ยกเลิก ม.112 เสียงเพรียกของผู้มีมลทินมัวหมอง

ปี 2566 เป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคัก ทั้งการเมืองสนามใหญ่ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งทั่วไป และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่แสดงออกผ่านการชุมนุมและแคมเปญต่างๆ มากมายตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันภายใต้บรรยากาศการเรียกร้องทางการเมืองที่ขยายวงกว้าง แต่ก็มีการดำเนินคดีอาญามาตรา 112 หลายคดี บ้างเพิ่งเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน บ้างรอฟังคำตัดสิน บ้างถึงสิ้นสุดแล้ว หลายคนได้กลับบ้าน หลายคนต้องจากบ้านไปอย่างไม่มีวันกลับ 

ไม่ว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นไร ต้องยอมรับว่าปี 2566 เป็นอีกปีที่คดี 112 มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง บางส่วนมาจากการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งคดีใช้เวลาเดินทางมาจนถึงวันนี้ ขณะเดียวกันในปี 2566 ก็มีกรณีที่น่าสนใจหลายกรณีนอกเหนือจากการดำเนินคดีในศาล ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 สามารถชนะการเลือกตั้งและเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ หรือตัวแทนจากพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์กลับโดนฟ้องโดยมาตรา 112 เสียเอง เป็นต้น

WAY รวบรวมคดีและกรณีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ที่น่าจับตามองตลอดทั้งปี 2566 ทั้งคดีในศาลและความเคลื่อนไหวนอกศาล อนึ่ง เนื่องจากคดีและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ตลอดทั้งปีนั้นมีจำนวนมาก จึงขอยกคดีและกรณีที่น่าสนใจ บางส่วนอาจเป็นคดีที่ไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากนัก แต่ก็ขอหยิบยกมาเพื่อให้เห็นภาพกว้างของคดี 112 ให้ได้มากที่สุด

มกราคม: ‘สิทธิโชค’ จากไรเดอร์หวังดีที่ช่วยดับเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ สู่ผู้ถูกกล่าวหาให้มีมลทิน

ย้อนกลับไปเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564 ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่บริเวณถนนราชดำเนินเพื่อมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยจุดมุ่งหมายคือการขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกจากตำแหน่ง เหตุจากความล้มเหลวในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 สิทธิโชค เศรษฐเศวต ไรเดอร์ส่งอาหาร อายุ 25 ปี ซึ่งได้ขับรถผ่านไปในบริเวณนั้น เมื่อเห็นเพลิงไหม้กองหุ่นฟาง เขาจึงได้เข้าไปช่วยผู้ชุมนุมนำน้ำดื่มมาพรมเพื่อระงับเพลิง

ในขณะนั้น สิทธิโชคสังเกตว่ามีเปลวเพลิงบริเวณฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ จึงได้ไปหยิบน้ำบิ๊กโคล่าที่ผสมน้ำเปล่าของตัวเองจากกล่องเก็บอาหารท้ายรถมา เพื่อช่วยพรมไม่ให้ไฟลามไปมากกว่านี้ ระหว่างนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้เขาลงมา พร้อมเรียกให้รถจีโน่ฉีดน้ำดับไฟดังกล่าว เมื่อเขาลงมา เขาจึงออกจากบริเวณดังกล่าวและไปทำงานส่งอาหารต่อไป

ในช่วงเย็นวันนั้น บนโลกโซเชียลได้มีการเผยแพร่ภายของผู้ก่อเหตุที่ระบุว่าเป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งในภาพนั้นคือสิทธิโชคที่มีกล่องส่งอาหารของ Foodpanda อยู่ที่ท้ายรถจักรยานยนต์ ทางด้าน Foodpanda รับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการตอบข้อความว่าจะเร่งดำเนินการโดยให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานทันที นำมาซึ่งความไม่พอใจของผู้คนบนโลกโซเชียล จนเกิดกระแส #แบน Foodpanda ทันที

สิทธิโชคถูกออกมาหมายจับในวันรุ่นขึ้น โดยเขาถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 วางเพลิงเผาทรัพย์และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ระหว่างการสืบพยาน สิทธิโชคยืนยันว่าเขาใช้ ‘น้ำบิ๊กโคล่าผสมน้ำเปล่า’ ที่เขามีติดท้ายรถไว้เพื่อช่วยดับเพลิง ไม่ใช่น้ำมันหรือสารไวไฟชนิดอื่นๆ และในตอนที่ตำรวจเรียกตัวเขาให้ออกมาจากซุ้ม ไฟก็ได้ดับลงแล้ว นอกจากนี้จุดที่มีเพลิงไหม้อันเป็นเหตุให้กล่าวหาตามมาตรา 112 คือ ผ้าประดิษฐานใต้ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ใช่พระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด

วันที่ 17 มกราคม 2566 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกสิทธิโชครวม 2 ปี 4 เดือน ทนายของสิทธิโชคได้ยื่นประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัน จึงมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฏีกา ขณะเดียวกันสิทธิโชคได้เริ่มต้นอดอาหารประท้วง (hunger strike) จากการที่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัวต่อผู้ถูกดำเนินดคี รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน

สิทธิโชคเริ่มต้นอดอาหารด้วยการดื่มนมเพียงมื้อละกล่อง จากนั้นจึงค่อยๆ ลดระดับเหลือเพียงวันละกล่อง ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 2566 จึงยกระดับด้วยการอดอาหารและอดน้ำ (dry hunger strike) โดยในช่วงเวลาที่สิทธิโชคอดอาหารประท้วง เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการอดอาหารของตะวัน-แบม สองผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 เช่นกัน

ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลฏีกาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีราคาประกันอยู่ที่ 130,000 บาท เนื่องจากสิทธิโชคเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อนแล้ว และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

กุมภาพันธ์: ‘นิว’ นักศึกษาผู้ถูกฟ้องว่าพ่นสีสเปรย์ ‘ภาษีกู’ ‘ยกเลิก ม.112’ บนรูปพระบรมวงศานุวงศ์ แม้ไม่ใช่รูปกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

‘ยกเลิก ม.112’ เป็นประโยคที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างบ่อยครั้งในเหตุการณ์ทางการเมืองใดๆ ก็ตามในปี 2566 นอกจากนี้ ‘ภาษีกู’ และถ้อยคำต่างๆ ที่วิจารณ์การใช้ภาษีอย่างไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ก็เป็นหนึ่งในชุดถ้อยคำที่เห็นได้บ่อยครั้งเช่นกัน

วันที่ 13 มกราคม 2564 ‘นิว’ สิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกจับกุมไปสอบสวนตามมาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 นาย ได้บุกจับกุมตัวยามวิกาล

พยานโจทก์เบิกความว่า นิวได้พ่นสีสเปรย์ข้อความว่า ‘ยกเลิก ม.112’ และ ‘ภาษีกู’ ที่พระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์จำนวน 6 จุด ในจังหวัดปทุมธานี แต่เขาได้ต่อสู้ว่าหลักฐานในกล้องวงจรปิดไม่สามารถระบุตัวตนว่าเป็นเขาจริงหรือไม่ นอกจากนี้เขายังไม่ได้เป็นแอดมินกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพียงแต่เคยเข้าร่วมชุมนุมเพียงเท่านั้น

นอกจากนี้ องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 จะต้องเป็นบุคคลอย่างพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปัจจุบันเท่านั้น แต่พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 6 จุดที่มีการพ่นสีสเปรย์ใส่นั้น เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์และพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลตามองค์ประกอบของมาตรา 112 

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรีได้พิพากษาให้นิวมีความผิดตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี 10 เดือน ปรับ 31,177 บาท แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าเขาเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังเป็นนักศึกษาอยู่ จึงให้รอลงอาญา 2 ปี 

คดีนี้ ศาลให้เหตุผลว่าแม้ถ้อยคำดังกล่าวจะไม่ได้ถูกพ่นลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่การพ่นลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ก็ย่อมทำให้เสื่อมเสียไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ จึงเข้าข่ายมาตรา 112 

กรณีเช่นนี้เป็นปัญหาของการดำเนินคดีในมาตรา 112 มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการที่ ม.112 ครอบคลุมถึงพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ และในกรณีนี้ยังครอบคลุมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย ซึ่งอาจเป็นการตีความนอกเหนือไปกว่าที่ตัวบทกฎหมายได้บัญญัติไว้

มีนาคม: ตะวัน-แบม ประท้วงอดอาหารกว่า 50 วัน เรียกร้องพรรคการเมืองยกเลิก ม.112 และ ม.116

‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับกลุ่มทะลุวัง ซึ่งโดนดำเนินคดีอาญามาตรา 112 จากการทำกิจกรรมสอบถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จที่บริเวณหน้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 

