พาดหัวอาจดูเหมือนเล่นๆ แต่เนื้อหาข้างในข้นคลั่กไปด้วยสาระอัดแน่น ตั้งแต่การคุกเข่า ท่าเต้น คอนเสิร์ต กฎหมาย กัญชา เสียงปืน จนถึงเหมืองทองคำ นี่คือ 10 ข่าวในความทรงจำแบบไม่เรียงลำดับตลอดปี 2018 ที่สั่นสะเทือนสังคม แม้บางข่าวจะเปรี้ยง ปัง หรือดังเงียบๆ ในรอบปีที่ผ่านมาก็ตามที
1.
การคุกเข่าแห่งปี
Colin Kaepernick ในแคมเปญ Just do it.
โคลิน เคเปอร์นิค ควอเตอร์แบ็คอเมริกันฟุตบอลผู้โด่งดัง อดีตผู้เล่นทีม San Francisco 49ers และ ‘ผู้ก่อความไม่สงบเรียบร้อย’ จากเหตุการณ์ที่เขาประท้วงการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสี ด้วยการนั่งคุกเข่าไม่ลุกขึ้นยืนเมื่อเพลงชาติสหรัฐดังก่อนการแข่งขันในปี 2016 แน่นอนว่าผลจากการกระทำที่คัดง้างกับกระแสสังคมเอียงขวาในยุคทรัมป์ ย่อมทำให้เคเปอร์นิครับก้อนอิฐใหญ่ๆ ปนกับดอกไม้
Nike ใช้ใบหน้าของเคเปอร์นิคมาจับคู่กับก็อปปี้ทรงพลัง “Believe in something. Even if it means sacrificing everything.” ในวาระครบรอบ 30 ปีของมอตโต้ Just do it.
แน่นอนว่านี่คือการฉวยใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ทางสังคมมารับใช้ทุนนิยม แต่แล้วไง? มันจุดกระแสให้สังคมตื่นตัว และก่อความไม่สงบเรียบร้อยได้สำเร็จ อันเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งในสังคมประชาธิปไตย ที่การแสดงจุดยืนในเรื่องแหลมคมต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อแบรนด์อยากมีชีวิตอยู่ในสังคม แบรนด์ก็ต้องพูดเรื่องชีวิตและสังคม ส่วนผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรนั้นผู้บริโภคจะบอกเอง
ยกเว้นว่าแบรนด์จะมองว่าชีวิตของคนเล็กคนน้อยนั้น doesn’t matter
2.
ความเงียบแห่งปี
Never Again MSD: ความเงียบ 6 นาทีที่ดังกว่าเสียงปืน
14 วาเลนไทน์ 2018 คือวันวาเลนไทน์ แต่สำหรับโรงเรียนมัธยมสโตนแมนดักลาส (Marjory Stoneman Doughlas: MSD) ในปาร์คแลนด์ ฟลอริดา ภาพจำในวันแห่งความรักของพวกเขาคือเลือดและความสูญเสีย เมื่อ นิโคลัส ครูซ (Nikolas Cruz) วัย 19 ปี ควงปืนเข้ากราดยิงในโรงเรียน จนมีนักเรียนเสียชีวิต 17 คน
กลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงในโรงเรียนครั้งที่ 10 ของปี 2018 แจ็คลิน โคริน (Jaclyn Corin) เอ็มมา กอนซาเลซ (Emma González) เดวิด ฮอก (David Hogg) คาเมรอน แคสกี (Cameron Kasky) และ อเล็กซ์ วินด์ (Alex Wind) ลุกขึ้นมาตั้งแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (The National Rifle Association of America: NRA) รวมถึงสภาคองเกรส ให้แก้ไขกฎหมายการครอบครองอาวุธปืน ในชื่อ ‘Never Again MSD’
เสียงจากเด็กมัธยมไม่กี่คนแพร่กระจายไปตามสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและโลกออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #NeverAgain – จะต้องไม่มีเหตุร้ายแบบนี้อีกแล้ว จนกลายมาเป็นขบวนการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ ‘March for Our Lives’ ในวันที่ 24 มีนาคม 2018 การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นกว่า 800 แห่งทั่วโลก มีผู้เข้าร่วมหลายแสน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ทั่วทั้งสหรัฐ ลอนดอน ซิดนีย์ โตเกียว มุมไบ ฯลฯ ซึ่งนับว่าเป็นการชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
กลุ่มแกนนำจากโรงเรียนสโตนแมนดักลาสผู้เริ่มต้นแคมเปญเดินทางสู่วอชิงตัน ประโยคประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดตามสื่อต่างๆ คือคำพูดของเด็กสาวทรงผมสกินเฮดจากสโตนแมนดักลาส เอ็มมา กอนซาเลซ ที่กล่าวบนเวทีที่วอชิงตัน ดี.ซี. ว่า “แค่ 6 นาที 20 วินาทีเท่านั้น เพื่อน 17 คนก็จากพวกเราไป” หลังอ่านรายชื่อเพื่อนที่เสียชีวิต ทุกอย่างก็ตกอยู่ภายใต้ความเงียบงันเป็นเวลา 6 นาที
3.
