วัตถุพยาน 6 ตุลา: ลำเลียงความทรงจำที่แขวนบนบานประตูสู่พิพิธภัณฑ์

รอยทางของล้อรถยนต์ที่แตกหน่อเป็นสามแยก ต้นหญ้าขึ้นสะเปะสะปะตลอดข้างทาง ไกลออกไปมีบ้านเรือนตั้งเป็นหย่อมๆ เบื้องหลังเป็นเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่คอยเตือนว่าเราไม่ได้อยู่ในตัวเมืองอีกต่อไปแล้ว พวกเราอยู่ที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม ผู้คนเรียกย่านนี้ว่าสามแยกกระบือเผือก เบื้องหน้าคือ ‘ประตูแดง’ ประตูเหล็กบานที่ร่างของ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย สองเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครปฐม ถูกฆ่าแขวนคออย่างเป็นปริศนาในวันที่ 24 กันยายน 2519 หลังจากติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

การฆาตกรรมสองช่างไฟฟ้าถือเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เนื่องจากต่อมามีการแสดงละครบอกเล่าการแขวนคอสองช่างไฟฟ้าโดยนักศึกษาธรรมศาสตร์ การแสดงดังกล่าวถูกโจมตีจากหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ฉบับที่ 638 ซึ่งอ้างว่าหนึ่งในผู้แสดงละครมีใบหน้าคล้าย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนััน) และประณามการแสดงว่าเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่การสังหารหมู่นักศึกษาโดยตำรวจและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

การเคลื่อนย้ายประตูแดงเกิดขึ้นจากความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว จึงเกิดการเคลื่อนย้ายเพื่อที่รักษาความทรงจำของประตูบานนี้ไม่ให้มันถูกทำลายไปในอนาคต รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ เครือข่ายนักวิชาการ ซึ่งรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไว้บนเว็บไซต์ doct6.com ก่อนที่จะริเริ่มโครงการจัดตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา’ (The Initiative of October 6 Museum) กล่าวว่า ทางทีมงานไม่อยากให้ประตูนี้ต้องหายไป จึงต้องการจะนำมันมาเก็บไว้ในโกดังเพื่อรอการจัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็น

“นี่ไงถึงประตูแล้ว” ภัทรภร ภู่ทอง อีกหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ พูดขึ้นพร้อมผายมือไปยังประตูแดงเพื่อให้ผมและคนอื่นๆ ที่ไม่เคยเห็นได้ยลโฉมมันเป็นครั้งแรก เสียงของเธอทำลายความเงียบในบริเวณนั้นราวกับครั้งที่เสียงของคณะทำงาน ‘บันทึก 6 ตุลา’ ทำให้ความทรงจำ 6 ตุลา มีที่มีทางและถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

ที่ถูกเรียกขานว่า ‘ประตูแดง’ คงจะเป็นเพราะสีแดงนั้นเป็นผลจากการกัดกร่อนของสนิม จนสีของประตูเปลี่ยนจากสีฟ้าอมเทากลายเป็นสีแดงแก่ สภาพของมันก็เหมือนประตูเก่าๆ ทั่วไป ผมรู้สึกว่ามันไม่มีความขลังใดๆ ประตูธรรมดาที่ไม่มีแม้ร่องรอยของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตเลยแม้แต่น้อย มันคงมีหน้าที่แค่เปิดเผยหรือปกปิดสิ่งที่อยู่ข้างในและกีดกันสิ่งที่อยู่ข้างนอกออกไปเพียงเท่านั้น คงจะกล่าวได้ว่าหากไม่มีการแขวนคอเกิดขึ้น ประตูดังกล่าวคงไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตน ไม่มีสถานะ เป็นประตูที่เมื่อถึงเวลาก็คงถูกรื้อและทำลายออก ร่องรอยของมันคงจะหายไปกับสายธารแห่งความทรงจำที่ไหลเชี่ยวยิ่งกว่าสายธารแห่งเวลา

แต่ว่ามันไม่ใช่แค่ประตูธรรมดาอีกต่อไป ในวันนี้ 18 มิถุนายน 2562 การเคลื่อนย้ายประตูถูกกระทำเป็น ‘พิธีกรรม’ ที่จำเป็นต้องมีประจักษ์พยานหรือผู้สังเกตการณ์ มีผู้คนมากมายตั้งแต่ญาติของสองช่างไฟฟ้า ศิลปิน จิตรกร อาจารย์ นักข่าว อดีตนักศึกษา 6 ตุลา หรือคนในพื้นที่มาร่วมสังเกตการณ์ ทั้งหมดล้วนมีความสัมพันธ์กับประตูที่ต่างกันออกไป