ต่อมา 10 มีนาคม 2565 ตำรวจได้ขออำนาจศาลเพื่อฝากขังนักกิจกรรมในกลุ่มทะลุวัง แต่ทุกคนได้รับการประกันตัวพร้อมเงื่อนไข 4 ข้อ 

1. ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

2. ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

4. ให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

9 มกราคม 2566 ใบปอ’ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ จากกลุ่มทะลุวัง และ ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกถอนประกันตัวจากการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 และนำมวลชนมากดดันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึงมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว

หลังจากใบปอและเก็ทถูกนำตัวเข้าเรือนจำ วันที่ 16 มกราคม 2566 ตะวันและแบม จึงประกาศถอนประกันตัวเอง โดยมีการทำกิจกรรม ‘เลือดแลกเลือด’ เทของเหลวสีแดงลงบนร่างกายที่บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา พร้อมกับประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออกเป็นอย่างแรก ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116

เย็นวันนั้นศาลจึงได้เพิกถอนประกัน และทั้งคู่ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง

18 มกราคม 2566 ตะวันและแบมเผยแพร่คลิปที่ทั้งสองคนบันทึกไว้ก่อนเข้าเรือนจำว่า จะอดน้ำและอาหารเพื่อเรียกร้องให้นักโทษในคดีทางการเมืองทุกคนได้รับการประกันตัว รวมถึงเพื่อบรรลุข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ทั้งสองคนได้เคยเรียกร้องไว้

การอดอาหารของทั้งคู่ได้รับความสนใจจากสังคม มีนักกิจกรรมรวมไปถึงนักวิชาการจำนวนหนึ่งสนับสนุนให้ศาลทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เช่น ธงชัย วินิจจะกูล ที่เรียกร้องให้พรรคการเมืองรวมถึงให้ผู้ใหญ่ในสังคมสนใจในกรณีของทั้งสองคนและสิ่งที่ทั้งสองคนเรียกร้องให้มากกว่านี้ 

การอดอาหารของตะวันและแบม ยุติลงในวันที่ 11 มีนาคม 2566 กินเวลารวมทั้งสิ้น 52 วัน แม้ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของทั้งคู่จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในระหว่างการประท้วงอดอาหาร มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองได้รับการการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างน้อย 4 คน และมีนักกิจกรรมและประชาชนที่ศาลอนุญาตให้ถอดกำไล EM กว่า 34 คน

เมษายน: คดี ‘วุฒิภัทร’ เมื่อศาลพิพากษาให้การหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์มีความผิด

บุคคลในองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 นั้น จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปัจจุบัน ดังนั้น ในคดีของ ‘วุฒิภัทร’ (นามสมมติ) พนักงานบริษัทที่แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลซ’ เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งมีข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ในวันที่ 25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงยกฟ้องในคดีมาตรา 112 เนื่องจากเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมายนั้นไม่ได้คุ้มครองครอบคลุมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต

ต่อมาเมื่อมีการยื่นอุทธรณ์ต่อคดีของวุฒิภัทร ในวันที่ 27 เมษายน 2566 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่า วุฒิภัทรมีความผิดมาตรา 112 จำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยแม้ว่าการแสดงความเห็นของวุฒิภัทรจะพาดพิงถึงอดีตพระมหากษัตริย์ แต่ศาลมีความเห็นว่ามาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่แต่เพียงเท่านั้น นอกจากนี้การหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ยังสร้างความเสื่อมเสียมาถึงพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันอีกด้วย

คดีของวุฒิภัทรเป็นอีกหนึ่งในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีการแก้แนวคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยสาระสำคัญคือการให้พระมหากษัตริย์ในอดีตรวมอยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 112 ด้วย 

พฤษภาคม: สายลมใหม่พัดผ่าน จากผู้มีมลทินมัวหมองสู่ผู้แทนราษฎร

ท่ามกลางการหาเสียงอย่างคึกคักและการดิเบตจากพรรคการเมืองต่างๆ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศที่มีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นั้น หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการถกและยกขึ้นมาพูดกันบ่อยครั้งในแทบทุกเวทีสาธารณะ คือเรื่องการแก้กฎหมายมาตรา 112 

