เรื่อง: จิระ อุ่นเรืองศรี / ภาพประกอบ: Shhhh
1
จาโรมิลอาจปฏิสนธิในเช้าวันนั้น ณ มุมใดมุมหนึ่งใกล้กรุงปราก เก้าเดือนต่อมา จาโรมิลก็ลืมตาดูโลกในฤดูใบไม้ผลิซึ่งพุ่มไลแล็คเริ่มออกดอก แน่นอน ตอนที่จาโรมิลเกิด เขาไม่ได้คาบช้อนกาพย์ช้อนกลอนติดมาด้วย ต้องใช้เวลากว่าสองปีนั่นแหละ เขาถึงได้พบว่าตนเองมีพลังวิเศษที่เขาเรียกมันว่า ‘พลังมหัศจรรย์ของบทกวี’
ครั้งหนึ่ง เขาพลั้งปากด่าคุณตาว่าเป็นตัวร้ายหัวขโมย เมื่อคุณตาผิดคำสัญญาแทนที่จะเหลือขนมปังไส้ ช็อกโกแลตให้เขา กลับกินมันจนหมด แทนที่จะได้รับโทษด้วยการตีก้น เหตุการณ์กลับพลิกไปอีกทาง ทุกคนพากันหัวเราะ รวมทั้งคุณตา จาโรมิลรู้ได้ในทันทีว่า กลุ่มคำที่เรียงตัวอย่างคล้องจองและสละสลวยในคำด่าช่วยให้เขาพ้นผิด
หรือในสองครั้งสองคราว ยามสองแม่ลูกใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ครั้งที่หนึ่ง เขาหล่นประโยคสะเทือนใจจากปาก “แม่จ๋า ชีวิตนั้นเหมือนวัชพืช” เขาเปรียบเปรยชีวิตที่น่าสงสารของยาย และครั้งต่อมา เขาเอ่ยประโยคดราม่า “แม่จ๋า หนูเพิ่งเตะกรวดก้อนนั้น และตอนนี้หนูสงสารมันมากจนอยากลูบมัน” ก่อนจะตามด้วยท่วงท่าแบบละครแทรจิดี พลันโน้มตัวลงไปลูบก้อนกรวดก้อนนั้นหลังกล่าวจบประโยค แม่ตื่นตะลึงในพรสวรรค์ของลูกชาย เธอเป็นอีกคนที่ได้ค้นพบ ‘พลังมหัศจรรย์ของบทกวี’ ของเขา
แล้วจาโรมิลคือใครกันล่ะ
2
เมื่อเรานึกถึง ‘มิลาน คุนเดอรา’ เราจะนึกถึงสำนวนภาษาแบบปากจัดตีนถีบอันแสบสันของเขา เรามักจดจำกลวิธีการนำประวัติศาสตร์และการเมืองมาเสียดเย้ยให้กร่อนสลายกลายเป็นเรื่องขันขื่นได้อย่างเริงใจ หรือความเชี่ยวชาญของคุนเดอราในการบรรยายฉากรักได้อย่างวิจิตรฉาบเคลือบด้วยความวิปริตราวเป็นศิษย์เอกของ มาร์กี เดอ ซาด จนเราลืมความสามารถอีกด้านหนึ่งของเขาซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึงมันมากนัก นั่นก็คือ การสร้างสรรค์ตัวละครในเรื่องแต่งของเขาด้วยฝีมืออันเอกอุ ด้วยชื่อชั้นเยี่ยงผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมระดับโลกพึงมี เช่นเดียวกับ กุสตาฟ โฟแบร์ สร้าง ‘เอ็มมา’ ใน มาดามโบวารี, ฟรานซ์ คาฟคา สร้าง ‘เกรเกอร์ แซมซา’ และบรรดาตัวละครในจักรวาลเรื่องเล่าของเขา เหมือน อัลแบร์ กามูส์ สร้าง ‘เมอโซ’ ใน คนนอก หรือแม้กระทั้ง กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ บรรจงสร้างกลุ่มครอบครัวตัวละครอันกร่อนกลายแปลกประหลาดนามตระกูลบูเอ็นดิยา ใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
