WAY to READ: 5 เหตุผล ทำไมต้องอ่าน ‘ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’

เนื่องในวาระดีงาม สำนักพิมพ์ WAY of BOOK ได้ออกหนังสือใหม่ให้ทุกคนยลโฉม เพียงกวาดสายตาสำรวจชื่อหนังสือ จินตนาการทางความรู้คงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาในหนังสือความหนา 500 หน้าจากนี้จะพูดอะไรบ้าง
 
‘ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ คือผลงานของ วีระ สมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการคัดกรองและจัดสรรข้อมูลอย่างเป็นระบบจากการสอนวิชาวิชา ‘ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ (Political Theory and International Relations) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และออกมาเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ในวันนี้
 
และต่อไปนี้คือ 5 เหตุผลว่า ทำไมต้องอ่าน ‘ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’

1

ถึงชื่อหนังสือจะชวนให้หลายคนคิดและรำพึงในใจว่า “นี่คือหนังสือของพวกรัฐศาสตร์ชัดๆ” แต่ความจริงแล้ว องค์ความรู้จากนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่เคยมีชีวิตตั้งแต่ 2,500 ปีก่อนที่ วีระ สมบูรณ์ ผู้เขียนหยิบยกมาถึง 12 ทฤษฎีและปรัชญาการเมือง ไล่เรียงลำดับตามกาลเวลา ได้แก่ ธูซิดิดีส, เพลโต, อริสโตเติล, สโตอิก, นักบุญโทมัส อไควนัส, นิกโคโล มาคิอาเวลลี, ฮิวโก โกรเทียส, โทมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อก, ฌอง ฌากส์ รุสโซ, อิมมานูเอล คานท์ จนถึง คาร์ล มาร์กซ์ ทุกคนล้วนแต่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับทุกศาสตร์ในสายสังคม แม้โลกจะหมุนมายังศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม สอดคล้องกับที่ วีระ สมบูรณ์ กล่าวไว้ว่า
 
“สารัตถะที่ท่านเหล่านี้นำเสนออภิปรายยังคงความสำคัญสืบเนื่องยั่งยืน เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของมนุษย์ สังคม การเมือง การปกครอง การระหว่างประเทศ และสภาวะของโลกทุกวันนี้ การศึกษางานเหล่านี้มีคุณค่าในตัวเองทั้งในเชิงวิชาการและในแง่ของการเรียนรู้ เนื้อหา วิธีคิด ซึ่งเป็นฐานสำคัญให้แก่การประยุกต์สร้างสรรค์ต่อไป”
 
ความหมายคือ ไม่ว่าคุณจะสนใจศาสตร์นี้อยู่แล้วหรือไม่ การศึกษาแนวคิดคลาสสิกของพวกเขายังคงสำคัญและใหม่ตลอดกาล
 

2

หากคุณเป็นผู้ที่สนใจการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศอยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้จะทำหน้าที่พาเราทบทวนและทำความเข้าใจ 12 แนวความคิดทฤษฎีการเมืองคลาสสิกระดับโลก เพื่อทำความเข้าใจและตีความบริบททางการเมืองที่หลากหลาย สุดแล้วแต่จะสวมแว่นแบบไหนมามองการเมืองและสังคมของตัวเอง
 
หรือหากคุณไม่ได้มีความสนใจในด้านดังกล่าว การลองหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพื่อทำความเข้าใจนักคิดสักคนสองคน (หรือจะมากกว่านั้นจะยิ่งดี) ก็ไม่ได้ยากเกินไปที่จะช่วยให้คุณสำรวจและทำความเข้าใจการเมืองและสังคมของตนเอง
 
ไม่แน่ คุณอาจเผลออุทานหรือสบถอะไรขึ้นมาหลังจากอ่านแนวคิดของพวกเขาแล้วรู้สึกว่า สิ่งที่คนโบราณเหล่านี้พูดมันช่างเข้ากับบริบทสังคมที่คุณอาศัยอยู่ในปัจจุบันเหลือเกิน
 

3

กล่าวให้เข้ากับบริบทและกระแสการเมืองโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะขั้วซ้ายสุด ซ้ายกลาง ไปจนถึงขวาสุดก็ตาม เมื่อแนวคิดทฤษฎีและปรัชญาการเมืองเหล่านั้นยังคงหมุนเวียน สอดแทรก และขับเคลื่อนทุกสภาวะโลกปัจจุบัน
 
