ย้อนมองเจตนารมณ์ ‘รัฐธรรมนูญไทย’ ผ่านยุคสมัยชิงอำนาจ บนเส้นทางวิบากสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตย

ยุคสมัยที่หลายประเทศต่างใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครอง กำหนดกฎเกณฑ์จัดระเบียบความสัมพันธ์ภายในรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศถูกออกแบบอยู่บนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ความต้องการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขบางสิ่งบางอย่าง รัฐธรรมนูญจึงเป็นกระจกส่องสะท้อนความพยายามในการแก้วิกฤตทางการเมือง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสริมเกราะความมั่นคงของสังคมประชาธิปไตย 

แน่นอนว่า ประวัติศาสตร์การเมืองของแต่ละประเทศล้วนสะท้อนผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ กับเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการออกแบบโครงสร้าง และสถาบันทางการเมืองที่มีความซับซ้อนแตกต่างกันไปตามแต่ละบริบท

เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ตั้งแต่ยุคอภิวัฒน์สยาม เมื่อปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยจนเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญฉบับแรก อย่างไรก็ตาม เส้นทางการวางรากฐานประชาธิปไตยของไทยผ่านรัฐธรรมนูญอาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจอยู่เสมอ แม้ว่าจะมีความพยายามอุดรอยรั่วผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กลับถูกฉีกทิ้งด้วยกลไกเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

จนถึง พ.ศ. กระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดวงจรสืบทอดอำนาจเผด็จการ ก็ยังเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญเพื่อปูทางสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ 

อิฐก้อนแรกของการสร้างประชาธิปไตยไทยผ่านรัฐธรรมนูญ 

แม้ว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับของไทยจะทำให้ความทรงจำหลายคนฉายภาพชัดถึงเศษซากผลพวงรัฐประหาร แต่หลายครั้งก็มีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองและความยุ่งยากซับซ้อนในการสร้างสังคมประชาธิปไตยก่อนถูกรัฐประหารไป

การศึกษาวิกฤตและประวัติศาสตร์การเมืองในสมัยหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐธรรมนูญนับเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี อย่างที่หลายคนทราบดีว่าภายหลังเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม คณะราษฎรมีความพยายามในการสร้างระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย จึงได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้น เริ่มจากฉบับแรกคือ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 (10 ธันวาคม 2475) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 

พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครอง 2475 มีเจตนารมณ์ซึ่งระบุในคำปรารภว่า “โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น โดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้…” ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) รับสั่งให้ใช้ธรรมนูญฉบับนี้เป็นการชั่วคราว และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ฉบับถาวรที่ว่าคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 ที่บังคับใช้เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งคำแถลงของประธานอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครอง ต่อสภาฯ ปรากฏข้อความว่า “…ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลฯ ถวาย และทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่เพียงทรงเห็นชอบด้วย อย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…” 

จะเห็นได้ว่าในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ มีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรและฝ่ายกษัตริย์นิยมตลอดเวลา ทั้งนี้ มีการระบุสาระสำคัญในบททั่วไปว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” หมายความถึงให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ 

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นฉบับที่ 3 ริเริ่มโดยนายปรีดี พนมยงค์ หารือกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับเดิมใช้มา 14 ปีแล้ว แต่สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก เห็นควรที่จะยกเลิก ‘บทเฉพาะกาล’ ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงที่บ้านเมืองผันผวน จนมาถึงรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งได้ประกาศยุบสภา มีผลให้การทำงานของคณะกรรมการวิสามัญฯ ชุดนี้ต้องสิ้นสุดลง และแต่งตั้งชุดใหม่ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังที่แถลงไว้

หลังจากนั้นเพียง 1 ปี กับอีก 6 เดือน รัฐธรรมนูญ 2489 ต้องถูกยกเลิกไป เพราะเกิดการรัฐประหารภายใต้การนำของ พลโทผิน ชุณหะวัณ ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2490

เหตุจาก ‘รัฐประหาร’ หมากกลขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย

รัฐประหารในปี 2490 ภายใต้การนำของ พลโทผิน ชุณหะวัณ คณะทหารขึ้นสู่อำนาจ พร้อมกับการมีบทบาทอีกครั้งของฝ่ายกษัตริย์นิยม ซึ่งคณะรัฐประหารขยายอำนาจให้ทหารสามารถจับกุมคุมขังคนที่ต้องสงสัยว่าจะขัดขวางการดำเนินตามรัฐธรรมนูญใหม่ และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2490 โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อ้างเจตนารมณ์ ‘เพื่อแก้วิกฤตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมทรามในทางศีลธรรม’ 

นอกจากนี้ คณะรัฐประหารของพลโทผินยังกล่าวถึงความชอบธรรมในการยึดอำนาจ ผ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 15 ว่า “…การทำรัฐประหารในชั้นแรกเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจจุบัน แต่เมื่อได้กระทำรัฐประหารสำเร็จจนผู้กระทำรัฐประหารได้เข้าครองอำนาจอันแท้จริงในรัฐแล้ว ผู้กระทำรัฐประหารก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเลิกล้มรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ได้ และอาจออกรัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่ได้…”

จากนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2492 จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วสิ้นสุดลงในปี 2494 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำในการทำ ‘รัฐประหารเงียบ’ จากนั้นได้นำรัฐธรรมนูญ 2475 มาแก้ไขเพิ่มเติมและบังคับใช้ใหม่ กระทั่งเกิดวงจรวิปลาสและความยุ่งยากซับซ้อน อันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตย อย่างการทำรัฐประหารที่วนเวียนกลับมาอีกครั้ง ภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เข้ายึดอำนาจจอมพล ป. และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญในปี 2501 นำมาสู่การประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองอาณาจักร 2502 พร้อมกับสร้างผนังทองแดงเพื่อคงอำนาจไว้ด้วยการบัญญัติมาตรา 17 ที่เป็นอำนาจพิเศษ โดยให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเทียบเท่าอำนาจปฏิวัติ

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ล่วงไปกว่า 9 ปี จึงจะประกาศใช้ในปี 2511 หลังจากนั้นประเทศไทยก็ว่ายวนอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นใหม่และฉีกทิ้งโดยคณะรัฐประหารเรื่อยมา ยิ่งทวีความยุ่งเหยิงและเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ยากลำบาก เพิ่มระยะทางในการก้าวเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยให้ห่างออกไปมากขึ้น

ความหวังในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

9 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้เกมอำนาจของอภิสิทธิ์ชนมาโดยตลอด กลุ่มคนผู้มีอำนาจเหล่านั้นได้ทิ้งมรดกตกทอดไว้ให้ดูต่างหน้าบนรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ พร้อมกับผลพวงอีกมากมายที่ยังคงมีอิทธิพลกับสังคม สร้างความบอบช้ำและความเสื่อมศรัทธาให้กับประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งประเทศไทยเราก็เคยมีรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 

ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร มักถูกร่างขึ้นโดยฝ่ายที่เข้ายึดอำนาจ ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการโค่นล้มคณะรัฐประหารภายใต้การนำของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 จนเป็นชนวนเหตุของการประท้วงขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยข้ออ้าง ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ทำให้มวลชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจนนำไปสู่เหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ในปี 2535 และเกิดกระแสตื่นตัวทางการเมืองสูง เปิดทางให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากหลายสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ชัดเจนว่าต้องการปฏิรูปการเมือง ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐ สะท้อนวิกฤตทางการเมืองในมิติของสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนถูกลิดรอนไป จากการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มทหารและกษัตริย์นิยมด้วยการรัฐประหาร จึงได้มีการกำหนดให้ สว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดจากประชาชนเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับการกำหนดกระบวนการเลือกนายกฯ ว่าต้องมาจากการเลือกของ สส. 500 คน โดยต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ตลอดจนคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องเป็น สส. เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ยังอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งไร้เอกภาพในการบริหารประเทศ โดยสร้างระบบการเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก ทำให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้น 

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 นำพาประเทศไทยเข้าใกล้กับความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เกิดความพยายามในการแก้ปมความซับซ้อนของวิกฤตทางการเมืองในอดีตที่แทบจะไม่ยึดโยงกับประชาชน เพื่ออุดรอยรั่วไม่ให้ฝ่ายเผด็จการทหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตย ทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกเรียกกันว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ทั้งยังเป็นความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรากฐานใหม่ของการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคงต่อไป