บรรดาตัวละครในจักรวาลเรื่องเล่าของคุนเดอรา ใครจะลืมตัวละครเหล่านี้ได้ลงคอ โทมัส, เทเรซา ฟรานซ์ และซาบินา กับจตุรัสแห่งความหฤหรรษ์รัญจวน ใน ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต (The Unbearable Lightness of Being) หรือ แอ็กแนส กับลอร่า พี่น้องสองสาว ผู้มีชีวิตและจุดจบแตกต่างราวสวรรค์กับนรกใน อมตะ (Immortality) ยังมีคู่ชายหญิงไร้ชื่อผู้ร่วมการละเล่นจริงลวงก่อนเดินทางสู่บทสรุปอันแสนขมขื่น ใน เกมโบกรถ หนึ่งในรวมเรื่องสั้นชุด รักชวนหัว (Laughable Loves) หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกและเล่มเดียวของคุนเดอรา
แล้ว ‘จาโรมิล’ เป็นใคร ในจักรวาลเรื่องของ มิลาน คุนเดอรา
3
ชีวิตอยู่หนอื่น (Life Is Elsewhere) เป็นนวนิยายเรื่องแรกของ มิลาน คุนเดอรา ที่ได้ตีพิมพ์หลังลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศเชคโกสโลวเกียไปยังประเทศฝรั่งเศส จาโรมิลคือตัวละครเอกในเรื่อง ผู้มีพรสวรรค์ด้านกวีนิพนธ์ตั้งแต่เด็กๆ เขาเป็นลูกชายของนักศึกษาสาวคณะอักษรศาสตร์ผู้ทรยศต่อพ่อ (กฎุมพีผู้มั่งคั่งคนหนึ่งในกรุงปราก) ด้วยการไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับวิศวกรตกอับ จาโรมิลคือผลผลิตของความสัมพันธ์ซึ่งปราศจากความรัก ผู้เติบโตในยุคการเปลี่ยนผ่านของประเทศเชคฯ ฉากหลังของเรื่องราวเปิดฉากขึ้นในยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตย ก้าวเข้าสู่การถูกยึดครองโดยเยอรมันนี และปิดท้ายประเทศได้ก้าวเข้าสู่ระบบคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์
ชีวิตอยู่หนอื่น เป็นเรื่องราวว่าด้วยกวีหนุ่ม แล้วความเป็น ‘กวี’ ในตัวจาโรมิลล่ะ มาจากไหน หากเราเอากล้องบันทึกภาพจ่อหน้าและเอาไมค์จ่อปาก เพื่อสัมภาษณ์แม่ของกวีหนุ่ม เราจะได้คำตอบ “มันเกิดจากอิทธิพลของบทกวีสำหรับเด็กซึ่งดิฉันอ่านให้เขาฟังอย่างท่วมท้นตอนเด็กๆ ค่ะ”
หากย้ายไมค์ส่ายกล้องไปถามคุณตา (ผู้เก็บปากเก็บคำ มุ่งเน้นการใช้งานได้จริง และเป็นศัตรูตัวร้ายของบทกวี) จะได้คำตอบกลั้วเสียงหัวเราะว่า “ผมนี่แหละคือบุคคลผู้เป็นต้นแบบทางวรรณศิลป์ตัวจริงของเขา ผมเป็นต้นคิดแอบสอนบทกลอนโง่เง่าให้หลานชายด้วยความตั้งใจครับ”
หากไปถามจิตรกร (ผู้ยึดมั่นในตรรกะของศิลปะสมัยใหม่และฝักใฝ่ในลัทธิอะวองต์-การ์ด ผู้ซึ่งแม่ของกวีหนุ่มฝากจาโรมิลเป็นศิษย์เพื่อเรียนเขียนรูป) จิตรกรก็จะสวมบท ‘อัลมุสตาฟา’ ผู้กล่าวปรัชญาชีวิตแก่ ‘อัลมิตรา’ – “เธออาจจะคิดว่าภาพแสนสวยซึ่งเธอจัดใส่ในบทกวีของเธอเป็นผลของการใช้เหตุใช้ผลสินะ เปล่าเลย ภาพเหล่านั้นหล่นใส่ตัวเธอในโครมเดียว โดยที่เธอไม่ได้คาดคิด ผู้สร้างภาพนั้นไม่ใช่เธอ แต่เป็นคนคนหนึ่งซึ่งอยู่ในตัวเธอ คนซึ่งเขียนกวีของเธอในตัวเธอ”
