ความเดิมจากตอนที่แล้ว หลังจากที่ครั้งก่อนผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการปฏิวัติขึ้นสู้ของมวลชนในตัวบทเรื่อง Discorsi ของ มาเคียเวลลี ที่ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ยกการตีความของนักวิชาการฝ่ายซ้ายมาอธิบาย มาในครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสเข้าไปเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่นั่งฟังการบรรยายพิเศษ (ทางออนไลน์) เรื่อง ‘การต่อต้านขัดขืนและการปฏิวัติ’ ในโอกาสรำลึกครบรอบ 59 ปี การเสียชีวิตของครูครอง จันดาวงศ์ จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับคณะก้าวหน้าสกลนคร ในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีท่านอาจารย์ปิยบุตรเป็นผู้บรรยาย
ในช่วงท้ายของการบรรยาย ท่านอาจารย์ปิยบุตรกล่าวเน้นย้ำกับผู้ที่มาร่วมฟังการบรรยาย โดยเฉพาะเหล่านิสิตนักศึกษาในวัยหนุ่มสาวว่า พวกเราเหล่านิสิตนักศึกษาทุกคนต่างเป็น “นักโทษที่ถูกจับขังอยู่ในถ้ำของเพลโต” ท่านอาจารย์ปิยบุตรยังชี้ให้เห็นต่อไปด้วยว่า นักศึกษาในหมู่พวกเราที่ต่อมาได้พยายามออกไปนอกถ้ำด้วยความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน จนได้พานพบแสงสว่างซึ่งเปรียบประดุจ ‘ความจริง’ ที่อยู่ภายนอกถ้ำนั้น เมื่อได้เห็น ‘ความจริง’ ดังกล่าวแล้วก็ควรที่จะต้อง “กลับไปยังถ้ำแห่งนั้นที่เราเคยอยู่ เพื่อที่จะปลุกคนที่อยู่ในถ้ำนั้นให้ออกมาเห็นความจริงที่แท้จริงด้วยกัน” (เน้นข้อความโดยผู้เขียนเอง)
ถ้ำและมนุษย์ถ้ำของเพลโตที่ท่านอาจารย์ปิยบุตรพูดถึงนี้คืออะไร? ทำไมพวกเราจึงต้องออกจากถ้ำด้วยความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน? และทำไมเมื่อหลุดรอดออกจากถ้ำจนได้มาเห็นแสงสว่าง (หรือตาสว่าง) แล้ว เราจะต้องกลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง? โดยคำถามสุดท้ายนี้ ท่านอาจารย์ปิยบุตรระบุไว้ในสเตตัสของอาจารย์1 ภายหลังจากการบรรยายว่า ท่านอาจารย์ได้นำการตีความดังกล่าวมาจากนักปรัชญาฝรั่งเศสร่วมสมัยที่ชื่อ อะแลง บาดิยู (Alain Badiou)2
ในฐานะนักเรียนปรัชญาการเมืองคนหนึ่งอีกเช่นเคย ผมต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ปิยบุตรที่ได้ทำให้ปรัชญาการเมืองมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง จากคราวที่แล้วเป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ มาคราวนี้ย้อนกลับไปถึงยุคกรีกโบราณเลยทีเดียว และผมคิดว่าคำถามเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตีความตัวบทในตอนต้นเล่มที่ 7 ของบทสนทนา Republic ที่ถึงแม้บรรดานักวิชาการผู้สันทัดความคิดของเพลโตจะตีความประเด็นเหล่านี้ในรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปมากมาย แต่อย่างน้อยผมคิดว่ามีประเด็นสำคัญของการตีความคำถามเหล่านี้ที่บรรดานักวิชาการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่ศึกษาเพลโตให้การยอมรับกัน ดังที่จะได้กล่าวต่อไป
