“เราอยากดึงคนที่เคยหันหลังให้กลับมาแก้ไขบางอย่างร่วมกัน เพราะการแก้ไขปัญหานี้ได้มันจะต้องเกิดจากทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่”
ประโยคหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ ยศธร ไตรยศ เจ้าของผลงานภาพชุด ‘Gray Zones’ ที่ถูกนำมาจัดแสดงเป็นงานนิทรรศการภาพถ่ายในชื่อ นิทรรศการภาพถ่ายสีเทา ‘Gray Zones’ เมื่อวันที่ 11-23 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ บริเวณชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre: BACC) ได้กลายมาเป็นใจความสำคัญสู่การต่อยอดเป็นวงเสวนาขนาดย่อมในชื่อ ‘Rebuilding Lives’ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โดยงานเสวนาครั้งนี้ นอกเหนือจากยศธร เจ้าของผลงานภาพที่ได้มาเป็นวิทยากรภายในงาน ยังมี สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists: ICJ) และ บาร์บารา เบอร์นาธ (Barbara Bernath) จากสมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture: APT) มาร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นสิทธิว่าด้วยการถูกซ้อมทรมาน เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน 2562
การแลกเปลี่ยนประเด็นทางความคิดของสามบุคคล สามหน่วยงาน นำมาซึ่งประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องของการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่ง WAY ได้สรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้ที่นี่
วังวนแห่งความทรมาน
“หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ (ยุติธรรม) หลายคนยังหวาดกลัวเวลามีทหารขับรถผ่านหน้าบ้าน หลายคนยังคงตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะฝันร้าย และหลายคนยังไม่สามารถออกจากบริเวณหมู่บ้านของตัวเองได้ เพราะกลัวที่จะถูกลอบทำร้าย”
ยศธรกล่าวขณะนำเสนอภาพอีกชุดหนึ่งของชุดภาพถ่าย ‘Gray Zones’ ว่า ผลพวงจากการถูกกระทำระหว่างกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาภายหลังคดีความสิ้นสุดลงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันอดีตผู้ต้องหาหลายคนจำเป็นต้องเข้าพบจิตแพทย์และเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางจิต ซึ่งใช้เวลาในการบำบัดระยะยาวเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเป็นปกติ
มีข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย ปี 2561 ถึงตัวเลขของผู้มาร้องเรียนกรณีถูกซ้อมทรมานตั้งแต่ปี 2554-2561 พบว่า ในระยะเวลาดังกล่าว มีผู้ร้องเรียนกรณีถูกทรมานถึง 123 กรณี จากจำนวนนี้พบว่า มีผู้ร้องเรียนในปี 2554 มากที่สุด จำนวน 46 กรณี รองลงมาคือปี 2561 จำนวน 21 กรณี สำหรับสถานการณ์ที่ผู้ร้องเรียนพบ มีทั้งการถูกซ้อมทรมานทางร่ายกายและจิตใจ
ความเป็นจริงกับการทรมาน
“คนส่วนใหญ่พอพูดถึงเรื่องการทรมาน อาจจะคิดว่า นาย A กับ นาย B ทะเลาะกัน แล้วนาย A จับ นาย B ไปกักขัง ทรมานหลายวัน แต่ความเป็นจริงแล้ว ‘การทรมาน’ หมายถึงการที่บุคคลถูกทรมานระหว่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ”
สัณหวรรณ จาก ICJ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งทำให้ข้อร้องเรียนถูกพบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าพื้นที่อื่น เป็นเพราะรูปแบบการใช้กฎหมายมีลักษณะแตกต่างออกไป โดยในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มักจะมีการใช้กฎหมายพิเศษที่เรียกว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหาร มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการกระทำการใดๆ ภายในพื้นที่ได้
จุดหนึ่งที่เป็นปัญหาและมักถูกได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ การถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและกักขัง 7 วัน ด้วย พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 15 ที่ระบุว่า
“ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้หรือต่อคําสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอํานาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจําเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน”
เหตุที่ทำให้มาตรานี้ถูกร้องเรียนมากที่สุด เป็นเพราะว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและกักขัง 7 วันนั้นไม่มีการผ่านกระบวนการศาลเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ต้องสงสัยเหมือนในคดีความทั่วไป ในพื้นที่ทั่วไป ที่จะต้องผ่านกระบวนการศาลภายในเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง
จากกฎหมายดังกล่าว นำมาซึ่งข้อสงสัยเบื้องต้นว่า การกักขังในรูปแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในขณะกักขังได้
การต่อสู้กับความทรมาน
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดมารองรับการซ้อมทรมาน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ร้องเรียนแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในท้องที่คือ การสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือกว่าเจ้าหน้าที่พลเรือน ทำให้การสอบสวนไม่มีความเป็นอิสระ และมีรายงานว่า ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่มักเป็นคนพูดไกล่เกลี่ยให้ยอมความเสียเอง
“เวลาไปร้องเรียน เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มักจะตั้งคำถามว่า มีพยานหลักฐานอะไรที่บอกว่าถูกทรมาน ซึ่งส่วนใหญ่พยานหลักฐานในกรณีซ้อมทรมานหาได้ยากมาก เพราะการทรมานมันไม่เหมือนในหนัง ที่มีแค่การบีบคอ หรือการมัดมือเท่านั้น แต่มันมีอะไรอีกมากมาย แล้วผลที่เกิดขึ้นบางครั้งมันส่งผลต่อทางจิตใจมากกว่าร่างกาย ทำให้การเก็บข้อมูลพวกนี้ไม่ง่ายเลยถ้าเวลาผ่านไป” สัณหวรรณกล่าว