มิลานมีประโยคทองประโยคหนึ่งซึ่งเป็นที่ประทับใจคนอ่าน กระทั่งท่องมันจนจำขึ้นใจ กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวคุนเดอราไปโดยปริยาย ประโยคดังกล่าวคือ “ตัวละคร…ไม่ได้คลอดออกมาจากมดลูกของแม่คนไหน…” แล้วตัวละครตัวต่างๆ ในจักรวาลเรื่องเล่าของคุนเดอรามีที่มาจากไหน โทมัสเกิดมาจากคำพังเพยเยอรมันประโยคหนึ่ง ด้านเทเรซาเกิดมาจากเสียงท้องร้อง ส่วนแอ็กเนสเกิดมาจากรอยยิ้มและท่วงท่าของหญิงชราอายุ 60 ปี แล้วจาโรมิลล่ะ เกิดมาจากอะไร
4
เนื่องจาก ชีวิตอยู่หนอื่น ไม่ได้เป็นนวนิยายว่าด้วยบริบทกบฏของปัญญาชนไทย จาโรมิลจึงไม่ได้เกิดจากการพลัดที่นาคาที่อยู่ แหงนมองจันทร์พลันแต่งเพลง ‘คิดถึงบ้าน’ แบบนายผี (อัศนี พลจันทร) และไม่ได้เกิดจากการเข้าป่าจับปืนขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ แล้ว ‘ตายคาหลักเขตป่ากับนาคร’ แบบเดียวกับ จิตร ภูมิศักดิ์
แต่ ชีวิตอยู่หนอื่น คือนวนิยายว่าด้วยการปฎิวัติยุโรปฉบับเคี่ยวข้นจนกระชับตามคำนิยามของคุนเดอรา จาโรมิลจึงเกิดมาจากบรรดาท่วงทำนองชีวิตของกวีชาวยุโรปมากหน้าหลายตา เช่น
เกิดจากใบหน้าอ่อนกว่าวัยและสะสวยเหมือนหญิงสาวของ เพอร์ซี บีสซ์ เชลลี
เกิดมาจากความหึงหวงที่มีต่อคนรักของ จอห์น คีตส์
เกิดมาจากการก่อกบฏในจิตวิญญาณของ แลอารตูร แรงโบต์
เกิดมาจากความใฝ่ฝันถึงเกียติยศชื่อเสียงอันยิ่งใหญ่ที่ยังมาไม่ถึงของ จิริ โอร์เต็น
5
กวีหรือนักเขียนทุกคนไม่ได้เป็นนักบิน และนักบินทุกคนไม่ได้เป็นนักเขียน แต่ อังตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี เป็นทั้งนักบิน และเป็นนักเขียนในคนเดียวกันอย่างยากที่จะแยกสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกจากกันได้เด็ดขาด สำหรับแซงเต็กซูเปรี นักบินและนักเขียนหลอมร่างเป็นหนึ่งเดียวเคี่ยวข้น จนกลายเป็นผลงานบอกเล่าถึงการโบยบินไปในช่องว่างระหว่างท้องฟ้าและผืนดินเพื่อค้นหาความหมายการดำรงอยู่ของชีวิต ผ่านนวนิยายเรื่องต่างๆ ของเขา เช่น ไปรษณีย์ใต้ (Courrier sud), เที่ยวบินกลางคืน (Vol de nuit), แผ่นดินของเรา (Terre des Hommes ), และ เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince)
กวีเป็นบุคคลที่ใฝ่หาเสรีภาพ โบยบินด้วยจินตนาการ ‘ปีกของอิคะเริส’ จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการอรรถาธิบายโลกทัศน์ในเชิงกวีนิพนธ์ รวมทั้งการดำรงอยู่ของตัวละครในจักรวาลเรื่องเล่าของพวกเขา เรียวปีกและการโบยบินเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ จินตนาการ ความฝัน และความใฝ่ฝันอย่างไม่เกรงกลัวความตาย กล่าวโดยสรุป ปีก การบิน ไกลโพ้น เป็นกลุ่มคำที่เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคโรแมนติก จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าจะเสื่อมไปจากความนิยมจากการหยิบมาใช้สอย
