เมื่อสังคม ‘พราก’ ลูกไปจากแม่เร็วมาก: จาก มาร์กาเร็ต มาห์เลอร์ ถึงแม่ ศพด. และพี่เลี้ยงเด็ก

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ผู้เขียนบรรยายพัฒนาการเด็กช่วงอายุ 0-3 ปีหลายครั้ง โดยสังเขป เป็นการบรรยายที่ตนเองคิดเสมอว่าจะไม่เกรงใจผู้ฟังว่าเป็นใคร หรือมีการศึกษาอะไร เป็นความพยายามที่จะให้ประชาชนคนไทยทราบว่าสามขวบปีแรกของชีวิต พ่อแม่และครูสำคัญยิ่งยวดเพียงใด

วันนี้จะเขียนอย่างละเอียด พร้อมคำศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ตามต้นฉบับ โดยไม่เกรงใจผู้อ่านแต่อย่างใด ท่านที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็อ่านได้ โดยให้อ่านเฉพาะภาษาไทย ไม่ต้องใส่ใจคำอังกฤษในวงเล็บ ก็จะได้ใจความสมบูรณ์ในตัวเอง

แอนนา ฟรอยด์ และ ซิกมันด์ ฟรอยด์

 

มาร์กาเร็ต มาห์เลอร์ 1897-1985 (และบางส่วนจากงานของ แอนนา ฟรอยด์ 1895-1982) ได้เขียนบรรยายพัฒนาการเด็กอายุ 0-3 ปี ไว้ดังนี้

ทารกแรกเกิดอยู่ในสภาวะที่จักรวาลมีตนเองแต่ผู้เดียว (primary narcissism) คือไม่รู้แม้กระทั่งว่าข้างกายนั้นมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่ (mothering object) เป็นระยะเวลาสามเดือนแรกของชีวิตทารกที่อยู่กับตนเองอย่างแท้จริง (normal autism)

ที่อายุ 3 เดือน ทารกรับรู้อย่างเลือนรางว่าความสุขหนึ่งที่เขาได้รับมาจากวัตถุที่เรียกว่าเต้านม แต่เต้านมมิใช่วัตถุอิสระ เต้านมเป็นวัตถุหนึ่งในวงโคจรรอบตนเองของทารก ทารกและแม่อยู่ร่วมกันอย่างแนบแน่นโดยที่ทารกเองเป็นจ้าวจักรวาลสามารถดลบันดาลได้ทุกสิ่งอัน (omnipotent symbiosis)

เช่น แหกปากร้องเพื่อเอานม ตามด้วยแหกปากร้องเมื่อเหงา

เมื่อเวลาผ่านไป ทารกจะรับรู้การมีอยู่ของแม่มากขึ้นทุกขณะ เป็นวัตถุอีกชนิดหนึ่ง และดูเหมือนว่าหล่อนจะมีอำนาจบางประการที่ทัดเทียมอำนาจของตนเอง

ที่อายุ 6 เดือน ทารกรับรู้ว่าแม่มีอยู่จริง แล้วเริ่มต้นแยกตัว (separation) เพื่อเป็นบุคคลอิสระ (individuation) กระบวนการนี้เริ่มต้นตั้งแต่แรกอย่างช้าๆ เพื่อตัดแยกสภาวะซิมไบโอซิสของแม่ลูกออกจากกัน กระบวนการแยกตัวเพื่อเป็นบุคคลอิสระจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความสามารถของทารกทั้งร่างกายและจิตใจ ทางร่างกายด้วยความสามารถอัตโนมัติ เช่น กลั้นฉี่อึ เตะถีบแม่ (autonomous function) ทางจิตใจด้วยพัฒนาการหน้าที่ของอีโก้และขอบเขตของอีโก้ (ego function & ego boundary)

อธิบายว่าร่างกายที่พัฒนาตนเองโดยอัตโนมัติดีขึ้นทุกวันทำให้เด็กเล็กกลายเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่ ในขณะเดียวกันจิตใจที่พัฒนาตนเองโดยอัตโนมัติทำให้เกิดจิตใจดวงใหม่ที่มีขอบเขตของตนเอง

มาร์กาเร็ต มาห์เลอร์

ที่จริงแล้วมาห์เลอร์ให้ตัวเลขกระบวนการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระ (separation-individuation) นี้ไว้ตั้งแต่อายุ 4-5 เดือน จนกระทั่งอายุ 30-36 เดือน โดยแบ่งย่อยเป็น 4 ขั้นตอน

