ภาพประกอบ: Shhhh
คำถามที่มักลอยล่องมากระทบโสต กรณีคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญา คือ “ที่บ้านมีที่ว่างไหม มีไหมๆ” คนถูกถามก็มักรู้สึกกระอักกระอ่วน ต่อให้มีมนุษยธรรมแค่ไหนก็อาจต้องทบทวนความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับภาระอันใหญ่หลวง
เหมือนคำพูดของคุณลุงท่านหนึ่ง* ที่กล่าวในทำนองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการส่งตัวผู้อพยพกลับคืนประเทศ เพราะผู้อพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ไทยจึงไม่สามารถรับเข้ามาอยู่ถาวรได้
“…ประเทศไทยไม่มีที่ให้อยู่แล้ว แถวบ้านคุณมีที่ไหมล่ะ ขนาดคนไทยยังไม่มีที่จะอยู่เลย ทำยังกับผมเป็นยูเอ็น เป็นเจ้าโลก…”
ถ้าไม่นับคำพูดสิ้นคิดของคุณลุง (ที่แม้หากว่าพิจารณาให้ลึกกว่านั้น ใช่ว่าคำพูดแกจะผิดเสียทีเดียว) คำถามคือ ในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน เราควรมีท่าทีอย่างไรบ้างต่อประเด็นผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงญา
ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘วิกฤติโรฮิงญากับบทบาทของอาเซียน’ โดยเชิญวิทยากรต่างสาขาและมุมมอง มาร่วมกันสะสางประวัติศาสตร์และสาแหรกของชาวโรฮิงญา ทั้งประเด็นที่คาบเกี่ยวกับขบวนการก่อการร้าย และบทบาทของอาเซียนต่อปัญหาชาวโรฮิงญา
“ถ้าเรามองโรฮิงญาและขบวนการติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ของพม่า เราไม่สามารถมอง ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army หรือ กองทัพปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งรัฐอาระกัน) ได้เพียงกลุ่มเดียว ผมคิดว่าประโยชน์ที่จะมีมากกว่านั้น คือต้องคำนึงถึงกองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย” ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวเริ่มต้นด้วยการอธิบายเปรียบเทียบกองกำลังติดอาวุธของชาวโรฮิงญากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า เพื่อให้มองเห็นนัยยะทางประวัติศาสตร์ของพม่าในมุมที่กว้างมากขึ้น
ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์พม่า
ฐิติวุฒิอธิบายภูมิหลังทางประวัติศาสตร์พม่าไว้ว่า ก่อนจะเข้าใจเรื่องโรฮิงญาต้องมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังติดอาวุธและมีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนตั้งแต่หลังทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา อย่างน้อยมีประมาณ 21-22 กลุ่ม
“ลักษณะของกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ของพม่า ณ ปัจจุบัน ก็มีความพยายามรวบรวมกำลังเพื่อจะผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพ กรณีโรฮิงญามีกลุ่มกองกำลังที่สำคัญคือ ARSA และ RSO (Roningya Solidarity Organisation หรือ องค์การความเป็นปึกแผ่นโรฮีนจา) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันในบางเรื่อง”
การจะทำความเข้าใจกองกำลังติดอาวุธ ฐิติวุฒิกล่าวว่า ในกลุ่มเหล่านี้จะมี ‘แก้วสามประการ’ ในระดับสงครามกลางเมือง คือ กำลังคน อุดมการณ์ และเงินสนับสนุน ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีความพร้อมในองค์ประกอบเหล่านี้ไม่แตกต่างกัน
“ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ กรณีของ ARSA เวลาทำสงครามกลางเมืองในพม่ามักจะมีพันธมิตร อยู่ 2 แบบ คือ พันธมิตรภายในประเทศกับพันธมิตรภายนอกประเทศ ผมตอบได้ชัดเลยว่า พันธมิตรภายในประเทศ ล้วนรักษาระยะห่างจาก ARSA ทั้งสิ้น”
แปลความได้ว่า กลุ่มกองกำลังต่างๆ ในประเทศพม่า มักไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกันหรือยะไข่ ขณะที่พันธมิตรภายนอกประเทศเองก็ยังเป็นที่สงสัยกันว่ามีส่วนในการสนับสนุนด้านการเงินมากแค่ไหน
นอกจากนี้ กลุ่ม ARSA ในทัศนะของฐิติวุฒิยังไม่มีธงในการต่อสู้ที่ชัดเจน แต่มีความเป็นไปได้จากนักวิเคราะห์ที่มองว่า ARSA ต้องการส่วนแบ่งทางพื้นที่ด้านตะวันตกของรัฐอาระกัน