ในบริบทของเมืองไทย จากยุคแสวงหาล่วงเข้าสู่ยุค 14 ตุลา 16 แล้วเลยผ่าน เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 บทกวีและบทเพลงที่แต่งโดยปัญญาชน นักคิด นักเขียน และกวีของไทยได้นำคำว่า ‘ปีก’ และ ‘นก’ มาเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงเสรีภาพ ความใฝ่ฝัน ได้อย่างลงตัว และเต็มไปด้วยพลังแห่งยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น ‘นกสีเหลือง’ ของ วินัย อุกฤษณ์ ‘เพียงความเคลื่อนไหว’ ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ‘บินหลากู้เสรี’ ของ วิสา คัญทัพ ‘เพื่อมวลชน’ ของ จิ้น กรรมาชน
ในความเป็นจริง ‘ปีกของอิคะเริส’ หรือปีกใดๆ ของใคร ไม่ได้โบยบินไปในกวีนิพนธ์ หรือในเรื่องแต่งเท่านั้น ผู้คนยังใช้ปีกเดียวกันนี้โบยบินในชีวิตจริงอีกด้วย และโลกก็เปลี่ยนแปลงไปในทางทั้งดีและร้ายตามแรงลมแห่งการกระพือปีกบินนี้
กวีผู้ใฝ่หาเสรีภาพใช้มันโบยบินจากฟากฟ้าแห่งความรักมาซบหน้าตักเผด็จการทหาร
นักกิจกรรมหนุ่มดาวรุ่งเปี่ยมอุดมการณ์ใช้มันโบยบินผ่านฟากฟ้าแห่งเสรีประชาธิปไตย ก่อนกลายร่างมาเป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่ประจำพรรคอนุรักษนิยมดึกดําบรรพ์
นักเรียนศิลปะชาวออสเตรีย โบยบินจากห้องเรียนเขียนภาพทิวทัศน์ ก่อนพบตัวเองยืนหน้าแนวธงสวัสดิกะซึ่งโบกสะบัดฉายชัดในมาดผู้นำเผด็จการเยอรมันที่โลกต้องสะพรึง
นักศึกษาหนุ่มด้านไอทีผู้ถูกสาวสลัดรักแถมเรียนไม่จบฮาร์วาร์ด ใช้มันโบยบินไปในเครือข่ายใยแก้วนำแสง ก่อนจะพบว่า เว็บบอร์ดที่ตนสร้างไว้ง้อคนรักจะกลายมาเป็นเว็บไซต์สื่อสังคม มูลค่าเกินพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับจาโรมิล ปีกมีความสำคัญกับเขาเป็นอย่างยิ่ง เขาปฏิสนธิในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติโล่งกว้าง เหมาะสำหรับการโผบินของบรรดาปีกทั้งหลาย
ในห้วงของความเพ้อฝันเขามอบปีกที่มองไม่เห็นให้แก่ ซาวิเยร (ตัวละครในห้วงเพ้อฝันของเขา) เพื่อบินจากความมันหนึ่งไปสู่อีกความฝันหนึ่ง
แม้จะไม่ได้เขียนคำว่า ‘บิน’ ในบทกวีของเขา แต่จาโรมิลก็ชื่นชอบความหมายและนัยยะของมัน ทั้งยังชื่นชอบคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันด้วย เช่น วิ่ง ไป ล่อง เขายังใช้คำว่า ‘อิสระ’ ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า ‘บิน’ ในบทกวีที่เขาแต่ง
“วันหนึ่งผู้คนจะมีอิสระเหมือนกลิ่นหอมของต้นสนซึ่งรายรอบประชิดโซ่ตรวนของภูเขา”
ในที่สุดเขาใช้ปีกที่มองไม่เห็นบินหนีให้พ้นอ้อมอกแม่ บินจากฝั่งกวีนิพนธ์สู่อ้อมอกของพรรคคอมมิวนิสต์
5
แม้ ชีวิตอยู่หนอื่น เป็นนวนิยายว่าด้วยภาพเหมือนกวีหนุ่ม เป็นกวีหนุ่มผู้ล้มเหลว อะไรเป็นสาเหตุของความล้มเหลวของจาโรมิล เราจะมาพิจารณาปมปัญหา และทัศนาชีวิตของเขาอย่างพินิจพิเคราะห์ เจาะลึกไปในจริตทางวรรณกรรมเพื่อหาคำตอบ