ประตูแดงถูกเปิดออกจากอีกด้านเพื่อต้อนรับพวกเรา ภายในประตูนั้น ด้านซ้ายเป็นสวนต้นกล้วย บ้านสีฟ้าอมเทาตั้งอยู่ห่างจากประตูไปทางขวาประมาณ 100 เมตร ชายที่เปิดประตูมีนามว่า นิตินัย คนุงเหตุ เขาเล่าว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้ ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวถูกใช้เป็นบ้านพักอาศัยของเขาเอง สาเหตุที่ประตูเคยมีสีฟ้าอมเทาเพราะพ่อของเขาชื่นชอบสีนี้เป็นอย่างมาก นิตินัยทราบดีว่าประตูบานนี้เป็นวัตถุที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ แต่เขาไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนมันเลยแม้แต่น้อย เพราะคิดว่าไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนประตูแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อต้นปีทีมงาน ‘บันทึก 6 ตุลา’ เสนอว่าจะนำประตูใหม่มาเปลี่ยนให้ เขาจึงอนุญาต

นิตินัยเล่าว่า คนในพื้นที่ต่างหวาดกลัวประตูแดงเป็นอย่างมากเมื่อสมัยเกิดเรื่องใหม่ๆ ชาวบ้านต่างรบเร้าให้นิตินัยติดตั้งไฟที่ประตู ชาวบ้านจะได้โล่งใจหากต้องใช้เส้นทางสายนี้ ขนาดตัวเขาเองเวลาถอยรถเข้าออกประตูยังต้องเปิดไฟสูงเสมอ แต่ในปัจจุบัน “แถวนี้ไม่มีใครจำได้แล้ว” เขาเสริมว่า ถ้าหากประตูแดงได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์มันคงจะดีกว่าอยู่ตรงนี้

ชุมพล ทุมไมย
ชุมพล ทุมไมย
ศรีไพร ทุมไมย
ศรีไพร ทุมไมย

ญาติของช่างไฟฟ้าผู้ที่มาสมทบกับพวกเราในวันนี้คือ ชุมพล และ ศรีไพร ทุมไมย พี่ชายและพี่สะใภ้ของ ชุมพร ทุมไมย ทั้งคู่มาพร้อมรอยยิ้มราวกับดีใจที่ได้มาเป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์ในวันนี้

“กี่ปีแล้วนะ…40…42 ปี” ศรีไพรถามชุมพล เมื่อพวกเราถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เกิดขึ้น ท้องฟ้าวันนี้ทำท่าเหมือนฝนจะตก ไม่มีลมหรือแดด “บอกแล้วไม่แดดก็ฝน” นิตินัยเจ้าของที่ดินกล่าวกับทีมงานก่อนที่ตนจะเดินไปทักทายกับชุมพลและศรีไพร ราวกับทั้งสามเป็นเพื่อนที่เคยผ่านทุกข์สุขร่วมกัน ชุมพลเดินไปยังประตูแดงช้าๆ และนำรูปน้องชายตนแขวนไว้กับประตูแดง พวกเราทุกคนเริ่มแจกจ่ายธูปเพื่อเป็นการเริ่มพิธี หลังจากนั้นชุมพลกระซิบคำอำลากับรูปน้องชายของตน เสียงเบาเสียจนพวกเราไม่อาจจับใจความได้ ก่อนที่จะหันมาพูดกับพวกเราถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวเขาทราบข่าวการตายของน้องชายจากหน้าหนังสือพิมพ์ และในวันนั้นเอง เขาก็รีบมายังที่เกิดเหตุทันที

“หลังจากนี้จะเป็นอดีตไปเลยนะ” ชุมพลเปิดเผยความรู้สึกเกี่ยวกับการเดินทางมายังประตูแดงในที่ดินผืนนี้

คงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะไม่มีอดีตในที่แห่งนี้แล้ว ขอให้วิญญาณของน้องและคุณวิชัยได้มีความสุขไปทุกที่ มันจะจบแล้ว หายไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรให้คิดอีก

เขาพูดเสียงสั่นเครือทั้งน้ำตา และกล่าวเสริมว่า เขาคิดว่าเขาจะไม่ร้องไห้ในวันนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านมานานแค่ไหน เขาก็ยังคงเสียใจกับการจากไปของน้องชายเมื่อ 42 ปีที่แล้ว ไม่มีผู้ถูกลงโทษจากคดีของน้องชายชุมพลเลย แม้จะมีข้อมูลว่ามีชิ้นส่วนเครื่องแบบของตำรวจอยู่ในที่เกิดเหตุก็ตาม จนถึงปัจจุบัน คดีหมดอายุความไปแล้ว แม้อยากเอาผิดก็ทำไม่ได้ สำหรับชุมพลและศรีไพร ประตูบานนี้คงเป็นเสมือนชิ้นส่วนความทรงจำชิ้นสำคัญที่ยังหลงเหลืออยู่ของน้องรัก

