สภาพภูมิประเทศ
บ้านหัวทุ่ง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบติดเชิงเขาดอยนางและดอยหลวง มีป่าเบญจพรรณเป็นป่าชุมชน อยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างหมู่บ้านหัวทุ่งกับเขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว นอกจากนี้ยังมีป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอยชุมชนอยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน เป็นแหล่งกำเนิดน้ำรู (น้ำฮู) และมีแม่น้ำลุไหลผ่านให้ชุมชนอุปโภคบริโภค โดยมีท้องทุ่งนาทอดยาวขนานไปตามลำน้ำ
สภาพภูมิอากาศ
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม บางปีอาจมีฝนตกในฤดูหนาวเนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขาสูง อากาศจะเริ่มหนาวเย็นในช่วงประมาณเดือนตุลาคมไปจนถึงมกราคม ซึ่งเป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวนิยมชมชอบ
ภูมิหลังชุมชนท้องถิ่น
บ้านหัวทุ่ง เดิมขึ้นอยู่กับบ้านทุ่งละคร หมู่ที่ 1 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาสภาพชุมชนเริ่มมีการขยายตัวหนาแน่นขึ้น จึงแยกจากหมู่บ้านทุ่งละครในวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 เป็นบ้านหัวทุ่งในปัจจุบัน
คนในชุมชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายลัวะและไทลื้อ สื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นเหนือที่เรียกกันว่า ‘คำเมือง’ กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว ทำสวนลำไย และพืชหมุนเวียนอย่างถั่วลิสง บ้างเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคและเพื่อประกอบพิธีกรรม เช่น ไก่ไข่และไก่พันธุ์พื้นเมือง ชาวบ้านบางรายเปิดธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน เมื่อว่างเว้นจากการทำไร่นา แทบทุกครัวเรือนจะทำงานจักสานเข่งไม่ไผ่ หรือ ‘ก๋วย’ เป็นอาชีพเสริม
พันธุ์ข้าว
ข้าวสันป่าตอง 1, ข้าวเหมยนอง, ข้าว กข 6, ข้าวหอมนิล, ข้าวไรซ์เบอร์รี, ข้าวหอมมะลิ 105
เที่ยวบ้านหัวทุ่ง
หากเปรียบหมู่บ้านบ้านหัวทุ่งเป็นคนสักคนหนึ่ง คงแลดูคล้าย ‘สาวจี๋’ หรือสาวน้อยเมืองเหนือแรกแย้มสดสวย ด้วยสภาพหมู่บ้านที่รายล้อมไปด้วยทุ่งนาชูยอดไสว แล้วโอบล้อมด้วยอ้อมกอดของดอยหลวง ดอยนาง และหมอกเย็นสีขาวจางๆ ห่มคลุมยอดดอยอีกชั้นหนึ่ง นอกจากชาวบ้านที่ผูกพันกับบรรยากาศงดงามของบ้านหัวทุ่งมาตั้งแต่เล็กแล้ว ระยะหลัง ‘สาวจี๋’ นางนี้ยังเนื้อหอมเป็นที่หมายปองของคนนอกชุมชนที่แบกความรู้สึกเบื่อป่าคอนกรีตเข้ามาเสาะหารสสัมผัสของธรรมชาติอีกกลุ่มหนึ่งด้วย
“บ่าเดี่ยวนี้การถือครองที่ดินของคนในหมู่บ้านเฮาเปลี่ยนมือไป นายทุนเข้ามาซื้อ เพราะวิวที่นี่งาม ที่ดินแถบบ้านหัวทุ่ง-ทุ่งละครจะแพงมาก ที่นาไร่ละเป็นล้านนะเจ้า เพราะมองแล้วจะเห็นดอยชัด ว่ากันว่าถ้าอยู่ระหว่างดอยหลวงกับดอยนางจะเป็นอะไรที่วิเศษ เป็นสิริมงคล คนก็เลยแห่กันมาซื้อ”
ศิริวรรณ รู้ดี ผู้ใหญ่บ้านหญิงที่คนท้องถิ่นเรียกเธอว่า ‘แม่หลวง’ เล่าความกังวลของคนในหมู่บ้าน เนื่องจากบ้านหัวทุ่งทำนาเป็นหลัก แต่ก็รู้กันอยู่ว่าอาชีพชาวนากับความร่ำรวยแทบจะเป็นถนนคนละเส้น การขายที่นาแล้วรับเงินก้อนต่างหากที่จะทำให้ได้สตางค์เร็วขึ้น
“ถ้าที่ดินถูกเปลี่ยนมือ ความเป็นศักดิ์เป็นศรีของชาวนาที่เหลืออยู่ก็หายไป เฮาก็เลยคิดว่าจะมาต่อยอดทำเป็นชุมชนท่องเที่ยว เพื่อจะเก็บรักษาวิถีชาวนาของบรรพบุรุษไว้” แม่หลวงว่าถึงที่มาของการขยับชุมชนชาวนาให้กลายเป็นชุมชนชาวนาเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าของการลงแรงทำนาให้เกิดดอกออกผล และยังคงรักษารากเหง้าของชุมชนดั้งเดิมเอาไว้