‘เราจะทำตามสัญญา’ บนกติกาบิดเบี้ยว ถอยหลังสู่วงจรชะลอความเจริญ

แม้ว่าการก่อกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะทำให้ความหวังในการสร้างสังคมประชาธิปไตยถูกจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง แต่เพียงไม่นานนักก็ถูกทำให้มอดลงด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร รัฐธรรมนูญ 2540 จึงถูกฉีกทิ้ง ตามด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549 ก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ความหวังแห่งการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งของไทย กลับยิ่งถูกปิดตายอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง ก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมฉบับใหม่โดยอาศัยกลไกอำนาจของคณะรัฐประหาร เกิดเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นมรดกตกทอดจาก คสช. ถูกออกแบบมาอย่างรัดกุมเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ และไร้ซึ่งความยึดโยงกับประชาชน เช่น กรณีของ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร และมีอำนาจในการลงมติเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรก อีกทั้งคุณสมบัติของนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่ง สส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เพียงแค่ต้องอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองที่จะต้องเสนอก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาเรื่องที่มาและการให้อำนาจแก่องค์กรอิสระ การเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ภายใต้กติกาที่บิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้การเลือกตั้งในปี 2562 พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งได้คะแนนเป็นอันดับ 1 อย่างพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนเกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เอกภาพ ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เนื่องมาจากการกำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ เปลี่ยนให้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และใช้สูตรพิสดารคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อ ดังเช่นกรณี ‘บัตรเขย่ง’ ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ สส. บัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว แต่กลับกลายเป็นว่า สส. พรรคเล็กพรรคน้อยต่างพากันตบเท้าเข้าสภากันอย่างชื่นมื่น และปิดฉากด้วยการที่ขั้วอำนาจเดิมอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ จากการที่รวบรวมเสียงได้แบบปริ่มน้ำ โดยมีบรรดา สว. ยกมือลงมติให้อย่างไม่แตกแถว ถือว่าสืบทอดอำนาจได้อย่างสมบูรณ์

ตลอดสมัยการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชนต่างใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการยื่นเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แต่ด้วยการวางหมากที่ซับซ้อนของฝ่ายเผด็จการ ทำให้ยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ 

ล่วงเลยมาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลพลิกมาเป็นพรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ด้วยสภาพการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ จึงต้องรวมเสียงกับพรรคอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังตัดตอนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลยังคงดำเนินอยู่ภายใต้กติกาอันบิดเบี้ยวฉบับเดิม ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จำต้องส่งไม้ต่อภารกิจจัดตั้งรัฐบาลให้กับพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ 

ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากอีกหลายผลกระทบภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นผลผลิตจากการรัฐประหารของ คสช. จนหลายคนให้คำนิยามว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตรัฐธรรมนูญ กลายเป็นอีกหนึ่งความซับซ้อนของการสร้างประชาธิปไตย โดยเฉพาะการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาประเทศหลายด้านเป็นไปได้ยาก

ลบล้างกลไกสืบทอดอำนาจ ด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เส้นทางการสร้างสังคมประชาธิปไตยของไทยเต็มไปด้วยขวางหนาม และการรัฐประหารนับเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างไรก็ตาม ยังกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับที่มีความยึดโยงกับประชาชนมากกว่าฉบับอื่นๆ และเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดของไทย ดังนั้นแล้วการจะนำพาประเทศไทยกลับเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตยและความปกติทางการเมืองอีกครั้งจึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

หลักสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ต้องทำลายระบอบ คสช. ลบล้างกลไกสืบทอดอำนาจ และเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลใหม่หลังจากนี้ต้องเร่งดำเนินการคือ ผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสรุปมีกระบวนการดังนี้

  1. ทำประชามติเสนอให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี มติรัฐสภา โดยการเสนอของ สส. หรือการเข้าชื่อของประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ
  2. ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 วาระ กำหนดวิธีการเลือก สสร.
  3. ทำประชามติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256
  4. เลือกตั้ง สสร. โดยประชาชน เพื่อเป็นตัวแทนร่างรัฐธรรมนูญ
  5. ทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เป็นที่ทราบกันดีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเรื่องยากและกินระยะเวลานาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะต้องเริ่มกระบวนการโดยเร็วที่สุดเมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความต้องการของตนเอง 

หน้าที่ของประชาชนต่อจากนี้จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยที่ถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะกลับมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะสะท้อนการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นออกมาอย่างไร จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งความหวังในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งอย่างแท้จริงหรือไม่ ผู้มีอำนาจในรัฐสภา ทั้ง สส. สว. รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ต้องพิสูจน์ความจริงใจต่อประชาชน

อ้างอิง:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า