ก่อนเข้าโรงเรียน เขาแสดงความประทับใจในเชิงกวีแบบเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในสายตาของแม่
ในชั้น ป.2 เขาได้อ่านบทกวีในวันแม่บนเวที เรียกเสียงปรบมือจากผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ปกครองอย่างกึกก้อง
ในช่วงที่เป็นนักศึกษา เขามีงานบทกวีตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รูเดโปวา (ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของเชกในยุคนั้น)
ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนา ‘ค่ำคืนแห่งกวีนิพนธ์’ ในการอบรมประจำปีสำหรับตำรวจหนุ่มสาว ของกรมตำรวจ
และในที่สุด จาโรมิลในวัยหนุ่มผู้ผ่านวัยบรรลุนิติภาวะมาได้ไม่เท่าไร (ยังไม่ถึง 20 ปี) ก็เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมหลังเกิดการทะเลาะวิวาท นับได้ว่าจาโรมิลมีชีวิตแสนสั้น เขาไม่มีหนังสือรวมเล่มกวีนิพนธ์ ไม่เคยได้รับรางวัลทางวรรณกรรมใดๆ เขาไม่ได้มีชีวิตยืนยาวเพียงพอที่จะพัฒนาทักษะในเชิงกวีนิพนธ์ให้มีความล้ำลึกคมคายถึงขึ้นถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เขาไม่ได้โชคดีอย่างนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ความตายของจาโรมิลเป็นความตายเชิงรูปธรรมที่ตอกย้ำให้เป็นที่ประจักษ์ถึงดับดิ้นสิ้นสลายของร่างกายแบบไร้เกียรติยศ และความตายในเชิงนามธรรม หรือความตายในเชิงกวีนิพนธ์ไร้เกียรติยศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะมันคือสิ่งเดียวกัน
ในนามของความตาย มันค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างตั้งแต่จาโรมิลได้พบเพื่อนเก่าโรงเรียนประถม ผู้เป็นลูกคนเฝ้าโรงเรียน ซึ่งไม่ได้เจอกันเลยตั้งแต่เรียนจบ เพื่อนผู้ซึ่งเคยด้อยกว่าเขาแทบทุกๆ ด้าน แต่ตอนนี้ ‘เพื่อนเก่าโรงเรียนประถม’ ของเขาดูเหนือกว่า กระทั่งเขาเองยังรู้สึกอิจฉาเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวคือ เพื่อนของเขาแต่งงานแล้ว ส่วนเขาเป็นแค่นักสำเร็จความไคร่ด้วยตัวเอง เพื่อนของเขามีบ้านพักเป็นของตัวเอง ส่วนเขายังเป็นลูกแหง่อาศัยอยู่กับแม่ และตอนนี้เพื่อนของเขาเป็นตำรวจผู้ทำงานสนับสนุนช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว ส่วนเขายังเป็นนักศึกษาอ่อนประสบการณ์ เพื่อนของเขาปฏิบัติหน้าที่ (ลงโทษผู้ต้องหา) ด้วยความเฉียบขาด โดยไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนเขาเป็นกวีฝึกหัดพึ่งพาอารมณ์ในการสร้างสรรค์งานอย่างยิ่งยวด
