การ ‘ผงาดขึ้น’ ของฝ่ายขวา ในเวทีการเลือกตั้งเยอรมนี

อังเกลา แมร์เคิล

ผลการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเพื่อชิงที่นั่งในรัฐสภาเยอรมัน (Bundestag) ระหว่างพรรคต่างๆ เมื่อสรุปแล้วปรากฏแนวโน้มส่วนใหญ่เป็นไปดังผลสำรวจที่หลายสำนักคาดหมายตลอดสองเดือนที่ผ่านมา พรรคของ อังเกลา แมร์เคิล กับคู่ร่วมอุดมการณ์ยังคงครองเสียงนำหน้า แม้ว่าสัดส่วนของคะแนนสนับสนุนถดถอยไปบ้าง และจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพันธมิตรของตนต่อไป ทำให้เธอจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่สี่ เยอรมนี ซึ่งไม่มีการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประมุขฝ่ายบริหาร

ผลเลือกตั้งล่าสุดในสัดส่วนที่สำคัญ (เปอร์เซ็นต์ของคะแนนรวม / เปอร์เซ็นต์ที่นั่งโดยประมาณ)

  • พรรคคริสเตียนประชาธิปไตย (Christian Democratic Union of Germany: CDU) และพรรคคริสเตียนสังคมประชาธิปไตย (Christian Social Union in Bavaria: CSU) พันธมิตรพรรครัฐบาล ได้รับเสียงข้างมาก 32.9 เปอร์เซ็นต์ / 34.7 เปอร์เซ็นต์
  • พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party of Germany: SPD) ฝ่ายค้าน  20.5 เปอร์เซ็นต์ / 21.6 เปอร์เซ็นต์
  • พรรคขวาจัด AfD (Alternative for Germany: AfD) 12.6 เปอร์เซ็นต์ / 13.3 เปอร์เซ็นต์
  • พรรค FDP Pro-business (Free Democratic Party: FDP) 10.7 เปอร์เซ็นต์ /11.3 เปอร์เซ็นต์
  • พรรคซ้าย (Die Linke) 9.2 เปอร์เซ็นต์ / 9.7 เปอร์เซ็นต์
  • พรรคกรีน (Greens) 8.9 เปอร์เซ็นต์ / 9.4 เปอร์เซ็นต์

ข้อสังเกตสำคัญที่น่าสนใจหลังการเลือกตั้งครั้งนี้คือ นี่เป็นครั้งแรกใน 72 ปี ที่พรรคขวาจัด ต่อต้านกลุ่มรวมยุโรป ต่อต้านคนเข้าเมืองมาตั้งถิ่นฐาน เกลียดและกลัวอิสลาม AfD (Alternative for Deutschland) ได้รับเลือกตั้งเข้ารัฐสภา นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้สมัครของพรรคที่เพิ่งตั้งมาได้ประมาณสี่ปีประกาศว่า

เราเรียกคืนประเทศและประชาชนของเรากลับมาได้แล้ว

ความตระหนกแผ่ซ่านเข้าครอบงำแทบจะทั่วไปในเยอรมนีประชาธิปไตยเกือบทันทีหลังจากสรุปผลเลือกตั้ง เห็นได้จากการที่ฝูงชนจำนวนหนึ่งเข้าชุมนุมกันหนาแน่นหน้าที่ทำการพรรค AfD ในกรุงเบอร์ลิน ตะโกนด่าประณามนโยบายขวาจัดของพรรค “เชื้อชาตินิยมไม่ใช่ทางเลือก!” และ “ไอ้พวกนาซีออกไป!” แล้วเข้ายื้อยุดปะทะกับตำรวจเล็กน้อย กลุ่มประท้วงในเมืองโคโลญและฮัมบูร์กก็แสดงความเดือดดาลคล้ายกัน

แนวโน้มการ ‘ขึ้น’ ของฝ่ายขวาเยอรมันมาจากหลายสาเหตุ แทบจะเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ที่ความนิยมของพรรคฝ่ายขวา AfD พุ่งขึ้นสูง หลังจากนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล ในปี 2015 ตัดสินใจอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากซีเรียเข้าสู่ประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์และผ่อนแรงกดดันทั้งหลายที่พรมแดนด้านใต้ของยุโรป แล้วต่อมาก็กลายเป็นประเด็นที่คู่แข่งทางการเมืองใช้มาโจมตีแมร์เคิลนับจากนั้น คำกล่าวหาโดยฝ่ายขวาไปถึงระดับว่า เธอมีแผนทำลายวัฒนธรรมเยอรมัน แม้กระทั่งเป็นทฤษฎีสมคบคิดจากปมเกลียดกลัวคนต่างชาติ (xenophobic conspiracy theory) ที่ฟังดูไม่เข้าท่าเลย แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมากยังอุตส่าห์รับฟังว่าดูดีมีเหตุผล แล้วช่วยกันขนานนามนายกหญิงสามสมัยว่า ‘คนทรยศ’ (Volksverräter) ของประเทศ

