การชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของสามเณร ถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำเผด็จการ ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องในปลายเดือนกันยายน 2519 ได้เปลี่ยนสภาพเป็นการล้อมปราบและการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อย่างโหดเหี้ยม ในวันที่ 6 ตุลาคม จนมีผู้เสียชีวิต 45 คน และบาดเจ็บอีก 167 คน (ข้อมูลที่เป็นทางการ)
ปฏิบัติการ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ เริ่มขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดฉากระดมยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธหนัก-เบา ตั้งแต่ปืนเล็กยาว M16 ปืนกล ปืนไร้แรงสะท้อน ปืนพก และเครื่องยิงลูกระเบิด M79 แม้รอดพ้นจากห่ากระสุนและระเบิดลูกแล้วลูกเล่า ขบวนการนักศึกษาประชาชนก็ยังต้องเผชิญหน้ากับการ ‘ประชาทัณฑ์’ อย่างโหดร้าย ทั้งการเตะ ต่อย ทุบตีด้วยอาวุธสารพัดชนิด และแม้จะเหลือเพียงร่างกายที่ไร้วิญญาณไปแล้ว ก็ยังถูกลากไปตอกอกด้วยลิ่มไม้ เผาไฟโดยมียางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิง และจับแขวนคอกับต้นไม้บริเวณสนามหลวง
หลังเหตุการณ์นองเลือดใจกลางพระนครครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนักศึกษาประชาชนที่รอดพ้นจากการถูกสังหารได้ 3,094 คน แต่กลับไม่มีผู้ก่อความรุนแรงหรือฆาตกรรายใดถูกจับกุมหรือตั้งข้อหาเลย
บทความ ‘ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา’ ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (2544) ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พยายามจำแนกกองกำลังที่บุกโจมตีผู้ชุมนุมในวันนั้นออกเป็น ‘พวกมีเครื่องแบบ’ (เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยต่างๆ) กับ ‘พวกไม่มีเครื่องแบบ’ (ขบวนการฝ่ายขวาอย่างกระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน และอื่นๆ)
“ทารุณกรรมต่างๆ ที่นิยาม 6 ตุลาในความทรงจำของคนทั่วไป เป็นฝีมือของพวกไม่มีเครื่องแบบนี้มากกว่าพวกมีเครื่องแบบ อย่างไรก็ตาม ลำพังพวกไม่มีเครื่องแบบที่มีอาวุธไม่มาก ไม่สามารถจะสลายการชุมนุมในวันนั้นได้ พวกมีเครื่องแบบเป็นผู้โจมตีสังหารหมู่ด้วยอาวุธหนักเบาครบเครื่องก่อน เปิดทางให้พวกไม่มีเครื่องแบบทำทารุณกรรม”
การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม โหดร้ายและรุนแรงผิดมนุษย์มนาเสียจนมักได้รับการบรรยายว่าเกิดขึ้นจากน้ำมือของ ‘ปิศาจ’ จากมวลชนฝ่ายขวาที่บ้าคลั่ง ขณะที่อีกหลายคนขนานนามให้เป็น ‘อาชญากรรมโดยรัฐ’ จากการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ผสานกับมวลชนที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ แต่การจัดประเภทเหล่านี้ในความเป็นจริงอาจพร่าเลือน เพราะกระทั่งนักปรัชญาผู้มักถูกกล่าวหาว่าสติฟั่นเฟือนเป็นพักๆ อย่าง ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) ก็ยังมองออกว่า “รัฐคือชื่อปิศาจที่เลือดเย็นที่สุดในปิศาจทั้งปวง”
แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือปิศาจตนใดก็ไม่อาจยื่นมือมาก่อความรุนแรงและพรากชีวิตมนุษย์ได้โดยตรง การสังหารโหดและทารุณกรรมในเหตุการณ์นี้จึงปรากฏผ่าน ‘มือ’ ของมนุษย์เป็นๆ ที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึกไม่ต่างจากเหยื่อที่ถูกกระทำ WAY ชวนสำรวจโฉมหน้าฝ่ายขวาไทยใน 6 ตุลาคม
กลุ่มกระทิงแดง
