สรุปสาระสำคัญ ทำไมต้องลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

ดังวลี “No State Without City” ไม่มีประเทศไหนเจริญหากไร้ท้องถิ่นที่เข้มแข็ง พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่นอย่างสมเหตุสมผล จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนต่างจังหวัด นี่คือหลักการสากล  

สื่อออนไลน์ The Voters ผมก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังเป็นสื่อเผยแพร่เรื่องการกระจายอำนาจ และการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เรายังคงทำเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีคอนเทนต์สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจที่ลึกขึ้น 

เบื้องหลังผมได้ทีมงานเป็นนักวิชาการ นักสัมภาษณ์ นักกิจกรรมทางสังคมการเมือง เช่น อ.ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญการกระจายอำนาจ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ชัชฎา กำลังแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญการกระจายอำนาจในญี่ปุ่น 

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน นักแปล อ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ผู้รณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ มานาน บรรณ แก้วฉ่ำ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

การไม่ได้ไปต่อ ในร่างปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า เพราะเรายังอยู่ในรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส.ว. บางคนมีอคติกับการกระจายอำนาจ กล่าวหาผิดๆ ว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน หากไปดูในรัฐธรรมนูญ หมวด 1 แล้ว มันไม่สามารถแบ่งแยกได้ ยิ่งกระจายอำนาจ จะยิ่งทำให้ปัญหาการคิดแบ่งแยกดินแดนหมดไป

เมื่อผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี คงไม่มีใครคิดอยากแบ่งแยกดินแดน ข้อกล่าวหานี้จึงไม่จริงโดยสิ้นเชิง 

ตอนนี้ทาง The Voters กำลังล่ารายชื่อให้ได้เกิน 50,000 รายชื่อ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น เราเรียกอย่างลำลองว่า ร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ 

สาระหลักๆ ของร่างนี้คือ ยกเลิกหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น และความใน มาตรา 249 ถึงมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพราะหมวด 14 เดิมอันเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ

มาตรา 249 ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐต้องจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจ และต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น

ความเป็นอิสระหมายถึง ท้องถิ่นสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ ไม่ใช่จำกัดจำเขี่ยเช่นเดิม ลองไปต่างจังหวัดก็จะรู้ว่า มันแห้งแล้ง คุณภาพชีวิตย่ำแย่เพียงใด เช่น น้ำประปาขุ่นๆ ขนส่งสาธารณะไม่ดีมากๆ ไม่มีงานให้ทำ ผู้คนต้องร่อนเร่เข้าเมืองหลวง

ทราบไหมว่า Toyota มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโทโยตะ จังหวัดไอจิ ไม่ใช่ โตเกียว เมืองหลวง นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 

ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเอง ตำแหน่งสูงสุดนี้จะเรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกจังหวัด ก็ตามมติมหาชน

ยุบรวมนายก อบจ. ให้กลายเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง จังหวัดมี 2 ชั้น คือชั้นบน ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง ชั้นล่าง เทศบาล อบต. ยังดำรงอยู่

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สังกัดส่วนท้องถิ่น และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายอำเภอกลับกรมการปกครอง

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง การจัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณ และมีหน้าที่และอำนาจเป็นของตนเอง

การจัดสรรส่วนรายได้ระหว่างราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเพิ่มขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

หมายความว่า ของเดิม ส่วนกลางงบประมาณอยู่ที่ 70 ท้องถิ่น 30 แต่ในร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ จะเปลี่ยนเป็น ส่วนกลาง 30 ท้องถิ่น 70 ลองจินตนาการดูว่า ความเจริญและคุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัดจะเป็นเช่นไร

ส่วนกลาง 30 ท้องถิ่น 70 เช่นประเทศเจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น

มาตรา 254/1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง

มาตรา 254/6 ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิในการมีส่วนร่วมการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดให้มีวิธีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

การจัดให้มีการศึกษาผลกระทบและการรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ

การจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อตัดสินใจในเรื่องสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การจัดตั้งสภาพลเมืองประจำท้องถิ่นให้สมาชิกมาจากการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันภายในประชาชนในท้องถิ่นทุกปี เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะและ ‘ตรวจสอบ’ การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตัดสินใจเลือกโครงการหรือแผนงานที่จะนำงบประมาณรายจ่ายไปใช้ได้

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นได้โดยง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย

มาตรา 4 ภายใน 2 ปี นับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนการ ‘ยกเลิก’ ราชการส่วนภูมิภาค

ราชการส่วนภูมิภาค คือส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าเป็นมือเป็นไม้ของส่วนกลางในการกำกับดูแลท้องถิ่นมิให้เกิดความคิดสร้างสรรค์พัฒนาจังหวัด

การล่ารายชื่อให้เกิน 50,000 นั้น ต้องใช้ระยะเวลา ขณะนี้เท่าที่ผมจับตาดู มีพรรคการเมืองอยู่ 2-3 พรรค ที่มีนโยบายเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคเพื่อชาติ 

ร่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ จะถูกผลักเข้าสภาเมื่อได้รายชื่อเกิน 50,000 และต้องเป็นรัฐบาลชุดหน้า 

ขอเชิญชวนให้ร่วมลงชื่ออีกครั้ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทั้งประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/

ด้วยความนับถือ 

สันติสุข กาญจนประกร
บรรณาธิการ The Voters 

 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 065-686-3131 (สันติสุข)

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า