  • ขั้นตอนที่ 1 ทารกฟักตัว (hatching) คือแตกตัวออกจากวงจรซิมไบโอซิสเดิมที่เคยอยู่ร่วมกับแม่มาช้านาน
  • ขั้นตอนที่ 2 ทารกรับรู้ว่าตนเองมีร่างกายที่แยกจากแม่ได้ (practicing) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อเขาคลานไปไกลจากแม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ชีวิต จิตใจ และร่างกายของทารกยังพึ่งพิงแม่สูงมาก ดังนั้นทารกจะสร้างความผูกพัน (bonding) ล่ามตนเองเอาไว้กับแม่เสมอ
  • ขั้นตอนที่ 3 เมื่อครบ 1 ขวบย่างเข้าขวบปีที่ 2 ทารกยืนได้ ลำตัวตั้งตรง และก้าวไปจากแม่ด้วยระยะทางที่ไกลมากขึ้น ด้วยการพึ่งพิงที่น้อยลง สามารถอดทนที่จะไม่ต้องเห็นแม่ในสายตามากขึ้น เด็กรับรู้การแยกทางร่างกาย พร้อมๆ กับความกังวลว่าแม่จะหายตัวไป (separation anxiety) เพราะที่แท้แล้วไม่เสมอไปที่แม่จะปรากฏตัวต่อหน้าทันท่วงทีเมื่อเขาต้องการ
  • ขั้นตอนที่ 4 ที่ประมาณอายุ 30 เดือนคือสองขวบครึ่ง เด็กไปไกลจากแม่ได้มากแล้ว แต่เพราะความกังวลว่าแม่อาจจะหายสาบสูญได้ เขาจึงเรียกร้องให้แม่มาอยู่ด้วยเสมอในทุกโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาทำอะไรได้ใหม่ๆ เช่น ขว้างอาหารจากโต๊ะอาหาร ราดน้ำนองทั่วบ้าน ปีนบันไดได้สามขั้น หรือเตะหน้าแข้งปู่ย่าตายาย เป็นต้น เขาต้องการให้แม่อยู่ด้วยเสมอ เป็นประจักษ์พยานความสำเร็จ ชื่นใจที่เขาเติบโตแข็งแรง และเป็นบุคคลอิสระ

ช่วงเวลา 6 เดือนจากสองขวบครึ่งถึงสามขวบที่เขาต้องการให้ร่างกายของแม่ติดตัวไปด้วยทุกหนแห่งนี้เรียกว่า ร้าพ-พรอช-เฉอะ-มองต์ (rapprochement)

นี่คือช่วงเวลาวิกฤติ ใจหนึ่งเด็กต้องการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระและเขาจะต้องกลายเป็นบุคคลอิสระให้จงได้ แต่อีกใจหนึ่งเขาต้องการแม่ผู้ให้โดยไม่มีเงื่อนไขยังคงติดตามเขาไปทุกหนแห่ง นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เด็กคนหนึ่งจะแยกตัวจากแม่ด้วยสุขภาพจิตที่ดีที่สุด คือมีอีโก้ (ego) ที่แข็งแรงที่สุด เพื่อใช้ผจญภัยต่อไปในอนาคต

กลับมาในชีวิตจริง

แม่ทั้งโลกจะออกปากห้ามทำนั่นทำนี่ในวัยนี้เพราะเด็กซนและอาจจะเกิดอันตราย เป็นการห้ามหรือการอบรมสั่งสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการ นั่นคือแม่ห้ามเพื่อยับยั้งอีโก้มิให้ก่ออันตราย แต่เราไม่สามารถห้ามกล้ามเนื้อที่พัฒนาตนเองอย่างอัตโนมัติทุกวันได้ พูดง่ายๆ ว่าแม่ทั้งโลกจะสร้างกฎ กติกา มารยาท เพื่อให้เด็กทำหรือไม่ทำอะไรตามกาลเทศะ

แม่ประเทศไทยไม่เพียงมีหน้าที่เหมือนแม่ทั้งโลกตามย่อหน้าที่แล้ว บ้านเรามีเรื่องพิเศษคือเรา ‘พราก’ ลูกไปจากแม่กันเร็วมาก ค่านิยมส่งลูกไปเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลหรืออย่างช้าอนุบาล ทำให้กระบวนการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่อีโก้จะตั้งรับทัน แม้ว่าร่างกายจะแยกได้ แต่บังเกิดแผลฉีกขาดขึ้นในจิตใจไม่มากก็น้อย

แผลฉีกขาดนั้นอาจจะเป็นต้นกำเนิดของพยาธิสภาพทางจิตในอนาคต

เรื่องนโยบายรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อ่านบทความเรื่องนี้ ที่นี่) จึงต้องการการจัดการที่ดีมาก

 

ทั้งหมดที่เขียนนี้ ซิกมันด์ ฟรอยด์, แอนนา ฟรอยด์, เมลานี ไคลน์ และ มาร์กาเร็ต มาห์เลอร์ อาจจะผิด อย่างไรก็ตามมีหนังสือที่คนเหล่านี้เขียนบรรยายไว้ชัดเจนว่าหลังการฉีกขาดของจิตใจ เด็กเล็กจะใช้กลไกทางจิตอะไรบ้างเข้ามาดูแลตนเอง เพราะบัดนี้แม่เป็นที่พึ่งมิได้และได้หายตัวไปจากจักรวาลเรียบร้อยแล้ว กลไกทางจิตเหล่านั้นนั่นเองคือบ่อเกิดของโรคทางจิตเวชในอนาคต

เราได้แต่หวังว่านักคิดเหล่านี้ผิด

 

หมายเหตุ: อ่านบทความย้อนหลังของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ที่นี่

01 ครอบครัววันนี้: นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
02 ครอบครัวสามรุ่น: ตายายช่างสปอยล์ พ่อแม่มนุษย์ล่องหน และเด็กผี
03 ครอบครัวข้ามรุ่นและ ศพด.: รัฐที่ส่งเด็กแรกเกิดไปให้เจ้าหน้าที่เลี้ยง แต่ไม่พัฒนาให้พ่อแม่เลี้ยงลูกเป็น

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า