จุดที่น่าสนใจคือ หากเทียบการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา การพูดถึง ม.112 กลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดได้มากขึ้น และแทบจะเป็นคำถามบังคับสำหรับหลายๆ เวที ขณะเดียวกันประชาชนเองก็รอดูท่าทีจากพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะมีจุดยืนอย่างไรกับ ม.112 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคที่แสดงออกชัดเจนในการแก้มาตรา 112 คือพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่แสดงจุดยืนเรื่องนี้เสมอมา รวมไปถึงพรรคที่ในเวลานั้นถูกเรียกรวมว่าเป็น ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ อย่างพรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทยด้วย ส่วนพรรคตัวเต็งอันดับหนึ่งที่เปรียบเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคก้าวไกลอย่างพรรคเพื่อไทย ก็ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์ของประชาชนถึงความไม่ชัดเจนในจุดยืนเรื่อง ม.112 ซึ่งตัวแทนพรรคเพื่อไทยหลายๆ คน แม้จะมีการแสดงความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมให้ความสำคัญกับการบังคับใช้มากกว่าตัวเนื้อหา และย้ำว่าเป็นเรื่องที่ต้องถกกันในสภา

หลังผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการ นอกเหนือจากชัยชนะของพรรคก้าวไกลแล้ว ยังปรากฏว่ามีผู้ที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ถึง 3 คน สามารถเข้าสู่ตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรได้ ไม่ว่าจะเป็น ชลธิชา แจ้งเร็ว ปิยรัฐ จงเทพ และ รักชนก ศรีนอก

มิถุนายน: เมื่อ ม.112 เป็นเงื่อนไขขัดขวาง ‘พิธา’ สู่เก้าอี้นายกฯ

หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ได้เสียงเป็นอันดับหนึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค จึงดำเนินการเพื่อรวบรวมเสียงจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อตั้งรัฐบาลและเสนอตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี

ทว่า การจะได้เสียงสนับสนุนเพื่อให้พิธาเป็นนายกฯ นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้จะรวบรวมเสียงในพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจนสามารถได้เสียงข้างมากในฝั่งสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ต้องเจอกับด่านสมาชิกวุฒิสภาที่ยังคงอยู่ในวาระและมีสิทธิที่จะโหวตให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น พิธาและพรรคก้าวไกล จึงจำเป็นต้องหาเสียงจากพรรคอื่นๆ มาเพิ่มเติมอีก เพื่อให้มีจำนวนเสียงมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แม้พรรคก้าวไกลจะสื่อสารต่อสาธารณะว่า ขอให้พรรคการเมืองต่างๆ รวมไปถึง สว. ต้องเคารพเสียงของประชาชน ทว่า พรรคการเมืองต่างๆ รวมไปถึง สว. ต่างอ้างว่าไม่สามารถสนับสนุนพิธาและพรรคก้าวไกลได้ หากยังมีความตั้งใจที่จะแก้กฎหมายมาตรา 112

แน่นอนว่าในการโหวตนายกฯ รอบแรกในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 การอภิปรายของ สส. และ สว. จึงวนเวียนอยู่กับการแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ทำให้ผลโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ มีเสียงสนับสนุนเพียง 324 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทำให้พิธาพลาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการโหวตครั้งนี้ไป

อย่างไรก็ดี ในการโหวตครั้งต่อมาวันที่ 19 กรกฏาคม 2566 พิธาก็ต้องโดนคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากศาลรัฐธรมนูญจากกรณีหุ้นสื่อ iTV ทำให้ในเวลาต่อมาพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล นำไปสู่การแตกสลายของกลุ่มพรรคการเมืองที่เคยถูกเรียกว่า ‘พรรคฝ่ายประชาธิปไตย’ และนำไปสู่การได้รับเลือกขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

กรกฏาคม: ศาลยกฟ้องกรณีแสดงความเห็นไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่

หลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 อิศเรศ อุดานนท์ ชาวนครพนม วิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่ยังไม่มีการแต่งตั้งพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง แม้จะเป็นการแสดงความเห็นที่ใช้ถ้อยคำค่อนข้างรุนแรง แต่ศาลจังหวัดนครพนมก็ได้พิพากษายกฟ้องอิศเรศว่า ไม่มีความผิดตามมาตรา 112 จากการแสดงความเห็นเรื่องการไม่แต่งตั้งพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ในวันที่ 16 มีนาคม 2565

ต่อมาเมื่อมีการอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ยังคงยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การแสดงความเห็นดังกล่าวของอิศเรศไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 เพราะแม้จะใช้ถ้อยคำรุนแรง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น และโดยจุดประสงค์ของข้อความดังกล่าวก็เพื่อให้กระบวนการแต่งตั้งพระมหากษัตริย์มีความรวดเร็วขึ้นแต่เพียงเท่านั้น

