มาเคียเวลลีกับการลุกขึ้นปฏิวัติของคนส่วนใหญ่

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านสเตตัสของ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ในหัวข้อ ‘ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งระหว่างขุนนางกับสามัญชน’ ของ มาเคียเวลลี ในงาน Discorsi หรือที่มีการแปลจากภาษาอิตาเลียนว่า ความเรียงว่าด้วยงานเขียนสิบเล่มแรกของลีวี ทีทัส  (Discourses on the first ten books of Livy Titus) ลีวี ทีทัส คือนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันในสมัยศตวรรษที่ 1 มาเคียเวลลีนั้นเป็นนักคิดในศตวรรษที่ 16 หรือที่มักเรียกว่ายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (the Renaissance) ในยุโรป

นับว่าหาได้ยากในการเมืองไทย ที่จะได้นักวิชาการที่มีคุณภาพผันตัวไปทำหน้าที่นักการเมือง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่คน ส่วนในกรณีของอาจารย์ปิยบุตร ที่แม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปก่อนหน้านี้ แต่อาจารย์ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นนักวิชาการและยังให้เวลาค้นคว้าหาความรู้อยู่ และที่สำคัญคือนำความรู้ดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ และยิ่งเป็นเรื่องดีสำหรับผู้เขียนที่อาจารย์ปิยบุตรเลือกที่จะหยิบยกประเด็นจากงานของมาเคียเวลลีมานำเสนอ ทำให้ปรัชญาการเมืองในประเทศไทยกลับมามีชีวิตชีวา และเกิดการเชื่อมโยงระหว่าง ‘ทฤษฎี’ กับ ‘การปฏิบัติ’ ซึ่งผู้เขียนต้องขอขอบคุณอาจารย์ปิยบุตรมา ณ ที่นี้

แต่อย่างไรก็ดี ในฐานะนักเรียนปรัชญาการเมืองคนหนึ่ง ผู้เขียนอยากขอมีบทสนทนาในเรื่องนี้ด้วยสักเล็กน้อย

ในสเตตัสดังกล่าวของอาจารย์ปิยบุตร ได้ยกตัวอย่างนักปรัชญารวมถึงนักวิชาการฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งที่ “ยกย่องให้มาเคียเวลลี เป็นต้นกำเนิดของความคิดแบบปฏิวัติ โดยนำงานของเขาในส่วนที่ว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างขุนนางและสามัญชน มาตีความ” และมีการอ้างอิงตัวบทจากเล่มที่ 1 บทที่ 4 และ 5 ในงาน Discorsi ของมาเคียเวลลี ซึ่งอาจารย์ปิยบุตรเห็นว่าข้อความหรือใจความสำคัญของสองบทที่กล่าวมานี้ “ทำให้ปรัชญาเมธียุคหลัง นำไปใช้อธิบายสนับสนุนให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ต้องลุกขึ้นสู้” แม้อาจารย์ปิยบุตรจะไม่ได้ระบุว่าปรัชญาเมธียุคหลังที่ว่านี้หมายถึงใคร และเป็นกลุ่มเดียวกับที่กล่าวถึงไปในตอนต้นของสเตตัส (คือ Gramsci, Althusser, Negri, Laclau, Mouffe) หรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการตีความดังกล่าวอาจไม่เป็นธรรมต่อมาเคียเวลลีเสียทีเดียว เนื่องจากข้อความที่อาจารย์ปิยบุตรยกมา ซึ่งเริ่มต้นด้วยประโยคสุดท้ายของย่อหน้าที่ 2 ในบทที่ 4 ก่อนที่จะละข้อความโดยกระโดดข้ามไป 6 ย่อหน้าเพื่อยกตัวบทจากย่อหน้าที่ 3 ของบทที่ 5 นั้น มาเคียเวลลีอาจไม่ได้เสนอให้คนส่วนใหญ่ลุกขึ้นสู้ในความหมายของการปฏิวัติอย่างที่กล่าว

ตัวบททั้ง 6 ย่อหน้าที่อาจารย์ปิยบุตรละไว้นี้เองที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจประเด็นนี้ ว่าตกลงแล้วการนำข้อความดังกล่าวของมาเคียเวลลีมาใช้ “อธิบายสนับสนุนให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ต้องลุกขึ้นสู้” ในลักษณะการปฏิวัติของนักปรัชญาเมธีฝ่ายซ้ายยุคหลังที่อาจารย์ปิยบุตรอ้างถึง มีความเป็นธรรมหรือซื่อตรงต่อตัวบทดังกล่าวของมาเคียเวลลี มากน้อยเพียงใด

