เคยได้ยินไหม กับคำพูดของพ่อๆ แม่ๆ ลุงๆ ป้าๆ พยายามพร่ำสอนพร้อมพ่วงท้ายด้วยสร้อยว่า “เชื่อเถอะพ่อหนุ่ม ลุงอาบน้ำร้อนมาก่อน”
เดี๋ยว…การเอาผิวหนังไปสัมผัสอุณหภูมิสูงของน้ำจำเป็นแค่ไหนสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในวันนี้และการเดินไปสู่วันพรุ่งนี้
มิแช็ล แซรส์ (Michel Serres) ผู้เขียน หนูนิ้วโป้ง ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอยู่ในวัยพ้นเลข 8 แต่ความคิดอ่าน มุมมองต่อโลกยุคใหม่และคนรุ่นหลังต่างจากนิยามที่ว่า “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” (และคงไม่ได้อยู่ถึง 80 กว่าเพราะ Let them eat brioche)
ผู้อาวุโสหลายต่อหลายท่านบนโลกใบนี้ถูก ‘เชิญ’ ให้กลับไปอยู่บ้านเลี้ยงหลาน เพราะดื้อดึงดันหอบหิ้ววิธีคิด วิธีอ่าน วิธีสอน ในยุคก่อนข้ามเวลามาใช้ในปัจจุบัน – ใช้ในที่นี้ก็ไม่อิงกับหลักอนิจจังอะไรทั้งนั้น แต่ไม่ชายตามองความเปลี่ยนแปลง อาจด้วยความปรารถนาดี คำสอนเหล่านี้มักถูกยกว่าจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ ‘ดี ถูกต้อง และเป็นจริงทั้งปีทั้งชาติ’
มิแช็ล แซรส์ เป็นผู้ใหญ่ประเภทที่เข้าใจว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลมีเครื่องทำน้ำอุ่นใช้ ทำไมต้องทดสอบความร้อนของน้ำด้วยการเอามือไปสัมผัสอุณหภูมิไม่พึงประสงค์ จริงไหมที่ว่า ตอนนี้มีวิธีตั้งมากมายที่จะทำให้รู้ก่อนแล้วว่า “น้ำน่ะ มันร้อน”
สำหรับ มิแช็ล แซรส์ เด็กยุคหลังจึงเป็น ‘หนูนิ้วโป้ง’ สิ่งมีชีวิตที่น่าตื่นตา และเชื่อมั่นว่า พวกเขาคืออนาคต
“เขาหรือเธอเขียนหนังสือไม่เหมือนเรา หลังจากดูพวกเขาส่งข้อความสั้นอย่างรวดเร็วเกินความสามารถของนิ้วอันงุ่มง่ามของผมด้วยความชื่นชม ผมตั้งชื่อให้พวกเขาด้วยความเอ็นดูแบบปู่เอ็นดูหลาน ผมเรียกเด็กหญิงว่า ‘หนูนิ้วโป้ง’ (Thumbelina) เด็กชาย ผมเรียกว่า ‘นิ้วโป้งน้อย’ (Tom Thumb)…”
ว่าด้วยการเรียนการสอน สำหรับครูอาจารย์ หนูนิ้วโป้ง ทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือสะกิดเตือนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาที่ไม่อาจใช้วิธีคิดเดิมๆ ในการสร้างคนรุ่นหลังให้เดินทับทาบรอยเท้าตามทางที่พวกเขาถางไว้ได้อีกแล้ว ดังที่ มิแช็ล แซรส์ เขียนไว้เป็นมุมมองเปรียบเทียบคนสองรุ่น เก่า/ใหม่ ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ตัวเอง โรงเรียน สังคม
“แม้ว่าเราจะอยู่บนคนละฟากของรอยแยก แต่เรายังสอนเยาวชนด้วยกรอบที่ถูกสถาปนามาเนิ่นนานจนไม่มีใครจำได้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทั้งอาคารเรียน สนามเด็กเล่น ห้องเรียน ห้องบรรยายรวม วิทยาเขต ห้องสมุด ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ กระทั่งรูปแบบของความรู้ กรอบเหล่านี้ผมขอบอกว่าถูกสร้างและถูกปรับเพื่อใช้ในยุคที่ทั้งโลกและมนุษย์ไม่เป็นอย่างที่เคยเป็น”
‘การเรียนรู้’ มีองค์ประกอบมากกว่าการเรียน การสอน การพูด การฟัง การอ่านออก และการเขียนได้ เพราะอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีคือมหาสมุทรขนาดใหญ่ ดังที่ มิแช็ล แซรส์ ว่าไว้ เด็กรุ่นหนูนิ้วโป้งไม่จำเป็นต้องสะสมความรู้ไว้ในหัว พวกเขาถือ ‘หัว’ ไว้ในมือ มีหน้าจอ มี search engine หมวดหมู่ในเว็บไซต์ url ที่ต่างกันไปนำมาซึ่งความรู้หลากหลายบนระนาบกว้างขวาง ถ้าความเร็วอินเทอร์เน็ตของทุกคนเท่ากัน ทุกคนก็จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม
นึกภาพคนรุ่นหนูนิ้วโป้งนั่งเรียนกีตาร์จากยูทูบหน้าจอไอแพด วิธีที่คนรุ่นก่อน – ในวัยเดียวกัน – ไม่มีทางรู้จัก
นี่คือคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งไว้ว่า เรา ในฐานะผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน จะสอนอะไร จะสอนใคร จะสอนอย่างไร
โลกของ หนูนิ้วโป้ง หมุนอยู่รอบแกนองศาที่ต่างออกไป จนทำให้คนรุ่นผู้ใหญ่อย่างเราๆ มากกว่าที่ต้องเรียนรู้ และยอมรับในความเปลี่ยนแปลง เส้นประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยอุณหภูมิของน้ำร้อน ยุคสมัยที่คนค้นพบอาวุธหิน วิธีการใช้ค้อนเหล็ก แต่โลกหมุนด้วยสิ่งที่มองไม่เห็นที่เรียกว่า ‘ความรู้’
“วันนี้เราอยู่ร่วมกันในฐานะลูกของหนังสือและหลานของการเรียน”
ไม่ใช่พยายามสร้างแรงดึงดูดใหม่เพื่อหยุดยั้งโลกไว้ให้หมุนในมุมที่ ‘เรา’ คิดว่าควรจะเป็น – คุณครับ โลกผลัดมือไปสู่ หนูนิ้วโป้ง แล้ว
“…ผู้ซึ่งผมอุทิศชีวิตให้ เพราะผมรักและนับถือพวกเขา”
หนูนิ้วโป้ง: วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของมนุษย์มิลเลนเนียล มิแช็ล แซรส์ เขียน สายพิณ ศุพุทธมงคล แปล สำนักพิมพ์ พารากราฟ |