กลุ่มกระทิงแดงมีภาพลักษณ์เป็นอันธพาลที่มักก่อกวนการชุมนุมของนักศึกษาประชาชนในช่วง 2516-2519 เพื่อสร้างความวุ่นวายและหวาดกลัว ไม่ให้เกิดการชุมนุมที่ยืดเยื้อ สมาชิกกระทิงแดงมักก่อเหตุด้วยการการขว้างปาสิ่งของ (อิฐ หิน ไม้ ขวด แท่งเหล็ก ฯลฯ) ขึ้นไปบนเวทีปราศรัยหรือในฝูงชน ปล่อยสัตว์เลื้อยคลาน (งูและตัวเงินตัวทอง) ในม็อบ ไปจนถึงขว้างระเบิดขวดและระเบิดพลาสติกให้เกิดเสียงดัง แต่บ่อยครั้งก็มีผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกระทิงแดง
ว่ากันว่ากระทิงแดงประกอบขึ้นจากนักเรียนอาชีวะจากสถาบันต่างๆ รู้ที่สึกไม่พอใจกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่มักจะดูถูกดูแคลนพวกตน แม้จะร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาด้วยกัน ทั้งยังรับไม่ได้กับแนวคิดเอียงซ้ายแบบสังคมนิยมที่เริ่มเฟื่องฟูขึ้นในขบวนนักศึกษา วัยรุ่นอาชีวะกลุ่มนี้จึงตัดสินใจรับคำเชิญจากหน่วยงานรัฐ เพื่อร่วมปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กระทิงแดงมีอีกชื่อเรียกว่า ‘แนวร่วมต่อต้านจักรวรรดิคอมมิวนิสต์’)
ยุวชนเหล่านี้ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูโดย ‘เจ้าพ่อกระทิงแดง’ อย่าง พันเอก (พิเศษ) สุตสาย หัสดิน (ยศในขณะนั้น) นายทหารผู้รับราชการในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และผู้ก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดง แกนนำกลุ่มกระทิงแดงเคยให้สัมภาษณ์ว่า สัญลักษณ์ของกลุ่มก็มาจากกองพันทหารม้าที่ 8 กรมทหารม้าที่ 7 ที่ ‘พ่อสุตสาย’ เคยสังกัดนั่นเอง
ตลอดช่วงทศวรรษ 2510 กอ.รมน. ได้แทรกซึมเข้าไปในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับผิดชอบดูแลโรงเรียนอาชีวศึกษาโดยตรง ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่ ‘ศนอท.’ (ศูนย์กลางนักเรียนอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย) อย่างลับๆ ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่คอยหาเรื่อง ศนท. (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) อย่างต่อเนื่อง โดยแกนนำของ ศนอท. มักเป็นนักเรียนอาชีวะฝ่ายขวาที่ถูกวางตัวเอาไว้แล้ว อาทิ สุชาติ ประไพหอม ศิษย์เก่าช่างกลพระนครเหนือ และเลขาธิการศูนย์ฯ คนแรก และ บุเรศ งามแสงเนตร รองเลขาธิการฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้ากระทิงแดงคนแรก
สายสัมพันธ์ระหว่าง กอ.รมน. กับกลุ่มกระทิงยังแสดงออกผ่านผู้นำคนสำคัญๆ อาทิ ประพันธ์ วงคำ และ สืบสาย หัสดิน ซึ่งเป็นลูกชายโดยสายเลือดของสุตสาย นอกจากนี้ ผู้คุมกำลังของกระทิงแดงยังมีอดีตทหาร ตำรวจ และสมาชิกคนสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อดีตหัวหน้ากองทหารไทยที่รับจ้างทำงานให้หน่วยสืบราชการลับสหรัฐ (CIA) ในลาว และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ น้องเขยของอดีต พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และสมาชิกคนสำคัญของพรรคชาติไทย
อย่างไรก็ดี เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) นักวิชาการอเมริกัน แย้งว่า สมาชิกกลุ่มกระทิงแดงไม่ได้มีเพียงนักศึกษาอาชีวะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอดีตทหารพรานรับจ้าง ทหารที่ถูกปลดจากกองทัพเนื่องจากละเมิดระเบียบวินัย วัยรุ่นข้างถนนที่ว่างงาน และนักเลงหัวไม้จากสลัม
