WAY to READ: ชาติคืออะไร?

ทุกๆ 8 นาฬิกา และ 18 นาฬิกา จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สำนึกเพลงชาติจะลอยเข้ามาอยู่ในประสาทการรับรู้ ต่อให้ไม่เปิดทีวีหรือฟังวิทยุเพื่อให้ได้ยินท่วงทำนองอันคุ้นหูที่เอื้อนเอ่ยว่า “…ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย…”

ชาติคืออะไร?

นั่นเป็นทั้งคำถามและเป็นทั้งชื่อหนังสือ QU’EST-CE QU’UNE NATION? ของ แอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan) ถอดสำนวนโดย นภ ดารารัตน์

หนังสือบางๆ เล่มนี้ตีพิมพ์จากการบรรยายของตัว แอร์เนสต์ เรอนอง ซี่ง ธเนศ วงศ์ยานนาวา ผู้เขียนบทกล่าวตามให้ข้อมูลไว้ว่าถึงคำบรรยายของแอร์เนสต์ เรอนองที่มหาวิทยาลัย Dorbonne กรุงปารีสเมื่อ ค.ศ.1882 [1] เป็นความพยายามสร้างนิยามให้กับความเป็นชาติเพื่อตอบคำถามในสิ่งที่เรอนองเองได้บรรยายไว้ว่า

…หลักเรื่องความเป็นชาติต่างกันอย่างไรจากหลักเรื่องความเป็นเชื้อชาติ ที่ว่านี้คือประเด็นซึ่งคนช่างคิดช่างสงสัยจะต้องคิดเพื่อไม่ให้ตัวเองเกิดความสับสน…

– หน้า 31

ความสับสนที่ว่านี้ของเรอนองประกอบสร้างขึ้นจากสิ่งที่ตัวเขาเองนำมาบรรยายเป็นคำอธิบายว่าด้วยความเป็นชาติมีอยู่ห้าประเด็นหลักๆ ด้วยกัน

  1. เชื้อชาติ เรอนองอธิบายความเป็นเชื้อชาติเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกลุ่มชนเผ่าโบราณว่าเป็นครอบครัวใหญ่ที่ขยายตัวออกมา
  2. ภาษา ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความเป็นชาติ ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษพูดภาษาเดียวกัน แต่ไม่ใช่ประเทศเดียวกัน
  3. ศาสนา ในความหมายของเรอนองคือศาสนาที่ผูกโยงตัวเองเข้ากับความเป็นรัฐ

…ศาสนานี้เทียบได้กับการจับสลากเกณฑ์ทหารหรือการเคารพเชิดชูธงชาติ การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในลัทธิพิธีพวกนี้ก็เทียบได้กับการปฏิเสธการเกณฑ์ทหารในสังคมสมัยใหม่ของเรา…

– หน้า 48
  1. ชุมชมของกลุ่มที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เรอนองเองไม่ได้มองว่าผลประโยชน์เป็นเหตุผลสำคัญเสียทีเดียวนักในการรวมชาติ แต่สิ่งสำคัญไม่ด้อยกว่ากันคือความรู้สึกในบางสิ่ง
  2. ภูมิศาสตร์ แนวคิดในความเป็นชาติที่น่าจะชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด ทว่าชาติไม่ได้ถูกสร้างขึ้นบนเส้นเขตแดน แม้ในบางแง่ เราจำเป็นต้องตระหนักถึงเส้นเขตแดนที่ว่านั้น

…เปล่าเลย ผืนดินไม่ได้สร้างชาติให้เกิดขึ้น พอๆ กับที่เชื้อชาติไม่ได้สร้างชาติให้เกิดขึ้น ผืนดินเป็นฐานรากที่คอยรองรับ เป็นพื้นที่ให้แก่การต่อสู้ และการลงแรง แต่มนุษย์คือผู้มอบจิตวิญญาณให้…

