‘People Go’ ฉากที่ 4 สูงต่ำดำเตี้ย ล้วนเท่าเทียมกัน

go4

เครือข่ายภาคประชาชนในนาม ‘People Go Network Forum’ สรุปสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 พร้อมด้วยข้อเสนอเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่รัฐต้องจัดบริการสาธารณะให้ประชาชนอย่างเสมอหน้า ไม่ว่ายากดีมีจน มิใช่มองประชาชนเป็นเพียงผู้ยากไร้อนาถาที่รัฐต้องให้การสงเคราะห์อยู่ร่ำไป

สาระสำคัญที่ควรจับตา

บัตรทองอาจถูกล้ม!

นี่คือประเด็นแรกที่ถูกวิจารณ์และจับตาด้วยความหวาดหวั่น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตัดคำสำคัญอย่าง ‘สิทธิเสมอกัน’ และ ‘การได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม’ ออกไป ดังในมาตรา 47-48

ต้อง ‘แก่และจน’ จึงจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการ

ข้อกฎหมายเรื่อง ‘สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย’ มาตรา 48 มีลักษณะกำกวมจนอาจตีความได้ว่า ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ยากไร้เท่านั้นจึงจะได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพ

ตัด ‘สิทธิ’ อันพึงมี ให้เป็นแค่ ‘หน้าที่’ ของรัฐ

กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่ ‘เด็ก สตรี คนชรา และผู้พิการ’ ให้รอดพ้นจากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ ในฐานะ ‘สิทธิ’ ที่ต้องถูกรับรอง หากถูกย้ายไปไว้ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’ ที่ต้องจัดให้ประชาชนแทน

เรียนฟรี 12 ปี เริ่มต้นที่อนุบาล

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ลดสิทธิเรียนฟรีจากเดิมตั้งแต่ ป.1-ม.6 ร่นมาเป็นระดับก่อนวัยเรียนหรือชั้นอนุบาล 1-ม.3 ทำให้มีข้อกังวลว่า เด็กนักเรียนชั้น ม.4-ม.6 ที่ถูกตัดสิทธิไป เท่ากับถูกตัดโอกาสทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

กดทับขบวนการแรงงาน

การรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์แรงงานอาจถูกลดความสำคัญลงไป โดยในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 64 วรรคแรก ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น” แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ได้ตัดคำเหล่านั้นออกไปทั้งหมด และเลือกใช้คำว่า ‘หมู่คณะ’ แทน

go4-icon

สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ

  • มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
  • มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ – บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามที่กฎหมายบัญญัติ – บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • มาตรา 48 วรรคสอง บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
  • มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
  • มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • มาตรา 74 รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัย และมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน

 go4-icon

สิ่งที่ คสช. ทำ

  • เปิด ‘โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ’ หรือเรียกว่า ‘ลงทะเบียนคนจน’ โดยข้อความจากประกาศกระทรวงการคลังระบุเหตุผลว่า โครงการนี้จะช่วยให้รัฐมีข้อมูลเพื่อจัดสวัสดิการในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยต่อไป
  • 14 พฤษภาคม 2558 กระทรวงการคลังมีมติพิจารณาให้ลดหรือตัดเบี้ยผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 9,000 บาทต่อเดือน หรือมีทรัพย์สินรวมมูลค่าเกิน 3 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพราะประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ในไม่ช้า การลดงบประมาณดังกล่าวจะเป็นการช่วยรัฐลดภาระด้านการคลังได้ โดยเห็นว่าเบี้ยสวัสดิการผู้สูงอายุควรคงไว้แต่ผู้ที่มีรายได้น้อยจะเป็นการดีกว่า
  • 8 มิถุนายน 2559 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อวิจารณ์ต่อรัฐธรรมนูญในประเด็นสิทธิสวัสดิการของภาคประชาชนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีผลให้ประชาชนได้รับสิทธิที่ลดน้อยลง แต่การกำหนดว่า ‘คนยากไร้’ เพียงต้องการย้ำว่า กลุ่มคนยากจนจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่
  • ทั้งนี้ ไม่มีคำอธิบายว่า เหตุใดคำสำคัญที่ว่า ‘สิทธิเสมอกัน’ และ ‘การได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม’ จึงถูกตัดทิ้งไป 

go4-icon

สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

หมวดผู้สูงวัย

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กับ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2559 จะระบุเหมือนว่า ผู้สูงอายุที่ยากจนเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่เนื่องจากมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2553 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2552 กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ผู้สูงอายุทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ ไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรร่างให้สอดคล้องกับในทางปฏิบัติ หรืออย่างน้อยก็ควรคุ้มครองสิทธิประชาชนไม่ให้ต่ำกว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่จริง

หมวดสุขภาพ

ข้อกังวลจากวงการสาธารณสุขกับ คำสำคัญ 2 คำที่หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ‘สิทธิเสมอกัน’ และ ‘การได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม’ คือข้อกังวลว่า ‘บัตรทอง’ อาจถูกล้มเลิกไป แล้วต้องกลับไปเป็น ‘ระบบร่วมจ่าย’ ซึ่งหมายความว่า ระบบสวัสดิการสุขภาพบ้านเราจะถอยหลังลงคลอง กลับไปใช้ระบบเดิมก่อนปี 2545

ลงทะเบียนคนจน

ก่อนลงทะเบียนคนจน ควรต้องลงทะเบียนคนรวย จัดลำดับเกณฑ์ความร่ำรวย แล้วบังคับใช้ให้ครอบคลุมคนทั้งประเทศ ดังคำอธิบายของกระทรวงการคลังที่ว่า การลงทะเบียนดังกล่าวเป็นไปเพื่อทำข้อมูลช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนมีข้อเสนอว่า ควรจัดเก็บข้อมูลประชากรทุกกลุ่มคน เพื่อนำไปจัดทำระบบข้อมูลการเสียภาษีของประชากร จะทำให้รัฐรู้ได้ว่า ใครคือคนมีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง รายได้สูง และสามารถออกแบบการจัดสวัสดิการช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

 


peoplego-logo

ที่มา: People Go Network Forum

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า