รวมผลงานเด็ดรักษาการนายกรัฐมนตรี: ประวิตร วงษ์สุวรรณ

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านในการวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าผลการวินิจฉัยจะแล้วเสร็จ ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 เข้ามาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน 

แน่นอนว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่คนไร้ชื่อเสียงเรียงนาม แต่นับเป็น ‘ผู้มีบารมี’ ที่สุดคนหนึ่งในฝ่ายรัฐบาล พ่วงด้วยการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดูแลภารกิจของประเทศในหลายภาคส่วน การทบทวนผลงานของ พล.อ.ประวิตร ผู้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม

วีรกรรมก็เยอะ ผลงานก็มี ความสามารถแบบนี้ไม่ได้ยืมใครมาแน่นอน

ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) 

คณะกรรมการชุดนี้ได้เห็นชอบรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวม โดยมีการพิจารณาที่รวดเร็วกว่าปกติ แต่ผู้ที่ชงเรื่องขึ้นมาแต่แรก คือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเช่นเดียวกัน จึงแทบไม่เกิดการถ่วงดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อคนชงเรื่องเป็นคนที่ตัดสินใจอนุมัติเสียเอง

ประธานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) 

ผลงานของคณะกรรมการชุดนี้คือ การเห็นชอบให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เข้าร่วม ‘โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ โดยมีบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมดำเนินการบนพื้นที่กว่า 10,800 ไร่ ภายหลังการพยายามเข้าไปพัฒนาโครงการในพื้นที่ดังกล่าวนำมาซึ่งการต่อต้านจากคนในพื้นที่ และข้อครหาถึงความโปร่งใสในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อ 

การดำเนินโครงการของมูลนิธิป่ารอยต่อกินพื้นที่ถึง 5 จังหวัด ซึ่งมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ส่งเสริมและสนับสนุนด้านสวัสดิการเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อครหาว่า มีกลุ่มการเมืองของ พล.อ.ประวิตร มักใช้สถานที่ของมูลนิธิฯ สำหรับพบเจอกันและทำความตกลงทางธุรกิจกับทุนใหญ่ฝั่งเอกชนเป็นประจำ จนนำมาสู่หนึ่งในเหตุผลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในปี พ.ศ. 2563 โดย รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล 

รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง 

พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการคดีค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล และตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ศ. 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558 สมัยยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีความเชื่อมโยงขึ้นไปถึงระดับสูงของกองทัพบก และทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศด้วยความหวั่นกลัวอันตรายจากผู้มีอิทธิพลระดับสูง

ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-Move

P-Move หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ปักหลักชุมนุมยื่นข้อเรียกร้อง 15 ข้อ เพื่อสิทธิความเป็นอยู่อย่างเป็นธรรมต่อ ครม. ในวันที่ 20 มกราคม 2565 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานผู้พิจารณา

ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย

รองนายกรัฐมนตรี 

นอกเหนือไปจากข้อครหาเรื่องการเข้าสู่อำนาจที่อาจจะไม่มีความโปร่งใสมากเพียงพอแล้ว เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่มติดอาวุธอัล-ซาบับ ก่อเหตุโจมตีโรงแรมดุสิต ดี 2 ในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 21 ราย ว่าอาจจะเป็นเพราะ “อาหารไม่อร่อย” จนเป็นที่ครหาไปทั่วโลก

รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า