– หน้า 52

พูดก็พูดเถอะ พออ่านงานของ แอร์เนสต์ เรอนอง จบลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในห้วงคิดโยงกลับไปยังบทเพลงที่ท่วงทำนองนั้นอยู่ในจิตสำนึกเรา จนอดคิดไม่ได้ว่าการไม่ยืนตรงในที่สาธารณะไม่ได้ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นชาติน้อยลง แต่เรากลัวจะโดนถ่ายคลิปโดยมนุษย์กล้องแล้วขึ้นสเตตัสประณามเสียมากกว่า

ยิ่งเฉพาะในชาติอันมีลักษณะพิเศษยิ่งอย่าง ‘ชาติไทย’ นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ชาติ’ ‘เชื้อชาติ’ ถูกควบรวมเข้าไปอยู่ภายใต้สิ่งที่เรอนองบรรยายไว้ ไม่ว่าจะเป็น

…ด้วยเหตุนี้ ชาติสมัยใหม่จึงเป็นผลิตผลทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงจำนวนมากที่มุ่งมาบรรจบในทิศทางเดียวกัน บางครั้งความเป็นเอกภาพก็เกิดขึ้นได้จากราชวงศ์ราชวงศ์หนึ่ง…

– หน้า 29

หรือ

…ในบรรดาลัทธิพิธีทุกรูปแบบ ลัทธิพิธีบูชาบรรพบุรุษคือสิ่งที่ชอบธรรมที่สุด เพราะบรรพบุรุษคือคนที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้…

– หน้า 53

และ

…ชาติไม่ได้มีสิทธิ์มากไปกว่ากษัตริย์ที่จะกล่าวกับแว่นแคว้นหนึ่งๆ ว่า ‘แกเป็นของฉัน ฉันจะยึดครองแกเดี๋ยวนี้แหละ’ สำหรับเรา แว่นแคว้นก็คือผู้ที่อาศัยอยู่ในนั้นนั่นเอง…

– หน้า 56

มันตลกดี หรืออาจจะเศร้าก็ได้ในวาระที่การอ่านหนังสือเล่มนี้จบลงพร้อมข่าวคราวการจับกุมแกนนำคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันครบรอบรัฐประหารสี่ปีที่เพิ่งผ่านพ้นไป เราจะสำนึกถึงความเป็นชาติร่วมกันจากอะไร? อะไรคือชาติ?

สำหรับประเทศนี้ ความเป็นชาติอาจวางอยู่บนมาตรา 44 หรือถ้าเอาให้ชัดกว่านั้นคือวางอยู่บนอำนาจของ คสช. ในนามของการคืนความสุขให้กับประชาชน ผู้ที่พวกเขาคงหลงลืมไปแล้วว่าแม้ในผู้เห็นต่าง ทั้งหมดนั้นคือจิตวิญญาณของความเป็นชาติร่วมกัน

…ก่อนหน้านี้ เขาจะถูกจัดว่าพูดภาษาโน้นหรือภาษานี้ เป็นสมาชิกของเชื้อชาติโน้นหรือเชื้อชาตินี้ หรือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโน้นหรือวัฒนธรรมนี้ เหนือวัฒนธรรมฝรั่งเศส วัฒนธรรมเยอรมัน หรือวัฒนธรรมอิตาลี มีวัฒนธรรมของมนุษยชาติ…

– หน้า 47

และ

…มนุษย์ไม่ได้เป็นทาสของเชื้อชาติตัวเขาเอง ไม่ได้เป็นทาสของภาษาที่เขาใช้ ไม่ได้เป็นทาสของศาสนาที่เขานับถือ ไม่ได้เป็นทาสของเส้นทางไหลของแม่น้ำหรือแนวเทือกเขาที่ทอดตัวออกไป…

– หน้า 58

ทุกวันนี้เราดำรงอยู่ในชาติแบบไหน?

ชาติคืออะไร?


แอร์เนสต์ เรอนอง บรรยาย / นภ ดารารัตน์ พากษ์ไทย
สำนักพิมพ์พารากราฟ

 

หมายเหตุ: [1] ตรงกับ พ.ศ. 2425 ครบ 100 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า