ราเนีย คิซาร์ ผู้สร้างโรงเรียนกลางสมรภูมิซีเรีย

เรื่อง: พชร์ โพธิ์พุ่ม
ภาพประกอบ: Shhhh

 

เมื่อซีเรียเกิดสงครามกลางเมืองในปี 2011 ราเนีย คิซาร์ (Rania Kisar) หญิงสาวเชื้อชาติซีเรียน-อเมริกัน ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยดัลลัส (Dallas University) รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เธอทิ้งชีวิตแสนสงบสุขในดินแดนแห่งเสรีภาพตรงดิ่งกลับบ้านเกิดที่ซีเรียทันที ด้วยความตั้งใจคือ ต้องการให้ ประธานาธิบดีบาซาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ลงจากอำนาจ และสร้างซีเรียใหม่ขึ้นมา

ปัจจุบัน ในวัย 43 ปี คิซาร์อาศัยอยู่ที่เมือง มาเรท อัล-นูมาน (Maaret al-Numan) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดอิดลิบ (Idlib) ที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซึ่งปลอดภัยจากทหารของซีเรีย แต่อยู่ภายใต้การปกครองโดยกลุ่มอัลกออิดะฮ์ อีกทั้งยังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของฝ่ายกบฏ ที่ส่งผลต่อความขัดแย้งในซีเรียอยู่ทุกวันนี้

เธอเข้าร่วมเป็นแกนกลางช่วยเหลือผู้คนที่ต้องย้ายถิ่นฐานจากสงครามกลางเมือง และจัดการระบบสวัสดิการต่างๆ ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ระหว่างการทำงาน เธอต้องเอาชีวิตรอดจากการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลอัสซาดหลายครั้ง หลบหนีจากการถูกลักพาตัว หรือภัยอันตรายต่างๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้จากสงครามกลางเมือง แน่นอนว่าเธอสูญเสียเพื่อนร่วมงานและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปจำนวนมาก

“ที่นี่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีมหาวิทยาลัย ไม่มีโรงพยาบาล” คิซาร์กล่าวต่อสำนักข่าว AP

มีเพียงพวกเราคนท้องถิ่น ที่เป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรต่างๆ เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปได้โดยปกติ ทั้งทำความสะอาดถนน เป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล หรือสร้างโรงเรียน นี่คือหน้าที่ของพวกเราและมันเป็นเกียรติของพวกเรา

การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของคิซาร์ไม่ได้หยุดเพียงแค่การเป็นสมาชิกของกลุ่มกบฏเท่านั้น เพราะเธอได้ก่อตั้งองค์กร NGO ที่ชื่อว่า SHINE (Syrian Humanitarian Institute for National Empowerment) ขึ้นเมื่อปี 2015 จากการระดมทุนเม็ดเงินจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนในอเมริกา ตุรกี และประชาชนทั่วไป โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อิดลิบ

ผลงานล่าสุดขององค์กรดังกล่าวคือ ก่อตั้งโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ภาควิชาคอมพิวเตอร์ เน้นการเรียนการสอนวิชาโปรแกรมเมอร์และการออกแบบเว็บไซต์ โดยปัจจุบันมีนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรดังกล่าวแล้วถึง 237 คน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงเรียนให้ความสำคัญกับการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากเป็นสาขาที่จำเป็นในอิดลิบ กล่าวคือ ที่นั่นไม่มีสายโทรศัพท์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ตและดาวเทียมเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม อิดลิบเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนาน การจัดตั้งโรงเรียนจึงเป็นเรื่องยาก ความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวมีแต่ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้งภายในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลระหว่างกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army: FSA)

นั่นหมายความว่า โรงเรียนในฝันของคิซาร์ต้องเผชิญกับขวากหนามอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ริเริ่มวางแผนก่อสร้างไปจนถึงความพยายามให้โรงเรียนสามารถดำเนินการได้จนถึงทุกวันนี้

นอกจากอุปสรรคจากความขัดแย้งของสงครามแล้ว คิซาร์ยังต้องเผชิญกับปัญหาการโดนเหยียดหยันในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าในโลกมุสลิม

คิซาร์เล่าถึงปัญหาที่เธอต้องพบ ในสถานการณ์ที่จำต้องโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของอัลกออิดะฮ์คนหนึ่ง เพื่อให้เขายอมรับรองการจัดตั้งองค์กรของเธอ

”เขาไม่ปรายตามองมาที่ฉันสักเพียงนิด เขาไม่สนใจที่จะฟังเพียงเพราะฉันเป็นผู้หญิง แต่หลังจากที่เขารู้ว่าฉันมาจากอเมริกา เขากลับกล่าวว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่อเมริกันมุสลิมเลือกที่จะอยู่ที่นี่“

ปัจจุบัน เธอกำลังดำเนินงานต่อไปเพื่อบ้านเกิดของเธอ คือ การเตรียมงานฉลองในวันหยุดของชาวมุสลิม เพื่อเด็กๆ

“มันเหมือน ดิสนีย์แลนด์ มันคือ ‘SHINE’ land มันใหญ่และสวยมาก คุณต้องไปดูคลิปวิดีโอ” คิซาร์กล่าว


อ้างอิงข้อมูลจาก: apnews.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า