เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
“…ขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกผู้อพยพจากความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ เป็น ‘เบงกาลี’ แทน ‘โรฮิงญา’…”
จากคำกล่าวของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ให้เปลี่ยนคำเรียกขานกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาที่หลบหนีปัญหาการสู้รบภายในรัฐยะไข่ ตามคำร้องขอของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาร์ บอกอะไรให้เรารับรู้บ้าง?
- ชาติพันธุ์โรฮิงญาที่เราเข้าใจมาตลอดนั้น แท้จริงแล้วเป็นชนชาติเบงกาลี นั่นทำให้นำไปสู่คำถามข้อต่อมา
- ชนชาติเบงกาลี ปักหมุดอยู่บนแผนที่ใดของโลกใบนี้?
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี จึงจัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘เข้าใจโรฮิงญา: ปัญหาความมั่นคงหรือวิกฤติมนุษยธรรม?’ เพื่อจะค้นหาเหตุผลที่มาที่ไปจากคำร้องขอของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มากกว่านั้น เพื่อทำความเข้าใจในเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลเมียนมาร์ถึงพยายามเปลี่ยนนิยามของกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาให้เป็นเบงกาลี
ก่อนจะเป็น ‘เบงกาลี’
ปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2012 หรือ พ.ศ. 2555 ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาที่นับถือศาสนาอิสลามต้องอพยพข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย บางส่วนต้องพลัดหลงเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ทำให้เกิดคำถามเซ็งแซ่ขึ้นในสังคมเป็นครั้งแรกว่า ‘โรฮิงญา’ เป็นใคร
โรฮิงญาในความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป มาจากการถอดเสียงตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษ ‘Rohingya’ ซึ่งแท้จริงควรออกเสียงว่า ‘โรฮีนจา’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกัน ประเทศเมียนมาร์
นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า กลุ่มชนชาติโรฮีนจา (นับจากนี้จะเรียกขานพวกเขาด้วยนามนี้) อพยพมาจากบังคลาเทศและอินเดีย เรียกรวมกันอย่างง่ายๆ ว่า ‘เบงกอล’ ในสมัยที่เมียนมายังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และดำรงอยู่ใช้ชีวิตในฐานะมุสลิมผู้รักสงบเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อกฎหมายสัญชาติเมียนมาร์ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2525 ชาวโรฮีนจาที่ใช้ชีวิตอยู่ในรัฐอาระกันมาตลอดกลับถูกผลักไสให้กลายเป็นกลุ่มชนไร้สัญชาติ ด้วยกรอบความเชื่อที่ว่าพวกเขาล้วนอพยพมาจากอ่าวเบงกอล เป็นชนชาติที่มิใช่เมียนมาร์
นับจากนั้น ความพยายามผลักดันขับไล่กลุ่มชาวโรฮีนจาจึงเกิดขึ้น และเพิ่มความรุนแรงไปสู่ระดับที่อาจเรียกได้ว่า เป็นความพยายาม ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวโรฮีนจาให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินเมียนมา เฉกเช่นคำพูดของนายพลเมียนมาร์ผู้หนึ่งที่เคยกล่าวไว้ว่า ภารกิจกวาดล้างชาวโรฮีนจาเป็นภารกิจที่ยังไม่แล้วเสร็จมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2
จุดเทียนในความมืด
“ไม่มีประโยชน์อันใดที่เราจะไปสาปแช่งความมืด การจุดเทียนต่างหากที่จะทำให้ความมืดนั้นหายไป”
