เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี/ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ/อารยา คงแป้น
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
สามปีมาแล้วที่ ปู-ไปรยา สวนดอกไม้ หรือ นาตยา ลุนด์เบิร์ก อาสาลงไปจับและทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะงานด้านผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง
แน่นอน…เราเห็นและย่อมชื่นชมกับใครก็ตามที่สละเวลาและความสะดวกสบายในชีวิต อุทิศมันเพื่อคนอื่นไกลที่เราไม่รู้จัก
แต่ประเด็นเรื่อง ‘ผู้ลี้ภัย’ ไม่ใช่ประเด็นที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่หรือประเทศใดหนึ่ง แต่เป็นปัญหาทั่วโลก และมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน ปัญหาที่ตามมาย่อมซับซ้อนและต้องการความต่อเนื่องในการติดตามจนกว่าจะเข้าใจประเด็น และเมื่อเข้าใจแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาในการสื่อสารออกไปเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเจตนารมย์
ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยมีความซับซ้อนและขยายวงห่างออกไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งอันซับซ้อนย่อมต้องการการสื่อสารจากหลายๆ หน่วยงานและกลุ่มคน
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตั้งขึ้นจาก หนึ่ง-ก็ใช่แหละ…เพราะปูเป็นคนดังที่มาจับงานเรื่องนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราสนใจ แต่ สอง-เพราะเราต้องการคำอธิบายในประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย จากองค์กรหนึ่ง จากส่วนหนึ่งของกระบวนการด้วยว่า
สิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารและทำความเข้าใจ…คือเรื่องอะไร
คุณเคยกล่าวไว้ในเวที TEDxYouth @ NIST ว่าโตมากับภาษาอังกฤษ ซึ่งมันหล่อหลอมให้คุณโตมาเป็นอย่างทุกวันนี้
คือตั้งแต่เด็กๆ คนเรายังไม่มีความรู้สึก หรือเข้าใจคอนเซปต์ด้านอารมณ์ต่างๆ หรือทัศนคติของมนุษย์ใช่ไหม ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งปูได้มาจากหนังสือ จากนิยาย ปูชอบอ่านนิยาย ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ คลาสที่ปูเรียนในไทยตอนช่วงมัธยมคือ English literature จึงได้อ่านนิยายจากนักเขียนหลายๆ ชาติ ซึ่งมันเป็นจุดที่ทำให้เราได้เรียนรู้ทัศนคติ หรือประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ผ่านเรื่องเล่าทางภาษา
การมีความคิดอ่านแบบเด็กฝรั่ง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สื่อมวลชนติดภาพคุณเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา เป็นเด็กสาวที่เป็นตัวของตัวเองไหม
ตอนปูอายุ 13 ปี ปูทำงานและเรียนหนังสือไปในเวลาเดียวกัน ตอนนั้นเด็กมาก เราไม่เข้าใจว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร สิ่งเดียวที่ต้องการ คือการได้รับความยอมรับ และการได้อยู่กับเพื่อน แต่นั่นคือสองสิ่งที่ปูไม่ได้เลย เพราะตอนที่เรียนหนังสือ เลิกเรียน วันเสาร์-อาทิตย์ ปิดเทอมก็อยู่กองถ่าย
การที่เด็กคนหนึ่งต้องไปสัมภาษณ์หน้าสื่อ ซึ่ง ณ เวลานั้น เขาก็ไม่เข้าใจ ไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้ และไม่ได้สนใจด้วยว่าคนจะเข้าใจเขาหรือไม่ และธรรมชาติของวัยรุ่นก็คือ…พอคนต่อต้านเราปุ๊บ ไหนๆ ก็ต้านแล้วใช่ไหม อย่างนั้นก็ใส่ให้เต็มที่เลย (หัวเราะ) ไหนๆ ก็ไม่เข้าใจเราแล้ว งั้นก็ไม่ต้องเข้าใจเราเลยแล้วกัน
ซึ่งพอมองย้อนกลับไป ปูว่าทุกอย่างมันเข้ามาพร้อมกัน แต่สิ่งที่อยากได้ที่สุด คือการได้เป็นเด็กอายุ 14 ปีธรรมดา แต่ทั้งหมดที่ทำไปนั้น สุดท้ายแล้วปูรู้ว่าคนที่เป็นคนถูกทำร้าย คือตัวปูเอง ปูไม่ได้ทำร้ายใครเลย
การเป็นคนในวงการบันเทิงไม่ว่าไทยหรือเทศ เราต้องสื่อสาร ต้องตอบคำถาม แต่ตอนนั้นวุฒิภาวะ การยับยั้งชั่งใจ ประสบการณ์ของเรายังไม่เพียงพอ ซึ่งมันทำให้ปูได้รู้ว่า ก่อนอื่นปูต้องยอมรับและเคารพตัวเองก่อน
ตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึงปัจจุบัน คุณมีความมั่นคงทางอาชีพ เป็นคนมีชื่อเสียง และมีสถานะทางสังคม อะไรเป็นจุดเปลี่ยน หรือทำให้รู้สึกว่าต้องก้าวเข้ามาทำงานด้านนี้อย่างเต็มตัว
จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ เราก็รู้ว่าดาราเป็นบุคคลที่มีสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น เป็นอาชีพที่เกี่ยวกับชื่อเสียงเงินทอง และอาชีพนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากสังคม ถ้าเราไม่มีสังคม ไม่มีประชาชน เราก็ไม่มีรายได้ สำหรับปู ปูคิดว่าจากโอกาสที่ปูมี ปูอยู่ในจุดที่คืนกลับได้
แต่หน้าที่หนึ่งของการเป็นดารา คือการเป็น entertainer ซึ่งอาจเป็น job Description ของการเป็นนักแสดงอยู่แล้ว?