สำหรับคำถามแรกว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ถ้ำของเพลโต’ นั้น ผมเชื่อว่าคนที่รู้จักเพลโตส่วนใหญ่มักจะรู้จักงานเขียนที่มีลักษณะเป็นบทสนทนาเรื่อง Republic ของเขา และคนที่เคยอ่าน Republic จนจบย่อมไม่มีใครไม่รู้จักอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ (allegory of the cave) ของเพลโตในเล่มที่ 7 ของบทสนทนาดังกล่าว แต่สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับนักปรัชญาเมธีในสมัยกรีกโบราณ (427-347 BC) ที่ชื่อว่าเพลโตท่านนี้ และมิพักต้องพูดถึงท่านที่ไม่ยังไม่มีโอกาสได้ลองอ่านตัวบทจาก Republic เล่มที่ 7 ผมจึงอยากขออธิบายสรุปไว้อย่างพอสังเขปเพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพว่า ทั้งถ้ำและความเจ็บปวดจากการออกจากถ้ำในตัวบทของเพลโตที่อาจารย์ปิยบุตรกล่าวถึงนี้คืออะไร ก่อนที่จะวกกลับไปยังคำถามสุดท้ายเรื่องการหวนกลับเข้าไปในถ้ำของ ‘มนุษย์ตาสว่าง’
อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำของเพลโตในบทสนทนา Republic เล่มที่ 7 นี้ เริ่มต้นด้วยการที่โสกราตีสขอให้คู่สนทนาลองจินตนาการถึงสภาพมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเบื้องลึกของถ้ำที่อยู่ห่างไกลจากปากถ้ำมาก พวกเขาอาศัยอยู่ในนั้นตั้งแต่เล็กโดยที่ขาและคอถูกตรึงไว้เพื่อให้มองไปยังทิศเบื้องหน้าของตนเท่านั้นราวกับนักโทษที่ถูกพันธนาการ และเบื้องหลังมนุษย์นักโทษก้นถ้ำเหล่านี้เองที่โสกราตีสสมมุติให้มีกองไฟกองหนึ่ง โดยระหว่างกองไฟกับเบื้องหลังของนักโทษเหล่านั้นจะมีสิ่งที่คล้ายกับกำแพงเตี้ยๆ กั้นอยู่ เช่นนั้นเมื่อมีใครนำวัตถุหรืออะไรก็ตามวางอยู่บนกำแพงดังกล่าว แสงจากกองไฟที่ส่องไปยังวัตถุย่อมก่อให้เกิดภาพเงาของสิ่งนั้นสะท้อนไปยังผนังถ้ำที่อยู่ด้านหน้าของนักโทษ ฉะนั้นสำหรับนักโทษเหล่านี้แล้วโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับพวกเขาจึงเป็นเพียงแค่เงาของสิ่งที่เป็นวัตถุแห่งเงานั้น3
จากนั้นโสกราตีสจึงสมมุติต่อไปว่า หากมีนักโทษคนหนึ่งถูกปล่อยจากพันธนาการให้สามารถลุกขึ้นยืนและเดินเหินไปรอบๆ ได้ (แต่โสกราตีสไม่ได้บอกว่าใครปล่อยเขาออกมาหรือเขาหลุดออกมาได้อย่างไร!?) ทันทีที่คนคนนั้นหันไปเจอกับแสงไฟซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงเบื้องหลังเขา ความรู้สึกแรกที่บังเกิดขึ้นกับเขาย่อมเป็นความแสบตาอันเกิดจากการจ้องมองไปยังต้นทางของแสงไฟ อีกทั้งตาของเขาก็จะพร่าเลือน จนกระทั่งไม่สามารถมองเห็นวัตถุที่เป็นแหล่งกำเนิดเงาได้ถนัด
ถึงจุดนี้ โสกราตีสจึงตั้งคำถามว่า หากมีคนไปบอกคนผู้นั้นว่า สิ่งที่เขาเห็นมาก่อนหน้านี้เป็นเรื่องไร้สาระ ส่วนสิ่งที่เขากำลังเห็นอยู่เบื้องหน้าในขณะนี้คือสิ่งที่เข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น มิหนำซ้ำยังคาดคั้นให้คนผู้นั้นลองตอบว่าวัตถุเหล่านั้นคืออะไรแน่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาของอาการแสบตาจากการได้เห็นแสงที่เจิดจ้าเป็นครั้งแรกของเขาก็คือ เขาย่อมคิดว่าเงาอันแจ่มชัดที่เขาเคยเห็นมาก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่จริงเสียยิ่งกว่าภาพวัตถุอันพร่าเลือนที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าของเขา และยิ่งไปกว่านั้น หากเขาถูกบังคับให้ต้องจ้องมองไปที่ตัวกองไฟโดยตรง ความเจ็บปวดนั้นก็จะยิ่งทวีตรีคูณจนทำให้เขาต้องเบือนหน้าหนีไปทางอื่น หรือแม้แต่พอใจที่จะหันกลับไปจ้องมองเงาอันแสนสบายตาดังเดิม โดยคิดว่าสิ่งนี้ช่างเป็นสิ่งที่ชัดเจนยิ่งกว่าสิ่งที่เขาประสบมาเมื่อครู่4
และนี่คือที่มาของความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานครั้งแรกของมนุษย์ถ้ำที่เกิดขึ้นในอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ!