ในฐานะผู้แทนจากสำนักจุฬาราชมนตรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข กล่าวว่า ปัญหาของชาวโรฮีนจา เป็นปัญหาร่วมกันในฐานะมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน เป็นปัญหาของความไม่เป็นธรรมที่เปรียบไปแล้วเหมือนกับความมืด ไม่มีมนุษย์คนใดชอบความมืด แต่การจะปล่อยให้ความมืดเข้าครอบงำย่อมไม่ใช่วิสัยของมนุษย์ที่จะปล่อยให้ความไม่เป็นธรรมบังเกิดขึ้น การสร้างความเข้าใจเพื่อเป็นกระบอกเสียงแทนผู้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะทำให้แสงเทียนสว่างไสวไปยังส่วนมืดของโลกที่ยะไข่ ให้ประชากรโลกหันมาใส่ใจในปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจา
“การที่เราในฐานะนักวิชาการ ในฐานะสถาบันที่ให้ความสนใจ จึงถือได้ว่าเราปฏิบัติสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบในฐานะมนุษย์ ในฐานะเพื่อนร่วมโลก ในฐานะที่เป็นพี่น้องของเราที่จะช่วยกันเผยแพร่และทำความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น”
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล ทับจุมพล ชวนตั้งคำถามว่า สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในตอนนี้คือสิ่งใด สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาในปัจจุบันคือ การปราบปรามในลักษณะของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใช่หรือไม่ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทางรัฐบาลเมียนมาร์ทั้งในส่วนของพลเรือนและทหารต่างมองว่ากลุ่มชาวโรฮีนจาจัดเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย และยังมองว่าชาวโรฮีนจา คือชาวเบงกาลีที่อพยพข้ามมายังเมียนมาร์ในฐานะแรงงานข้ามชาติ
“ขณะที่ชาวโรฮีนจาก็ถกเถียงว่า ไม่ใช่ เขาคือผู้ที่อยู่มาก่อน การอธิบายว่าเป็นผู้อพยพชาวเบงกาลี เป็นเพียงการอธิบายภายใต้กรอบของยุคอาณานิคมของอังกฤษ”
สอดคล้องกับ ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ หรือ CRSP ที่กล่าวว่า ความพยายามก่อความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาเกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์รัฐสมัยใหม่ของเมียนมาร์ โดยการมีฉันทามติร่วมกันในสังคมว่า ชนชาวโรฮีนจาเป็นชนชาวเบงกาลี กระทั่งล่าสุดมีการกล่าวหาว่าชาวโรฮีนจาเป็นผู้ก่อการร้าย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทหารเมียนมาร์และกลุ่มหัวรุนแรงในการก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮีนจา
ความทรงจำและการลบทิ้ง
“ผมอยากจะสนทนาในประเด็นสำคัญ คือ ข้อกล่าวหาของรัฐบาลเมียนมาร์ต่อกลุ่มชาวโรฮีนจาว่า เป็นผู้อพยพชาวเบงกาลีและผู้ก่อการร้ายนั้น มีปัญหาในลักษณะใดบ้าง
“อาระกันในปัจจุบันถูกวาดภาพให้เป็นเช่นเดียวกับยุคพม่าตอนกลาง ในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวพม่าเป็นส่วนใหญ่ นับถือพุทธแบบเถรวาท และมีศิลปวัฒนธรรมอยู่ในลุ่มน้ำอิรวดี หลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ถูกนำเสนอด้วยคำอธิบายใหม่ หรือลบทิ้งเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกับรัฐชาติพม่าในปัจจุบัน
“อาระกันที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่า ซึ่งเป็นจินตนาการที่จะอยู่ร่วมกันของรัฐชาติสมัยใหม่ ได้ทำลายลักษณะของอาระกันที่ดำรงอยู่ในอดีต จินตนาการในการสร้างรัฐชาติอาระกันขึ้นมาในสมัยใหม่ ทำให้เรามองเห็นความแตกต่างของรัฐชาติในสมัยโบราณ”
ศิววงศ์บอกเล่าประวัติศาสตร์ชนชาวโรฮีนจาที่มีพื้นเพเดิมในฐานะชนชาวอาระกัน อันเป็นชื่อเดิมของรัฐยะไข่มาตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายไปมาตลอดประวัติศาสตร์การค้าขายในอ่าวเบงกอล ผ่านลุ่มแม่น้ำคงคา และแม่น้ำสินธุที่ไหลเข้าสู่ดินแดนเมียนมาร์ตอนใน นำมาซึ่งผู้คนและวัฒนธรรม ตลอดจนศาสนาที่แตกต่างเข้าสู่ดินแดนอาระกันในยุคโบราณที่เปิดรับความแตกต่าง ก่อนการมาถึงของรัฐชาติเมียนมาร์สมัยใหม่ที่ต้องการให้ดินแดนแห่งนี้มีเพียงหนึ่งศาสนา หนึ่งวัฒนธรรม
