสดิการ และเราใกล้กับความจนมากกว่าที่คิด บำนาญถ้วนหน้าสามารถเป็นบันไดก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ เพราะทุกคนต้องเข้าสู่วัยชราเหมือนกัน พ่อแม่เราปลอดภัยชีวิตเราก็อิสระมากขึ้น เมื่อเห็นอนาคตที่คาดเดาได้ คนหนุ่มสาวก็สามารถคิดเรื่องความฝันของตนได้มากขึ้น

ผมเทียบว่าถ้าคุณอยากได้ดอกเบี้ยธนาคาร เดือนละ 2,500 บาท คุณต้องมีเงินฝาก 1,000,000 บาท มีคนไทยกี่คนที่จะทำได้ แล้วคุณยังต้องกังวลกับอัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน แต่ถ้ามันเป็นฉันทามติของประชาชน สิ่งเหล่านี้ก็จะหวนกลับมาสู่เรา ให้สมกับที่ทุกคนทำงานอย่างตรากตรำอยู่ในประเทศนี้

อะไรคือฐานของโครงสร้างความคิดอันแข็งแรง ซึ่งส่งผลให้มีความเชื่อที่ว่า บ้านเราเป็นประเทศยากจน ไม่สามารถทำสวัสดิการเต็มรูปแบบเหมือนกลุ่มประเทศนอร์ดิกหรือแถบสแกนดิเนเวีย

เมื่อไล่ดูทุกประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ สมัยก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการใหม่ๆ นั้น ยากจนกว่าประเทศไทยมาก เรื่องรัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่การกดเครื่องคิดเลข แต่คือการต่อสู้ทางการเมืองแล้วบอกว่าลำดับความสำคัญของประเทศควรจะอยู่ที่อะไร สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้ตอนนี้ ฐานภาษีของไทยปัจจุบันและงบประมาณที่มีนั้น เพียงพอต่อการเริ่มต้นรัฐสวัสดิการ

ทว่าเรามีการยกเว้นภาษีหลายตัวที่ให้ประโยชน์แก่คนรวย และจากรายงานก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการจูงใจให้มีการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ สรุปในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3 ล้านล้านบาท เราใช้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในการสร้างรัฐสวัสดิการทั้งระบบ สำคัญที่ว่าเรามองเรื่องนี้เป็นสิทธิหรือไม่ และเราเชื่อเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ต้องไหลรินจากทุนลงมา

แต่เกิดด้วยการเติบโตจากฐานรากของชีวิตที่ปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน?

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า