ความพยายามจะป้องกันทารกและเด็กๆ จากปัญหาน้ำหนักเกิน เห็นได้จากการตีตกร่างข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) โดยสภายุโรป (European Parliament) ที่จะอนุญาตให้อาหารเสริมสำหรับเด็กมีส่วนผสมของน้ำตาลได้มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำสามเท่า โดยถูกคัดค้านด้วยคะแนนเสียง 393 ต่อ 305 มีสมาชิกสภาฯ 12 รายงดออกเสียง เมื่อพุธที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา
แม้จะไม่ใช่มติเอกฉันท์ แต่ชัดเจนว่าร่างข้อเสนอนี้ขัดต่อคำแนะนำด้านสุขภาพจากทั้งองค์การอนามัยโลกและคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศสมาชิก ที่เสนอว่าควรลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลลง
การรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพกลายเป็นสาเหตุสำคัญของโรคภัยไข้เจ็บและการเสียชีวิตของคนทั่วโลก เทียบกันแล้วอาจจะมากกว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และการไม่ออกกำลังกายรวมกัน จากการออกเสียง พบว่าสมาชิกสภายุโรปเกินกึ่งหนึ่งสนับสนุนให้ใช้น้ำตาลในอาหารเท่ากับปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ
ปริมาณน้ำตาลที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ขณะที่ปริมาณน้ำตาลที่เกือบผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภายุโรปคือร้อยละ 30 ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายต้องการ อาทิ การที่อาหารนั้นๆ มีน้ำตาล 7.5 กรัมต่อ 100 กิโลแคลอรี เทียบเท่าการได้รับน้ำตาล 30 กิโลแคลอรี จากปริมาณแคลอรี 100 กิโลแคลอรี
“การที่อาหารเสริมทารกและเด็กมีปริมาณน้ำตาลสูง อาจส่งผลต่อภาวะน้ำหนักเกินในเด็กและส่งผลให้เด็กติดการรับประทานหวานตั้งแต่เล็ก ฉะนั้น อาหารสำหรับทารกและเด็กๆ ควรมีน้ำตาลให้น้อยที่สุด” คีธ เทย์เลอร์ หนึ่งในสมาชิกสภายุโรปที่คัดค้านร่าง กล่าว
หากไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่าจะมีน้ำตาลเกินพอดีหรือไม่ ลองตามไปดูอาหารเสริม DIY ของคุณแม่รอบโลกกัน
ญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่น ทารกจะได้รับประทาน ‘okayo’ ซึ่งก็คือ โจ๊กใส่เต้าหู้และปลาคอดหรือปลาชีราสึ (ลูกปลาแฮร์ริง) เติมนัตโตะหรือถั่วเน่าตำรับญี่ปุ่น ซึ่งอาหารอวลกลิ่นอย่างนัตโตะนี่เองมีประโยชน์ต่อการทำงานของลำไส้และอุดมไปด้วยวิตามิน K
อินเดีย
ส่วนเด็กๆ อินเดีย อาหารเสริมถ้วยแรกของพวกเขามักจะเป็นข้าวฟ่างต้ม เพราะเป็นธัญพืชที่มีกลูเต็นต่ำ ไม่เสี่ยงต่อการแพ้ หรือจะเป็นเมนู ‘Suji kheer’ ทำจากแป้งข้าวสาลีต้มผสมนมและน้ำตาลเล็กน้อย จากนั้นจะเริ่มให้เด็กๆ ชิมรสเครื่องเทศบางๆ ผ่านข้าวต้มขลุกขลิก ‘Dal khichdi’ ที่ลดปริมาณเครื่องเทศให้น้อยกว่าปกติ หรือจะเป็นสตูว์ผักรวมแล้วเติม ‘Ghee’ ซึ่งเป็นเนยอินเดียลงไป หลังจากหนึ่งขวบ เด็กๆ จะได้รับประทานอาหารเหมือนคนอื่นๆ ในครอบครัว
ไนจีเรีย
‘Pap’ คืออาหารเสริมถ้วยแรกของเด็กๆ ไนจีเรีย เพราะทำจากข้าวโพดหมัก จึงมีรสออกเปรี้ยว อีกเมนูที่คุณแม่นิยมทำให้เด็กๆ รับประทานคือ Amala ทำจากแป้งมันเทศหรือแป้งมันสำปะหลัง Gbegeri ทำจากถั่วโปรตีนสูง และซุปผัก Ewedu ซึ่งเป็นผักที่หาได้ทั่วไปในไนจีเรีย
ฝรั่งเศส
สมาคมกุมารแพทย์ฝรั่งเศสแนะนำให้เด็กๆ อายุตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป ได้อาหารเสริมรสอ่อนประเภทซุปผักน้ำใส ซึ่งคุณแม่อาจจะกรองแล้วผสมลงไปในนมขวดของพวกเขาได้เลย หลังจากนั้น คุณแม่ชาวฝรั่งเศสก็ลองให้ลูกๆ ฝึกรับประทานผักเพื่อให้ได้รสสัมผัสต่างๆ กันไป เช่น ต้นกระเทียม ผักโขม และผักสลัดใบหยิก เพราะเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่สำหรับฝรั่งเศส แต่น่าแปลกที่ฝรั่งเศสมีสถิติเด็กๆ น้ำหนักเกินต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ละวันพวกเขาจะได้รับอาหารเสริมสี่ครั้งต่อวัน ซึ่งเมื่อโตขึ้น ก็จะกลายเป็นอาหารคอร์สี่จานในมื้อหลักๆ อย่างมื้อเที่ยงและมื้อเย็นไป