วิกฤตโลกร้อนที่ซ่อนอยู่หลัง ‘สายรุ้ง’

ช่วงเวลาฟ้าหลังฝน ยามที่เราแหงนหน้ามองท้องฟ้า แล้วพบกับสายรุ้งเจ็ดสีสดใส อาจช่วยให้หลายคนรู้สึกชุบชูใจขึ้นมาไม่มากก็น้อย แต่นักวิจัยช่างสงสัยกลับพบว่า ในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำกลับเกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างผิดสังเกต จนนำไปสู่การศึกษาว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้บ่งบอกอะไรกับเราบ้าง 

“การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อรุ้งกินน้ำ — ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเป็นเรื่องจริง”

คิมเบอรี คาร์ลสัน (Kimberly Carlson) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) หนึ่งในผู้ศึกษารุ้งกินน้ำและเจ้าของบทความ Global rainbow distribution under current and future climates ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน

คำถามมีอยู่ว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของรุ้งกินน้ำเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และความงดงามทางธรรมชาติที่ชวนให้เราหยุดมองเมื่อสายฝนผ่านไป แท้จริงแล้วมีสิ่งใดซ่อนอยู่

รุ้งกินน้ำกำลังบอกอะไรกับชาวโลก

รุ้งกินน้ำ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากแสงอาทิตย์ตัดผ่านชั้นบรรยากาศและตกกระทบลงบนละอองน้ำในอากาศเข้าสู่แนวสายตาในมุมประมาณ 40-42 องศา หรือช่วงเช้า-บ่ายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก เกิดเป็นแถบสเปกตรัมเส้นโค้งบนท้องฟ้าเหนือพื้นโลก 7 สี ที่เรามักพบเห็นได้ในช่วงหลังฝนตก หรือฝนตกแดดออก (sunlit rain)

แม้ว่าเราจะเข้าใจหลักการและปัจจัยพื้นฐานของการเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดหายไปคือ การศึกษาการกระจายของรุ้งกินน้ำในปัจจุบัน และภาวะโลกร้อนที่กำลังเผชิญอยู่นี้ได้เปลี่ยนแปลงและส่งผลอะไรกับปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้บ้าง

เพื่อตอบคำถามและข้อสงสัยเหล่านี้ แรกเริ่มคาร์ลสันและทีมงานได้รวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ผนวกรวมกับชุดข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำ และจัดทำแผนที่จำลองการเกิดรุ้งกินน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อที่จะยืนยันความแม่นยำของแผนที่จำลองดังกล่าว จึงได้รวบรวมภาพถ่ายสายรุ้งจาก Flickr ที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2009-2014 แล้วนำภาพถ่ายจากแต่ละสถานที่มาเทียบกับแบบจำลองที่คาดการณ์ว่ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว

แผนที่จำลองข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำจากภาพถ่าย จำนวน 7,094 รูป
(ที่มา: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S095937802200142X)

จากแบบจำลองดังกล่าวค้นพบว่า ภายในปี 2100 การเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำจะเพิ่มขึ้นถึง 5% กล่าวคือ จะมีการเกิดรุ้งกินน้ำโดยเฉลี่ยน้อยสุดวันละ 1 ครั้ง สาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยน้ำมือของมนุษย์ อีกทั้งอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นทำให้หิมะน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่บนโลกประมาณ 66-79% จะเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำมากขึ้น อาทิ รัสเซีย แคนาดา อลาสก้า และพื้นที่ละติจูดเหนือหรืออยู่ในระดับความสูงที่สูงมากอย่างที่ราบสูงหิมาลัย เป็นต้น

แต่กลับกันในบางพื้นที่บนโลกประมาณ 21-34% อาจพบรุ้งกินน้ำได้น้อยลง อย่างพื้นที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และป่าฝนขนาดใหญ่อย่างป่าแอมะซอน อันเนื่องมาจากปริมาณฝนที่ลดลงจนเกิดเป็นภัยแล้ง ทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวขาดความเหมาะสมต่อการเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำ

แผนที่จำลองการเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำ ตั้งแต่ปี 2000-2100
(ที่มา: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S095937802200142X)

คาร์ลสัน ได้กล่าวไว้ว่า การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประสบการณ์ของมนุษย์โลกในทุกแง่มุม แม้ว่าสิ่งแวดล้อมที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปเหล่านี้จะจับต้องไม่ได้ แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาที่ควรได้รับความสนใจจากนักวิจัยมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าสภาวะโลกร้อนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของมนุษย์โลก และผลจากการศึกษาในครั้งได้ทำให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้นว่า แท้จริงแล้วความงดงามของปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างรุ้งกินน้ำ ยังมีเบื้องหลังที่น่าหวาดหวั่นซ่อนอยู่

อ้างอิง

Author

ณัชชา กันเขตร
นักพิสูจน์อักษรผู้ชอบนอนดึกตื่นเช้า อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เวลาว่างชอบอ่านเว็บตูนและวาดรูป กำลังค้นหาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ใช้ชีวิตอยู่เพื่อทักทายและทำความรู้จักกับแมวจร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า