กองกำลังเหล่านี้ได้รับการว่าจ้างจาก กอ.รมน. ให้ทำงานก่อกวนการชุมนุมของขบวนการนักศึกษาและประชาชน โดยสัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนสูง มีเหล้าฟรีให้ดื่มอย่างเหลือเฟือ เที่ยวซ่องฟรี รวมทั้งมีหน้ามีตาในสังคม ด้วยภาพลักษณ์ที่ผูกโยงกับความรุนแรงก็น่าเชื่อได้ว่า กระทิงแดงคือหนึ่งในแกนหลักของขบวนการฝ่ายขวาที่เข้าร่วมมหกรรมสังหารโหดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
กลุ่มนวพล
นอกจากกระทิงแดงแล้ว กอ.รมน. ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งและให้เงินสนับสนุนขบวนการฝ่ายขวาอีกหลายกลุ่มในช่วง 2517-2519 โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่อ ‘นวพล’ ซึ่งตั้งขึ้นโดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล เสนาธิการ กอ.รมน. ในขณะนั้น (ปี 2517) และนับว่าเป็นกองกำลังที่ ‘อ้างว่า’ มีสมาชิกมากที่สุดของฝ่ายขวา
ชื่อนวพลอาจแปลความได้ทั้ง ‘กำลังใหม่’ ตามรูปแบบการจัดตั้งที่ใช้มวลชนตามแบบคอมมิวนิสต์ ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ของทางการ หรือแปลในอีกความหมายได้ว่า ‘กำลังเก้า’ หรือกองกำลังที่มุ่งปกป้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 (อ้างอิงจาก ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’) ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับอุดมการณ์หลักของกลุ่มที่เน้น ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ ที่ วัฒนา เขียววิมล ผู้ประสานงานองค์กร และปัญญาชนผู้จบจากอเมริกา พร่ำบรรยายแก่เหล่าสมาชิก
กลุ่มนวพลมุ่งเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศด้วยการจัดชุมนุมและทำสงครามจิตวิทยาตอบโต้ แม้กระทั่งผู้นำฝ่ายขวาอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังเคยถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์มาแล้วหลังเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2518 ลือกันว่านวพลมีสมาชิกเป็นข้าราชการและนักธุรกิจท้องถิ่นจำนวนมาก วัฒนาถึงกับอวดอ้างว่านวพลมีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน ทั้งยังมีหน่วยสังหารเป็นของตนเอง
นอกจาก พล.อ.สายหยุด แล้ว ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ที่เกี่ยวพันกับนวพลยังมี พล.อ.วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ อดีตเจ้ากรมข่าวทหาร พล.ท.สำราญ แพทยกุล อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และองคมนตรี ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท โดย พล.ท.สำราญ ได้เป็นนวพลอันดับแรก หรือ ‘หมายเลข 001’ พล.ต.ท.สุรพล จุลละพราหมณ์ ผบ.ตำรวจตระเวนชายแดน และ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
เนื่องจากการปกป้องศาสนาจากภัยคอมมิวนิสต์ยังเป็นเป้าหมายหนึ่งของนวพล จึงมีพระสงฆ์หัวเอียงขวาจำนวนมากเข้าร่วม โดยเฉพาะผู้มีชื่อเสียงที่สุดอย่าง พระกิตติวุฑโฒ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์เมื่อถูกนิตยสาร จัตุรัส ถามว่า การฆ่าฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์บาปหรือไม่
“อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคนเพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน”
พระกิตติวุฑโฒยังเทศนาปลุกปั่นว่า หากขบวนการนักศึกษาต้องการขับไล่พระ (ถนอม) พวกเขาก็เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะมีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไม่เอาศาสนาดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเวียดนามขณะนั้น นอกจากนี้ กิตติวุฑโฒยังเป็นผู้ก่อตั้งจิตตภาวันวิทยาลัย โรงเรียนสอนศาสนาพุทธในจังหวัดชลบุรี อันเป็นสถานที่ดำเนินการฝึกอบรมทางการทหารแก่สมาชิกนวพลในขณะนั้น