ตลอดเวลาพรรค AfD หาเสียงด้วยการเน้นความเป็นเยอรมัน เน้นความรู้สึกชาตินิยมเข้มข้น ยกย่องคุณค่าของวัฒนธรรมเดิม ครอบครัว ความมั่นคงภายในของชาติ ออกจากการใช้เงินยูโรร่วมกันกับสหภาพ ฯลฯ

วิกฤติผู้อพยพและปมเกลียดกลัวอิสลามไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่นำมาสู่ผลเช่นนี้ การที่รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจทุ่มเทเงินเข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศกรีซไม่ให้ล่มพินาศลงในฤดูร้อน ปี 2015 รวมทั้งต่อมาได้มีมาตรการการเงินเข้าช่วยเหลือผ่อนคลายวิกฤติในโปรตุเกสและไอร์แลนด์ ก็ถือว่าเป็นชนวนความไม่พึงพอใจในหมู่สมาชิกพรรคและผู้ออกเสียงสายอนุรักษ์จำนวนมาก สมาชิกระดับนำจำนวนหนึ่งถึงกับแยกตัวออกจาก CDU แล้วเข้าร่วมกับ AfD และแน่นอนว่าเมื่อถึงเวลาพวกเขาก็ต้องตามมาเอาคืนเพื่อลงโทษแมร์เคิลในสนามเลือกตั้ง และทุกสิ่งรวมกันมันกลายมาเป็นหอกคอยทิ่มแทง CDU ตลอดเวลา

ผลสำรวจหลังเลือกตั้งแสดงถึงการแปรพักตร์ของอดีตผู้เลือกตั้งที่สนับสนุน CDU ที่หันไปเลือก AfD ในครั้งนี้ว่ามีอยู่เกินหนึ่งล้านคะแนนเสียง อีกกว่า 1.4 ล้านหันไปเลือกพรรค FDP ที่ตั้งนโยบายเข้มงวดกับกฎเกณฑ์การปล่อยเงินช่วยเหลือในกลุ่มยุโรปทำให้พรรคนี้เสียงกระเตื้องขึ้นสู่ 10.7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสองพรรคเล็กที่ไม่เคยได้ที่นั่งจึงกลับผงาดขึ้นมาด้วยความชิงชังนโยบายการเงินของ CDU รวมกับที่รู้กันชัดเจนคือปมเกลียดกลัวอิสลามนั่นเอง

แต่เหตุผลที่ CDU กับแมร์เคิลยังคงอยู่รอดและไม่ถึงกับร่อแร่ลงไปแม้ว่าอาจอ่อนแรงลงบ้าง คือโดยรวมแล้วคนเยอรมันถือว่าเธอคือมือ ‘เก๋า’ ที่รู้ทิศทางและลูกล่อลูกชนกับอำนาจหลักของโลกมากกว่าใครอื่นที่เสนอหน้ามาให้เลือก การสำรวจของสถาบัน Forschungsgruppe Wahlen แสดงให้เห็นว่า ขณะสหรัฐอเมริกามีคนบุคลิกแบบ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นผู้นำ และอังกฤษกำลังออกจากสหภาพยุโรป แมร์เคิลมีบุคลิกความเชี่ยวชาญ และความสามารถน่าไว้วางใจได้ที่จะนำเยอรมนีขับเคี่ยวกับมหาอำนาจอื่นได้ดีกว่าคนแบบ มาร์ติน ชูลซ์ (Martin Schulz) แห่งพรรค SPD อย่างแน่นอน

มาร์ติน ชูลซ์

พรรค SPD ไม่เคยได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นแรงงานสูงไปกว่าพรรค CDU ไม่ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งไหนในสามครั้งที่ผ่านมา และครั้งนี้ก็สูญเสียเสียงสนับสนุน 380,000 เสียงให้แก่พรรค Greens; 430,000 เสียงหันไปเทให้พรรคซ้าย Die Linke; 470,000 เสียงแปรไปเลือกพรรค FDP และ 470,000 เสียงก้าวกระโดดไปไกลทุ่มให้แก่พรรค AfD บนฝั่งขวาสุดโต่งของขั้วอุดมการณ์การเมืองเยอรมัน การถดถอยของทั้งสองพรรคเชิงประชาธิปไตย / อนุรักษนิยม เห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากแนวนโยบายเปิดกว้างด้านการอพยพเข้าเมืองและเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งต่อไปจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างไร น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้สนใจคอยติดตามเฝ้าดู