แต่นั่นมิใช่ความเจ็บปวดเดียวที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ถ้ำผู้นั้น เพราะโสกราตีสกล่าวต่อไปทันทีว่า สมมุติว่ามีใครที่ไหนก็ไม่ทราบ ดึงและฉุดกระชากลากถูคนผู้นั้นผ่านพื้นถ้ำอันแสนขรุขระและสูงชันไปยังบริเวณปากถ้ำ เพื่อเผชิญหน้ากับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่หน้าปากถ้ำซึ่งแผดแสงแรงกว่ากองไฟในถ้ำหลายเท่า เมื่อนั้นเขาย่อมตกอยู่ภายใต้ความเจ็บปวดอย่างถึงที่สุด5 และนี่คือความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานระลอกสองที่เขาต้องเผชิญ!
โสกราตีสยังบรรยายต่อไปว่า แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ซึ่งเปรียบได้กับความจริงแท้ (เพราะดวงอาทิตย์ในอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำถือเป็นแหล่งกำเนิดแสงสูงสุด) ได้ทำให้นัยน์ตาของคนผู้นั้นพร่ามัวและเกิดอาการแสบตายิ่งกว่าเก่าจนไม่สามารถสังเกตวัตถุภายนอกถ้ำทั้งหลายให้แน่ชัดได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่โสกราตีสกำหนดเงื่อนไขว่า หากคนผู้นั้นต้องการจะมองแหล่งกำเนิดแสงที่แท้จริงให้ได้ ในที่สุดแล้วเขาก็คงจะต้องเริ่มจากการค่อยๆ มองสิ่งที่ไม่เจิดจ้าที่อยู่ภายนอกถ้ำก่อน เช่น มองเงาของวัตถุ หรือมองภาพสะท้อนของวัตถุในน้ำ และสุดท้ายเมื่อดวงตาของเขาค่อยๆ ปรับตัวได้ เขาก็จะสามารถมองไปที่ตัววัตถุนั้นได้โดยตรงในที่สุด6
เมื่อตาของเขาเริ่มปรับสภาพได้ ถัดจากนั้นเขาจึงเริ่มมองขึ้นไปยังท้องฟ้า จุดนี้น่าสนใจมากที่โสกราตีสอธิบายว่า ครั้งแรกที่คนผู้นั้นมองขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ บนนั้น เขาเริ่มต้นจากการมองมันในเวลากลางคืน ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนมามองสิ่งต่างๆ บนท้องฟ้าในตอนกลางวัน และสุดท้ายเขาก็จะสามารถมองดวงอาทิตย์ได้โดยตรง! ตลอดจนสามารถพินิจพิจารณาดวงอาทิตย์และตระหนักได้ว่าสิ่งใดคือความจริง และสิ่งใดเป็นเพียงแค่เงาของความจริงเท่านั้น7
เมื่อถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็คงพอจะนึกออกว่า พัฒนาการการมองเห็นและการรับรู้ ‘ความจริง’ ของบุคคลผู้นี้เปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับขั้นอย่างไร ตั้งแต่การมองเงาของวัตถุที่สะท้อนจากกองไฟในถ้ำลึกที่เขาเคยทึกทักว่าเป็น ‘ความจริง’ มาก่อน ไล่เลียงมาจนกระทั่งมาถึงการพินิจดวงอาทิตย์ที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงสูงสุดในอุปมานิทัศน์เรื่องนี้
แต่ความยุ่งยากทั้งหมดนั้นอยู่ที่ประเด็นคำถามสุดท้ายว่า เมื่อทราบและสามารถแยกแยะได้แล้วว่าอะไรคือ ‘ความจริง’ อะไรเป็นเพียง ‘เงาของความจริง’ ตลอดจนความแตกต่างระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ภายในถ้ำกับเงาของความจริงและการใช้ชีวิตอยู่ภายนอกถ้ำ คนผู้นั้นย่อมเกิดความรู้สึกเวทนาบรรดาเพื่อนมนุษย์ร่วมถ้ำของเขา และจะไม่มีวันยอมกลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงนั้นอีก8 เช่นนั้นแล้ว การกลับเข้าไปภายในถ้ำที่อาจารย์ปิยบุตรยกงานของบาดิยูมานำเสนอนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ในส่วนนี้อาจารย์ปิยบุตรเขียนอธิบายว่า