“วิธีการมองความขัดแย้งทางชาติพันธุ์มักมีความเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้ายอยู่เสมอ แต่เป็นการก่อการร้ายในลักษณะทางการเมือง”
ฐิติวุฒิอธิบายต่อประเด็นนี้ว่า การต่อสู้ในทางการเมืองมักเกิดขึ้นในปริมณฑลที่ใกล้กับเมืองเพื่อหวังผล 2 ประการ หนึ่ง เพื่อให้เมืองนั้นเสียผลประโยชน์ สอง หวังผลให้เกิดการโจมตีที่พลาดเป้าไปโดนกลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นยุทธวิธีหนึ่งในเชิงข่าวสารที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงขบวนการค้ายาเสพติดที่หาทุนมาสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์
ใครได้-ใครเสีย
ในพื้นที่เอเชียใต้มีรูปแบบของการก่อการร้ายที่มีเจ้าของ กล่าวคือ มีการออกมาอ้างสิทธิ์ในการก่อการร้ายของแต่ละกลุ่มเพื่อหวังผลในเชิงแย่งชิงพื้นที่
“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณีซีเรีย เราอาจจะคิดว่ากลุ่มกองกำลังที่ต้องการล้มผู้นำซีเรียคนปัจจุบันมีเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งไม่ใช่ เพราะยังมีมหาอำนาจในระดับภูมิภาคและระดับโลกเข้าไปยุ่งเกี่ยวในซีเรียมากเป็นพิเศษ ฉะนั้น เทรนด์ก่อการร้ายในปัจจุบัน มหาอำนาจ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และการก่อการร้ายจึงเชื่อมโยงกัน”
ข้อสังเกตประการหนึ่งของฐิติวุฒิ คือ กรณีการเกิดขึ้นของกลุ่ม ARSA และการประโคมข่าวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นความพยายามจะปักหมุดความขัดแย้งในเอเชียอีกครั้งหรือไม่
ฐิติวุฒิกล่าวต่ออีกว่า การพยายามจะปักหมุดอีกครั้งจากที่เคยเจาะเข้าไปในฟิลิปปินส์และพรมแดนบังคลาเทศอาจเร็วไปและดูเป็นทฤษฎีสมคบคิดมากเกิน ดังนั้น ควรหันมามองในแง่ของใครได้-ใครเสีย ต่อกรณีปัญหาของชาวโรงฮิงญาจะเหมาะกว่า โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ซึ่งจะมีการลงทุนในธุรกิจน้ำมันมากเป็นพิเศษ รวมถึงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่นำไปสู่การยึดพื้นที่เพื่อรองรับเขตอุตสาหกรรมในรัฐอาระกัน ก่อนจะนำไปสู่ประเด็นการเรียกร้องการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรของพรรคการเมืองแห่งชาติของอาระกัน ซึ่งฐิติวุฒิมองว่าปัญหาในเรื่องนี้มาจากตัวรัฐธรรมนูญของพม่าเองที่ให้อำนาจส่วนกลางในการจัดการทรัพยากรทั้งหมดในประเทศพม่า
“สูตรหนึ่งที่พูดถึงมากคือ 70:30 คือ รัฐบาลท้องถิ่นต้องได้ 70 ส่วนรัฐบาลกลาง 30 ฉะนั้น วิธีการแก้ไขในระดับหนึ่งก็คือ ให้แก้รัฐธรรมนูญเสีย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของตัวเองมากขึ้น”
ความสำคัญของรัฐอาระกัน
ในมุมมองของ ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การจะเข้าใจปัญหาชาติพันธุ์ในพม่าเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั้งรัฐบาล ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ต้องให้ความสำคัญ แม้แต่ อองซาน ซูจี ยังกล่าวว่า “ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่สามารถปรองดอง หรือสร้างสันติภาพในประเทศได้ โอกาสที่จะไปเน้นเรื่องอื่น หรือไปพัฒนาเศรษฐกิจ หรือไปพัฒนาการเมือง ถือเป็นเรื่องยากมาก กระทั่งอาจเป็นไปไม่ได้เลย”
ลลิตาระบุว่า กว่า 135 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่าที่ถูกระบุอยู่ในแบบเรียนของพม่า ทว่าชนชาติโรฮิงญาไม่เคยถูกนับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทางชาติพันธุ์แต่อย่างใด และหากถามว่ากลุ่มทางชาติพันธุ์ใดบ้างที่พม่าจะยอมรับได้ ในแง่นี้ ลลิตามองว่า อาจต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคง ตำแหน่งแห่งที่ และประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆ ด้วย
“ถ้ามองให้แคบเข้ามา เฉพาะเรื่องชนชาติโรฮิงญา คนในยะไข่เขาจะไม่ออกเสียงตัว ย.ยักษ์ แต่เขาจะเรียกตัวเองว่า ‘ระไข่’ ส่วนคำว่า ‘อาระกัน’ อังกฤษจะใช้เยอะ แต่ถ้าเป็นคนในพม่าจะไม่ค่อยนิยมออกเสียงนี้เท่าไรนัก