นอกจากนี้ หากคดีความดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการศาล ระยะเวลาที่ถูกทิ้งห่างเป็นเวลานาน ส่งผลให้การเก็บรวบรวมหลักฐานเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป บาดแผลบนร่างกายก็จะทุเลาลง แม้ว่าจะมีความพยายามใช้นักจิตวิทยาเข้ามาตรวจสอบ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคดีที่จะรับได้สิทธิเข้าถึง ทำให้ผู้ร้องเรียนต้องพบเจอกับความท้าทายว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้คดีของตนได้รับการวินิจฉัยในกระบวนการอย่างยุติธรรม
งานวิจัยเพื่อป้องกันการทรมาน
ระหว่างงานเสวนา บาร์บาราได้เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยอิสระชื่อ การป้องกันการทรมานทำได้จริงไหม? (Does Torture Prevention Work?) ที่จัดทำขึ้นโดย APT โดยงานวิจัยดังกล่าวศึกษาเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการทรมานใน 16 ประเทศ ภายในระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2528-2557 ระบุว่า จากการวิจัยในระยะเวลาดังกล่าวผ่านดัชนีชี้วัดเหตุการณ์การทรมานที่เรียกว่า The Carver-Handley Torture Score (CHATS) พบว่า มีมาตรการป้องกันการทรมานมากกว่า 60 วิธีที่สัมพันธ์กับข้อกฎหมายตามหลักการด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยมาตรการเหล่านี้จะถูกแบ่งออกตามขั้นตอนการป้องกันการทรมานสี่ขั้นตอน ได้แก่ การควบคุมตัว การนำคนผิดมาลงโทษ การตรวจเยี่ยม และกลไกในการร้องเรียน
จากการศึกษาขั้นตอนทั้งหมดสี่ขั้นตอน พบว่า มาตรฐานการป้องกันการทรมานมีผลโดยตรงในขั้นตอนการควบคุมตัวผู้กระทำความผิด การนำคนผิดมาลงโทษ และการตรวจเยี่ยม โดยในขั้นตอนการควบคุมตัวผู้กระทำความผิดนั้น เจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการแจ้งญาติหรือคนสนิทของผู้ต้องหา เพื่อให้ทราบถึงการถูกควบคุมตัว รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เข้าถึงทนายความ ผลทำให้ขั้นตอนดังกล่าวดำเนินต่อไปได้อย่างโปร่งใสและลดการทรมานลงได้
ขณะที่การวิจัยยังพบอีกว่า มาตรการป้องกันดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างแม่บทกฎหมายและการนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงมาตรการในการควบคุมตัว และการสืบสวนสอบสวนการตั้งข้อหาของผู้ทรมาน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมกันระหว่างการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าการนำกฎหมายไปใช้นั้นจะนำไปสู่การพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ในขั้นตอนการตรวจเยี่ยม และกลไกในการร้องเรียน ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามาตรการในขั้นตอนดังกล่าว จะพัฒนาไปสู่ข้อเสนอแนะในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้
บทสรุปจากการวิจัยทั้งหมดทำให้เกิดเป็นข้อเสนอแนะจาก APT เกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการทรมานไว้แปดข้อ ได้แก่ การป้องกันการทรมานจะต้องเกิดทุกที่และทุกเวลา โดยไม่จำกัดว่าเป็นกลุ่มคนกลุ่มใดในสังคม ส่วนของกฎหมายที่ดีมีความจำเป็นแต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพเสมอไปในทางปฏิบัติ ต้องมีกลไกคุ้มครองสิทธิอย่างการให้โอกาสผู้ต้องหาในการเข้าถึงทนายความ และการได้รับการตรวจรักษาทางการแพทย์จากแพทย์ที่เป็นอิสระ จึงจะถือว่ากลไกคุ้มครองสิทธิมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องลดการควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการ การใช้คำรับสารภาพเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการทรมาน และต้องมีการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นอิสระ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายจำเป็นจะต้องทบทวนและปฏิรูปวัฒนธรรมการใช้กฎหมาย เพื่อไม่ให้การทรมานและคนผิดยังคงลอยนวลอยู่ในสังคม
กฎหมายเพื่อป้องกันการทรมาน
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่จัดทำขึ้นเพื่อทำป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับให้สูญหาย โดย พ.ร.บ. นี้ มีผลให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดที่กระทำการดังกล่าวมีความผิดและจะต้องได้รับโทษ
ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเคยถูกเสนอให้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณายกร่างเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่จนแล้วจนรอด ร่าง พ.ร.บ. นี้กลับไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณา เนื่องด้วยเหตุปัจจัยในตัวกฎหมายหลายจุดยังไม่ครอบคลุมและไม่เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ซึ่งเป็นแม่บทของ พ.ร.บ. ชุดนี้
“เราก็ไม่รู้ว่าหลังเลือกตั้งจะสามารถดึงกลับมาเข้าที่ประชุมได้หรือเปล่า แต่ก็เป็นความหวัง” สัณหวรรณกล่าว
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำพาความยุติธรรมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทยได้ ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีวาระให้นำร่าง พ.ร.บ. ชุดนี้ เข้าสู่สภา แต่การตื่นตัวและการหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของสังคม จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีที่สุดเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ. นี้เข้าสู่สภาเร็วขึ้นได้ เหมือนกับคำพูดของยศธรที่เคยกล่าวไว้ว่า
“เพราะการแก้ไขปัญหานี้ได้มันจะต้องเกิดจากทั้งคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่”