“คนที่อยู่ในถ้ำทั้งชีวิตเห็นเพียงเงาจากกองไฟและเชื่อว่านี่คือความจริงสำหรับพวกเขา เมื่อวันหนึ่งที่เขาออกจากถ้ำแล้วพบว่าโลกที่เขาเห็นมาทั้งชีวิตนั้นเป็นเพียงเงาสะท้อนจากกองไฟเท่านั้น โลกข้างนอกต่างหากคือความจริง เราจะกลับเข้าไปในถ้ำหรือไม่? หรือจะอยู่นอกถ้ำกับชีวิตสุขสบายกว่าเดิม บาดิยูเสนอให้เรากลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง เพราะการกลับเข้าไปในถ้ำคือการยืนยันความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า”9 (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความเอง)
เหตุผลของการกลับเข้าไปในถ้ำดังกล่าวนี้ คือการตีความของบาดิยูเอง! และอาจารย์ปิยบุตรก็ได้กล่าวเสริมอีกด้วยว่า หน้าที่ของมนุษย์ถ้ำตาสว่างคือการ “ปลุกคนที่อยู่ในถ้ำนั้นให้ออกมาเห็นความจริงที่แท้จริงด้วยกัน”
อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องทำไมต้องกลับเข้าไปในถ้ำนี้ บาดิยูไม่ได้เป็นคนเสนอ แต่โสกราตีสเป็นผู้เสนอมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่เหตุผลว่าทำไมโสกราตีสจึงเสนอเช่นนั้น คงต้องขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายลองพิจารณากันดูเอง เพราะในทางวิชาการของผู้ที่ศึกษาตัวบทของเพลโตเองก็มีการถกเถียงและให้รายละเอียดของการตีความประเด็นเรื่องการกลับเข้าถ้ำที่แตกต่างกัน เพียงแต่คงไม่มีชิ้นใดที่ตีความตัวบทดังกล่าวในแบบที่บาดิยูตีซึ่งอาจารย์ปิยบุตรยกมาตีความ โดยเสนอให้มนุษย์ถ้ำที่ตาสว่างแล้วกลับเข้าไปปฏิบัติการปลุกมนุษย์ถ้ำคนอื่นๆ ให้ออกมาเห็นความจริงด้วยกัน! เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ประเด็นเรื่องการกลับเข้าไปในถ้ำนี้เกิดจากการที่จู่ๆ โสกราตีสก็กล่าวขึ้นมาดื้อๆ ว่า หากมนุษย์ถ้ำตาสว่างประเภทนี้ได้กลับเข้าไปในถ้ำอีกคำรบหนึ่ง โดยโสกราตีสไม่ได้บอกเหตุผล เพียงแต่บอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับใครก็ตามในระหว่างที่กำลังเดินทางกลับเข้าไป นั่นคือดวงตาของเขาย่อมกลับไปพร่ามัวและเผชิญความเจ็บปวดอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ความเจ็บปวดที่ในครั้งนี้เกิดจากการเปลี่ยนจากสภาวะที่มีแสงสว่างมาสู่ความมืดมนอนธการ (ซึ่งต่างจากอาการเจ็บปวดสองครั้งก่อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากสถานที่มืดไปสู่ที่ที่มีแสงสว่าง)
เท่านั้นยังไม่พอ ในระหว่างที่กลับลงไปในที่ที่ตนเคยถูกพันธนาการ หากคนผู้นั้นจำต้องแข่งขันกับมนุษย์ถ้ำคนอื่นๆ ที่เหลือในการจำแนกแยกแยะเงาของสิ่งต่างๆ ในถ้ำ อาการพร่ามัวดังกล่าวจากการที่เพิ่งออกไปเห็นแสงสว่างของความจริงมา ย่อมทำให้เขาไม่เพียงแต่จะกลายเป็นตัวตลกของมนุษย์ถ้ำเหล่านั้นเท่านั้น แต่มนุษย์ถ้ำเหล่านั้นยังจะพานคิดไปว่า การออกไปนอกถ้ำของเขาเป็นเหตุที่ทำให้คนผู้นั้นสูญเสียดวงตาและการมองเห็น ‘ความจริง’ ของพวกเขาไป และจะพากันมารุมทำร้ายและเอาชีวิตเขาอย่างไม่รีรอ หากคนผู้นั้น “พยายามที่จะปลดปล่อยและชี้นำพวกเขาออกไปนอกถ้ำ”10 อันเป็นสิ่งที่พวกมนุษย์ถ้ำคิดว่าจะทำให้สายตาและการมองเห็นของตนต้องสูญสิ้นตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่า ในขณะที่โสกราตีสชี้ให้เราเห็นว่า มนุษย์ถ้ำที่ตาสว่างจะต้องเผชิญกับอะไรหากเขาตัดสินใจกลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง โดยที่ไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมเราต้องกลับเข้าไป การตีความของบาดิยูที่อาจารย์ปิยบุตรหยิบยกมากลับเสนอว่าเรา ‘จำต้อง’ กลับเข้าไปในถ้ำเพื่อ “ยืนยันความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า” โดยที่ไม่ได้บอกว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังรอพวกเราอยู่!
