วิกฤตรัฐธรรมนูญ 2560 หมากกลสืบทอดอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม

ปี 2566 เป็นปีที่เหตุการณ์ทางการเมืองพลิกผันตลอดทั้งปี อีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ของปีอย่างการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะ ทว่าในท้ายที่สุดทั้งพรรคก้าวไกลและ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและขึ้นเป็นนายกฯ จนท้ายที่สุดได้กลายมาเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับกลุ่มพรรคการเมืองเดิมที่เป็นขั้วอำนาจเก่าในรัฐบาลประยุทธ์

ผลลัพธ์ทางการเมืองเช่นนี้ส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกไม่พอใจของประชาชน ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนมองเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มากยิ่งขึ้น เกิดเป็นมุมมองที่ว่าวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบันคือวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ตลอดปี 2566 ความเคลื่อนไหวทั้งจากฝั่งการเมืองและภาคประชาชนที่เรียกร้องให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงปรากฏให้เห็นตลอดทั้งปี

WAY รวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตลอดปี 2566 ก่อนจะเดินหน้าสู่การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2567

กุมภาพันธ์: โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เพื่อไทยเสนอปิดสวิตช์ สว.

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่พรรคการเมืองในเวลานั้น โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน (ที่มีชื่อเรียกขานว่า ‘พรรคฝ่ายประชาธิปไตย’) เห็นพ้องต้องกัน คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ให้อำนาจ สว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นทำให้พรรคการเมืองที่แม้จะได้รับความไว้ใจวางใจจากประชาชนมากเพียงใด แต่ก็อาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคตัวเองให้ดำรงตำแหน่งได้ 

นอกจากนี้อำนาจของ สว. ในการโหวตนายกรัฐมนตรียังอาจทำให้รัฐบาลชุดเดิมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย

ท่ามกลางบรรยากาศก่อนการสิ้นสุดวาระของรัฐบาลชุดเดิม จึงมีความพยายามจากฝั่งพรรคการเมืองที่จะแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนอำนาจของ สว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ตามาตรา 272 โดยพรรคเพื่อไทยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ สว. ซึ่งมีการประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าวในวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566

ทว่า ในการประชุมดังกล่าวกลับต้องล่มไปเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ และยังมี สว. ลาประชุมกว่า 95 คน ซึ่งอาจเป็นความพยายามในการทำให้ร่างดังกล่าวตกไปก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ อำนาจของ สว. ในการโหวตนายกฯ จึงยังคงยังมีอยู่ตามเดิม ขณะที่พรรคการเมืองทุกพรรคต่างต้องกระโจนเข้าสู่สนามการเลือกตั้งภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ปลายทางมี สว. เป็นผู้กำหนดเกม

พฤษภาคม: จุดยืนพรรคการเมืองต่อการแก้รัฐธรรมนูญ

ภายใต้บริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต่างเห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคืออุปสรรคสำคัญบนเส้นทางประชาธิปไตย และยังทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองโดยเฉพาะขั้วรัฐบาลเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประชาชนจับตามองไปที่นโยบายการหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคว่าจะมีจุดยืนในการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร 

ในบรรดาพรรคที่ชูเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่างก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละพรรค พรรคก้าวไกลเสนอว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีที่มาจากประชาชน โดยจะมีการทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อน 

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งจุดที่แตกต่างระหว่างพรรคกับก้าวไกลกับพรรคอื่นๆ คือ การชูจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวด ทุกมาตรา ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายโจมตีพรรคก้าวไกลในเรื่องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ส่วนทางพรรคเพื่อไทยมีการเสนอให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และมีจุดยืนให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีกลไกการต่อต้านรัฐประหาร

กรกฏาคม: ก้าวไกลชงแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ สว. 

หลังการเลือกตั้งใหญ่เสร็จสิ้นลง พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงข้างมากจากประชาชนต้องเผชิญอุปสรรคจากการไม่สามารถรวมรวบเสียงจาก สว. รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ให้มาสนับสนุนตนเองในการจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 

ก่อนการเลือกนายกฯ เพื่อเสนอชื่อพิธาในรอบที่ 2 ในวันที่ 14 กรกฏาคม 2566 ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยสมาชิกพรรคกว่า 50 คน จึงได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อหยุดอำนาจ สว. ในการโหวตรับรองนายกฯ รอบที่ 2 

ทว่า การประชุมวันดังกล่าว มีญัตติด่วนจากพรรคก้าวไกลในการทบทวนว่าจะสามารถเสนอชื่อของพิธาอีกรอบได้หรือไม่ ทำให้เกิดการอภิปรายโต้กันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนในที่สุด วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุมในวันดังกล่าว จึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา

สิงหาคม: ประชาชนกว่า 200,000 รายชื่อ เสนอเขียน รธน. ใหม่

หลังบรรยากาศการเลือกตั้งจบลงด้วยการที่พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ทำให้ภาคประชาชนได้รวมตัวกันผลักดันแคมเปญร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างคึกคัก 13 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ที่เกิดจากการรวมตัวเฉพาะกิจขององค์กรภาคประชาชนจำนวนมาก เช่น iLaw คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สหภาพคนทำงาน Workers’ Union และองค์กรอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เดินหน้าออกแคมเปญ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน 

จุดประสงค์ของแคมเปญนี้ ต้องการรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ ตั้งเป้ารวบรวมรายชื่อ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-20 สิงหาคม 2566 โดยเน้นการรวบรวมรายชื่อบนกระดาษให้ได้มากที่สุด แต่ก็เปิดรับทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ conforall.com ด้วยเช่นกัน

ในแคมเปญนี้ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า รัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” 

ภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 205,739 รายชื่อ ร่วมลงชื่อเพื่อยื่นเสนอคำถามประชามติให้ ครม. ลงมติรับหลักการ จากเดิมตั้งเป้าเพียง 50,000 รายชื่อ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังสะท้อนให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองนอกสภาที่ประชาชนต่างก็มีส่วนร่วมด้วยความตื่นตัว

ธันวาคม: รัฐบาลเคาะคำถามประชามติ จะแก้ไขหมวด 1-2 หรือไม่

หลังผ่านการถกเถียงกันมาหลายเดือน อีกทั้งกลุ่มต่างๆ ก็ล้วนจัดเวทีเพื่อเสวนาหารือเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายเวที ในที่สุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการทำประชามติ ได้มีมติให้ทำประชามติ 3 รอบ โดยมีคำถามสำคัญในการทำประชามติรอบแรกคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” และอีกหนึ่งจุดสำคัญคือ ในคำถามประชามติรอบแรกจะยังไม่มีการถามถึงที่มาของ สสร.

ตามแนวทางของคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีมติให้จัดทำประชามติ 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็นครั้งที่ 1 เป็นการทำประชามติก่อนเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 เป็นการทำประชามติหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 256 ซึ่งจะทำให้สามารถมีสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วนในครั้งที่ 3 จะเป็นการทำประชามติหลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. เรียบร้อยแล้ว

ผลจากการประชุมหาแนวทางการทำประชามติ คณะกรรมการชุดนี้จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคมปี 2567 และคาดว่ากระบวนการทำประชามติรอบแรกจะเกิดขึ้นภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567

ที่มา:

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า