แขกงานแต่งแห่งปี
Cara Delevingne กับชุดสูทในพิธีเสกสมรสของ เจ้าหญิงยูจินี
คารา เดเลวีน (Cara Jocelyn Delevingne) นักแสดงและนางแบบสาวชื่อดังที่ไม่ว่าจะออกงานไหน ก็ไม่เคยทำให้แฟนๆ ผิดหวังกับชุดของเธอ แต่ที่ดูจะเป็นที่พูดถึงที่สุดของปีนี้ของคาราก็คงไม่พ้นชุดสูทสีดำ สวมเนคไท เสื้อกั๊กพอดีตัวหางยาว กางเกงสแล็คสีดำ ใส่รองเท้าส้นสูง มีหมวกทรงสูงสีดำเป็นเครื่องประดับ เข้าร่วมงานของราชวงศ์อังกฤษ ในพิธีเสกสมรสของ ‘เจ้าหญิงยูจีนีแห่งยอร์ค’ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2018
ที่ผ่านมาคาราเปิดตัวเดทกับผู้หญิงอย่างเปิดเผย จึงไม่แปลกหากเธอสวมชุดสูทของผู้ชาย แต่นี่คือ ‘พิธีเสกสมรส’ และคาราเข้าร่วมในนามแขกของเจ้าหญิง ข้อกำหนดในการแต่งตัวผู้หญิงและผู้ชายจะต้องเป็นไปตามเพศกำเนิด ผู้ชายต้องใส่กางเกง และผู้หญิงต้องใส่กระโปรงเท่านั้น ชุดสูทที่เธอสวมมาจึงทำเอาหลายคนประหลาดใจไปตามๆ กันตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย
หนึ่งในนั้นคือนิตยสารชื่อดังอย่าง Vogue ประเทศไทย ที่วิจารณ์ว่าการแต่งตัวของคาราไม่เหมาะสม ไม่ถูกกาลเทศะ ส่วนการแมทช์ของเสื้อผ้าและเครื่องประดับก็ไม่โอเค ผิด ผิด ผิด สถานเดียว แต่กลับกัน Vogue ฉบับต้นตำรับของอเมริกาได้ยกลุคของคาราให้เป็น 1 ใน 10 ลุคที่ดีที่สุดของเดือนตุลาคม ส่วนบางสำนักบอกว่านี่เป็นการเปิดกว้างทั้งเรื่องเพศสภาพในวงการแฟชั่น และราชวงศ์อังกฤษ
4.