เหมือนการเป็นครู ไปทำงานทุกวันก็ได้เงินมาแล้ว แต่การที่เป็นครูที่ดี ก็คือการสร้างนักเรียนที่ดี เหมือนเราได้ทิ้งเกียรติประวัติของตัวเอง สมมุติว่าเราเสียชีวิตไปแล้ว แต่นักเรียนเรากลายเป็นประธานาธิบดี กลายเป็นนักการเมือง หรือคนที่เปลี่ยนสังคม ในเวลาเดียวกัน ปูเป็นดารา ปูอยากทำบางอย่างกับสังคม ที่ไม่ใช่แค่หนังหรือละคร หรือแค่ความสุขระยะสั้น และใช่ว่าผลงานเราทุกงาน จะมี effect ที่ดีกับสังคม
หน้าที่ของปูในฐานะนักแสดง คือการใช้เสียงของตัวเองในทางธุรกิจใช่ไหม แต่ในเวลาเดียวกัน ปูสามารถใช้เสียงของปูในการทำสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นได้ ก็คือการช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงสังคม
นิยามของนักแสดงที่ดีในสายตาคุณควรเป็นอย่างไร
อย่าใช้คำว่า ‘นักแสดง’ เลย ปูใช้คำว่า ‘คนที่มีชื่อเสียง’ เพราะนักแสดงคือ entertainer จรรยาบรรณของนักแสดงก็มีอีกแบบหนึ่ง ถูกไหม? แต่สำหรับการเป็นคนมีชื่อเสียง สำหรับปูนะ…ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราบอกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ทำไมปูถึงมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ทุกอย่างต้องมีเหตุผลนะ เหตุผลที่นอกเหนือไปจากโชคหรือดวงชะตา
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร คนที่มีโอกาสที่สูงกว่าคนอื่น ก็มีโอกาสที่จะทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น ซึ่งสำหรับปูตอนนี้คือการทำงานกับองค์กรสิทธิมนุษยชน
มันอาจจะฟังดูอุดมคตินะ แต่ปูเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว มันไม่มีเหตุผลที่จะมี 65 ล้านคนรู้จักและผลักดันเรา แต่เราไม่ทำอะไรกับสิ่งนั้นเลย ในเมื่อเราใช้ชื่อเสียงนั้นในการขายสินค้า เรียกให้คนมาดูหนัง มาดูละครเรา ฉะนั้น ปูอาจจะตอบว่า จรรยาบรรณของปูอยู่ที่ What do you do with it? / คุณจะทำอะไรกับมันล่ะ?
แล้วเป้าหมายของคุณ ในช่วงอายุสัก 13-14 ปี คืออะไร
13-16 ปี เป้าหมายคือการทำงานให้มันจบ ปูไม่ได้มีทางเลือก ปูรับงานไปแล้ว ปูต้องทำ ปูส่งตัวเองไปเรียนต่อ 4 ปีด้วยเงินที่ปูหามาทั้งหมดในชีวิต ที่อังกฤษ คณะ Law and Politics ตอนปูเรียนจบ ปูเหลือเงินในบัญชี 50,000 บาท
พอช่วง 18 ปี คือหาความสุขให้ตัวเอง แต่หาในทางที่ผิด (หัวเราะ) อย่างที่เห็นในข่าว ปูต่อต้านทุกวิถีทางที่นึกขึ้นได้ในหัวของตัวเอง
พออายุ 22 ปี เป้าหมายของปู คือการตัดสินใจว่า โอเค…เราจะกลับมาทำงาน ซึ่งตอนแรกๆ มันเป็นการกลับมาทำงานเพื่อการแข่งขัน เพื่อชื่อเสียง แล้วพอเราเริ่มทำ เราก็ค่อยๆ เห็นว่านี่ไม่ใช่ตัวตนเรา นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ มันเกิดคำถามว่าแล้วอย่างไรต่อ?