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ‘เพื่อนเก่าโรงเรียนประถม’ ของเขา ล่วงรู้ความเป็นไปในตัวเขา รู้ว่าเขาเขียนกวี ชอบอ่านบทกวีของจาโรมิล แถมยังจำได้ทุกบทอย่างขึ้นใจ ซ้ำยังเป็นผู้จัดงาน ‘ค่ำคืนแห่งกวีนิพนธ์’ ในการอบรมประจำปีสำหรับตำรวจหนุ่มสาว ของกรมตำรวจนั้นเอง ส่วนเขาไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปของเพื่อนคนนี้เลย และจาโรมิลมีความคิดฝังใจว่า ‘เพื่อนเก่าโรงเรียนประถม’ คนนี้ มักเดินนำหน้าเขาหนึ่งก้าวเสมอ
‘เพื่อนเก่าโรงเรียนประถม’ เป็นภาพแทนสิ่งที่จาโรมิลปรารถนา สิ่งที่เป็นไม่ได้ และไม่ได้เป็น ลึกๆ ในจิตใต้สำนึกของจาโรมิลตระหนักได้ถึงความต่ำต้อยด้อยค่าของกวีนิพนธ์ในแง่ที่ว่า บทกวีหมายถึงวันเยาว์ ไร้ประสบการณ์ จินตนาการจับต้องไม่ได้ อารมณ์เข้มข้นหลากล้นฟูมฟาย ความไร้พลังอำนาจทางการเมือง อย่างดีที่สุดกวีนิพนธ์เป็นแค่เครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ ในการปฏิวัติ ในขณะที่ ‘เพื่อนเก่าโรงเรียนประถม’ เป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ ผู้เปี่ยมประสบการณ์ การลงมือทำอย่างเห็นผล ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทรงอำนาจ เป็นฝ่ายการเมืองน่าเกรงขาม
กล่าวโดยสรุป ‘เพื่อนเก่าโรงเรียนประถม’ คือตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ จาโรมิลจึงเลิกเขียนบทกวี และเข้าเรียนในสถาบันรัฐศาสตร์ขั้นอุดมศึกษา โถมตัวลงไปทำงานการเมืองแบบเต็มตัว ทรยศต่อความเป็นกวีของตัวเองอย่างเลือดเย็น
มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสำคัญในชีวิตของจาโรมิล และถือเป็นจุดสุดยอดในชีวิตการเป็นกวีของเขา ทั้งยังส่งผลต่อเรื่องราวให้หักเหไปอีกทางหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อจาโรมิลได้รับรู้จากปากคำของสาวผมแดง คนรักของเขาว่า พี่ชายของเธอลักลอบข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย การกระทำดังกล่าวถือเป็นการทรยศต่อการปฏิวัติ ทรยศต่อพรรคคอมมิวนิสต์ และทรยศต่อประเทศชาติ เรื่องสำคัญยิ่งยวดเยี่ยงนี้ต้องรายงานต่อ ‘เพื่อนเก่าโรงเรียนประถม’ ผู้เป็นตำรวจ เป็นตัวแทนของทางการ เป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์
มิลาน คุนเดอรา บรรจงสร้าง ‘จาโรมิล’ ขึ้นมา โดยแอบฝังเมล็ดพันธุ์ ‘Hamartia’ ไว้อย่างเงียบๆ รอเวลาให้มันแตกหน่อ แทงราก ผลิใบ ออกดอก กระทั่งผลของมันสุกงอมหลุดจากขั้วร่วงหล่นเป็นโศกนาฏกรรมที่จาโรมิลเป็นผู้ก่อ
‘Hamartia’ แปลว่า ‘ความผิดพลาดในการตัดสินใจ’ อันนำไปสู่ความบกพร่องอันน่าเศร้า (tragic flaw) Hamartia มีการกล่าวถึงครั้งแรกในงานเขียนของ อริสโตเติล เรื่อง Poetics โดยมีคอนเซ็ปต์ว่าด้วย ‘ความเสื่อมถอยด้อยสมรรถภาพของมนุษย์ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม’