อย่างไรก็ดี การกล่าวเตือนของโสกราตีสนั้น มิได้ต้องการจะบอกว่าเราไม่ควรหรือไม่ต้องกลับเข้าไปภายในถ้ำ หากแต่ตรงกันข้าม! เพราะถ้าเราวางอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำดังกล่าวของเพลโตลง และหันมาพิจารณาบ้านเมืองที่อยู่รอบตัวเราจริงๆ ก็ย่อมจะพบว่า พื้นที่ทางกายภาพของส่วนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ภายในถ้ำ’ และ ‘ภายนอกถ้ำ’ ของเพลโตในความเป็นจริงนั้นอยู่ปะปนกันจนเราไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และพวกเราเองก็อาจจะกำลังหลงเงาว่าเป็นความจริงและพากันกล่าวประณาม (หรือแม้แต่ทำร้าย) คนที่นำเสนอความจริงว่าเป็นพวกโกหกหลอกลวงไม่รู้จริงอยู่ก็เป็นได้ ในแง่นี้อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำของเพลโตจึงสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงเราอาจไม่มีทางเลือกแบบคนที่ถูกลากออกไปนอกถ้ำ เพราะทั้ง ‘ถ้ำ’ และ ‘มนุษย์ถ้ำ’ คนอื่นๆ ต่างก็เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไปกับมันอยู่ตลอดเวลา ดังที่โสกราตีสกล่าวใน Republic ว่าคนที่เทียบได้กับมนุษย์ถ้ำตาสว่างที่เคยออกไปเห็นแสงสว่างนอกถ้ำมาแล้ว ย่อมเป็น
“คนที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ทั้งสองดินแดน… [และ] ผลัดกันลงไปใช้ชีวิตอย่างเป็นส่วนรวมกับผู้คนทั้งหลายเหล่านั้น และจงทำตนให้คุ้นกับการมองความมืดร่วมกับคนเหล่านั้น และเมื่อพวกเจ้าคุ้นชินกับมันแล้ว พวกเจ้าย่อมมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้แจ่มชัดมากกว่าคนอื่นๆ เป็นพันเท่าหมื่นเท่า… เพราะพวกเจ้าได้เคยเห็นความจริงแท้มาก่อนแล้ว… เมื่อเป็นดังนี้เมืองเมืองนี้ย่อมได้รับการอภิบาลจากพวกเรา”11
หนทางดังกล่าวนี้ดูจะตรงกันข้ามกับบาดิยู ซึ่งเสนอให้เรากลับเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดของมนุษย์ถ้ำด้วยการชวนพวกเขาออกมานอกถ้ำอย่างสิ้นเชิง! เพราะสิ่งที่รอพวกเราอยู่จากการกระทำเช่นนั้นก็คงจะคล้ายกับสิ่งที่คนในสมัยนี้เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ เพียงแต่ทัวร์ลงที่โสกราตีสกล่าวเตือนนั้น มีนัยของความอาฆาตมาดร้ายและการใช้ความรุนแรงเพิ่มเข้าไปด้วย
ดังนั้นแล้ว หนทางที่จะแยกความเป็นถ้ำและมนุษย์ถ้ำคนอื่นๆ ของ ‘มนุษย์ถ้ำตาสว่าง’ จึงมีอยู่เพียงหนทางเดียว คือการตั้งต้นว่ามีสิ่งที่เป็น ‘ความจริง’ และความจริงที่ว่านั้นจะต้องเป็นความจริงแท้หรือสัจนิรันดร์ที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยน (หรือ ‘ความจริงที่แท้จริง’ หากจะใช้คำของอาจารย์ปิยบุตร) และจากนั้นจึงออกค้นหามันแม้จะต้องแลกด้วยความเจ็บปวด ซึ่งตัวผมเองก็ไม่แน่ใจว่า “ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และสังคมใหม่ๆ” ของบาดิยู กับ ‘ความจริงที่แท้จริง’ ของอาจารย์ปิยบุตรจะไปด้วยกันได้หรือไม่ เพราะผมไม่แน่ใจว่าบาดิยูจะเชื่อในเรื่อง ‘ความจริงที่แท้จริง’