ต้นเดือนตุลาคม 2519 กลุ่มนวพลทั่วประเทศระดมพลที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วยกกันไปชุมนุมบริเวณสนามไชย โดยมีวัฒนา เขียววิมล เป็นแกนนำในการอภิปราย จวบจนกระทั่งได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาล เสนีย์ ปราโมช ให้จับกุมคณะกรรมการ ศนท. จากกรณีแสดงละครล้อเลียนพระราชวงศ์ภายในวันที่ 5-6 ตุลาคม “หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด”
แม้ไม่อาจทราบได้ว่า ‘การดำเนินการขั้นเด็ดขาด’ ของนวพลจะหมายถึงอะไรแน่ แต่ขบวนการฝ่ายขวากลุ่มนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการบุกโจมตีธรรมศาสตร์ร่วมกับกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้าน
ลูกเสือชาวบ้าน
การอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2514 ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จัดขึ้นโดยความร่วมมือของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ประชาชนช่วยส่งข่าวและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในพื้นที่แก่ทางราชการ ขณะเดียวกันลูกเสือชาวบ้านบางส่วนยังเปรียบเสมือนหน่วยงานกึ่งทหาร (paramilitary) ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้กำลังปราบคอมมิวนิสต์
ในปี 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สนับสนุนกิจการของลูกเสือชาวบ้านร่วมกับ ตชด. และยังได้พระราชทานผ้าพันคอ วอกเกิล (ปลอกรัดผ้าพันคอ) และหน้าเสือ แก่ลูกเสือชาวบ้านที่สำเร็จการอบรมทุกนาย
ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างหลังเดือนตุลาคม 2516 ลูกเสือชาวบ้านก็ขยายกิจการไปทั่วทุกจังหวัด โดยมี พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รอง ผบ.ตชด. เป็นหัวหอกในการผลักดัน
อีกเช่นเคย เบ็น แอนเดอร์สัน อธิบายว่า ลูกเสือชาวบ้านส่วนใหญ่มักเป็นคนวัยกลางคนที่มีฐานะดี โดยเฉพาะในระดับแกนนำ กล่าวคือ หากไม่เป็นข้าราชการในต่างจังหวัด ผู้มีชื่อเสียงในชนบท ก็เป็นเศรษฐีใหม่ในเขตเมือง เนื่องจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องซื้อเครื่องหมายต่างๆ และถ่ายรูปหมู่เป็นภาพสีราคาแพง ทั้งยังต้องบริจาคเงินค่าอาหารประมาณ 40-50 บาทต่อวัน และค่าทำบุญทะนุบำรุงศาสนาอีกประปราย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การจะเป็นลูกเสือชาวบ้านได้นั้นไม่เพียงต้องมีอุดมการณ์สอดคล้องกับทางราชการ แต่ยังต้องอาศัยทุนทรัพย์ส่วนตัวไม่มากก็น้อย แม้กระนั้นเมื่อถึงเดือนมิถุนายน 2519 รายงานของกระทรวงมหาดไทยก็ระบุว่า มีผู้รับการอบรมลูกเสือชาวบ้านไปแล้ว 2,794 รุ่น นับเป็นจำนวน 910,000 คน
ทั้งนี้ กิจกรรมที่สอดแทรกในการอบรมลูกเสือชาวบ้าน อาทิ การเทศน์โดยพระฝ่ายขวา เดินขบวนพาเหรด พิธีสาบานตนและทำความเคารพต่อ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ ล้วนเป็นแกนอุดมการณ์หลักที่ฝ่ายขวาใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เป็นฝ่ายซ้าย ดังนั้นเมื่อถูกปลุกระดมว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ลูกเสือชาวบ้านจึงมาร่วมชุมนุมหน้าพระบรมรูปทรงม้าในตอนเย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช จับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ในเหตุการณ์วันนั้น พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งผ่านแกนนำให้ลูกเสือชาวบ้านรอฟังคำสั่งจากสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหว ขณะที่สถานีวิทยุทั้งสองก็ออกอากาศเรียกระดมพลตลอดทั้งคืน จวบจนเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม ลูกเสือชาวบ้านนำโดย พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ และ ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้นำลูกเสือชาวบ้านในเขตพระนคร พร้อมทั้งแนวร่วมฝ่ายขวากลุ่มอื่นๆ เคลื่อนขบวนไปยังท้องสนามหลวงใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่จะกลายเป็นหนึ่งในกองกำลังที่เข้าล้อมปราบขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรง
ชมรมแม่บ้าน
ชมรมแม่บ้านก่อตั้งขึ้นในปี 2519 เพื่อโจมตีขบวนการนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพสหรัฐในไทย โดยมี วิมล ศิริไพบูลย์ (เจียมเจริญ) นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา ‘ทมยันตี’ เป็นแกนสำคัญที่รวบรวมภรรยาข้าราชการพลเรือนและทหาร และแม่บ้านอีกจำนวนมากเข้ามาเป็นสมาชิก
ในระยะแรก ชมรมแม่บ้านพยายามแก้ต่างแทนสหรัฐ และโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ ก่อนที่จะขยายบทบาทมาโจมตีว่า ‘ขบวนการสามประสาน’ ระหว่างนักศึกษา ชาวนา และกรรมกร เป็นภัยคุกคามต่อชาติและราชบัลลังก์ และประโคมข่าวผ่านสถานีวิทยุของรัฐว่า ขบวนการเหล่านี้ถูกล้างสมองจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์ และการเรียกร้องให้ถอนกำลังทหารสหรัฐออกจากประเทศก็เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ไทยพ่ายแพ้แก่คอมมิวนิสต์ในที่สุด
ไม่เพียงบทบาทในการปลุกระดมความเกลียดชังให้เกิดขึ้นผ่านวิทยุ แต่ชมรมแม่บ้านยังมีส่วนสำคัญในการจุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อ นงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ สมาชิกคนหนึ่งของชมรม เข้าแจ้งความต่อร้อยเวรที่ สน.ชนะสงคราม ในช่วงบ่ายของวันที่ 5 ตุลาคม ว่า การแสดงละครล้อเลียนที่ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ในวันที่ 4 ตุลาคม เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) เนื่องจากผู้แสดงละครพยายามแต่งหน้าให้คล้ายกับสยามมกุฎราชกุมาร โดยอ้างหลักฐานจากภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ถัดจากนั้นขบวนการฝ่ายขวาอื่นๆ ก็รับลูกด้วยการประโคมภาพข่าวว่าขบวนการนักศึกษาเป็นพวกล้มเจ้า
ชมรมวิทยุเสรีและสถานีวิทยุยานเกราะ
โฆษณาชวนเชื่อและการปลุกระดมให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาคม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ส่วนใหญ่ในขณะนั้นเป็นของกองทัพ ได้แก่ ‘ชมรมวิทยุเสรี’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มหลวมๆ ของสถานีวิทยุที่มีเครือข่ายสมาชิกมากถึง 260 สถานี โดยมี ‘วิทยุยานเกราะ’ เป็นแกนกลาง ตั้งแต่ปี 2518
โฆษกผู้เผยแพร่ทัศนะโจมตีขบวนการนักศึกษาผ่านวิทยุคนสำคัญๆ ได้แก่ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อาคม มกรานนท์ และ อุทิศ นาคสวัสดิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีรายการออกอากาศประจำวันหลักๆ ชื่อ ‘เพื่อแผ่นดินไท’ รวมถึงการเปิดเพลงปลุกใจที่มีเนื้อหาหนักหน่วงอย่าง ‘หนักแผ่นดิน’ ‘ทหารพระนเรศวร’ และ ‘เราสู้’ ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์
เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เรียกคนเหล่านี้ว่า ‘นักสร้างความเกลียดชัง’ ผู้คอยปลุกปั่นมวลชนฝ่ายขวาว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนญวน (เนื่องจากใส่รองเท้าแตะ!) และทำร้ายจิตใจคนไทยด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อุทิศถึงกับเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลับ 3 แห่ง ที่พวกคอมมิวนิสต์ญวนใช้ซ่องสุมกองกำลังและอาวุธสำหรับโจมตีเจ้าหน้าที่ และใช้สำหรับหลบหนี (แต่ภายหลังพบว่าอุโมงค์ดังกล่าวไม่มีอยู่จริง)
ความน่าประหลาดมีอยู่ว่า การรายงานข่าวของชมรมวิทยุเสรีและวิทยุยานเกราะถึงความรุนแรงและการก่อวินาศกรรมกลับเกิดขึ้น ‘ล่วงหน้า’ ตัวอย่างเช่น เมื่อสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่า บริษัททัวร์แห่งหนึ่งเป็นของ ศนท. ไม่นานนักก็เกิดเหตุปาระเบิดใส่ที่ทำการบริษัทนั้น หรือการออกข่าวว่ามีการเผาธรรมศาสตร์ในปลายเดือนสิงหาคม จากนั้นไม่นานกลุ่มกระทิงแดงก็บุกเผาจริงๆ การนำเสนอข่าวที่มาก่อนกาลในลักษณะนี้ หากไม่มีญาณทิพย์หยั่งรู้ล่วงหน้าก็คงจะเป็นการทำหน้าที่ชี้นำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอย่างจงใจด้วยการล็อกเป้าและถ่ายทอดคำสั่ง
วิทยุยานเกราะยังมีส่วนสำคัญในการระดมมวลชนฝ่ายขวาไปปกป้องวัดบวรนิเวศวิหารและพระถนอมจากการ ‘มุ่งร้าย’ ของพวกคอมมิวนิสต์ ทั้งยังคัดค้านการแสดงละครดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับ ‘ผู้ทรยศ’ เหล่านี้โดยเร็วที่สุด มิฉะนั้นอาจจะเกิดการนองเลือดขึ้นหากให้มวลชนฝ่ายขวาจัดการเอง (แน่นอน นี่ไม่ใช่คำเตือนด้วยความหวังดี) พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวเน้นผ่านวิทยุเป็นระยะว่า “เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
อีกหนึ่งนักจัดรายการคนสำคัญของวิทยุยานเกราะคือ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นผู้ปลุกระดม ใส่ร้ายนักศึกษาว่ามีขบวนการคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง กล่าวชื่นชมลูกเสือชาวบ้านและแนวร่วมอาชีวะ ตลอดจนไปเยี่ยมจอมพลถนอม อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สิงคโปร์ ซึ่งนำไปสู่การพาจอมพลถนอมกลับประเทศ และเป็นชนวนของเหตุการณ์ 6 ตุลา ในที่สุด แต่เมื่อถูกสัมภาษณ์ถึงความรับผิดชอบว่าการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ครั้งนั้นเป็นผลพวงจากการจัดรายการของตนหรือไม่ สมัครมักจะหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามโดยตรง หรือไม่ก็ตอบว่า “สำหรับผม ไม่มีการตาย คนหนึ่งโชคดีแค่ถูกแทง ส่วนอีกคนถูกเผาที่ท้องสนามหลวง มีแค่คนเดียวที่ตายในวันนั้น” และผู้ตายก็ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนญวน
พร้อมกันนั้น วิทยุยานเกราะก็นำคำปราศรัยของถนอมมายืนยันเจตนาว่าไม่ได้กลับประเทศมาเล่นการเมือง แต่กลับมาบวช ทั้งยังกล่าวโจมตีว่าใครก็ตามที่ต้องการไล่พระสงฆ์ออกจากประเทศ มันผู้นั้นย่อมเป็นคอมมิวนิสต์ วิทยุยานเกราะถึงกับเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่านักศึกษาที่เป็นคอมมิวนิสต์ญวนสัก 30,000 คน เพื่อความมั่นคงของคนไทยผู้จงรักภักดีอีก 43 ล้านคน ในเวลาต่อมา ยานเกราะก็อ้างคำว่าพูดของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เจ้าของคำพูด ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ว่า ขอให้รัฐบาลดำเนินคดี ศนท. ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด และหากมีรัฐมนตรีหรือนักการเมืองคนใดเกี่ยวข้อง ก็ให้จับกุมและลงโทษตามกฎหมายทันที