การเปลี่ยนหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่ยังผลด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แม่หลวงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ด้านสุขภาพที่คนในหมู่บ้านจะได้รับด้วย จากการปรับลดการใช้สารเคมีในแปลงนาเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถลงมาทดลองปักกล้า เก็บเกี่ยว หรือเซลฟีได้อย่างปลอดภัย
“ไม่ใช่ว่าได้แค่สตางค์ แต่ได้เรื่องวิถีชีวิตชาวนาที่เปลี่ยนไปจากที่ใช้เคมีมาเป็นอินทรีย์ ได้ต่อยอดโปรแกรมท่องเที่ยวที่เรามีอยู่ให้หลากหลายขึ้น ให้ชาวบ้านมีรายได้ มีความสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
ความสามัคคีที่แม่หลวงพูดถึง ไม่ใช่วาทกรรมอย่างที่ใครต่อใครชอบยกขึ้นมาพูดลอยๆ แต่การจะเปลี่ยนชุมชนหนึ่งได้ ต้องอาศัยแรงกายแรงใจของคนจำนวนไม่น้อยทีเดียว หลังจากปรึกษาโครงการกับ ‘อ้ายอรุณ’ หรือ อรุณ อุไร พี่เลี้ยงจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรียบร้อยแล้ว แม่หลวงจึงสร้างทีมท่องเที่ยวขึ้นมาจากส่วนผสมของคนในชุมชน ทั้งลูกหลานที่เคยออกไปศึกษาปริญญาเอกแล้วกลับมาสร้างแปลงนาอินทรีย์ที่บ้านในนามกลุ่ม ‘ม่วนใจ๋’ (วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว) กลุ่ม ‘ละอ่อน’ เด็กเล็กวัยเรียนมารวมกันฝึกลีลาการรำฟ้อนต้อนรับนักท่องเที่ยว สาวอดีตภรรยาชาวต่างชาติที่มีโอกาสเรียนภาษาในเมืองนอกกลับมาเป็นผู้ประสานงานกลุ่มทัวร์ สามีภรรยาที่อุทิศเวลาหลายชั่วโมงในหนึ่งวันแปรรูปข้าวเหนียวที่ปลูกในชุมชนให้กลายเป็นข้าวแต๋นแผ่นบางเฉียบ ไปจนถึงบรรดาชาวบ้านที่พลิกโฉมห้องหับตัวเองเป็นโฮมสเตย์บ้านนา รองรับนักท่องเที่ยวที่ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติที่รู้จักชุมชนบ้านหัวทุ่งผ่านบริษัททัวร์
แม่หลวงยอมรับว่า บ้านหัวทุ่งยังคงอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากชุมชนชาวนาไปเป็นการทำนาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะความพยายามที่จะก้าวไปสู่การทำนาอินทรีย์ล้วนๆ ปลอดสารเคมีหมดจดที่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้นทุนของการทำนาอินทรีย์สูงทั้งเรื่องเงินและเวลา เป็นต้นว่าต้องพักที่ดินทิ้งไว้เปล่าๆ หลายปี ได้ผลผลิตน้อยลงในปีแรกๆ อย่างดีอาจได้แค่พอกิน แต่ไม่พอขาย ต้องใช้ความเอาใจใส่อย่างมาก ต้นทุนเหล่านี้ยังคงเป็นภาระของชาวนาส่วนมาก
ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับแปลงนาทั่วไปที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้เป็นแปลงนาปลอดสารสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ จึงเป็นการค่อยๆ ประนีประนอมกับธรรมชาติโดยการปรับลดสารเคมีลดมาเป็นกึ่งอินทรีย์แทน และเพื่อล้างสารพิษที่อาจตกค้างในข้าว เมื่อทำนาเสร็จชาวบ้านก็จะพากันมาเก็บว่านรางจืด สมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยล้างพิษในป่าใช้สอยสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน นำมาผสมน้ำตามสูตรที่อนามัยชุมชนเคยอบรมไว้ นำมาล้างตัวหรือดื่มกินเพื่อช่วย ‘ดีท็อกซ์’ แบบบ้านนา
ในป่าใช้สอยนี้มีพืชพรรณหลากหลายที่ชาวบ้านสามารถเข้ามาเก็บหาไปรับประทานได้ฟรีๆ ทั้งกาแฟ ชะอม มะขาม พริกไทย เงาะ ไปจนถึงพืชสมุนไพรหายากอย่างมะเขือแจ้และฮ่อสะพายควาย แลกกับการช่วยกันทำนุบำรุงรักษาหรือหาพืชผักมาปลูกเพิ่มตามแต่จะอยากกิน