ท่าเต้นแห่งปี
‘เดี๋ยวจะยิงให้ร่วงเลย ตูดูตูดู’ และ ‘ฉันจะโสดแบบเปล่งประกาย’
หนึ่งในเพลงเกาหลีสุดฮิตของปีนี้คงหนีไม่พ้น เพลง ‘DDU-DU DDU-DU’ (อ่านว่า ตูดูตูดู เลียนเสียงมาจากเสียงยิงปืน) ของวง Blackpink เกิร์ลกรุ๊ป สังกัด YG Entertainment ปัจจัยที่ทำให้เพลงดังเป็นพลุแตก นอกจากความสวยของสมาชิกทั้งสี่คนในวงแล้ว ก็น่าจะมาจากเนื้อเพลงที่มีคอนเซ็ปต์แบบ Girl Crush – ผู้หญิงที่มีความมั่นใจในตัวเอง สวยๆ เชิ่ดๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและสร้างสีสันให้คนอินไปกับเพลงได้ไม่ยาก ต้องยกความดีงามให้ท่าเต้น ที่เพียงแค่เมโลดี้ท่อนแรกดังขึ้น สาวกไอดอลเกาหลีก็พร้อมใจกันหมุนไหล่ซ้ายหรือขวา ตามตำแหน่งสมาชิกวงที่ตัวเองจองไว้ พร้อมเตรียมเอามือป้องปากแล้วตะโกนว่า “แบล็คพิงค์!” ออกมาโดยพร้อมเพรียง และพร้อมใจกันทำมือเป็นรูปปืนยื่นไปข้างหน้าด้วยมือขวาและตามมาด้วยมือซ้าย งอศอกแล้วโยกขวาซ้ายขวา พร้อมเก็บปืน ในท่อนฮุค
หลังจากส่ง ‘ท่ายิงปืน’ ออกมาให้ชาวโลกเต้นตามกันทั่วเมืองแล้ว ทางค่าย YG Entertainment ไม่ปล่อยให้ความสนุกทิ้งช่วงนาน ปล่อยเพลง ‘Solo’ ผลงานเดี่ยวของ เจนนี คิม หนึ่งในสมาชิกวง Blackpink ออกมาให้ได้สนุกกันต่อด้วย ‘ท่าเต้นเขี่ยไหล่’ (ขออนุญาตถือวิสาสะตั้งชื่อท่าให้) ได้ยินท่อน “บิชชี นานึนโซโล่” ดังขึ้นที่ไหน ต้องกำมือชูนิ้วชี้ยื่นไปข้างหน้า แล้วชักกลับมาเขี่ยไหล่สองจึ๊กแบบอัตโนมัติโดยไม่ได้นัดหมาย
ความฮิตของท่าเต้นทั้งสอง จริงอยู่ว่ามันอาจจะเฉพาะกลุ่มอยู่ แต่ต้องยอมรับว่ากระแส K-pop ในปัจจุบันมีฐานแฟนคลับเยอะมาก อย่างน้อยทุกคนคงเคยเห็นท่าเต้นเหล่านี้มาบ้างตามหาฟีดโซเชียลของตัวเอง กระทั่งคนบันเทิงในบ้านเราก็มีการหยิบสองเพลงนี้มาเต้นตาม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Trasher ในคลิป ‘เลือดข้นคนเป็นตุ๊ด’ คลิปล้อซีรีส์ เลือดข้นคนจาง รวมถึงในงานปาร์ตี้ล่าสุดของกลุ่ม Trasher เจนนี่ ปาหนันก็นำเพลง ‘Solo’ มาเต้นคัฟเวอร์ด้วย สมาชิกวง BNK48 ก็ไม่น้อยหน้าอัดคลิปเต้นเพลง ‘Solo’ ในชุดซ้อมเต้นสบายๆ มาให้เหล่าโอตะชม รวมถึง จิงจิง-วริศรา ยู นางแบบดาวรุ่ง รายหลังนี่ไม่ใช่แค่การเต้นสนุกๆ กับกลุ่มเพื่อน แต่จริงจังถึงขั้นส่งคลิปเข้าแข่งขันเต้นคัฟเวอร์ที่ YG Entertainment เป็นผู้จัดการแข่งขันขึ้นด้วย
คาดว่าปาร์ตี้ปีใหม่นี้ต้องมีคนแอบซ้อมเต้น เตรียมโชว์สเต็ปกับเพื่อนๆ อยู่แน่นอน ต้องปรบมือรัวๆ ให้ ไคเอล ทูทิน (Kiel Tutin) นักออกแบบท่าเต้น ที่คิดท่าให้เต้นตามกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ไว้ให้เราสนุกสนานกับแก๊งเพื่อนในปีนี้
5.