ปูเป็นคนชอบอ่านข่าวนะคะ ทวิตเตอร์ของปูติดตามสำนักข่าวต่างประเทศใหญ่ๆ เช่นพวก BBC Reuters ซึ่งช่วงปีหลังๆ มานี้เหตุการณ์ของผู้ลี้ภัยถูกรายงานมาก เป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ พื้นที่ หรืออย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเราคือกรณีโรฮิงญา นั่นเป็นจุดที่ทำให้ปูตั้งคำถามว่า นี่เราจะทำอะไรได้บ้าง คืนนั้นปูอีเมลล์หา UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ) เพื่อบอกความต้องการว่าเรามีอะไรที่ปูจะทำได้บ้างไหม
ถึงวันหนึ่ง ปูอยู่ในจุดที่คิดว่าพอจะมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาในสังคมได้ อาจจะฟังดูอุดมคติ
ปูยอมรับว่า ปูจะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าปูไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียงหรือเป็นดารา ถ้าปูไม่มีสิ่งนี้ ปูจะทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ปูต้องการ
ขอย้อนกลับไปเรืองที่คุณบอกว่า คุณเรียนเกี่ยวกับกฎหมาย คิดว่าสิ่งที่อยู่ในห้องเรียน มีส่วนที่ทำให้สนใจปัญหาตรงนี้ไหม
อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด ปูกลับมาเมืองไทย ต้องยอมรับว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจในเมืองไทย มันต่างกันมาก คนรวย…รวยมาก คนจนก็ไม่ได้มีโอกาส มันคือความไม่ยุติธรรม แต่แค่เฉพาะตัวปูปูอาจจะแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด แต่ด้วยสิ่งที่ปูเป็นอยู่ตอนนี้ ปูอยู่ใน position ที่อย่างน้อยๆ ก็สามารถพูดหรือสื่อสารเรื่องนี้ได้
อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ว่า
สำหรับปูนะ คนเราไม่มี turning point อย่างที่อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยน เพราะนิสัยของเรามันถูกสร้างในทุกๆ วันมันอาจจะเริ่มจากพื้นหลังของปู แม่ปูเป็นคนอ่างทอง ตอนเด็กๆ ปูเรียนโรงเรียนนานาชาติ เพื่อนๆ ในโรงเรียนเป็นคนมีฐานะ แต่ตอนปิดเทอม พ่อแม่ให้ปูกลับ ไปอยู่กับยายที่อ่างทอง เพื่อนของเราอีกกลุ่มหนึ่งก็คือเด็กๆ ในหมู่บ้าน เราจึงเห็นและถูกปลูกฝังจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ว่า มันมีสองโลกนะ มีโลกของคนที่มีโอกาส และคนที่ใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง
ปูเลยอยากบอกว่ามันไม่ใช่จุดเปลี่ยนอะไรขนาดนั้น ปูรับรู้ตลอดมา แต่ตอนที่เราอายุ 14-15 ปี ความโกรธที่เราต้องทำงานหนัก ทำให้เราคิดแต่ว่าเราเป็นคนน่าสงสาร เพราะเราก็ทำงานมาตั้งแต่เด็ก เรามองว่า ปัญหาของตัวเองสำคัญ แต่พอปูไปเรียน ไปรู้ ไปมีประสบการณ์แล้วกลับมา เราต้องเจอสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องยอมรับว่าการเป็นดารา มันมีทัศนคติการใช้ชีวิตแบบหนึ่งนะ อย่างเวลาที่เราไปกองถ่าย มีแต่คนพร้อมจะช่วยเหลือ
แต่พอปูกลับมา เราตั้งคำถามเวลาที่เจอคนที่ต้องทุกข์มากๆ จากชีวิตที่ต่างกัน และเราก็รู้ว่าเราไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของพวกเขาได้หรอก แต่เรารู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสทำงาน ผ่อนรถผ่อนบ้าน ช่วยหนี้สินพ่อแม่ได้แบบปู ไม่ใช่ทุกคนแน่นอน
วันที่เห็นข่าวซีเรีย หรือข่าวโรฮิงญา คำถามที่เกิดขึ้นแวบแรกคืออะไร