ผ่านไปไม่นาน ช่างประมาณ 4-5 คนที่ทีมงานจัดหามาเริ่มทำการเคลื่อนย้ายประตูแดง พวกเขาเริ่มใช้ค้อนตอกสิ่ว เสียงของสิ่วที่เจาะเข้าไปในกำแพงดังขึ้นเป็นระยะ ในขณะที่ทุกสายตาจับจ้องไปที่ประตูราวกับว่าพวกเขากำลังอ่านหนังสืออย่างใจจดใจจ่อ พยานทุกคนกระจายตัวกันออกไป บ้างก็สังเกตอยู่ไกลๆ บ้างก็ยืนดูในระยะประชิด บ้างก็ยืนดูอย่างเงียบเชียบ บ้างก็ยืนดูขณะพูดคุยกับพยานคนอื่นๆ

ธนาวิ โชติประดิษฐ
ธนาวิ โชติประดิษฐ

ระหว่างที่ช่างกำลังพยายามดึงประตูออกจากกำแพง ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงสถานะของประตูว่า “ความเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ของประตูแดงยังคงอยู่ แต่ความสัมพันธ์ของประตูแดงกับพื้นที่โดยรอบหายไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สูญเสียไปก็อาจทดแทนได้ด้วยเรื่องเล่าหรือคำอธิบายเมื่อมันถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ ธนาวิมองว่า การให้ความสำคัญกับเหตุการฆาตกรรมช่างไฟฟ้าทั้งสองคน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเสมือนชายขอบของความทรงจำ 6 ตุลามาโดยตลอดนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ควรจะได้รับการบันทึกอย่างจริงจัง

ความคิดเห็นของเธอสอดคล้องกับ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ จิตกรผู้เคยสร้างสรรค์ภาพวาดสีน้ำมันเกี่ยวกับประตูแดงที่ชื่อ What a Wonderful World: Parallel Side of the Red Gate เขาเล่าถึงประสบการณ์สมัยที่วาดภาพชิ้นดังกล่าว ว่าตนสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาอยู่แล้ว จึงติดต่อทีมงาน ‘บันทึก 6 ตุลา’ เพื่อตามหาสถานที่จริง ในที่สุดก็พบกับนิตินัยและประตูแดง วันนี้เขาให้ความคิดเห็นว่าปัจจุบันนี้ทั้งตัวประตูและบริเวณโดยรอบมีสภาพเก่าลง จึงเป็นการดีกว่าหากจะนำไปเก็บเพื่อรอเข้าพิพิธภัณฑ์ในอนาคต แทนที่จะปล่อยให้มันอยู่ตรงนี้ต่อไป

“ทางผ่านที่เราเข้าถนนมา มันก็ทางผ่านไปบ้านผมนะ บ้านผมอยู่กาญจนบุรี ผมผ่านมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่เราไม่เคยรู้เลย” เอนกชัย เรืองรัตนากร อาจารย์พิเศษ สาขารัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงความลี้ลับของพื้นที่ประตูแดงผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของเขา เขาและพ่อซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นไม่เคยรู้เลยว่าสถานที่ใกล้บ้านของเขาครั้งหนึ่งเคยมีคนมาถูกผูกคอตาย

เมื่อหันกลับมา ผมพบว่าประตูบานขวาถูกถอดออกแล้ว ตอนนี้เหล่าช่างกำลังค่อยๆ ลนไฟประตูบานซ้ายเพื่อที่จะถอดมันออกมาจากกำแพงได้ง่ายขึ้น เครื่องยนต์ของรถสิบล้อส่งเสียงดังกลบเสียงการทำงานของช่าง เมื่อประตูบานซ้ายหลุดออก มันเกือบจะล้มลงทันที หลายคนเข้าไปช่วยประคอง ผมเพิ่งสังเกตว่าเหล็กส่วนหนึ่งของประตูบานซ้ายถูกแทนที่ด้วยแผ่นไม้ ความผุพังตามกาลเวลาเกือบจะทำให้แผ่นไม้หลุดออกจากตัวประตู

ภาสกร อินทุมาร จากสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงปริมณฑลที่อยู่รายรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา

“เหตุการณ์ 6 ตุลา คนจะรับรู้ในฐานะภาพใหญ่ๆ เป็นภาพเหตุการณ์ แต่ใครคือคนที่อยู่ในนั้น ใครคือผู้ที่สูญเสีย ผู้ที่สูญเสียชีวิต”