การยกเลิกแห่งปี
ต่อจากนี้ห้ามสอบเข้า ป.1
ถือเป็นข่าวใหญ่สำหรับพ่อแม่ ครู โรงเรียน เมื่อ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ประเด็นสำคัญคือ ‘การยกเลิกสอบเข้า ป.1’ หากฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2562
เนื้อหาสาระกำหนดไว้ว่าคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นผู้กำหนดแนวทางการรับเด็กเข้าเรียนทั้งในระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 จะไม่มีการสอบ หากสถานศึกษาใดฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 500,000 บาท เข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
หนึ่งในประเด็นหลักที่คนจับตามากที่สุด คือ ต่อจากนี้การรับเด็กเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับ ป.1 โดยวิธีสอบคัดเลือก “จะกระทำมิได้”
ถ้าไม่สอบแล้วจะทำอย่างไร?
“ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโรงเรียน บอกไม่ได้ว่าจะใช้วิธีใดวิธีหหนึ่ง การจับฉลากก็เป็นทางเลือกหนึ่ง หรือใช้ลำดับของการสมัคร ทั้งออนไลน์และลำดับคิว หรือจะใช้วิธีหลายๆ เกณฑ์ เช่น บ้านใกล้ พ่อแม่เคยเป็นศิษย์เก่า พี่น้องอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน หรือใช้วิธีการสัมภาษณ์พ่อแม่ มีหลากหลายวิธี มีการเสนอถึงขั้นให้พ่อแม่ร่วมสอบด้วยจะได้เป็นการพัฒนา ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสม
ขอเพียงว่าอย่าทำสิ่งใด ที่เป็นการกระทบต่อตัวเด็กทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา” ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะกรรมการคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ย้ำ
6.
องค์กรแห่งปี
อย. กับร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับลับลวงพราง
การเสนอร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับพิลึกกึกกือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา สร้างความสับสนงุนงงว่า ตกลง อย. จะยืนอยู่ข้างประชาชน หรือจะสนับสนุนให้เอกชนหากินบนหลังคนกันแน่
องค์กรรัฐที่ประชาชนเคยเข้าใจว่าจะฝากผีฝากไข้ได้ มอบความไว้วางใจได้ สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นตัวสร้างปัญหา เพราะสาระสำคัญในร่างกฎหมายคือ ความพยายามที่จะเปิดช่องให้ ‘คนนอกวิชาชีพ’ หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ มีอำนาจสั่งจ่ายยาได้ โดยซิกแซกเรื่องการแบ่งประเภทยาที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการสากล พูดง่ายๆ คือเอื้อประโยชน์ให้สถานประกอบการเอกชนมากกว่าที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหรือสร้างความมั่นคงด้านยา
ไม่แปลกที่องค์กรวิชาชีพด้านเภสัชกรรมและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศจะพากันตบเท้าคัดค้าน ลุกลามถึงขั้นเรียกร้องให้ต้องทบทวนร่าง พ.ร.บ.ยา ใหม่ เพราะผลดีผลร้ายไม่ได้ตกอยู่ที่ใคร หากตกอยู่ที่ประชาชนผู้บริโภคยาอย่างเราๆ นี่เอง
7.