ตัวละครเอกของโลกจากปลายปากกาของนักเขียนระดับตำนาน ตั้งแต่ยุคกรีก ไล่มากระทั่งถึงยุคโพสต์โมเดิร์น ล้วนแล้วแต่มีเมล็ดพันธุ์ ‘Hamartia’ แฝงฝังอยู่แทบทั้งสิ้น อิคะเริสโผบินท้าทายเทพเจ้า โอดิปุสฆ่าพ่อของตัวเองด้วยความไม่รู้ เมอโซฆ่าชาวอาหรับโดยไม่มีเหตุจูงใจ และไม่รู้สึกเศร้าใจตอนแม่เสียชีวิต คนในบูเอนดิยามีความปรารถนาอยากมีเพศสัมพันธ์ร่วมสายเลือดในตระกูลของตัวเอง
จาโรมิลพ่ายแพ้ต่ออำนาจ สยบยอมต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่อาจทานทนต่อความเย้ายวนต่อสิ่งที่เหนือกว่า พ่ายแพ้ต่อปีศาจยามมันกวักมือเรียก สังเวยคนรักอย่างปราศจากความเมตตาสงสาร เมินเฉยต่อชะตากรรมของเธอ โดยไม่ใส่ใจว่าเธอจะเผชิญโทษทัณฑ์หนักหนาสาหัสเพียงใด เธออาจถูกคุมขังเพื่อรอการสอบสวน อาจถูกเจ้าหน้าที่ของทางการลวนลามทางร่างกาย อาจเกินเลยถึงขั้นโดนรุมข่มขืนอย่างไรความปรานี หรือในท้ายที่สุด เธออาจได้รับโทษประหาร ฐานเป็นผู้สมรู้ร่วมทรยศกับพี่ชายในการลักลอบข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย
แทนที่จะประหวั่นพรั่นพรึงในชะตากรรมของแฟนสาว จาโรมิลกลับปลาบปลื้มในการกระทำของตัวเอง ตื้นตันซาบซ่านใจราวกับจาโรมิลคนเก่าได้ตายลง จาโรมิลคนใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น เขามีความสุขอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน พอกลับมาถึงห้องเขาลงมือเขียนบทกวี ในที่สุดเขาก็ได้นำขั้วตรงข้ามสุดขั้วมาหลอมรวมให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ เขานำจินตนาการหลอมเข้ากับประสบการณ์ นำห้วงอารมณ์หลอมรวมกับภาวะไร้อารมณ์ นำบทกวีมาหลอมรวมกับอำนาจ เกิดเป็น ‘บทกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต’ ดังที่จาโรมิลกล่าวกับแม่หลังเขียนบทกวีเสร็จสิ้น
จาโรมิลคนใหม่ผู้ทรยศต่อกวี ผู้สังเวยคนรักต่ออำนาจด้วยการกระทำปราศจากความรู้สึก จาโรมิลผู้เป็นกวีได้ตายลงอย่างสมบูรณ์ ในท้ายที่สุดคุนเดอราจึงหยิบยื่นความตายในเชิงกายภาพให้จาโรมิล เป็นความตายชวนสลดหดหู่ เป็นความตายซึ่งห่างไกลจากภาพความตายซึ่งเรืองแสงไปด้วยชื่อเสียงและเกียรติยศเยี่ยงเดียวกับกวีเรืองนามที่เขาใฝ่ฝันถึง
ชีวิตอยู่หนอื่น (La vie est ailleurs)
Milan Kundera: เขียน
แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสโดย: อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง
สำนักพิมพ์: กำมะหยี่
พิมพ์ครั้งที่ 1 กรกฎาคม 2559
อ้างอิงข้อมูลจาก:
คุนเดอรา, มิลาน ชีวิตอยู่หนอื่น . แปลโดย อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง. ปทุมธานี:กำมะหยี่, 2559.
ศศิวรรณ จงจิตร Life Is Elsewhere : เบื้องหลังการกบฏ อ่าน 2.2 (2 ตุลาคม ธันวาคม 2552) 126-135
https://en.wikipedia.org/wiki/Hamartia