ตลอดช่วงบ่ายและเย็นวันที่ 5 ตุลาคม สถานีวิทยุยานเกราะเป็นศูนย์กลางในการระดมพลฝ่ายขวาด้วยการหยิบยกเรื่อง ‘ละครหมิ่น’ ที่หนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ปูทางเอาไว้ เพื่อให้จัดการกับนักศึกษาในธรรมศาสตร์อย่างเด็ดขาด เสียงตามสายของยานเกราะพยายามเรียกร้องให้มวลชนทำลายคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยการใช้คำพูดอย่าง “ฆ่ามัน” และ “ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์”
ดาวสยาม
ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 นักศึกษาแสดงละครล้อเลียนเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้า 2 คน ที่ออกมาต่อต้านการกลับประเทศของถนอมในจังหวัดนครปฐม ณ บริเวณลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในฐานะส่วนหนึ่งของการชุมนุมทางการเมืองขนานใหญ่ในขณะนั้น
ศนท. ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมผู้ก่อเหตุ (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตำรวจ) และขับไล่สามเณรถนอมออกจากประเทศ เมื่อถึงวันที่ 5 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุสังหารช่างไฟฟ้าได้แล้ว หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ จึงเสนอข่าวนี้พร้อมรูปประกอบเป็นภาพแขวนคอในละครล้อเลียนของนักศึกษาในหนังสือพิมพ์กรอบเช้า
ทว่าภาพของ อภินันท์ บัวหภักดี นักแสดงหนุ่มคณะรัฐศาสตร์ กลับไปละม้ายคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชในสายตาฝ่ายขวามาก จนหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม จับภาพมาลงข่าวแล้วพาดหัวบิดเบือนว่า “แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ” ซึ่งจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ดาวสยาม เป็นหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายเพียงฉบับเดียวของวันที่ 5 ตุลาคม (แต่ลงวันที่ 6 ตุลาคม ตามแบบฉบับหนังสือพิมพ์) ที่ประโคมข่าวปลุกระดมว่า ขบวนการนักศึกษาจงใจดูหมิ่นเจ้าฟ้าชาย โดยความร่วมมือของวิทยุยานเกราะ
แม้มือจะไม่ได้เปื้อนเลือดโดยตรง แต่การเต้าข่าวจากหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงของ ดาวสยาม ในสภาพสังคมที่หนังสือพิมพ์และวิทยุเป็นช่องทางในการสื่อสารหลัก ก็ได้ระดมมวลชนฝ่ายขวาบ้าคลั่งให้เคลื่อนกำลังไปจัดการ ‘ภัยของชาติและราชบัลลังก์’ ณ ธรรมศาสตร์ ในเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม อย่างจงใจ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ยังไม่ทันที่ฟ้าจะสาง ลูกระเบิดจากปืน M79 พุ่งตกลงกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ได้คร่าชีวิตนักศึกษาและประชาชน 9 คน และบาดเจ็บอีก 13 คน ถัดจากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมกำลังยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอย่างหนัก จากด้านหน้าหอประชุมใหญ่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ ‘ล้อมปราบ’ ชั่วคราว
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิเคราะห์ว่า กองกำลังตำรวจในปฏิบัติการนี้น่าจะมากถึง 400 นาย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุมที่มีประมาณ 4,000 คน แล้ว ก็หมายความว่า ตำรวจอาวุธที่ครบมือหนึ่งนายต้องรับมือกับมวลชนเพียง 10-12 คน เท่านั้น นับเป็นสัดส่วนที่น่าตกใจมาก
สมศักดิ์ยังอธิบายว่า ตำรวจแทบทุกหน่วยถูกระดมกำลังมาร่วมปฏิบัติการ ตั้งแต่ตำรวจนครบาล (ทั้งตำรวจประจำ สน. และแผนกอาวุธพิเศษ หรือ ‘สวาท’) กองปราบปราม โดยเฉพาะตำรวจแผนกปราบจลาจล หรือ ‘คอมมานโด’ 200 คน ภายใต้การนำของ สล้าง บุนนาค และตำรวจพลร่มตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวร หัวหิน ซึ่งสองหน่วยหลังนี้น่าจะเป็นกำลังหลักในการโจมตี