ชาวบ้านแห่งปี
หมูสู้เหมือง! ดับเบิ้ลชัยชนะของคนตัวเล็กต่อบริษัทเหมืองแร่ทองคำ
ที่ผ่านมา การต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนานระหว่างชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำมักเป็นไปในลักษณะเช่นนี้
กว่า 20 คดี ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นฝ่ายโจทก์ ส่วนชาวบ้านตกเป็นจำเลย คดีแล้วคดีเล่าที่ชาวบ้านต้องพักมือจากเรือกสวนไร่นาเพื่อใช้เวลาให้การในชั้นศาล หากศาลยกฟ้องก็ดีไป แต่หากยังไม่พิพากษาใดๆ การไปศาลก็กลายเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว กระทั่งวันดีคืนดีชาวบ้านพลิกบทบาทจากตั้งรับเป็นลุกขึ้นสู้ ผลของมันน่าสนใจตรงที่ไม่ได้จบด้วยความพ่ายแพ้ แต่เป็นตรงกันข้าม และตรงข้ามที่ว่าก็ไม่ได้มาแค่ครั้งเดียว แต่เป็น 2 ครั้งซ้อน
13 ธันวาคม 2561 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน 166 ชีวิตยื่นฟ้องบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ข้อหาละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อขอให้ดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ และเรียกค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่ายกายและจิตใจ
ศาลพิพากษาว่า หลักฐานของโจกท์มีความน่าเชื่อถือทำให้เชื่อได้ว่าสารโลหะหนักเกิดจากการประกอบกิจการของบริษัท แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าเกิดจากการใช้สารเคมีของโจทก์แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานพอลบล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์ พร้อมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้จำนวน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้กับ 149 ครอบครัว นับตั้งแต่วันฟ้อง
นั่นคือเสียงเฮแรก ขณะที่เฮที่สองก็ไม่ต้องปล่อยให้รอนาน
25 ธันวาคม 2561 จากกรณีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เคยฟ้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 คน เรียกร้องค่าเสียหายคดีซุ้มประตู 50 ล้านบาท ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างก็พิพากษายกฟ้อง ต่อมาชาวบ้านตัดสินใจ “ฟ้องกลับ” ข้อหาละเมิดพร้อมเรียกค่าเสียหาย
ซึ่งศาลได้พิพากษาให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้ง 6 คน คนละ 170,000 บาท แบ่งเป็นค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง คนละ 80,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีคนละ 90,000 บาท
ชัยชนะจากการต่อสู้เหล่านี้ไม่ได้แสดงให้เห็นแต่เพียงความเข้มแข็ง ปักหลัก และรวมกลุ่มเท่านั้น แต่ยังเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงของของการสู้ที่มีทั้งลูกบู๊และบุ๋น นับจากนี้บทบาทการตกเป็นเบี้ยล่างง่ายๆ หรือเป็นได้เพียงจำเลยในชั้นศาล อาจต้องให้นางเอกหนังไทยเล่นไป แต่ไม่ใช่บทสำหรับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย
8.
รอยยิ้มแห่งปี
บริษัทยาบนร่องน้ำตากัญชาชน
ในที่สุด พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับแก้ไขปรับปรุงสถานะทางกฎหมายของกัญชาเพื่อให้มีการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ปลดล็อคกัญชาและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ให้สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ นำไปใช้รักษาโรคภายใต้การควบคุมและดูแลทางการแพทย์ได้
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการเรียกร้องให้ปรับปรุงสถานะทางกฎหมายของกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นกระแสสูงของสังคมไทย ขณะที่หลายประเทศในยุโรปและอเมริกาอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการภายใต้การควบคุมของกฎหมาย แม้กระทั่งมือปราบยาเสพติดระดับผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) อย่าง พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ยังสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
“ประเทศเราได้ชื่อว่ามีกัญชาดีที่สุดในโลก จับได้ทีก็เผาเป็นร้อยๆ ตัน เสียดายไหม ให้นกกาหัวเราะแต่คนร้องไห้ ตลกไหม นกกาทั่วโลกได้กลิ่นกัญชาหัวเราะหมด แต่คนป่วยร้องเจ็บปวดเพราะกัญชาหายไป เอาเสียงหัวเราะของนกมาเป็นเสียงหัวเราะของประชาชน ไม่ดีกว่าเหรอ” เสียงหัวเราะของนกกาคืออุปมาของบิ๊กหมาย
แม้ สนช. จะพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ แต่ดูเหมือนว่าเสียงหัวเราะจะกลายเป็นของบริษัทยาข้ามชาติ ประชาชนหัวเราะไม่ออก เนื่องจากรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ไม่กำกับดูแลและสั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการเกี่ยวกับคำขอสิทธิบัตรของบริษัทยาต่างชาติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการขอจดสิทธิบัตรในช่วงที่กัญชามีสถานะยาเสพติดให้โทษประเภท 5 สิทธิบัตรครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็ง โรคจิตประสาท ลมชัก และการใช้สำหรับระงับปวด
ข้อกังวลของเครือข่ายนักวิชาการคือการปิดกั้นการวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือ วิสาหกิจขนาดเล็กในประเทศไทย หากสิทธิบัตรจำนวน 10 สิทธิบัตรนี้ยังไม่ถูกยกเลิก ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนายาจากกัญชาคือบริษัทยาต่างชาติที่ขอจดสิทธิบัตร ทั้งการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาจากกัญชาในประเทศไทย ประชาชนและผู้ป่วยจากโรคพาร์กินสัน ลมชัก มะเร็ง เนื้องอก โรคเกี่ยวกับจิตประสาท อาการปวดจากโรคต่างๆ และอื่นๆ จะต้องซื้อยาในราคาแพง
หากไม่มีการแก้ไข ผลประโยชน์และเสียงหัวเราะคงไม่ได้อยู่ฝั่งประชาชน
9.