ผู้เขียนเห็นว่า ส่วนหนึ่งของคำตอบของคำถามดังกล่าวปรากฏอย่างชัดเจนแล้วจากข้อความที่ถูกละไว้นั่นเอง โดยประเด็นแรกคือการทำความเข้าใจข้อความที่อาจารย์ปิยบุตรแปลมาว่า ‘กฎหมายทั้งหลายที่เป็นคุณต่อเสรีภาพล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดจากความขัดแย้งนี้…’ ว่าเหตุใด มาเคียเวลลีจึงจงใจกล่าวว่ากฎหมายที่เอื้อต่อเสรีภาพทั้งปวงในกรุงโรมเกิดขึ้นจากการปะทะ (clash) กันระหว่างคนสองฝ่าย คือพวกอภิชนชั้นสูงในกรุงโรม (Patricians) กับสามัญชนในกรุงโรม (Plebeians)

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อเสนอเรื่องความขัดแย้งที่นำมาสู่กฎหมายที่เป็นคุณต่อเสรีภาพของมาเคียเวลลีนี้เป็นต้นกำเนิดหนึ่ง1 ของกระแสธารความคิดที่อาจเรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบ ‘ความขัดแย้งทางการเมืองนิยม’ (political conflictualism)2 ที่มาเคียเวลลีต้องการย้อนเกล็ดข้อเสนอของนักคิดก่อนหน้าเขาที่มองว่าความขัดแย้งหรือความสับสนอลหม่าน (tumult) ทางการเมืองเป็นเรื่องเลวร้ายที่พึงหลีกเลี่ยงในทุกกรณี

แต่ในทางกลับกัน มาเคียเวลลีกลับเสนอไว้ในตอนต้นของย่อหน้าที่ 2 ซึ่งเป็นข้อความที่ปรากฏก่อนข้อความที่อาจารย์ปิยบุตรยกมา ว่า ‘สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เหล่าคนผู้ซึ่งคอยปรามาสวิวาทะระหว่างชนชั้นสูงกับพวกเพลบส์ ดูจะเป็นกลุ่มคนที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงเบื้องต้นที่ทำให้กรุงโรมยังคงความเสรีเอาไว้ได้ นั่นเพราะคนเหล่านี้มัวแต่มุ่งความสนใจไปที่เสียงอึกทึกครึกโครมที่เกิดจากความสับสนอลหม่าน แทนที่จะพินิจไปยังผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นจากความสับสนอลหม่านเหล่านั้นแทน’3 (สำนวนแปลของผู้เขียนเอง)

แน่นอนว่าไม่ใช่ความขัดแย้งหรือความสันสนอลหม่านทั้งหมดจะก่อให้เกิด ‘ผลลัพธ์ที่ดี’ หรือกฎหมายที่เอื้อต่อเสรีภาพเสมอไป โดยมาเคียเวลลีระบุไว้อย่างชัดเจนว่าหมายถึงความขัดแย้งและความสับสนอลหม่านที่นำไปสู่การสร้างสถาบันทางการเมืองมารองรับความขัดแย้งของกลุ่มคนเหล่านั้น เพื่อที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถทัดทานคัดง้างกันและกันได้

ดังนั้นคำว่าการ ‘ปะทะ’ กันของสองฝ่าย สำหรับมาเคียเวลลี จึงมิได้หมายถึงการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจับอาวุธขึ้นสู้หรือประหัตประหารในลักษณะของการปฏิวัติล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง หากแต่หมายถึงผลลัพธ์ของการเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นพลังที่มีคุณต่อระบอบการเมือง ผ่านสถาบันทางการเมืองที่เปิดให้ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้อำนาจที่เป็นทางการต่อสู้กันและกันภายในระบบ

