ตามเคาท์เตอร์ในร้านกาแฟสดมักจะมีน้ำตาลหลายๆ แบบไว้บริการลูกค้าที่ต้องการเติมความหวานด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลแดงทั้งที่เป็นผลึกและแบบละเอียด ซึ่งหลายคนเชื่อว่าน้ำตาลที่ไม่ฟอกสี น่าจะมีคุณค่ามากกว่าน้ำตาลทรายขาว
เมื่อพิจารณาจากกรรมวิธีการทำน้ำตาลทรายขาว ที่เกิดจากการนำน้ำอ้อยไปเคี่ยวหลายๆ ครั้ง จนกว่าจะขับเอากากน้ำตาลและสีเข้มๆ ออกไป ขณะที่น้ำตาลแดงใช้วิธีต้มน้ำอ้อยเพียงครั้งเดียว ผู้บริโภคอาจจะตกใจกับราคาที่ต่างกันเกือบ 4 เท่า แต่ทั้งนี้เพราะน้ำตาลแดงในตลาดทั่วไปมีปริมาณการผลิตและความต้องการที่น้อยกว่า น้ำตาลแดงในถุงขนาด 4 ปอนด์ ที่วางขายในเว็บไซต์ amazon ราคาถุงละ 12.99 ดอลลาร์ ขณะที่น้ำตาลทรายขาวราคาถุงละ 3.25 ดอลลาร์
ข้อมูลยืนยันจาก แคทเธอรีน เซรัตสกี หนึ่งในนักโภชนาการประจำเว็บไซต์ mayoclinic.org ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลงานศึกษาวิจัยด้านสุขภาพและสาธารณสุข บอกว่า กากน้ำตาลที่ยังหลงเหลืออยู่จะให้กลิ่นและสัมผัสต่างจากความหวานของน้ำตาลทรายขาวก็จริง แต่คุณค่าทางโภชนาการของพวกมันต้องถือว่าไม่ต่างจากเดิม ขึ้นชื่อว่า ‘น้ำตาล’ ไม่ว่าจะถูกฟอกสีหรือไม่ ก็ยังคงคุณสมบัติน้ำตาลอย่างเต็มเปี่ยม
แม้ผู้ผลิตน้ำตาลแดงจะอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีแร่ธาตุหลายชนิดในปริมาณมากกว่าน้ำตาลฟอกขาว แต่เมื่อเทียบดูจริงๆ จะพบว่า ต้องรับประทานน้ำตาลแดง 7 ถ้วย จึงจะได้โพแทสเซียมเท่ากับที่ได้จากกล้วยหอม 1 ผล หรือหากต้องการธาตุเหล็กเท่ากับผัดผักโขม 1 ถ้วย ต้องรับประทานน้ำตาลแดง 8.5 ถ้วย และต้องรับประทานน้ำตาลแดงถึง 13 ถ้วย จึงจะได้ปริมาณแคลเซียมเท่ากับนม 1 แก้ว
แม้จะมีงานวิจัยเมื่อปี 2012 สรุปว่า กากอ้อยที่ยังค้างอยู่ในน้ำตาลแดงถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่ได้ผลสำหรับเซลล์ที่ทดสอบในห้องทดลอง แต่ คิมเบอร์ สแตนโฮป นักจุลชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส (University of California-Davis) ที่หันมาศึกษาเรื่องน้ำตาล บอกว่าไม่สามารถหาข้อพิสูจน์หรืองานวิจัยอื่นๆ มาสนับสนุนได้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระในกากอ้อยจะส่งผลต่อเซลล์ในร่างกายจริงๆ นอกจากนี้ ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่พบยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก
ที่มา: alternet.org