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ‘เรา’ ไม่ได้หมายถึงสังคม ‘เรา’ หมายถึงตัวปูเอง คืนนั้นปูเลยอีเมลล์หา UNHCR ในคืนนั้นและได้พบเจอกันในวันต่อมา
กรณีผู้ลี้ภัยโรฮิงญามีทัศนะทางสังคมที่บวกลบหลากหลาย คุณกังวลไหมว่าการเอาตัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ อาจทำให้เกิดผลกระทบกับความนิยมในตัวคุณ
ปูรับรู้ว่าแรงต้านจากสังคมและความซับซ้อนของปัญหาคือเรื่องอะไร แต่ปูไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินว่าทัศนคติของคุณมันผิดหรือถูก หน้าที่ของปู ในฐานะกระบอกเสียงคือสื่อสารให้เขามองเกินไปกว่าชาติ ศาสนา ฐานะ แต่อยากทำความเข้าใจว่าเราคือมนุษย์ ทุกคนเท่าเทียมกัน
กับความเห็นที่ว่า การทำงานเรื่องนี้มักหนีไม่พ้นเรื่องโครงสร้างของระบบ การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นคำที่คนส่วนใหญ่หวาดกลัวกัน คุณมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร
ในเชิงหลักการ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มันเป็นอย่างนั้นเลย แต่หน้าที่หรืองานของปู คือการเป็นกระบอกเสียงและทำงานด้านการสื่อสารด้านผู้ลี้ภัย ซึ่งปูเคารพการทำหน้าที่ของด้านกฎหมาย การเมืองระหว่างประเทศ นักสิทธิมนุษยชน ทีมงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทุกคนมีหน้าที่และบทบาทของตัวเอง
ในฐานะของคนที่มีชื่อเสียงที่เข้ามาทำงานด้านมนุษยชน คือการกระจายเสียงและพยายามทำความเข้าใจ ให้คนภายนอกเห็นภาพ สื่อสารการทำงานของทีมองค์กร และต้องการสื่อสารด้านการมีส่วนร่วมและความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
วันแรกที่เริ่มทำงาน เรื่อยมาจนถึงวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงหรือความคลี่คลายในประเด็นของคุณ คืออะไร
สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานตรงนี้อย่างชัดเจนที่สุด ก็คือ “You can’t help the single case” คุณไม่สามารถช่วยเพียงใครคนหนึ่งได้ แต่คือการหา long term solution ให้กับปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด
มันไม่ใช่แค่การยื่นข้าวให้เขาหนึ่งจาน เอาผ้าห่มให้เขา กอดเขา แล้วจบ นั่นไม่ใช่เลย หน้าที่ของเรา คือการสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้กับปัญหาที่ตอนนี้อาจจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ในฐานะกระบอกเสียง ประเด็นที่คุณต้องการทำความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยคืออะไร
คือเวลาได้ยินคำว่าผู้ลี้ภัย คนจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว มันไม่ได้เกี่ยวกับเรา แต่ ‘เราเป็นมนุษย์’ ไม่ว่าจะชาติ ศาสนา หรือภาษาที่ต่างกัน ความรู้สึกเจ็บปวด หวาดกลัว โศกเศร้ากับการสูญเสียสิ่งที่รัก หรือกระทั่งสูญเสียศักดิ์ศรี เรารู้สึกได้เหมือนๆ กัน
ปูไม่อยากให้โฟกัสว่านี่คือปัญหาการเมืองนะ นี่คือเรื่องชาติ อยากจะชี้เฉพาะแค่คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ เป็น ‘คำ’ แต่สิ่งที่เขาเป็นคือ ‘มนุษย์’
ตอนนี้มีประชากรว่า 60 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นในจำนวนนั้นคือเด็ก…เด็กกลุ่มนี้ส่วนมากเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีทางเลือก ไม่มีการศึกษา ไม่มีตัวตน และมีมากถึงเกือบ 30 กว่าล้านคน