ด้วยเหตุนี้ มาเคียเวลลีจึงกล่าวไว้ในตอนท้ายของย่อหน้าถัดมาว่า ‘และเหตุใดกฎหมายที่ดีในกรณีของกรุงโรม จึงเกิดขึ้นจากความสับสนอลหม่านที่หลายต่อหลายคนต่างพากันประณาม เพราะใครก็ตามที่ศึกษาผลลัพธ์ที่เกิดจากความสับสนอลหม่านอย่างระมัดระวังย่อมจะไม่พบว่ามันก่อให้เกิดการขับไล่ไสส่งหรือการใช้ความรุนแรงที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด แต่มันเป็นความสับสนอลหม่านที่นำมาซึ่งกฎหมายและสถาบันต่างๆ ที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อบรรดาเสรีภาพแห่งสาธารณะ’4 (สำนวนแปลและการเน้นข้อความเป็นของผู้เขียนเอง)

เหตุนี้ การปะทะกันของสองฝ่ายที่ก่อให้เกิดเสรีภาพในคำอธิบายของ มาเคียเวลลี จึงเป็นการปะทะในลักษณะของการใช้อำนาจที่สถาบันทางการเมืองเปิดไว้เพื่อทัดทานคัดง้างกันและกัน (หรืออาจเทียบเคียงอย่างหลวมๆ กับสิ่งที่ในปัจจุบันเรามักนิยมเรียกกันว่า ‘การตรวจสอบถ่วงดุล’) กล่าวคือเป็นการนำความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหลายมาจัดวางลงในสถาบันทางการเมือง หรือในกรณีที่ไม่มีช่องทางที่สถาบันทางการเมืองเปิดไว้ ความขัดแย้งที่นำไปสู่ ‘ผลลัพธ์ที่ดี’ ของ มาเคียเวลลี นี้ก็จะไม่ลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรงเพื่อปฏิวัติล้มล้างกันและกัน หากแต่เป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองใหม่ๆ ให้แก่ฝ่ายที่ไม่มีช่องทางในการคัดง้างอีกฝ่าย โดยตัวอย่างที่มาเคียเวลลียกมาจากงานของลีวี ก็คือการที่พวกอภิชนในโรมยอมให้มีตำแหน่งที่เรียกว่า ตริบูนของพวกพลีเบียน (Tribunes of the Plebs) เพื่อเป็นช่องทางในการใช้อำนาจคัดง้างตนในนามของสามัญชนแห่งโรม อันเป็นใจความสำคัญของย่อหน้าที่ 4-6 ของบทที่ 4 ที่ถูกละไว้

แม้จากตัวบทดังกล่าว มาเคียเวลลีจะไม่ได้สนับสนุนให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจับอาวุธลุกขึ้นสู้ในลักษณะของการปฏิวัติล้มล้าง แต่ก็มิได้หมายความว่า มาเคียเวลลีปฏิเสธการใช้ความรุนแรงหรือการลุกฮือของมหาชนทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่มาเคียเวลลีมีเงื่อนไขว่า การใช้ความรุนแรงหรือการลุกฮือนั้นจะต้องไม่ใช่การใช้ความรุนแรงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ความรุนแรงจึงมีทั้ง ‘ความโหดร้ายทารุณของมวลชนที่มีต่อเหล่าคนผู้ซึ่งพวกเขาสงสัยว่ากำลังสมคบคิดกันเพื่อทำลายผลประโยชน์ส่วนรวม (ในความเข้าใจของมวลชน – ผู้แปล) กับความโหดร้ายทารุณของเจ้าผู้ปกครองที่กระทำต่อเหล่าคนผู้ซึ่งเขาสงสัยว่ากำลังสมคบคิดกันเพื่อทำลายผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาเอง’5 (สำนวนแปลของผู้เขียนเอง)

ประเด็นต่อมาคือประเด็นเรื่องเสรีภาพ และใครควรจะเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพ (guardian of liberty) ระหว่างอภิชนกับสามัญชน?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจอีกเช่นกันว่า แม้ข้อความในตอนท้ายย่อหน้าที่ 3 ของบทที่ 5 ที่อาจารย์ปิยบุตรยกมา จะดูเหมือนว่ามาเคียเวลลีกำลังสนับสนุนให้พลังของมหาชนเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพและอาจมีนัยของการลุกฮือบางอย่าง แต่ข้อความที่ว่านี้ เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างบริบทของเนื้อหาที่มาเคียเวลลีกำลังกล่าวถึงตัวแบบต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏตัวแบบที่มอบอำนาจในการเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพในเงื่อนไขและเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป

ในกรณีของโรมเลือกให้สามัญชนเป็นหลักในการปกป้องเสรีภาพ ในขณะที่นคร-รัฐสปาร์ตาในยุคโบราณ กับนคร-สาธารณรัฐเวนิสในเวลานั้นเลือกให้อภิชนเป็นหลักในการปกป้องเสรีภาพ ซึ่งหากอ่านตัวบทดังกล่าวจนจบบทแล้ว ย่อมพบว่าสำหรับมาเคียเวลลีแล้ว ประเด็นสำคัญมิได้อยู่ที่ว่าตัวแบบใดดีกว่ากัน เพราะตัวแบบแต่ละตัวแบบล้วนมีข้อดีข้อเสียและเหมาะสมกับเงื่อนไขของบ้านเมืองที่แตกต่างกัน

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องเป้าหมายที่เหมือนกันของทุกตัวแบบ นั่นคือนัยของคำว่า ‘เสรีภาพ’ ตามความหมายของวิธีคิดแบบสาธารณรัฐนิยม (republican liberty) [ทั้งนี้พึงตระหนักว่าคำว่า ‘สาธารณรัฐ’ ของมาเคียเวลลี และในบริบทของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการไม่ได้มีความหมายแบบที่เข้าใจกันในปัจจุบัน] ซึ่งนำเรามาสู่ประเด็นสุดท้ายเรื่องเสรีภาพในวิธีคิดของมาเคียเวลลี

ประเด็นสุดท้าย ผู้เขียนเห็นว่าเราต้องเข้าใจนัยของคำว่า ‘เสรีภาพ’ ที่มาเคียเวลลีกล่าวถึงว่ามีความหมายเฉพาะ อันหมายถึงเสรีภาพของทุกๆ ฝ่ายที่มีอัตตาณัติ (autonomy) ผ่านการใช้อำนาจทางการเมืองของตนเอง ดังที่มาเคียเวลลีเขียนไว้ตั้งแต่ตอนท้ายย่อหน้าที่ 3 ของบทที่ 4 ว่ากฎหมายและสถาบันที่เกิดจากการจัดการความขัดแย้งนี้นำมาซึ่งประโยชน์ต่อ ‘บรรดาเสรีภาพแห่งสาธารณะ’ (the LIBERTIES of the public) ที่มิใช่เสรีภาพในรูปเอกพจน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งในกรณีของโรมันคือเสรีภาพของทั้งฝ่ายอภิชนและของสามัญชนในโรม ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากกลไกการปกครองหรือสถาบันทางการเมืองถูกครอบงำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว

 

เชิงอรรถ

  1. อันที่จริงก่อนหน้า มาเคียเวลลี ก็มีนักคิดคนอื่นๆ แล้วที่นำเสนอแนวคิดที่คล้ายกัน หรือใช้กรณีศึกษาเดียวกันคือกรุงโรม ไม่ว่าจะเป็น Archytas หรือ Polybius
  2. คำว่า ‘political conflictualism’ นี้ผู้เขียนหยิบยืมมาจากคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย Gabriele Pedullà ซึ่งตีความข้อเสนอหลักของ มาเคียเวลลี ใน Discorsi ว่าเป็นจุดตั้งต้นของจารีตดังกล่าวในโลกตะวันตก ซึ่งแตกหักออกจากมายาคติเรื่องการสร้างความสมดุลหรือความผสมผสานกลมกลืนที่มีมาแต่เดิม ดู Gabriele Pedullà, Machiavelli in tumult: The Discourses on Livy and the origin of political conflictualism (Cambridge: Cambridge University Press, 2018), 2.
  3. มาเคียเวลลี, The Discourses, 113. [I.4] ทั้งนี้ผู้เขียนใช้อ้างอิงผ่านสำนวนแปลภาษาอังกฤษของ Leslie J. Walker ของสำนักพิมพ์ Penguin Books
  4. มาเคียเวลลี, The Discourses, 114. [I.4]
  5. มาเคียเวลลี, The Discourses, 257. [I.58]

 

Author

เอกลักษณ์ ไชยภูมี
นิสิตปริญญาเอก (สาขาทฤษฎีการเมือง) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า