การพยายามรวบรวมข้อมูลของโครงการบันทึก 6 ตุลา หรือ สารคดีเรื่อง สองพี่น้อง (2017) สารคดีที่เล่าเรื่องชีวิตของช่างไฟฟ้าทั้งสอง ได้ช่วยเติมเต็มคำถามเหล่านี้

สิตา การย์เกรียงไกร
สิตา การย์เกรียงไกร

สิตา การย์เกรียงไกร (ในอดีตใช้ชื่อว่า ตา เพียรอภิธรรม) อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคนเดียวที่มาในวันนี้ คนส่วนมากมักจดจำว่า 6 ตุลาเป็นเรื่องราวที่เกิดที่ธรรมศาสตร์ แต่ 6 ตุลาเกิดขึ้นทุกที่

แม้จะเรียนจบแล้วในปี 2519 แต่สิตาก็มาธรรมศาสตร์ในฐานะตัวแทนของขอนแก่นที่มาประสานงานกับกลุ่มนักศึกษา เขาถูกกันตัวให้ออกไปทำงานประมาณเวลาตี 3 ก่อนที่กระสุน M79 ลูกแรกจะถูกยิงมาตกที่สนามฟุตบอล ตัวเขาไม่เคยเดินทางมาที่ประตูแดงเลย และที่เดินทางมาในวันนี้เป็นเพราะรู้สึกมีความผูกพันกับเหตุการณ์ที่ทำให้ช่วงชีวิตของเขาเปลี่ยนไป และมันก็เป็นความรับผิดชอบหนึ่งของคนรุ่นเขาที่จะต้องมาในวันนี้ ถึงแม้ว่าบทบาทของคนรุ่นเขาจะหมดไปนานแล้วก็ตาม

แต่สิตากล่าวอย่างมั่นใจว่า หากได้ย้อนเวลากลับไปก็จะเลือกเดินเส้นทางเดิมอยู่ดี เขาไม่ขอเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำ คิด หรือตั้งใจในอดีต ถึงแม้หลายคนที่เคยผ่านช่วงเวลานั้นจะมองว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย แต่เขามองว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้ประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตที่คนอื่นหาไม่ได้ ประสบการณ์ที่ตัวเขาประสบในป่าเป็นความทรงจำที่ใครอื่นจะเขียนไม่ได้

“มันเป็นเรื่องของความเป็นและความตาย เป็นเส้นขนานที่เราจะก้าวข้าม ก้าวพลาดก็ตาย มันเป็นเส้นขนานที่เกือบจะเป็นเส้นเดียวกัน” เขาหวนคิดถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตหลบหนีอำนาจรัฐในป่า

ตลอด 42 ปีที่ผ่านมา ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา ไม่มีใบหน้ารูปถ่ายอยู่ในหนังสือเรียน แต่ใบหน้าของเขาเริ่มปรากฏ รสนิยมทางการเมืองของเขาเริ่มปรากฏ ชีวิตของเขาเริ่มปรากฏ จากที่เคยเป็นปริมณฑลของเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการค้นหาตัวตนพวกเขาผ่านหนังสารคดี พวกเขาจึงปรากฏ

นิตินัย คนุงเหตุ (ขวามือของภาพ) ขณะรับประตูบานใหม่

ประตูบานใหม่ถูกยกลงมาจากรถสิบล้อ มันช่างใหม่เอี่ยมและดูเป็นประตูที่แสนจะธรรมดา พร้อมที่จะทำหน้าที่อย่างที่ประตูปกติจะทำ คือเปิดเผยและปกปิดสิ่งที่อยู่ภายในพร้อมทั้งปิดกั้นไม่ยอมให้สิ่งภายนอกเข้ามา หาใช่เป็นสัญลักษณ์ทางความทรงจำที่เคยส่งผลต่อชีวิตนับจำนวนไม่ได้ และมันมีสีฟ้าอมเทา

เหล่าช่างทั้งหลายค่อยๆ ผูกเชือกเพื่อป้องกันไม่ให้ประตูแดงได้รับความเสียหายจากการขนส่ง โดยมี ชุมพล ทุมไมย นั่งสังเกตการณ์อย่างตั้งใจอยู่บนตอไม้ พวกเราไม่อาจรู้ได้ว่าชุมพลกำลังคิดอะไร หรือรู้สึกอย่างไร

เสียงสตาร์ทเครื่องยนต์ของรถสิบล้อดังขึ้น รถสิบล้อค่อยๆ แล่นออกไปไกลจากสายตาของพวกเรา ค่อยๆ ขนย้ายประวัติศาสตร์เดินทางไปบนถนน ย้ายจากความลืมไปสู่การจำ

Author

ทัศ ปริญญาคณิต
นักศึกษาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว นอกจากนั้นยังชอบมีมคอมมิวนิสต์ และเสือกเรื่องดราม่า

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า