หากไล่เลียงไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ ตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรได้รับคำสั่งให้เดินทางมายังกรุงเทพฯ ในเวลาตีสองของคืนวันที่ 5 แล้วตั้งศูนย์บัญชาการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และวางกำลังล้อมรอบธรรมศาสตร์ในเวลา 4.00 น. กระทั่งเสียงปืนปะทุขึ้นจากฝั่งตำรวจในเวลา 5.30 น. เป็นสัญญาณของการบุกโจมตี
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอย่างหนักจากด้านหน้าหอประชุมใหญ่และพิพิธภัณฑสถานเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้ผู้ชุมนุมนับพันคนต้องหนีเข้าไปหลบในอาคารรอบสนามฟุตบอล ท่ามกลางซากศพของเพื่อนอีกหลายสิบคน พวกเขาไม่สามารถหนีออกไปข้างนอกรั้วได้อย่างสะดวก เนื่องจากกองกำลังตำรวจท้องที่และ ‘คอมมานโด’ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ วางกำลังล้อมรอบธรรมศาสตร์ไว้หมดแล้ว โดยมี พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และ พล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท ร่วมบัญชาการ
พล.ต.ต.เสน่ห์ ยังมีบทบาทบัญชาการให้ ตชด. อาวุธครบมือบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย แม้ตำรวจจะประกาศให้นักศึกษายอมจำนน แต่เสียงปืนจากฝ่ายตำรวจด้วยกันเองกลับดังก้องอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาหลายคนที่พยายามวิ่งหนีออกมาข้างนอก ก็ถูกมวลชนฝ่ายขวาที่ยกกำลังมาออกันบริเวณสนามหลวงรุมประชาทัณฑ์
ตชด. ที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยพยายามเข้าจับกุมผู้ชุมนุมที่หลบตามอาคารต่างๆ นักศึกษาและประชาชนถูกบังคับให้ถอดเสื้อ ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้หญิงที่เหลือแต่เสื้อชั้นใน ทั้งยังถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำ แล้วคลานไปตามพื้น ระหว่างที่คลานก็ถูกเตะหรือถีบโดยตำรวจ กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และอันธพาลกลุ่มอื่นๆ ระหว่างขึ้นรถเมล์และรถสองแถวเพื่อไปยังที่คุมขัง (มี 3 แหล่งใหญ่ๆ ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และ ร.ร.ตำรวจนครบาลบางเขน) ก็ถูกด่าทออย่างหยาบคาย แม้ลงจากรถไปแล้วก็ยังถูกปล้นชิงทรัพย์สินและของมีค่า ตัวอย่างเช่นนักศึกษาหลายรายถูกปล้นพระเครื่องไปจากคอด้วยฝีมือตำรวจ โดยให้เหตุผลว่า คอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องแขวนพระ
แม้ฟังดูไม่น่าเชื่อเลยว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะก่อเหตุเข่นฆ่าประชาชนเสียเอง แต่หลักฐานมากมายก็ระบุตรงกับคำอธิบายของสมศักดิ์ว่า “พวกมีเครื่องแบบคือกำลังหลักที่แท้จริงที่เปิดฉากการฆ่าหมู่นองเลือด”
ที่มา
- ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519
- ประวัติศาสตร์บาดแผล: 4 กระทิงแดงเล่าอดีต 6 ตุลา
- ลูกเสือชาวบ้าน
- ‘ทมยันตี’: ก่อนรุ่งเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
- จากมีคนตาย ‘คนเดียว’ ถึงฆ่าคอมมิวนิสต์ ‘ไม่บาป’ ปฏิกิริยาฝ่ายขวา ต่อ 6 ตุลาฯ
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2544). ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก.
- เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน. (2559). บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม. กรุงเทพมหานคร: มติชน.