“การสร้างภาพให้กลุ่มชนชาติอาระกันมีเพียงกลุ่มชาติพันธุ์เดียว เป็นการกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่น และปิดกั้นความหลากหลายโดยสิ้นเชิง”
กองทัพปลดปล่อยโรฮีนจา
ภายใต้กลยุทธ์แบ่งแยกเพื่อปกครอง ศิววงศ์กล่าวถึงข้อกล่าวหาที่มีต่อชาวโรฮีนจาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น จำเป็นต้องมีการทบทวนข้อเท็จจริงก่อนในเบื้องต้น
นับตั้งแต่เมียนมาร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่ยุคนายพลอองซานกับชนกลุ่มน้อยได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการปะทะ และมีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อทวงสิทธิ์ในดินแดนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ กลุ่มกะเหรี่ยงคริสต์ หรือกลุ่มไทใหญ่ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การจับอาวุธขึ้นสู้ของชนกลุ่มน้อย เปรียบได้ดั่งการประกาศตัวตนเพื่อแสวงหาที่ยืนให้กับชนชาติของตัวเอง
กลุ่มชาวโรฮีนจาที่เรียกตัวเองว่า ‘กองทัพปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งอาระกัน’ หรือ ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) ก็เช่นกัน โดยศิววงศ์ไม่ได้ปฏิเสธว่า ไม่มีการสู้รบโต้ตอบรัฐบาลเมียนมาร์ของกลุ่มชาวโรฮีนจา แต่มองว่าการสู้รบนั้นเป็นไปเพื่อแสวงหาที่ยืนในรัฐชาติสมัยใหม่ของเมียนมาร์ที่ไม่ต้องการให้มีชาวโรฮีนจาในฐานะเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน
“ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องคืนสิทธิ์ในทางกฎหมายให้กับคนทุกกลุ่มในเมียนมาร์ เพื่อที่เราจะหาทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องสร้างชีวิต สังคม และวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ ภายใต้สังคมที่หลากหลายในเมียนมาร์ให้ได้” คือคำกล่าวของศิววงศ์
ศัพท์บัญญัติแห่งความบิดเบือน
ศรีประภา เพชรมีศรี จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงความเคลื่อนไหวในกลุ่มอาเซียนว่า ได้มีความพยายามพูดคุยกันมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเกิดขึ้นในปี 2555 ซึ่งแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย มีความพยายามผลักดันให้เกิดการพูดคุยกัน
จากรายงานของ UNHCR (ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) มีผู้อพยพชาวโรฮีนจา 140,000 คน หนีออกจากประเทศเมียนมาร์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนนับแสนที่ยังคงอยู่ในเมียนมาร์ โดยอาศัยอยู่ตามแคมป์ผู้ลี้ภัยภายใต้การสนับสนุนของ UNHCR และตลอดหลายปีที่ผ่านมายังมีชาวโรฮีนจาอพยพออกจากเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง ตราบที่การสู้รบยังดำเนินอยู่
“นับตั้งแต่เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขของ UNHCR มีผู้อพยพประมาณ 73,000 ถึง 90,000 คน ตัวเลขนี้แท้ที่จริงก็ไม่มีใครรู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่แน่ รู้เพียงว่ามีตัวเลขผู้อพยพนับแสนคนตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา”