แต่ในขณะที่ชาวนาส่วนมากกำลังขยับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ชายหนุ่มคนหนึ่งในบ้านหัวทุ่งกลับใช้วิธีหักดิบด้วยการอุทิศที่นารวมกันราว 15 ไร่ ทำเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ขนาดทดลองที่ตั้งเป้าไว้ว่าต้องปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ‘อ้ายเมือง’ หรือ แสงเมือง สุขดี หนุ่มวัย 30 ย่างเข้า 31 อวดผิวสีเกรียม ตัดกับผมซึ่งทำสีมาอย่างเผ็ดร้อน สีผมของเขาอาจบอกใบ้ความขบถในตัวได้ฉันใด การทุ่มเทแรงกายให้กับการทำเกษตรอินทรีย์ท่ามกลางความกังขาเรื่องความไม่คุ้มทุนก็อาจบอกใบ้ถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลิกฟื้นดินและน้ำที่บ้านเกิดของเขาได้ฉันนั้น
“มีแต่คนถามว่า กึ๊ดอย่างใดไปยะนาอินทรีย์” เขาใช้คำเมืองเล่าปนหัวเราะอย่างเข้าใจในความห่วงหาของชาวบ้านรอบข้างที่กังวลว่าการทำนาอินทรีย์จะได้ไม่คุ้มเสีย “พอกินก็ดีแล้ว ได้สุขภาพของเฮาตวย”
อ้ายเมืองทดลองปลูกข้าวปะปนกันหลายพันธุ์ในหนึ่งแปลง ทั้งข้าวยอดนิยมอย่างหอมมะลิและไรซ์เบอร์รี ไปจนถึงข้าวสายพันธุ์โบราณที่แทบไม่มีใครปลูกแล้ว อย่างข้าวเหมยนอง ข้าวก่ำล้านนา หรือที่คุ้นกันในชื่อข้าวเหนียวดำ เนื่องจากข้าวเหมยนองงอกเป็นต้นเร็ว ส่วนข้าวก่ำก็แข็งเคี้ยวลำบากจนไม่นิยม แต่อ้ายเมืองยักไหล่ บอกว่าเขาปลูกไว้เพื่อรักษาความหลากหลายของพันธุ์ข้าว
“ในสภาพดินที่ต่างกัน ก็มาทดลองกันว่าพันธุ์ไหนจะได้ผลผลิตดีกว่ากัน” เขาบอก ยิ้มคะนองอย่างเด็กๆ
อ้ายเมืองได้สิทธิ์ใช้ที่นาทั้งสิบกว่าไร่พร้อมเงินสนับสนุนจากนายทุนชาวกรุงเทพฯ ผู้เป็นเจ้าของแปลงนาให้มาทำกินฟรีๆ โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นเกษตรอินทรีย์และต้องออกค่าใช้จ่ายเองบ้างบางส่วน กระนั้นในช่วงแรก แม้แต่คนมุ่งมั่นและมีทุนสนับสนุนอย่างอ้ายเมืองยังยอมรับว่า “เหมือนโยนหินลงน้ำ” เพราะจริงอย่างที่เขาว่ากันว่าประมาณสองปีแรก ผลผลิตจะน้อยลงกว่าการใช้สารเคมีเข้าช่วยอย่างน่าใจหาย
เขานิยามผลผลิตทั้งหมด 25 กระสอบ จากที่นาทดลอง 3 ไร่ ในปีแรกอย่างขำๆ ว่า “แทบขาดทุน” ก่อนที่ผลผลิตจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีถัดมาเป็น 35 กระสอบ หรือตกราวไร่ละ 11 กระสอบกว่า พอให้ใจชื้น เพราะเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับผลผลิตข้าวจากนาเคมีที่อยู่ประมาณ 20 กระสอบต่อไร่ เมื่อย่างเข้าปีที่ 3 ในปีนี้ อ้ายเมืองตัดสินใจขยับขยายนาอินทรีย์เพิ่มอีก 12 ไร่ รวมเป็น 15 ไร่
ที่นาของอ้ายเมืองใช้เป็นสถานที่ตัวอย่างสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชาวนาแท้ๆ ณ จุดกึ่งกลางระหว่างแปลงนาธรรมชาติและแดดร้อนเปรี้ยง อ้ายเมืองออกตัวว่าแปลงนาของเขาอาจไม่สวยเท่าของคนอื่น แต่ก็ปราศจากยาฆ่าหญ้า ส่วนหัวนา-ท้ายนาก็มีข่า ตะไคร้ ผักบุ้ง และมะละกอที่เก็บกินได้ ถ้าบางวันโชคดีก็จะเจอปูนาหรือปลาไหลซุกตัวแอบในท้องร่อง พอให้ช้อนมาเป็นอาหารได้
พอพักเที่ยง อ้ายเมืองควักกล่องข้าวประจำตัวออกมาจากย่าม ในกล่องอัดแน่นด้วยข้าวสวยสีม่วงอ่อน “อันนี้ไรซ์เบอร์รี สีข้าวเอง” เขาว่าก่อนจะก้มลงตักกับข้าวในกล่องอีกใบราด เคี้ยวตุ้ย
“ลำ” เขาว่า อันหมายความว่าเอร็ดอร่อยยิ่งนัก
จากเม็ดเป็นรวง เตรียมร่วงลงจาน
คนที่นี่กินข้าวเหนียวเป็นหลัก หากไม่ใช่นักสรรหาพันธุ์ข้าวโบราณมาปลูกเพื่ออนุรักษ์อย่างอ้ายเมือง พันธุ์ยอดนิยมที่คนบ้านหัวทุ่งปลูกมากก็คือ ข้าวเหนียวสันป่าตอง 1 โดยหลักๆ จะปลูกไว้บริโภคเองในครัวเรือนและแบ่งบางส่วนไว้ขาย ข้าวสันป่าตอง 1 ให้รสสัมผัสเหนียวนุ่ม ทนต่อสภาพอากาศ ปลูกได้ตลอดปี รอบการปลูกสั้นและให้ผลผลิตสูง ประมาณ 630 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าข้าวเหนียวพันธุ์อื่นๆ อย่างเหมยนองหรือหอมนิล
การหว่านกล้าและปั้นคันนาจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน จากนั้นจึงจะไถคราดและถอนกล้าข้าวขึ้นมาปลูกในเดือนกรกฎาคม
“คนบ้านเฮาทำนาปีละครั้ง เพราะพอหน้าแล้งน้ำจะบ่ค่อยพอ” ในหมู่บ้านบ้านหัวทุ่ง อินทร์ชัย กันทา ได้รับตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการเสมือนผู้จัดการสายน้ำ ทำหน้าที่คอยจัดสรรปันส่วนน้ำที่ไหลมาจากแหล่งต้นน้ำ ทั้งน้ำรู (น้ำฮู) และลำห้วยแม่ลุ (หลุ) ให้กับที่ดินแต่ละแปลง คนที่นี่เรียกผู้จัดการน้ำในชุมชนว่า ‘แก่เหมืองแก่ฝาย’ เป็นการทำหน้าที่โดยไม่มีเงินทองตอบแทน แต่เมื่อสิ้นสุดฤดูทำนาก็จะรับคำขอบคุณและสินน้ำใจจากชาวบ้านเป็นข้าวจำนวนหนึ่งแทน ในอัตราข้าว 1 ต๋าง หรือราว 30 ลิตร ต่อที่นา 1 แปลง
“ถ้าได้น้ำไม่พอ มันก็เหมือนคนบ่ได้กิ๋นนม” พ่ออินทร์ชัยเปรียบกลั้วหัวเราะ “ต้นข้าวมันจะเตี้ย แคระ กว่าจะได้ทำนาก็ช้ากว่าคนอื่นเขา เพราะต้องรอน้ำ”
เพื่อไม่ให้เม็ดข้าวเติบโตเป็นต้นแคระเหมือนเด็กขาดนม สองมือเปื้อนดินของพ่ออินทร์ชัยจึงต้องเข้าไปจัดการน้ำตั้งแต่ก่อนฤดูทำนา เริ่มจากประกอบพิธีเลี้ยงขุนน้ำรูและผีฝายในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ตามความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนที่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยอำนวยให้น้ำไหลราบรื่นตลอดฤดูกาล จากนั้นแก่เหมืองแก่ฝายจะตีฝายครั้งแรกในช่วงก่อนฤดูฝน และเริ่มแบ่งน้ำเข้านา โดยให้เวลาที่นาแปลงหนึ่งได้ ‘กินน้ำ’ แปลงละ 1 วัน 1 คืน กินเสร็จก็ยกฝายกั้นน้ำออก ปล่อยให้ผืนนาถัดไปได้กินน้ำต่อ ผลัดกันไปเรื่อยๆ ให้ทั่วถึงทั้งหมู่บ้าน
“กรมชลฯ เคยจะเข้ามาทำเหมืองคอนกรีตให้ เฮาบ่เอา เพราะไม่อยากเสียความมั่นคงทางอาหาร”
ระหว่างที่แบ่งสรรปันน้ำ แก่เหมืองแก่ฝายยังต้องทำหน้าที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบกับแหล่งน้ำของชุมชน เช่น ตรวจตราดูไม่ให้มีใครทิ้งขยะหรือสารเคมีลงในแหล่งต้นน้ำรู ป้องกันการล่าปลาด้วยวิธีช็อตไฟฟ้า และดูแลรักษาไปจนถึงต้นกล้วย พืชอวบน้ำที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำและหยั่งรากช่วยอุ้มน้ำ
พ่ออินทร์ชัยวางกติกาในชุมชนไว้หลายข้อ รวมถึงข้อที่ว่าด้วยเรื่องกล้วยๆ “ตัดเครือได้ แต่ห้ามตัดต้น” และคอยมาสอดส่องด้วยตัวเองเป็นระยะ ทั้งหมดนี้ไม่ได้ร่ำเรียนหรือผ่านการอบรมมาจากที่ไหน แต่ด้วยเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากปู่ย่าตายายที่ทำสืบต่อกันมาหลายรุ่น พ่ออินทร์ชัยจึงพอมีความรู้เรื่องจัดการน้ำได้ไม่ยาก
พ่ออินทร์ชัยเล่าว่า แม้บางปีจะแล้งก็ยังหาทางปันน้ำให้ทุกคนพอทำนาได้ โดยคนปลายน้ำจะรอคอยให้น้ำมาถึงที่นาของตัวเองอย่างสงบ ไม่มีการลัดคิวหรือใครได้มากหรือน้อยกว่าใคร แม้แต่ที่นาของพ่ออินทร์ชัย ผู้ทำหน้าที่คนควบคุมแม่น้ำทั้งสายที่ไหลผ่านหมู่บ้านมากว่า 30 ปี ก็ไม่ได้รับอภิสิทธิ์นั้น
“เผลอๆ เฮาได้น้อยกว่าลูกบ้านแหมนะ” พ่ออินทร์ชัยยิ้ม
ปีนี้น้ำแล้ง ทั้งหมู่บ้านต้องอดทนรอให้น้ำรูมาถึงกันถ้วนหน้า ฤดูกาลทำนาจึงล่าช้าไปเล็กน้อย แต่ก็ยังพอชูรวงไสวไม่แคระแกร็น
การทำนาตามขนบดั้งเดิมมีขั้นตอนมากมายตั้งแต่การเตรียมน้ำไปจนถึงเก็บเกี่ยว แม้วิถีการผลิตของชุมชนจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ความเชื่อที่ยังมีอยู่ทำให้พิธีกรรมผูกข้อมือควายก่อนเก็บเกี่ยวได้รับการ ‘อัปเกรด’ อย่างโก้ๆ ขึ้นมาเป็นพิธีผูกข้อมือรถไถแทน เปรียบเหมือนการบอกกล่าวหรือเรียกขวัญรถไถก่อนจะลงนา เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงค่อยมัดสายสิญจน์เข้ากับคันไถ เสมือนผูกเขาควาย
ปู่จ๋านถวิล ศรีเงิน ในวัย 71 ปี มีสถานะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณภายในชุมชนและเป็นตัวแทนในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ปู่จ๋านเล่าเป็นเกร็ดว่า คนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ได้อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติข้อหนึ่งคือ ผ่านการบวชพระและสึกออกมาเป็นทิด หรือ ‘หนาน’ เสียก่อน
ประมาณเดือนสิงหาคม การมัดข้อมือ ไม่ว่าจะ ‘ควายแท้’ หรือ ‘ควายเหล็ก’ มีแก่นสารเดียวกันคือ แทนคำขอบคุณแด่มิตรสหายที่ช่วยกันทำนา เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย ปู่จ๋านบอกว่าหากปีไหนไม่ได้ทำพิธีก็จะรู้สึก ‘ขำใจ๋’ ไม่คุ้นชิน เหมือนมีอะไรบางอย่างติดค้างในความรู้สึก
“อย่าให้มันเสีย ขอให้อยู่ดีมีสุขกันทั้งเจ้าของ ทำไร่ทำนาก็ขอให้ออกมาเรียบร้อยดี ถึงแม้เจ้าจะไม่มีชีวิต แต่ข้าก็ใช้เจ้ามาเป็นแรงงาน บัดนี้ข้าจะมามัดมือให้เจ้าตามที่ได้บอกกล่าวกันไว้นะ” ปู่จ๋านจัดแจงวางถาดเครื่องเซ่นไว้บนโต๊ะ ประกอบด้วยเหล้าหนึ่งไห ไก่หนึ่งคู่ ขนม และผลไม้อีกสองสามอย่าง และขันน้ำขมิ้นลอยฝักส้มป่อย “ถึงแม้มันจะไม่มีชีวิต แต่ก็เหมือนกับว่ามันมีชีวิต มันรักเรา เราก็ต้องอยู่กับมัน ใช้มันไปตลอด”
มือที่เหี่ยวโรยด้วยวัยชรา จุ่มชุบน้ำส้มป่อย ปะพรมลงบนเนื้อเหล็กของเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก แล้วปล่อยเครื่องเซ่นทิ้งไว้บูชาควายเหล็ก ราวครึ่งชั่วโมงจึงยกลา
การเกี่ยวข้าวมีขึ้นหลังจากนั้นอีกราวเดือนตุลาคม ถัดมาในเดือนพฤศจิกายนหรือ ‘เดือนเกี๋ยง’ จึงเป็นกิจกรรมตีข้าวและขนขึ้นยุ้งฉาง เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางแสนยาวนานของเมล็ดข้าวไปเป็นรวง และนอนสงบนิ่งอยู่บนยุ้งฉาง รอให้เสียงสนั่นของเครื่องยนต์โรงสีในชุมชนทำหน้าที่กะเทาะเปลือก เปิดเผยเนื้อในสีขาวนวลน่ารับประทาน
ข้าวเปลือกทั้งหมดจะถูกเก็บเอาไว้บนยุ้งฉาง เมื่อถึงเวลาจะรับประทานค่อยแบ่งมาสีสัก 2-4 กระสอบต่อเดือน โรงสีที่ชุมชนบ้านหัวทุ่งนิยมไปใช้บริการเปิดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า เครื่องสีเป็นเครื่องเก่าแก่ตั้งแต่ปี 2515 แต่ยังคงห้าวหาญใช้การได้จนถึงวันนี้ แม้จะผ่านการ ‘ยกเครื่อง’ แซมเครื่องเคราที่เดิมทำจากไม้ล้วนๆ ด้วยเหล็กบ้าง ไม้ใหม่บ้าง ตามแต่จะหาอะไหล่ชิ้นใดได้ในแต่ละยุค
แดดที่ลอดผ่านรอยแตกของผนังไม้ฉายให้เห็นฝุ่นที่คลุ้งในโรงสี และปฏิทินนางแบบในท่าวาบหวิวฝีมือลูกค้าชาวจีนรักสนุกที่เอามาฝากไว้เป็นที่ระลึกจนเก่าซีด เสียงสายพานดังครืดคราด สักพักก็เนรมิตข้าวเปลือกกลายเป็นข้าวสารพร้อมหุง ครัวเรือนไหนที่ยกกลับไปทั้งข้าว แกลบ และรำ ก็ชำระค่าสีกระสอบละ 15 บาท ส่วนครัวเรือนที่ยกกลับไปแต่กระสอบข้าว ทิ้งแกลบและรำไว้ให้เจ้าของโรงสีได้ใช้เลี้ยงไก่ต่อ ก็ถือว่าสีฟรี
ข้าวแต๋นบางกรอบ ต้องกลั้นลมหายใจถึงจะได้กิน
ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 ถูกนึ่ง นวด และทอดจนกรอบเป็นแผ่นเหลืองบางจ๋อย ถูกบรรจุลงถุงพลาสติกเตรียมจำหน่ายในตลาดนัดอำเภอเชียงดาว ความบางกรอบราวกับกระดาษจากข้าวที่เรียงเม็ดทำให้ผู้รับประทานต้องค่อยๆ ประคับประคองแผ่นข้าวแต๋นขนาดบางเบา และเล็มทีละน้อยจนแทบต้องกลั้นลมหายใจ
จ่าสิบเอกบุญเป็ง แก้วยอดหล้า อดีตนายทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่วัย 61 สามีแม่เพ็ญศรี แก้วยอดหล้า สลัดเครื่องแบบท่อนบนพาดทิ้งไว้ที่ไหนสักแห่ง นั่งหน้าเตาร้อนๆ ข้างกายมีกระบะข้าวเหนียวแผ่นกลมบางๆ เรียงเป็นตั้ง 2 กระบะเต็ม จ่าบุญเป็งพลิกกระชอนทอดข้าวแต๋นสลับกับซับเหงื่อ ปฏิเสธที่จะเปิดพัดลมเพราะกลัวก๊าซชีวภาพที่ใช้ทอดจะวูบไหว อันจะส่งผลต่อความร้อนในการทอดและคุณภาพความกรอบของข้าวแต๋นแผ่นบางในกระทะ ต้องแน่วนิ่งอย่างนี้ไปตลอด 3 ชั่วโมง จนกว่าจะทอดเสร็จ
“ร้อนมาก แม่เลยไม่ทอดเอง ไม่อยากฝึกด้วย!” จ่าบุญเป็งแสร้งโวยวายแซวศรีภรรยาที่กำลังบรรจุข้าวแต๋นทอดสุกแล้วลงถุงอยู่อีกมุมหนึ่ง และแน่นอนว่ามุมที่แม่เพ็ญศรีนั่งนั้นมีพัดลมเปิดอยู่ตัวหนึ่ง “ตอนแรกก็นั่งดูแม่ทอด มันเบี้ยวไปเบี้ยวมา เห็นแล้วอารมณ์บ่ดี เลยมาลองทอดเอง แผ่นเดียวได้เฉย จากนั้นแม่ก็ยกให้เป็นหน้าที่ผมเลย”
ครอบครัวของแม่เพ็ญศรีไม่ได้ทำนา จึงใช้วิธีรับซื้อข้าวเหนียวเก่าจากคนในชุมชนเป็นกระสอบ เรื่องการเลือกพันธุ์ข้าวเหนียว แม่ก็เล่าว่าผ่านการลองผิดลองถูกมายกใหญ่ กว่าจะมาจบที่ข้าวพันธุ์สันป่าตอง จากเดิมใช้ข้าวเหนียว กข 6 แต่ก็ต้องเปลี่ยนเพราะต้นทุนข้าวแพง เมื่อแก้ปัญหาแรกว่าจะใช้ข้าวพันธุ์อะไรดี ก็มาสู่คำถามว่าจะนึ่งนานเท่าไรดี เป็นอุปสรรคที่ทั้งคู่ต้องช่วยกันคิดต่อ
“ตอนหัดทำแรกๆ มันก็ยากอยู่” แม่ยอมรับ “ถ้าสุกล้ำไป พอทอดแล้วมันก็ไม่ฟู”
แม่เพ็ญศรีบอกว่า ช่วงแรกมีนักศึกษาปริญญาเอกที่เป็นลูกหลานของคนในชุมชน ชื่อ ‘น้องมล’ จิราวรรณ คำซาว เป็นผู้ริเริ่มนำโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเข้ามาในชุมชน จนได้ข้อสรุปกันว่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นจำหน่ายเพื่อเพิ่มมูลค่า จากนั้นจึงมอบหมายให้แม่บ้านแต่ละคนลองนำสูตรข้าวแต๋นไปพัฒนาเป็นของตัวเอง ส่วนจ่าบุญเป็งก็เล่าว่าสมัยที่ยังคงค้นคว้าสูตรไปเรื่อยๆ ข้าวแต๋นตากแห้งกระบะหนึ่งอาจต้องทิ้งครึ่งต่อครึ่ง เพราะทอดแล้วหักบ้างแตกบ้าง พาลให้สองสามีภรรยาทะเลาะกันเรื่องทอดข้าวแต๋นไปพักใหญ่
ถึงแม่เพ็ญศรีจะยกหน้าที่ในการทอดข้าวแต๋น ผลผลิตจากข้าวเหนียวในชุมชนให้สามีรับผิดชอบ แต่ ‘ศิลปะในการเต๊ะ’ หรือการกะปริมาณส่วนผสมต่างๆ โดยไม่ต้องง้อเครื่องตวง ก็ยังคงเป็นเคล็ดลับของแม่ที่ไม่มีใครทำได้เหมือน แม่จะตื่นมานึ่งข้าวเหนียวแต่เช้ามืดเวลาตีสาม ครั้งหนึ่งใช้ข้าวประมาณ 8-10 ลิตร ยกขึ้นมาคลุกงา น้ำตาลปีบ ผงฟู เนย และผสมน้ำแตงโม 1 ลูกเต็มๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม จากนั้นกะก้อนข้าวเหนียวด้วยสายตาอีกครั้ง กดลงพิมพ์ ปิดทับด้วยแผ่นพลาสติก แล้วรีดจนบางเฉียบ กระทั่งไม่มีข้าวเมล็ดไหนเรียงทับกัน เคล็ดลับคือต้องรีดระหว่างที่ข้าวเหนียวยังร้อนกรุ่น จากนั้นสะบัดอย่างเบามือให้ข้าวหลุดออกจากพิมพ์ เพื่อวางบนตะแกรงสำหรับเตรียมยกไปตากแห้ง จับเวลาดูแล้วกินเวลาไม่กี่วินาที ตากแดดจ้าทิ้งไว้สักสองแดดก็พร้อมนำไปทอด
จากวันแรกที่ขลุกขลักเพราะไม่รู้สูตร วันนี้แม่เพ็ญศรีกลายเป็น ‘นักเต๊ะส่วนผสม’ ที่ชำนาญ โดยมีจ่าบุญเป็งเป็นพนักงานทอดข้าวแต๋นกิตติมศักดิ์ ถึงวันนี้ครอบครัวนี้ก็ทอดข้าวแต๋นขายได้ 5 ปีแล้ว มีทั้งโรงแรม ตลาดนัด และนักท่องเที่ยวรับซื้อในราคาแผ่นละ 2 บาท
“กำไรเยอะไหมไม่รู้สิ กินไปขายไป” แม่เพ็ญศรีว่าไม่ได้บันทึกยอดขายเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็จบลงที่สถิติ “ทอดเก็บไว้แค่ 1-2 วัน ก็ขายหมด”
จ่าบุญเป็งบอกว่า ก๊าซที่ใช้หุงต้มในครัวเรือนเป็นก๊าซชีวภาพจากมูลหมูในฟาร์มใกล้ชุมชน เจ้าของเป็นนักธุรกิจชาวกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจว่าจะหาทำเลห่างไกลเพื่อตั้งฟาร์มสุกรไม่ให้รบกวนชุมชน แต่สุดท้ายก็ยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องกลิ่นได้ เพื่อแก้ปัญหากลิ่นมูลหมูรบกวนชาวบ้าน สุดท้ายเจ้าของฟาร์มจึงอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่พัฒนามูลหมูให้เป็นก๊าซหุงต้มชีวภาพ เดินท่อก๊าซเข้าสู่ทุกครัวเรือน แล้วเก็บค่าบริการในอัตราถูกแสนถูกเดือนละ 40 บาท ส่วนน้ำขี้หมูที่ไหลมาจากคอก ชาวบ้านก็สามารถนำไปใส่ที่นาเพื่อเพิ่มผลผลิต การพึ่งพาและจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบทำให้บ้านหัวทุ่งเป็นสถานที่ดูงานอันดับต้นๆ นอกเหนือไปจากการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับชาวไทยและต่างชาติ
‘ก๋วย’ เครื่องจักสานสร้างรายได้เสริม
“มันดีจะอี้ คนเฒ่าคนแแก่บ้านเฮาบ่ตกงาน”
ป่าไผ่เศรษฐกิจตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงบ้านหัวทุ่ง นอกจากจะเป็น ‘ทุนทางการท่องเที่ยว’ ที่นำพาคณะดูงานจากต่างจังหวัดให้มาศึกษาความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรชุมชนแล้ว ป่าไผ่ยังเป็น ‘ทุนทางเศรษฐกิจ’ โดยตรงของชาวบ้านในชุมชนด้วย เนื่องจากคนในชุมชนที่เป็นสมาชิกกลุ่มป่าไผ่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ เอามาใช้จักสาน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ก๋วย’ เป็นอาชีพเสริมได้โดยไม่ต้องเสียต้นทุนวัตถุดิบ
บริเวณหน้าป่าไผ่ มีกฎเขียนไว้ทั้งสิ้น 11 ข้อ เป็นข้อตกลงในการใช้ทรัพยากรไผ่พันธุ์บงกายในป่า เป็นต้นว่า แต่ละบ้านที่เคยตัดไม้ไผ่ไปใช้จะต้องกลับมาพัฒนาป่าทุกครั้งที่ประธานชุมชนนัด ซึ่งมักจะเป็นการนัดทำความสะอาดในราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หากลูกบ้านหลังคาใดไม่มาหรือมาไม่ได้ก็จะต้องจ่ายค่าปรับครั้งละ 100 บาท และห้ามขุดหน่อไม้เด็ดขาด เพื่อให้ป่ายังคงมีไผ่บงต้นใหม่ๆ ไว้ทำพันธุ์อยู่เสมอ
การแบ่งสรรปันส่วนไผ่จะใช้วิธีการแบ่งกันเป็นกอๆ การเลือกปลูกไผ่พันธุ์บงกายแสดงถึงภูมิปัญญาในการเลือกไม้ไผ่ให้เหมาะกับการใช้งาน เพราะนอกจากไผ่บงกายแล้ว ในชุมชนยังมีต้นไผ่อีกหลายชนิด เช่น ไผ่ซาง ที่มีคุณสมบัติเนื้อเหนียว นิยมนำมาใช้มัดกองข้าวมากกว่านำมาทำก๋วยเหมือนไผ่บง ส่วนไผ่บงกาย คำว่า ‘กาย’ เป็นคำเมือง หมายถึงระคาย บ่งบอกถึงลักษณะของผิวไผ่
ก่อนที่แม่คำจันทร์ แก้วไหลมา จะตัดสินใจเปิดบ้านพักโฮมสเตย์ในอำเภอเชียงดาว เธอและสามีสร้างตัวมาจากการสานก๋วยหรือกระบุงไม้ไผ่ ขายให้กับพ่อค้าผักในตลาดที่คอยมารับซื้อ แม่คำจันทร์เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งเธอกับสามีเคยส่งลูกชายและลูกสาวจนเรียนจบปริญญาได้สำเร็จด้วยตอกไม้ไผ่กับมืออีกสองคู่
แม่คำจันทร์เล่าในวงสำรับมื้อเย็น พลางจ้ำข้าวเหนียวไปว่า ลูกสาวของเธอบัดนี้ทำงานได้ดีอยู่ในตัวเมือง เมื่อครั้งลูกสาวยังเล็กๆ ก็ต้องผ่านประสบการณ์ช่วยพ่อแม่สานก๋วยขายเช่นเดียวกับลูกสาวลูกชายบ้านอื่นในหมู่บ้านบ้านหัวทุ่ง
ที่นี่ การช่วยพ่อแม่สานก๋วยเป็นเรื่องปกติ เด็กเล็กๆ มีหน้าที่ทาบเส้นตอกไม้ไผ่เข้ากับแบบก๋วย จากนั้นสานขึ้นเป็นตัวโครงทิ้งไว้ให้พ่อแม่ก่อนไปโรงเรียนหรือหลังเลิกเรียน ส่วนปากและก้นก๋วยที่ทำยากกว่าจะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่มาเก็บงานให้เรียบร้อย ก่อนจะส่งขายในราคาใบละ 6 บาท 50 สตางค์ อาทิตย์หนึ่งสานได้สัก 250 ลูก ก็ถือว่าเดือนนั้นหาเงินเข้าบ้านได้ถึง 6,500 บาท
“สมัยก่อนที่ไม่มีป่าเศรษฐกิจให้ตัดง่ายแบบทุกวันนี้ พ่อเขาต้องเหน็บพร้าไปตัดไผ่ถึงบนภูเขา เอามาผ่าเตรียมไว้ให้แม่สาน ทำซ้ำๆ มาเป็นสิบปี จนตอนนี้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งพ่อเกร็ง ขยับไม่ได้แล้ว” แม่คำจันทร์พูดถึงสามีไปก็น้ำตารื้น “รักเขานะ ลำบากมาด้วยกัน”
แม้จะไม่ได้สุขภาพดีเท่าเดิม แต่แม่คำจันทร์และสามียังคงสานก๋วยขายเป็นรายได้เสริมจากโฮมสเตย์ ส่วนมากคนที่มารับซื้อคือพ่อค้าผักผลไม้ในตลาด ก๋วยเหล่านี้สานจากไม้ไผ่เนื้ออ่อน ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก๋วยแต่ละใบที่ชาวบ้านสานไว้จึงขายได้เรื่อยๆ ไผ่เศรษฐกิจก็มีส่วนช่วยให้การหาไม้ไผ่มาเป็นวัตถุดิบง่ายขึ้น โดยตัดไม้ไผ่จากป่าแบกมาเป็นท่อนๆ นำไปส่งให้กับบ้านที่รับจักตอก แลกกับค่าบริการเล็กน้อย
อัมพร วังจันทร์ตา หรือ ‘ม่วย’ เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ซื้อเครื่องจักตอกมาเครื่องละ 12,000 บาท ราว 2-3 เครื่อง เปิดเป็นศูนย์บริการจักตอกให้กับคนในหมู่บ้าน โดยหากนำไผ่มาทิ้งไว้ให้ม่วยร่อนเป็นเส้นเอง เธอคิดค่าเครื่องจักชั่วโมงละ 25 บาท แต่หากขอยืมใช้แต่เครื่องจักตอก เจ้าของไผ่ทำหน้าที่ร่อนเป็นเส้นตอกเอง ก็จะเหลือชั่วโมงละ 15 บาท
มีการทำวิจัยเรื่องภูมิปัญญาการจัดการสวนไผ่เพื่อการสานก๋วย บ้านหัวทุ่ง ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าเฉพาะการสานก๋วยเพียงอย่างเดียวสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 990 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งกลายมาเป็นค่าอาหาร สาธารณูปโภค หรือค่าซื้อหาของใช้ในครัวเรือน ในขณะเดียวกันรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการสานก๋วยยังส่งเสริมให้ชาวบ้านมีเงินออมเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50
ทรัพยากรชุมชนที่ครบวงจร ตั้งแต่น้ำ นา ป่าเขา วัฒนธรรม และกลุ่มคนในชุมชนที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเข้มแข็งราวกับเส้นตอกไม้ไผ่ ทำให้หมู่บ้านหัวทุ่ง ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว เป็นเสมือน ‘สาวจี๋’ ประจำภาคเหนือ ผู้เพียบพร้อมไปด้วยทิวทัศน์เป็นรูปทรัพย์ วัฒนธรรมความเชื่อพื้นบ้านเป็นเสน่ห์ และกำลังคนเป็นศักยภาพในการแข่งขัน ดึงดูดให้ผู้คนหลายกลุ่มมาท่องเที่ยวและเรียนรู้ไม่ขาดสาย
และนี่คือหมู่บ้านหัวทุ่ง จากชุมชนชาวนา พัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยว ด้วยการจัดการทรัพยากรและการพึ่งตนเอง โดยไม่ละทิ้งคุณค่าและวิถีชาวนา
อ้างอิง
โครงการวิจัย ‘การจัดการท่องเที่ยววิถีชาวนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจ ชุมชนบ้านหัวทุ่ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่’ โดยศิริวรรณ รู้ดี และคณะ (ปี 2561)
โครงการวิจัย ‘ภูมิปัญญาการจัดการสวนไผ่เพื่อการสานก๋วย บ้านหัวทุ่ง ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่’ โดยกมลชนก ตุ่มคำ (ปี 2557)
สารคดีชิ้นนี้เก็บข้อมูลในการเขียนเมื่อตุลาคม 2562
โดยการสนับสนุนจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)