หากเราลองลืมความไปด้วยกันไม่ได้ดังกล่าวลงไปก่อน คำถามที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็คือ อะไรคือ ‘ความจริงที่แท้จริง’ ที่อาจารย์ปิยบุตรต้องการให้พวกเราเหล่านิสิตนักศึกษาชี้ชวนมนุษย์ถ้ำทั้งหลายให้ออกมารับรู้ด้วยกัน? ความจริงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งแน่ชัดได้โดยตัวของมันเอง หรือจำเป็นจะต้องมีผู้ที่คอยชี้นำให้เราเห็นความจริงดังกล่าวเสียก่อน และหากเป็นอย่างหลัง ใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว และคนผู้นี้ก็คือคนที่จะมากำหนดว่าอะไรคือความจริงแท้ใช่หรือไม่? แน่นอนว่าตัวเพลโตเองได้ตอบคำถามเหล่านี้ใน Republic แล้ว ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘philosopher-ruler’ (หรือที่นักวิชาการไทยส่วนใหญ่เรียกว่า ‘ราชาปราชญ์’) ทว่า การลงมาเล่นบท ‘ราชาปราชญ์’ ของบาดิยูด้วยการตีความอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำเพื่อบอกให้พวกเราหรือใครก็ตามที่เป็นมนุษย์ถ้ำตาสว่างนั้นกลับเข้าไปในถ้ำ เพื่อ “ยืนยันความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า” ที่อาจารย์ปิยบุตรนำมาใช้นั้น หากมิได้เชื่อมั่นหรือวางอยู่บนฐานคติเรื่องความดีสูงสุด/ความดีแท้ในอุดมคติในแบบที่ปรากฏใน Republic แล้ว เมื่อนั้นเส้นแบ่งระหว่างความเป็น ‘ผู้รักในความรู้’ (philosopher) กับ ‘โซฟิสต์’ (ผู้ขายความรู้/sophist) หรือรวมทั้ง ‘นักปลุกระดมด้วยศิลปะโวหาร’ (demagogue) ของผู้เสนอย่อมเลือนรางลงไปถนัดตา
ประเด็นสุดท้าย หากตัวบทของอุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำในบทสนทนา Republic เล่มที่ 7 เป็นดังที่ได้อธิบายไปในข้างต้น เหตุใดนักวิชาการอย่างบาดิยูซึ่งอ่านงานชิ้นเดียวกันจึงตีความต่างออกไปจากนักวิชาการคนอื่นๆ อีกมากมายเช่นนั้น? ดูเหมือนว่า คำตอบของคำถามนี้จะอยู่ในหนังสือที่เกิดจากการแปลแต่งบทสนทนา Republic ใหม่ของบาดิยูที่ชื่อ Plato’s Republic: A dialogue in sixteenth chapters (2013) โดยบาดิยูเรียกการแปลแต่งใหม่ดังกล่าวของเขาว่าเป็น ‘hypertranslation’12 ซึ่งน่าจะเกิดจากฐานคติเกี่ยวกับการตีความตัวบททางปรัชญาของบาดิยูว่า เป็นสิ่งที่ปราศจากข้อจำกัดและความถูกผิดที่แน่นอนตายตัวใดๆ ในการตีความ
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วิธีคิดแบบบาดิยูได้เปิดพื้นที่ให้มีการตีความได้อย่างไม่จำกัด นั่นคือ ไม่มี ‘ความจริงที่แท้’ ซึ่งสอดคล้องกับที่อาจารย์ปิยบุตรอ้างถึงบาดิยูว่า “บาดิยูเสนอให้เรากลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง เพราะการกลับเข้าไปในถ้ำคือการยืนยันความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า” แต่จะสอดคล้องกับ ‘ความจริงที่แท้’ ของอาจารย์ปิยบุตรหรือเปล่านั้น ผมไม่แน่ใจ อีกทั้ง ‘สังคมที่ดีกว่า’ นี้ คงต้องถามด้วยว่า ‘ดีของใคร?’ และถ้าสามารถบอกได้ว่า อะไรดีกว่า หรือเลวกว่า ก็อยากจะทราบต่อไปว่า ทั้งบาดิยูและอาจารย์ปิยบุตรใช้อะไรเป็นมาตรวัด (measure)? หรือคนแต่ละคนต่างมีมาตรวัดความดีเลวของตนเอง (man is the measure of all things.) แต่อย่างน้อย คนที่พูดถึง ‘ความจริงที่แท้จริง’ ก็น่าจะบอกได้ว่ามันคืออะไร? ยกเว้นว่า ความจริงที่แท้กับความดีที่แท้จะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน!
และด้วยเหตุนี้ใช่หรือไม่ บาดิยูจึงตีความอุปมานิทัศน์และการกลับเข้าไปในถ้ำของมนุษย์ถ้ำตาสว่างที่ผิดแผกไปจากการตีความของนักวิชาการที่ศึกษาเพลโตจำนวนมาก? คำตอบของประเด็นนี้สะท้อนอย่างชัดเจนในบทนำของหนังสือ Plato’s Republic: A dialogue in sixteenth chapters เล่มดังกล่าว โดย เคนเน็ธ ไรน์ฮาร์ด (Kenneth Reinhard) ศาสตราจารย์ทางด้านภาษาอังกฤษและวรรณคดีเปรียบเทียบแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กลีย์) เขียนอธิบายไว้ว่า
“การแปลแต่งใหม่ของบาดิยูได้ยกระดับงานของเพลโตให้พ้นจากจารีตประวัติศาสตร์ความคิดแบบเดิมๆ ด้วยการวาดภาพเพลโตให้กลายเป็นนักปรัชญาเมธีผู้บอกให้พวกเราก้าวออกจากถ้ำของความคิดเห็น (opinions) อันเป็นพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) จากการทำตาม “สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด” และหันมากระทำการร่วมกันเพื่อสถาปนาความจริงบางอย่างจากแง่มุมใหม่ๆ ที่ทางออกนั้นเผยให้เห็น ในแง่นี้การแปลแต่งใหม่ของบาดิยูได้ยกระดับบทสนทนา Republic ให้พ้นจากถ้ำของลัทธิการตีความเพลโตแบบเดิม (Platonism) โดยอาศัยความยึดมั่นที่มีต่อความคิดของเพลโตจริงๆ หรืออาจกล่าวโดยใช้ภาษาแบบลากองได้ว่าเขาได้เป็น “เพลโตเสียยิ่งกว่าตัวเพลโตเอง” และในตอนท้ายของงานสัมมนาที่จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 2010 บาดิยูอธิบายความยึดมั่นที่เขามีต่อความคิดของเพลโตด้วยการกล่าวในทำนองเปรียบเปรยกับบทละครหรือจริงๆ คือบทร้องในอุปรากรว่า “ในตอนท้ายของบทละครเพลงเรื่องวาลคีรี (Die Walkiire) ของวาร์กเนอร์ ตัวละครวาลคีรีบุตรีที่ชื่อบรึนน์ฮิลเดอร์ ได้ขัดคำสั่งของพระบิดาคือมหาเทพโวตันโดยอ้างว่า เธอเพียงแต่กระทำในสิ่งที่ลึกๆ แล้วบิดาเองก็ต้องการจะทำเช่นนั้น และละครเรื่องนี้ก็จบลงด้วยการที่ พระบิดายอมให้อภัยแก่เธอ ในทำนองเดียวกัน ข้าพเจ้าเองก็หวังว่าจะได้รับการให้อภัยจากเพลโตด้วยเช่นเดียวกัน”13
อย่างไรก็ดี เราจะพบว่าสาเหตุที่มหาเทพโวตันยอมให้อภัยแก่บรึนน์ฮิลเดอร์ในอุปรากรของวาร์กเนอร์ เป็นเพราะการปกป้องซิกมุนด์ของวาลคีรีบรึนน์ฮิลเดอร์นั้น แท้จริงแล้วคือความตั้งใจลึกๆ ของตัวโวตันจริงๆ เพียงแต่โวตันไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากตนได้เคยให้คำสัตย์กับเทพีฟริคกาไว้แล้วก่อนหน้านั้น ว่าจะไม่เข้าไปปกป้องคุ้มครองซิกมุนด์ ส่วนการตีความตัวบท Republic แบบ ‘hypertranslation’ ของบาดิยูจะเป็นไปตาม ‘ความตั้งใจลึกๆ’ ของเพลโตหรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความตั้งใจลึกๆ ที่แท้จริง’ หรือไม่ หรือมีแต่ ‘ความตั้งใจลึกๆ ที่เป็นไปได้ใหม่ๆ’ ?