ศรีประภากล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2555-2558 ที่เริ่มมีการพูดคุยกันระหว่างประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย กับรัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อยุติปัญหาผู้ลี้ภัยขาวโรฮีนจานั้น รัฐบาลเมียนมาร์ไม่เคยยอมรับว่ามีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แต่อย่างใด มีแต่เพียงข้อตกลงในกรอบของปัญหาผู้ลี้ภัยทางทะเลเท่านั้นที่รัฐบาลเมียนมาร์ยอมรับ จนนำไปสู่การพูดคุยระหว่างประเทศ
ภายหลังจากวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาร์ เดินทางมาเยือนประเทศไทย ในเวลาต่อมาพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ได้แถลงต่อสื่อว่า นับแต่นี้ไปขอให้เรียกขานชาวโรฮีนจา ว่าเป็นชาวเบงกาลี ในฐานะของผู้อพยพย้ายถิ่นมาจากเบงกอล ซึ่งศรีประภามองว่า นี่คือการบัญญัติศัพท์เพื่อหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นในอาเซียน ถูกกลบด้วยวาทกรรมที่เรียกว่า ‘การเคลื่อนย้ายแบบไม่ปกติทางทะเล’ และ ‘การค้ามนุษย์’ เนื่องจากการกำหนดให้อยู่ภายใต้กรอบปัญหานี้เป็นสิ่งที่ถูกยอมรับได้มากที่สุด นั่นจึงทำให้ประเด็นปัญหาของโรฮีนจาไม่ได้รับการแก้ไข
“ในการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีการพูดเสมอว่า เรื่องนี้จะต้องได้รับการแก้ไขให้ถึงรากเหง้าของปัญหา คือการถูกเลือกปฏิบัติของชาวโรฮีนจา การถูกถอนสัญชาติหรือไม่ได้รับสัญชาติ แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถใช้คำว่า ‘โรฮีนจา’ ได้ และยังละเลยปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ปัญหาของผู้ลี้ภัยก็จะยังคงอยู่ต่อไป”
ก่อนถอยหลังสู่ทฤษฎีโดมิโน
จากบทสัมภาษณ์ที่ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ตอบคำถามว่าด้วยการหลบเลี่ยง ลบลืม และขีดฆ่าความเป็นโรฮีนจาให้กลายเป็นเพียงชนชาติผู้อพยพ ‘เบงกาลี’ ว่า เป็นอาการทางปฏิกิริยาของนักการทหารที่มีความหวาดหวั่นต่อชาวมุสลิมที่มาจากอินโดฯ-อารยัน ก่อเป็นความหวาดกลัวในชื่อ ‘อินโดฯเบีย’ ภายใต้ความทรงจำ ‘ในวงแหวนแห่งความขัดแย้ง 3 วง’ ที่ประกอบไปด้วย
- การขยายตัวของลัทธิอิสลามนิยม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ISIS กระแสการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงการทะลักเข้ามาของแรงงานมุสลิมจากประเทศบังคลาเทศ
- ลัทธิพุทธนิยมแท้ ที่นำโดยพระวีระธู ซึ่งได้เทศน์ไว้ตั้งแต่ปี 2001 ว่า หากเมียนมาร์ไม่สามารถหยุดยั้งการขยายพันธุ์ของมุสลิมได้ก็จะกลายเป็นประเทศมุสลิม
- การเคลื่อนย้ายของกลุ่มประชากรในรัฐยะไข่ และอ่าวเบงกอลของบังคลาเทศที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงที่ดินทำกิน สอดคล้องไล่เรียงกันมาตั้งแต่ข้อที่ 1 ทำให้นักการทหารมองว่า พื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่จะเป็นพื้นที่อันตราย หากไม่หยุดยั้งการไหลบ่าของชาวบังคลาเทศ การพังทลายตาม ‘ทฤษฎีโดมิโน’ ที่เคยถูกใช้ในยุคสงครามเย็นก็จะเกิดขึ้นกับเมียนมาร์ในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำรายงานในชื่อ ‘สิทธิมนุษยชนของคนไร้รัฐชาวโรฮีนจา’ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนการรัฐประหารโดย คสช. ที่ระบุข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเทศไทยจะต้องทำให้เกิดความเสมอภาคและปราศจากการเลือกปฏิบัติ แก้ปัญหาความไร้รัฐและสถานะทางกฎหมาย คุ้มครองผู้ลี้ภัยและแสวงหาที่พักพิง เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาเกี่ยวกับความไร้รัฐและผู้ลี้ภัย การทำให้บุคคลมีเสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัย ให้การคุ้มครองสิทธิเด็ก ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ และส่งเสริมการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค