ครบ 1 ปี ไฟไหม้หมิงตี้: ชวนทำความรู้จัก ‘กฏหมาย PRTR ฉบับประชาชน’ เพื่อเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

photo: Thai News Pix

  • 5 กรกฎาคม 2564 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ ‘โรงงานหมิงตี้’ ผู้ผลิตโฟมและพลาสติกสำหรับขึ้นรูปเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ นอกจากมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนั้น ผลพวงของเพลิงยังก่อให้เกิดการปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ผู้รอดชีวิตและชุมชนโดยรอบโรงงานที่สูดดมสารพิษเข้าไปนั้น เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพในระยะยาว
  • 18 มกราคม 2564 กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบโรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา กรณีลักลอบทิ้งของเสียภาคอุตสาหกรรมในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 
  • มลพิษทางอากาศที่มีอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพที่คนไทยเผชิญมาหลายปี มีแหล่งกำเนิดทั้งจากการคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาในที่โล่ง และอุตสาหกรรมการผลิต ฯลฯ 

เหตุการณ์ที่ยกมานี้ เทียบจำนวนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทุกๆ วัน จากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล โรงงานปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำชุมชน น้ำมันรั่ว ท่อก๊าซระเบิด การปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในรูปของมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย มลพิษในดิน และของเสียอันตรายอื่นๆ ที่นอกจากส่งผลกระทบทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หลายๆ ความสูญเสียที่ตามมาคือชีวิตของผู้คนนับไม่ถ้วน 

หรือกระทั่งว่า เราแทบไม่มีทางรู้ถึงสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศที่เราสูด น้ำที่เราดื่ม พืชผักอาหารที่เรากิน…เราไม่มีทางรู้ หรือมารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อเจ็บป่วยร่อแร่

“ทำไมเราถึงไม่รู้” คำถามนี้จึงสำคัญ

ประเทศไทยไม่มีการตรากฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Pollutant Release and Transfer Registers (PRTR)

กฎหมายควบคุมการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR คือกฎหมายที่บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรม ‘เปิดข้อมูล’ การปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิด มลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสีย หรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด

กฎหมาย PRTR จะสามารถบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษชัดเจน ที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลเบื้องต้นในการป้องกันและรับมือจากผลกระทบของปัญหามลพิษเหล่านี้ 

กว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีการออกกฎหมาย PRTR และนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งประโยชน์ของ PRTR เป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ดังนี้

  1. เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม 
  2. กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ
  3. ติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน 
  4. ลดการใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน
  5. ความปลอดภัยด้านสารเคมีของผู้ประกอบการและคนงาน
  6. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ
  7. การเข้าถึงข้อมูลการจัดการสารเคมีเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษ
  8. เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยกู้ภัย หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนกว่า 50 ประเทศที่ว่านั้น ไม่มี ‘ประเทศไทย’ รวมอยู่ด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่นต้นของการรวบรวม 10,000 รายชื่อ โดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา 

‘ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน’ ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง WAY สรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้ 

  • ประโยชน์ต่อประชาชน
    1. กฎหมาย PRTR เป็นเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหามลพิษ และมีส่วนร่วมตัดสินใจในการดำเนินการโครงการต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมของชุมชน 
    2. ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ในการป้องกันตนเอง และป้องกันชุมชนจากสารมลพิษเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี 
  • ประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม 
    1. กฎหมาย PRTR จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นตัวอย่างที่ดีด้านความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ นำไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืน 
    2. ป้องกันการสูญเสียและกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ 
    3. เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการในระยะยาว ลดการปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม 
    4. สามารถตรวจสอบระบบและกระบวนการผลิตของตนให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการทำงานและป้องกันความสูญเสียจากอุบัติภัยสารเคมี
  • ประโยชน์ต่อรัฐบาล
    1. กฎหมาย PRTR จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐทราบสถานการณ์และแนวโน้มในการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน 
    2. เป็นฐานกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 
    3. เป็นฐานกำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ
    4. เป็นเครื่องมือติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการตามนโยบายและแผนงาน รวมถึงการวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน 
    5. มีข้อมูลในการปรับปรุงระบบการติดตามโรงงานและแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภทให้มีมาตรฐาน 
    6. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ
    7. ลดความเสี่ยงภัยจากสารเคมีและสารมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ตามอนุสัญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Convention) ว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และเป็นไปตามหลักการของปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 
อ้างอิง 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า