การศึกษาทั้งการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ จึงไม่อาจหลีกหนีหรือปฏิเสธที่จะศึกษาทฤษฎีการเมืองและปรัชญาการเมืองคลาสสิกของปรมาจารย์ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น กล่าวคือ การศึกษาทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงเป็นการย้อนกลับไปพิจารณาประเด็นพื้นฐานที่ดำรงสืบต่อมาข้ามบริบททางประวัติศาสตร์ สอดคล้องกับที่ ฮันส์ เจ. มอร์เกนทอ (Hans J. Morgenthau) กล่าวไว้ในหนังสือ Political Theory and International Affairs: Hans J. Morgenthau on Aristotle’s The Politics ว่า
 
“ปัญหาสังคมและการเมืองไม่ได้เปลี่ยนไปตามประวัติศาสตร์ ปัญหาว่าด้วยสิทธิ อำนาจ ปัญหาต่างๆ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับรัฐ ว่าด้วย จุดมุ่งหมายของรัฐ ปัญหาชนชั้น การกระจายความมั่นคั่งในแง่มุมทางการเมือง ปัญหาทั้งหมดนั้นล้วนมีลักษณะดำรงสืบเนื่อง มิได้ถูกค้นพบหรือประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 20 คุณสามารถอ่านนักเขียนทางการเมืองคนใด (ในยุคโบราณ) ก็ได้… คุณจะพบว่าพวกเขาจัดการกับปัญหาทั้งหลายซึ่งโดยแก่นสารแล้วเป็นปัญหาเดียวกันที่ทำให้เราว้าวุ่นอยู่ทุกวันนี้ และสวัสดิภาพของเราเอง ตลอดจนสังคมการเมืองที่มีระเบียบและยุติธรรมของเราเอง ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและทางแก้ที่เรามีต่อปัญหาเหล่านี้”
 

4

เมื่อทฤษฎีการเมืองและปรัชญาการเมืองมิอาจหลีกหนีจากกันได้ ท่ามกลางบริบทและสังคมในปัจจุบันที่แทบจะตั้งคำถามกับสิ่งใดไม่ได้ โครงสร้างของการไม่อาจถามนั้นแข็งแกร่งราวกับถูกปูนซีเมนต์ฉาบไว้เป็นสิบชั้น ทฤษฎีการเมืองจึงเป็นเครื่องมือกัดเซาะที่สำคัญ กล่าวคือ เป็นกิจกรรมทางภูมิปัญญาของสังคม โดยการตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ อภิปราย ขบคิด วิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนวทาง และร่วมกันหาคำตอบว่าสังคมที่ดีของตนคืออะไรและควรเป็นอย่างไร เพราะก่อนจะดำเนินกิจกรรมภูมิปัญญาดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การ ‘ตั้งคำถาม’ และ ‘ตอบคำถาม’ รวมถึง ‘วิธีการตั้งคำถาม’ และ ‘วิธีการให้ได้มาซึ่งคำตอบ’
 
ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนมัคคุเทศก์ ผู้มาพร้อมกับแผนที่และเข็มทิศสำหรับการเดินทางเข้าสู่มณฑลแห่งความรู้โบราณ โดยไม่ได้ชี้ซ้าย-ชี้ขวาให้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ให้ผู้อ่านได้เดินเลือกชม สำรวจและคัดสรรด้วยตนเองว่าแนวคิดของใครหรือแบบไหนเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือดังกล่าวของตน
 

5

น่าสนใจกว่านั้น หนังสือเล่มนี้เสมือนพาเราเข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์หรือซิทอินอยู่ในวิชาทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้เขียนสรุปรวบรวม 12 แนวคิดทฤษฎีและปรัชญาการเมืองอย่างสมบูรณ์และเหมาะสม ลงลึกในจุดที่ควรลึก เน้นในจุดที่ควรเน้น ด้วยภาษาที่เรียบง่าย โดยไม่ได้ลดคุณค่าหรือทำให้แนวคิดส่วนอื่นต้องสูญเสียความสำคัญไป
 
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนยังได้ลากเส้นสำหรับศึกษาทั้ง 12 แนวคิดอย่างชัดเจนเรียบร้อย ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้รู้อยู่แล้ว ผู้พอรู้บ้าง หรือผู้ไม่รู้เกี่ยวกับทฤษฎีเหล่านี้เลย คุณก็จะเดินถูกทางอย่างไม่หลงทิศ
 
สุดท้าย…ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไปข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากหนังสือเล่มหนาเล่มนี้ไม่ได้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปพร้อมกับคุณ 🙂

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า