รัฐธรรมนูญในฝันต้องหน้าตาแบบไหน?

รัฐธรรมนูญที่ดีคืออะไร?

แน่นอนว่าคำตอบของประชาชนทุกคนในฐานะพลเมืองในสังคมย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย เมื่อไม่อาจห้ามความคิดของใครได้ ประเทศจึงจำเป็นต้องมีกฎกติกาสูงสุดเพื่อเป็นกรอบยึดถือและดำเนินการปฏิบัติ ทว่ากติกาเหล่านั้นควรเป็นกติกาที่เกิดขึ้นโดยพลเมืองทุกฝ่าย ควรเป็นกติกาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่กติกาที่สร้างขึ้นจากมือใครคนใดคนหนึ่ง 

ความจำเป็นของการมีกติกาที่ผ่านการยอมรับจากพลเมืองทุกฝ่ายในสังคม ไม่เพียงแต่จะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น หากยังเป็นประตูนำทางในการก้าวไปสู่สังคมในฝัน เพราะกติกาที่มีเนื้อหาอ้างอิงกับความเป็นสากล ท้ายที่สุดจะพาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกได้

จากผลการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เสมือนเป็นการทำลายและปิดประตูความหวังของประชาชนที่ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้ประเทศ

การโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความไม่เชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาที่ควรเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนภายใต้กลไกของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นแกนนำรัฐบาลอย่าง สส.พรรคพลังประชารัฐ และ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พยายามเสนอไม่ให้มีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดว่า การออกเสียงเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสาม จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภาจาก 250 คน มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ออกเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว นอกนั้นไม่ประสงค์ลงคะแนน-งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ จึงทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตกไป

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองคุกรุ่นและกระแสความไม่พอใจในการลงมติแก้ไขร่างแก้รัฐธรรมนูญของที่ประชุมรัฐสภา นำมาสู่การจัดกิจกรรมเสวนาและเวิร์คช็อป ‘สสร.จำลอง’ ในงาน PRIDI Talks 9 x CONLAB รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) เพื่อร่วมคิด และร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา

กิจกรรมนี้เป็นการเชิญชวนคนหนุ่มสาวและคนต่างวัยมาแลกเปลี่ยน ถกเถียง และร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญในฝันที่พวกเขาต้องการ ผ่านกิจกรรม 4 ฐาน 4 ประเด็น ได้แก่ สิทธิเสรีภาพ อำนาจรัฐสภา การกระจายอำนาจ และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้ Gamification หรือ การเรียนรู้ผ่านเกมมาเป็นกระบวนการในการทำกิจกรรม

สิทธิเสรีภาพ

ภายในกิจกรรมมีการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแต่ละด้าน ผ่านการเล่นเกมสิทธิเสรีภาพ โดยจำลองสถานการณ์ต่างๆ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพที่ตัวเองพึงมี 

จากนั้นให้ผู้ร่วมกิจกรรมออกแบบและแสดงความคิดเห็น โดยให้เลือกสิทธิและเสรีภาพที่คิดว่าสำคัญที่ร่างรัฐธรรมนูญควรคุ้มครอง ซึ่งพบว่าผู้ร่วมกิจกรรมให้น้ำหนักไปทิศทางเดียวกันคือ

  • เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
  • สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ
  • เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
  • สิทธิรายได้ขั้นพื้นฐาน
  • สิทธิฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ
  • สิทธิของมารดา ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้
  • สิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข
  • สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
  • สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
  • สิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี
  • สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

อำนาจรัฐสภา

เมื่อมนุษย์ไม่อาจอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง การรวมกลุ่มจึงมีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันเป็นเวลานานตามลำดับ เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นชุมชนและสังคม และท้ายที่สุดวิวัฒนาการจนจัดเป็นองค์กรทางการเมืองขึ้น เรียกว่า ‘รัฐ’ 

ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบระบบตัวแทน รัฐสภาจึงเสมือนเป็นสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการบริหารการปกครองของฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ในฐานกิจกรรมนี้จึงเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้รูปแบบของรัฐสภาในประเทศต่างๆ ทั้งในกลุ่มของประเทศที่ใช้ระบบสภาคู่และประเทศที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว รวมถึงที่มาและเหตุผลในการออกแบบรัฐสภาของแต่ละประเทศให้เหมาะสมตามบริบทของตัวเอง

กิจกรรมในฐานนี้ชี้ชวนให้เห็นอำนาจของวุฒิสภาในฐานะเป็นสภาสูง กับสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร ในกิจกรรมจะแทนที่อำนาจของวุฒิสภาด้วยน้ำแดง โดยให้เติมน้ำแดงลงไปในแต่ละแก้วให้มีสัดส่วนที่แตกต่างกัน เริ่มต้นจากแก้วในหมวด ‘อำนาจ’ ยิ่งวุฒิสภามีอำนาจมากเท่าไหร่ น้ำในแก้วก็จะยิ่งล้นออกปากแก้วมากเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของอำนาจที่วุฒิสภานั้นมีอยู่

ข้อที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาก็คือ ในหลายกรณีผู้ที่ร่วมกิจกรรม ตัดสินใจที่จะมอบอำนาจให้แก่วุฒิสภา โดยไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาและความชอบธรรม ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมบางคนมองว่ายิ่งวุฒิสภามีอำนาจมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นผลดีกับประชาชนมาก เพราะเชื่อว่าวุฒิสภาจะได้ทำหน้าที่ดุลและคานอำนาจกับสภาผู้แทนราษฎร ทว่าแนวคิดเช่นนี้อาจทำให้เราตกหลุมพราง เพราะอันตรายที่มากกว่าการไม่มี สว. มาถ่วงดุลอำนาจคือ การที่มี สว. สนับสนุนให้ท้ายฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่

การกระจายอำนาจ

เป็นการทำความเข้าใจการกระจายอำนาจท้องถิ่นและการปกครองจากส่วนกลาง โดยชวนผู้ร่วมกิจกรรมมากำหนดกรอบการวางหรือระบุอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อวิเคราะห์ว่าหน้าที่ในการพัฒนาส่วนต่างๆ ในจังหวัดควรเป็นหน้าที่ของใครและใครควรทำอะไรบ้าง ผ่านเกมบทบาทสมมุติให้ผู้ร่วมกิจกรรมทดลองเป็นกลุ่มตัวแทนแต่ละจังหวัด มาถกเถียงกันว่าหน่วยงานท้องถิ่นส่วนไหนควรเป็นใครรับผิดชอบ

ข้อมูลที่สำคัญพบว่า ผู้ร่วมกิจกรรมมีความเห็นตรงกันถึงประเด็นการจัดสรรภาษีในจังหวัดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

สถาบันพระมหากษัตริย์

ในหมวดสุดท้ายว่าด้วยการเรียนรู้ระบอบการปกครอง 101 โดยชวนเล่นเกมระดมความคิดและหารือถึงเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ว่ากรณีใดบ้างเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี” 

หลังจากนั้นให้ผู้ร่วมทำกิจกรรมออกแบบกฎหมายในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เห็นได้ว่ากิจกรรมร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์แล้ว ยังมีลักษณะสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มีหัวใจหลักยึดโยงกับประชาชนเป็นหลักอีกด้วย

รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าประชาชนทุกคนต้องร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐี 

แต่การมีกติกาที่ดี และมีที่มาที่ไปจากการรับฟังเสียงของประชาชนจะช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคม และเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตตามที่พวกเขาควรพึงจะได้รับในฐานะมนุษย์ผู้เสียภาษีให้ประเทศ 
ฉะนั้นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจำเป็นต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียง และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เนื่องจากประชาชนทั้งหลายย่อมเป็นผู้เข้าใจปัญหาพื้นฐานทางสังคมที่พวกเขาอยู่อย่างแท้จริง

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า