ปีศาจเเห่งปี
รางวัลเเละนักเขียนผู้ไม่ยอมพ่าย
รางวัลเเละนักเขียน ถูกคาดหวังให้เป็นของคู่กัน ทั้งจากเเรงกระหายของตัวนักเขียนเอง รวมไปถึงช่องทางทำตลาดของผู้ผลิต ปลายปี 2561 รางวัลทางวรรณกรรมของไทยใหม่ล่าสุดที่ใช้ชื่อว่า ‘ปีศาจ’ ประกาศนามผู้ชนะ ได้เเก่ต้นฉบับนวนิยายของ ธา ฮอโคะ เรื่อง เหม่วาเลอะพีดาโข่ ข้าวขาวบนพื้นไม้ไผ่ เเละ ช้างในลังกระดาษ ของ กษิดิศ พันธุ์สวัสดิ์ ด้วยคอนเซ็ปต์รางวัลที่น่าสนใจว่า ต้องมีคุณค่าด้านประชาธิปไตยเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ สนับสนุนความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าเป็นสำคัญ
เเน่นอนว่า ในสังคมที่เป็นเผด็จการเช่นประเทศไทย นักเขียนย่อมถูกคาดหวังให้เป็นปากเสียงในภารกิจดังกล่าว เหมือนอย่างนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ยังคอยตามหลอนหลอกชนชั้นนำว่า สิ่งเก่าๆ เเละอำนาจเเก่ๆ ไม่อาจสูงส่งยืนยงเช่นเดิม พูดอีกเเบบก็คือ ตัวนักเขียนป่าวร้องว่าตนกำลังเเข็งขืน ไม่ยอมพ่ายต่อความอยุติธรรมนานา ด้วยวิถีทางที่นักเขียนถนัดนั่นคือการประพันธ์
ส่วนในนามของปัจเจก 30 สิงหาคม 2561 เป็นวันจัดงานเสวนาเเละมอบรางวัล ARC Award ให้เเก่นวนิยายเรื่อง ใต้ฝุ่น ผลงานเขียนของ โกลาบ จัน นามปากกาของ เพทาย จิรคงพิพัฒน์ นักเขียนหญิงผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เธอเขียนหนังสือมาทั้งหมด 18 เล่ม ด้วยการนอนตะแคงอยู่บนเตียง ใส่เครื่องช่วยหายใจ กดข้อนิ้วชี้ลงไปบนแป้นพิมพ์ในโทรศัพท์มือถือทีละตัว ก่อนส่งเข้าคอมพิวเตอร์ผ่านอีเมล จากที่เคยเดินได้ในวัยเด็ก เพทายต้องเผชิญการถดถอยของกล้ามเนื้อและร่างกายครั้งแล้วครั้งเล่า
ทว่าในเเทบทุกรูปถ่าย เเฟนหนังสือจะเห็นรอยยิ้มของเธอปรากฏเเต้มอยู่บนใบหน้าเสมอ เป็นรอยยิ้มเเสนสดใสที่ไม่จำเป็นต้องบรรยายก็สามารถสื่อสารได้ว่า มนุษย์เจ็บปวดได้ เเต่เรามิได้ถูกกำหนดมาให้แพ้พ่าย
10.
คอนเสิร์ตแห่งปี
จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สัตว์
นับว่าเป็นที่ฮือฮาและเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้เพลง ‘ประเทศกูมี’ สำหรับงานคอนเสิร์ต ‘จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สัตว์’ เกิดจากความอัดอั้นของเหล่าคนดนตรีขบถที่เรียกตัวเองว่าพังค์ โดยคอนเสิร์ตที่ว่ามีการจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว พร้อมไลน์อัพที่มามอบความเดือดให้ถึง 8 วงอย่าง DrunkAllDay, KILLING FIELDS, Uppercut, Radical Rat, The Shock Shuck, Blood Soaked Street Of Social Decay, สันดาน และ อนาธิปไตย
ผู้จัดงานเริ่มมีการตั้งเพจและเริ่มโปรโมทงานคอนเสิร์ตผ่านเพจโดยใช้ชื่อว่า ‘4ปีแล้วนะไอ้สัตว์’ พร้อมคำโปรยในสเตตัสสั้นๆ ว่า “ถึงสหาย และ พวกมัน เคยถามตัวเองไหมว่า อดทนมาได้ยังไงตั้ง 4 ปี ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยก็คงจะเรียนจบและได้ปริญญาไปแล้วแต่กับเวลานี้เราไม่ได้อะไรเลย!!! ภาวะของเสรีภาพที่ตกต่ำลง คุณค่าและคุณภาพของชีวิตก็ตกต่ำลง มันเป็นภาวะที่ทุกๆ คนก็รู้กันอยู่ แต่เราถูกสั่งให้เงียบไง ถึงเวลาที่จะมาทวงคืนคำสัญญาจากพวกนั้นเสียทีว่า เมื่อไหร่จะคืนเสรีภาพให้”
จุดประสงค์หลักๆ ของงานนี้จัดขึ้นเพื่อระบายอารมณ์ถึงความทนไม่ไหวต่อรัฐบาล คสช. ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียมากกว่า โดยภายในงานนั้นก็ต้องถือว่ามีความดุเดือดเป็นอย่างมากตั้งแต่ภาพโปสเตอร์งานคอนเสิร์ตที่ละม้ายคล้ายคลึงกับหน้าปกเพลง ‘God Save the Queen’ แห่งวงพังค์ต้นตำรับอย่าง Sex Pistols แค่เปลี่ยนจากหน้าของควีนอลิซาเบธที่ 2 มาเป็นหน้าท่านพลเอกประยุทธ์เท่านั้นเอง ในงานมีการเผาโปสเตอร์ที่เป็นหน้าท่านประยุทธ์พร้อมด่าทอแบบสาปส่งกระทั่งวงดนตรีที่ขึ้นเล่นก็ได้พูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเผด็จการอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าคอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นเพื่อรวมตัวกลุ่มชาวพังค์สนองการระบายอารมณ์ที่รู้สึกอัดอั้นต่อรัฐบาล คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 4 ปี
เมื่อคอนเสิร์ตจบแต่คนยังไม่จบ ทางเพจ 4 ปีแล้วนะไอ้สัตว์ ได้โพสต์คลิปพร้อมคำอธิบายหลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม โดยมีเนื้อหาประมาณว่า “ช่วงของวง Blood Soaked Street of Social Decay ที่พูดถึงตัวละครต่างๆ ในรัฐบาลทหารผลก็คือทั้งวงและผู้จัดงานถูกเชิญตัวไป สน.ชนะสงคราม เพื่อให้ปากคำแต่ท้ายสุดไม่สามารถดำเนินคดีอะไรได้ เช่นถ้าหมิ่นประมาท หรือเผารูปประยุทธ์ ลุงตู่ก็ต้องมาเป็นคนฟ้องร้องเอง”