ขณะที่มวลชนเยอรมันผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่มีการศึกษาดีและตระหนักถ่องแท้ถึงประวัติศาสตร์ของประเทศ พวกเขาจำนวนมากเข้าใจได้ดีถึงการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านยิว ตั้งมั่นเป็นศัตรูกับชาติอื่น ของอดีตพรรคนาซี ระหว่างการเลือกตั้งใหญ่ในทศวรรษ 1920 และ 1930 นั้น ต่อมาได้นำพาประเทศเยอรมนีไปสู่หนทางแห่งมหันตวินาศขนาดไหน การส่งเสียงต่อต้านผู้อพยพโดยการป้ายสีให้เสมือนปีศาจ และยุยงให้คนเยอรมันออกห่างจากแนวคิดสหภาพยุโรปในช่วงสี่ห้าปีมานี้ ก็อาจนับเนื่องได้ว่ามีอะไรต่อมิอะไรหลายแง่มุมคล้ายคลึงกับกระแสการ ‘ผงาดขึ้น’ ของพรรคฝ่ายขวาผู้ประกาศยกย่องอดีตพรรคนาซีและสนับสนุนลัทธิทหารครั้งนี้จึงเป็นสิ่งน่าสนใจของผู้สังเกตการณ์

ล่าสุดหลังประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ (การจัดสรรที่นั่งที่แน่นอนยังคงดำเนินต่อไป) ขณะที่หลายส่วนยังคง ‘ช็อก’ อยู่กับการผงาดขึ้นของพรรคขวาสุดขอบ AfD นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แสดงท่าทีผิดหวังอย่างเห็นได้ชัดขณะที่เธอแจ้งว่า กำลังเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อคัดเลือกพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด ขณะที่พรรค SPD แจ้งว่าจะไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านหลังจากประสบความถดถอยอย่างยับเยินในการเลือกตั้ง

อเล็กซันเดอร์ กอแลนด์

อเล็กซันเดอร์ กอแลนด์ (Alexander Gauland) แห่งพรรค AfD ด้วยความลิงโลดจากความสำเร็จที่ได้เข้าสู่รัฐสภาเป็นครั้งแรก ประกาศย้ำจุดยืนชัดเจนว่าจะยืนหยัดต่อสู้ ‘การรุกรานของคนต่างชาติ’ ที่มุ่งเข้ามาสู่เยอรมนีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และ “เราต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิมอย่างแน่นอน”

ขณะที่ได้รับความสำเร็จเบื้องต้นของพรรค AfD สดๆ ร้อนๆ รอยแตกแยกภายในพรรคก็กลับปรากฏขึ้นอย่างกะทันหัน เพราะหลังการประกาศผลเลือกตั้งเพียงไม่กี่ชั่วโมง ฟรอเก เพตรี (Frauke Petry) ผู้นำร่วมคนหนึ่งของพรรคได้ ‘ทิ้งระเบิด’ ลูกใหญ่เข้าใส่พรรคโดยประกาศโพล่งขึ้นกลางที่ประชุมแถลงข่าวว่า เธอไม่ประสงค์จะนั่งในรัฐสภาในฐานะตัวแทนของพรรค AfD แต่จะทำหน้าที่ของสมาชิกอิสระตัวแทนของเขตแซกซันนี (Saxony) ในรัฐสภาด้วยตัวเธอเอง แล้วก็เดินออกจากที่ประชุมไปพร้อมรอยยิ้มกว้าง ทิ้งพรรคพวกไว้ให้งงงวยพิศวง

ฟรอเก เพตรี

เพตรีเป็นนักการเมืองหัวรุนแรงระดับกลางผู้เคยเรียกร้องให้โค่นล้มสุเหร่าของอิสลามในประเทศ และให้ตำรวจเยอรมันใช้ปืนยิงถ้าจำเป็นเพื่อหยุดยั้งการข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย

อีกไม่นานถัดมาสมาชิกพรรคอีกสี่คนจากเขตเมเคลนบูร์ก-โฟร์พอมเมิร์น (Mecklenburg-Vorpommern) ก็ประกาศตนเป็นอิสระจากพรรคในรูปแบบเดียวกัน

ผู้วิเคราะห์บางรายกล่าวว่านั่นเป็นสัญญาณความแตกแยกที่จะค่อยๆ ร้าวลึกลงในท่ามกลางพรรคขวาจัดที่เพิ่งมีอายุงานไม่มาก ขณะที่ผู้นำพรรคที่ยังคงเหลือ เช่น กอแลนด์ ประกาศกร้าวว่า ต่อไปนี้ พรรค AfD จะตั้งมั่น ‘ไล่ฟัด’ นโยบายหลักๆ ของพรรค CDU/CSU และอะไรก็ตามที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลต่อไปอย่างไม่ลดละ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
BBC
Guardian
The Independent
express.co.uk
www.dw.com/en/german-election/

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า