การไม่มีตัวตนที่ว่า คืออะไร
สมมุติเราเกิดมาอย่างไม่มีใบเกิด ไม่รู้สัญชาติ เราหางานทำไม่ได้ รักษาพยาบาลไม่ได้ เราจะมีสิทธิอย่างมนุษย์ ให้แย่ที่สุด ถ้าเราโดนข่มขืน จะมีใครมาคุ้มครองเรา ซึ่งสิ่งพวกนี้เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโดนข่มขืน การโดนทารุณกรรม และอื่นๆ และเขาไม่สามารถพูดได้ ปูไม่ใช่พระเจ้า ปูเป็นใครที่จะมาตัดสินว่าเขาไม่สมควรมีคนมาช่วย
ในทุกๆ วัน มีคนสี่หมื่นกว่าคนถูกผลักให้เป็นผู้ลี้ภัยทุกวัน แล้วตัวเลขนี้ไม่ได้มีน้อยลงไปด้วย นี่คือเรื่องใหญ่นะ และใครจะบอกได้ว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวที่จะไม่เกิดกับเรา
ปัญหาอะไรในกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เห็นว่าสำคัญและลึกซึ้ง
การไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีโอกาส การได้อยู่ในที่ปลอดภัย การไม่มีสิทธิ์อย่างที่มนุษย์ทุกคนมี หรือกระทั่งความคิดที่จะอยากกลับประเทศของตัวเอง สมมุติถ้าที่บ้านของคุณมีระเบิดลงทุกวัน คุณจะกลับไปไหม คุณจะเอาพ่อแม่คุณกลับไปไหม? แต่ในเวลาเดียวกัน คุณอยากกลับใจจะขาด คุณอยากกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม อยากเรียน อยากกลับไปอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และนั่นคือสิ่งเบสิคของการเป็นมนุษย์
เขาไม่ได้เลือกที่จะเป็นผู้ลี้ภัย เขาไม่ได้เลือกที่จะหลบหนีจากประเทศเขา เขาโดนทำร้าย เขาถึงต้องไป พวกเขาเคยเป็นคนที่มีชีวิตปกติ มีสามี มีภรรยา แล้ววันหนึ่งต้องสูญเสียทุกอย่าง
ถ้าหากว่าสิ่งที่คุณทำ ประชาชนเพียงให้ความสนใจว่าคุณเป็นดาราที่ช่วยเหลือสังคม แต่เขายังไม่เข้าใจในประเด็น หรือลดอคติเรื่องผู้ลี้ภัยได้ จะถือเป็นความล้มเหลวไหม
ถ้าปูทำโดยมีความคาดหวังว่า ‘ทุกคน’ จะต้องเข้าใจแบบเดียวกัน ต้องเห็นภาพแบบเดียวกัน นั่นปูกำลังทำงานผิดเลยนะ
หน้าที่ของปูคือสร้างความเข้าใจ เราไม่สามารถสั่งได้ว่า เธอดูภาพนี้แล้วเธอต้องช่วยนะ คุณทำแบบนั้นไม่ได้ แต่อย่างที่บอก มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องถอยหรือมองว่า ถ้าเขาไม่เห็น ฉันควรจะหยุดดีไหม ทำงานของเราต่อไป
สเปกของหนุ่มๆ จะเปลี่ยนไปไหม เพราะตอนนี้คุณค่อนข้างจะแข็งแรงกับงานด้านสังคม
ปูว่ามาพร้อมกับ maturity มั้ง โตขึ้นก็มีสเปกที่เปลี่ยนไป เด็กๆ ปูเข้าใจว่าปูต้องการคนที่เอาใจปู คือสิ่งที่ปูเคยคิดว่าสำคัญ แต่ตอนนี้ปูว่าอุดมคติในการทำงาน โดยเฉพาะประเด็นสังคมมันก็สำคัญมากจริงๆ คือถ้าคุณเป็นคนประสบความสำเร็จ คุณต้องมีตรงนี้ด้วย ไม่งั้นคงอยู่ด้วยกันยาก
สมมุติว่าวันนี้ต้องไปอีเวนต์ แต่วันรุ่งขึ้นต้องไปลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัย อารมณ์มันจะสวิชท์ไหม
มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและปูไม่ได้รู้สึกไม่ดีกับมันนะ แต่ปูรู้ว่ามันค่อนข้างแตกต่างกันมาก แต่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปูไปรยา เป็นปู ไปรยาอย่างทุกวันนี้
แต่เชื่อไหมว่าขณะที่ปูอยู่บนเครื่องบินไปปารีส ปูก็ยังนึกถึงผู้ลี้ภัย และตอนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เราก็นึกถึงงานตอนเมสเสจเด้งขึ้นมา (หัวเราะ) ปูไม่ได้แบบ…ปิดประตูไปเลย ปูคือมนุษย์นะ แต่เอาจริงๆ ตอนนี้ปูคิดว่าสองอย่างนี้ทำให้ชีวิตปูสมดุล