เชิงอรรถ
- https://www.facebook.com/2259969334286937/posts/2717414781875721/?vh=e&d=n
- บาดิยูเป็นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เขาเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาที่ École Normale Supérieure (ENS) และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะปรัชญาขึ้นที่มหาวิทยาลัยปารีส VIII (Université de Paris VIII) ปัจจุบันมีอายุ 83 ปี
- Plato, Republic, trans. Chris Emlyn-Jones and William Preddy (Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press, 2013), 109. (515c)
- Plato, Republic, 111. (515d)
- Plato, Republic, 111. (515e)
- Plato, Republic, 113. (516a)
- Plato, Republic, 113. (516b)
- Plato, Republic, 115. (516e)
- https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/2718853238398542?__tn__=K-R
- Plato, Republic, 115. (517a)
- Plato, Republic, 127. (520c-d); หมายเหตุ ผู้เขียนใช้สำนวนแปลฉบับภาษาไทยของ คุณเวธัส โพธารามิก
- เคนเน็ธ ไรน์ฮาร์ด (Kenneth Reinhard) อธิบายความ ‘hyper’ ในงานแปลแต่งบทสนทนา Republic ใหม่ของบาดิยูว่า “by calling this book, as he has done at times, a hypertranslation, Badiou suggests that it goes above and beyond the usual assumptions about the work of translation, taking its text to what we might call a sublime – hypselos (ὑψηλός) – place of new topological proximities, unmappable according to the conventional metrics of history and geography. The hyper-space opened up by Badiou’s translation is a realm of ideas, but it is no heavenly empyrean; Badiou’s Republic is neither a philosophical purification nor a literary modernization of Plato in the sense of being an attempt to reduce historical distance for the sake of making an ancient text more familiar, a part of our world. On the contrary, Badiou’s “hyper” translation sublimates Plato’s text, in Lacan sense of sublimation as “the elevation of an object to the status of a Thing,” which is precisely to de-familiarize it, to bring out it strangeness – at least from the perspective of current opinion about Plato and Platonism” ดู Kenneth Reinhard, “Introduction” in Plato’s Republic: A dialogue in sixteenth chapters, with a prologue and an epilogue, trans. Susan Spitzer (Cambridge: Polity Press, 2012), xi-xii.
หรือแม้แต่ตัว ซูซาน สปิตเซอร์ (Susan Spitzer) ผู้แปลงานชิ้นดังกล่าวของบาดิยูออกเป็นภาษาอังกฤษ ยังบรรยายการแปลแต่งใหม่ของบาดิยูว่า “Not a “simple” translation into French of the Greek original, then, and still less a scholarly critique of it, Badiou’s text transform the Republic into something startlingly new by expanding, reducing, updating and dramatizing it, leavening it with humor and revitalizing its language with his own philosophical lexicon.” กระทั่งมีผู้เปรียบเปรยการอ่านตัวบทแปลแต่งของบาดิยูว่าเหมือนกับการ “นั่งอ่านปรัชญาในห้องนอน” (philosophy in the bedroom) ซึ่งแตกต่างจากการอ่านงานปรัชญาชิ้นเดิมนอกห้องนอนในแบบนักวิชาการอันเคร่งครัด ดู Susan Spitzer, “Translator’s Preface” in Plato’s Republic: A dialogue in sixteenth chapters, with a prologue and an epilogue, trans. Susan Spitzer (Cambridge: Polity Press, 2012), xxiv; “Philosophy in the Bedroom: Badiou’s Hypertranslation,” [Online], available from: https://larvalsubjects.wordpress.com/2017/09/24/philosophy-in-the-bedroom-badious-hypertranslation/ - Kenneth Reinhard, “Introduction” in Plato’s Republic: A dialogue in sixteenth chapters, with a prologue and an epilogue, trans. Susan Spitzer (Cambridge: Polity Press, 2012), xii.