แม้จะไม่ใช่กรณีที่ใหม่ แต่กรณีของอิศเรศอาจพอฉายให้เห็นภาพได้ว่า การกระทำเช่นใดที่ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 อย่างไรก็ดี เนื่องจากในการดำเนินคดีและตัดสินคดีมาตรา 112 ยังมีบรรทัดฐานที่แตกต่างกันในแต่ละศาล หรือแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นหากในอนาคตมีกรณีคล้ายคลึงกับอิศเรศเกิดขึ้น ก็ใช่ว่าศาลจะพิพากษายกฟ้องเสมอไป

สิงหาคม: ยกฟ้องคดีวิจารณ์ ‘ฟูฟู’ สุนัขทรงเลี้ยงไม่ถูกคุ้มครองตาม ม.112

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ‘ปีเตอร์’ พ่อค้าออนไลน์ ได้ขึ้นปราศรัยเรื่องการพระราชทานยศทหารให้ ‘ฟูฟู’ สุนัขทรงเลี้ยง และวิจารณ์การใช้งบของสถาบันกษัตริย์ ทำให้เขาโดนฟ้องในคดีมาตรา 112

29 สิงหาคม 2566 ศาลจังหวัดอุดรธานียกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการปราศรัยถึงฟูฟูนั้น ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าหมายถึงใคร รวมถึงเรื่องงบสถาบันกษัตริย์นั้นก็เป็นข้อมูลที่หาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต

แม้อาจดูเป็นคดีที่เล็กน้อย แต่ต้องยอมรับบรรยากาศของคนในสังคมที่มีความรู้สึกอยู่ว่า การวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยงนั้นอาจทำให้โดนคดีมาตรา 112 ได้ อย่างไรก็ดี โปรดสังเกตว่ามีหลายกรณีที่พระบรมวงศานุวงศ์หรืออดีตกษัตริย์ที่ไม่ได้เป็นบุคคลตามความคุ้มครองของมาตรา 112 ก็ถูกตีความว่าหากทำให้บุคคลเหล่านี้เสื่อมเสียก็ย่อมส่งผลมาถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ด้วยเช่นกัน กรณีนี้ หากมองในอีกมุมหนึ่งก็ใช่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์สุนัขทรงเลี้ยงจะไม่ถูกฝ่ายใดหยิบยกไปฟ้อง หรือศาลจะตัดสินยกฟ้อง เพียงแต่ว่ากรณีดังกล่าวศาลมีความเห็นว่า ‘ฟูฟู’ นั้นไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปจะเข้าใจอย่างแพร่หลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่เกิดความเสื่อมเสียใดๆ เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงมาถึงพระมหากษัตริย์ได้นั่นเอง

กันยายน: ศาลพิพากษา #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ มีเจตนาหมิ่นกษัตริย์ 

‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ เป็นประโยคที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงตรัสต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มารอรับเสด็จเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 

สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดงที่หากใครไปร่วมชุมนุมบ่อยๆ คงจะคุ้นเคยกับเขาเป็นอย่างดี เขาโดนคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอข่าวบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ นอกจากนี้ยังได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่พระมหากษัตริย์ทำตัวใกล้ชิดกับประชาชนและมีการแจกลายเซ็น

28 เมษายน 2565 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิด เนื่องจากเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 6 ปี จากกระทำทั้ง 2 กรรม เขาถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 288 วัน ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566

ต่อมา ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ว่าสมบัติมีเจตนาหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แต่เนื่องจากคำให้การของเขามีประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลจึงตัดสินจำคุกทั้งสิ้น 4 ปี ทั้งจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และรวมกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ด้วย

ตุลาคม: อานนท์ นำภา ถูกจำคุก ศาลไม่ให้ประกันตัวแม้ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี

แม้ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะเดินอยู่บนเส้นทางของนักกิจกรรมและข้องแวะกับกิจกรรมทางการเมืองและการชุมนุมต่างๆ มาอย่างยาวนาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของเขากลายเป็นที่รู้จักในฐานะทนายอานนท์ หลังการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 พร้อมเดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ศาลอาญาพิพากษาให้อานนท์ นำภา มีความผิดใน 2 ข้อหา คือมาตรา 112 และการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา

อย่างไรก็ดี แม้มีการยื่นคำร้องขอประกันตัว แต่ศาลก็สั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา เนื่องจากเกรงว่าจะมีพฤติการณ์หลบหนี

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 ทนายของอานนท์ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเขามีภาระหน้าที่ในการเป็นทนายให้กับจำเลยในศาล ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกว่า 39 คดี ไม่เคยมีประวัติหลบหนี ทั้งศาลยังเคยอนุญาตให้เขาเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปประเทศเกาหลีได้ รวมถึงอานนท์ก็กลับมารายงานตัวต่อศาลตามกำหนด

แม้จะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี แต่ในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวตามเดิม และยังคงให้เหตุผลถึงพฤติการณ์ว่าอานนท์อาจหลบหนีได้เช่นเดิม

กรณีทนายอานนท์ สร้างความสงสัยให้แก่บรรทัดฐานของศาลในการให้ประกันตัวว่ามีเกณฑ์อย่างไร อีกทั้งอานนท์ยังไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีให้เห็น ปัจจุบันทนายอานนท์ยังคงไม่ได้รับการประกันตัว

พฤศจิกายน: เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมที่ปกป้องสถาบัน โดนข้อหา ม.112

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัญหาของมาตรา 112 คือการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเล่นงานฝั่งตรงข้ามและผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างแพร่หลาย ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการเสนอแก้มาตราดังกล่าวให้ผู้ฟ้องร้องคือสำนักพระราชวัง เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝั่งตรงข้าม

ฝ่ายที่เสนอแก้มาตรา 112 และพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาของมาตรา 112 มาตลอดก็คือ ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งใด จะเป็นฝ่ายนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ทุกคนล้วนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมาตรา 112 ได้ทั้งสิ้น เช่น กรณีของ อนันต์ สาครเจริญ กรรมการบริหารพรรคไทยภักดี ถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 หลังจากที่เป็นตัวแทนไปคัดค้านพระราชทานอภัยโทษต่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่ารู้สึกตกใจที่ถูก ‘ทนายส้ม’ (คาดว่าหมายถึงทนายจากฝั่งพรรคก้าวไกล หรือทนายที่นิยมในพรรคก้าวไกล) ซึ่งเป็นฝ่ายที่ตนมองว่าล้มล้างสถาบัน ฟ้องร้องคนของพรรคไทยภักดีที่เป็นฝ่ายปกป้องสถาบันและปกป้องมาตรา 112 

ทั้งนี้ พรรคไทยภักดีเป็นพรรคที่ชูจุดยืนเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ เน้นการหาเสียงเรื่องการปกป้องเกียรติยศของสถาบันฯ และในเวทีต่างๆ ก็แสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นต่อการไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายมาตรา 112 และไม่ได้มองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหาแต่อย่างใด

ธันวาคม: เมื่อชะตากรรมของผู้แทนราษฎรแขวนอยู่บนตราชั่งศาล

ตามมาตรา 101 (6) กำหนดการสิ้นสุดสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหากถูกพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98

หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ก็คือ ‘ไอซ์’ รักชนก ศรีนอก สส. พรรคก้าวไกล ข้อกล่าวหาของรักชนกสืบเนื่องจากการทวิตข้อความจำนวน 2 ข้อความ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัชนกยกเหตุผลต่อสู้ในชั้นศาลว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการตกแต่งพยานหลักฐานของผู้เห็นต่างทางการเมืองเพื่อใส่ร้ายตน

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ศาลอาญาพิพากษาว่า รักชนกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ลงโทษจำคุกคดีละ 3 ปี เมื่อรวมการกระทำทั้งสองกรรม จึงมีโทษจำคุกรวม 6 ปี 

หลังอ่านคำพิพากษา รักชนกได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวทันที ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลอาญาได้ให้ประกันตัวรักชนกในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีเดิมอีก

จากการที่รักชนกสามารถประกันตนได้ก่อนถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำ จึงทำให้รักชนกยังคงไม่สิ้นสภาพความเป็น สส. อย่างไรก็ดี คดีมาตรา 112 ของรักชนกยังคงไม่สิ้นสุด และต้องรอสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

กรณีของรักชนกนั้น หากไม่สามารถประกันตัวได้และต้องสิ้นสภาพความเป็น สส. ผลที่ตามมาคือจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเนื่องจากรักชนกเป็น สส. แบบแบ่งเขต จึงไม่สามารถมีโควต้าลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้

ขณะเดียวกัน การถูกตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ของ สส. ก็ทำให้เกิดเป็นความสงสัยว่าจะส่งผลต่อชะตากรรมของพิธาและพรรคก้าวไกลในอนาคตต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลปกครองจะตัดสินว่าพรรคก้าวไกลมีความผิดฐานล้มล้างการปกครองหรือไม่ ในวันที่ 31 มกราคม 2567

ที่มา:

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า