“ความโดดเด่นของรัฐอาระกันก็คือ มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากเท่าไหร่นัก เรียกว่าเป็นสร้อยไข่มุกของจีนเลยก็ว่าได้ มีบ่อแก๊สธรรมชาติขนาดใหญ่ และมีการคาดการณ์กันว่ามีบ่อน้ำมันขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่อาจมีความสำคัญขึ้นมาในอนาคต”
สาแหรกชาติพันธุ์โรฮิงญา
ในทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์โรฮิงญา ลลิตามองว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับตำรวจในพม่า คือ ปัญหาทางชาติพันธุ์ แม้แต่การเรียกชื่อ ‘พม่า’ ‘เมียนมาร์’ ‘เบอร์ม่า’ ‘ยะไข่’ ซึ่งคำเหล่านี้ยังถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มชนส่วนใหญ่ของประเทศพม่า คือ กลุ่มชาติพันธุ์พม่า จนสร้างความไม่พอใจให้กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมถึงกลุ่มโรฮิงญาเอง
“เอาง่ายๆ คนพม่าส่วนใหญ่ยังมองว่า คนโรฮิงญาไม่ใช่คนในประเทศของเขา ดังนั้น เวลาเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น สื่อต่างๆ จึงพยายามไม่ใช้คำว่าโรฮิงญา แต่จะใช้คำว่าเบงกาลี ซึ่งจะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยเก่าก่อน”
ความเป็นมาของคำเรียกขาน หากนับตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ที่เริ่มมีการแบ่งเขาแบ่งเราในประเทศพม่า ลลิตากล่าวถึงคำว่า ‘โรฮิงญา’ ว่าเป็นคำที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1779 เพียงแต่ไม่ใช่คำที่ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ใช้เรียกขานตนเอง จนกระทั่งคำคำนี้ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งในทศวรรษที่ 1950
“ลองนึกตามดูว่า พอมีการบัญญัติคำคำหนึ่งขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะพูดภาษาไทย ภาษาเขมร มันก็ทำให้ดูเหมือนเป็นปึกแผ่น มันทำให้ดูเหมือนเป็นคนที่มี ‘อะไร’ สักอย่าง คำว่า ‘โรฮิงญา’ ก็เช่นกัน”
นอกจากนี้ เรื่องเล่าของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ยังแตกแขนงออกไปคาบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางศาสนา ชาวยะไข่ที่นับถือพุทธจึงพยายามจะแย่งชิงที่มาของรัฐยะไข่ด้วยการทำให้ดูเก่าแก่กว่า จากการที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเยือนรัฐยะไข่ตั้งแต่สมัยพุทธกาล และยังมีอีกความเชื่อหนึ่งที่พยายามมองว่า คนมุสลิมจะเข้ามายึดครองประเทศพม่า เนื่องจากคนมุสลิมไม่คุมกำเนิด จึงพยายามเข้ามาแต่งงานกับผู้หญิงพม่า เพื่อ ‘เทคโอเวอร์’ ประเทศพม่า
“คำว่าแผ่นดินของเรา หรือ ‘เดาะอะเหม่’ ของพม่าเป็นเรื่องสำคัญ ถึงขนาดมีคำว่า ‘we have to protect our land’ หรือ เราต้องปกป้องแผ่นดินของเรา”
เรื่องเล่าเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้นในยุคที่ประชาธิปไตยในพม่าเบ่งบาน ก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วรัฐบาลพม่าไม่มีความคิดชาตินิยมหรือ ซึ่งลลิตามองว่า ในยุคสมัยนั้นแม้แต่นายพลเน วิน ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ แต่ก็ไม่ใช่พุทธนิยมแบบขวาจัด เห็นได้จากการพยายามบัญญัติศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติของอูนู และก่อให้เกิดการปฏิวัติอย่างเงียบๆ ในปี 1958 เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่การแตกแยกของประเทศ
อาเซียนอยู่ไหนในความขัดแย้ง
ลลิตามองไปยังบทบาทของอาเซียนจากคำกล่าวของ Alan Peter Cayetano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ที่ควบตำแหน่งประธานอาเซียน ได้กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งในพม่าโดยพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งส่งผลให้ Anifan Aman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ทักท้วงว่าการพยายามหลีกเลี่ยงคำว่าโรฮิงญาของ Alan Peter Cayetano คือการไม่ยอมรับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม ซึ่งวาทกรรมในเรื่องการใช้คำนี้เอง ที่อาจส่งผลให้เกิดการแตกแยกในหมู่ประชาคมอาเซียน
ไม่นับว่าการพยายามเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา ซึ่งกลับกลายเป็นไฟโหมกระพือกลับไปยังพม่าเองที่มองว่าในรัฐยะไข่ยังมีชาวพุทธที่ถูกกระทำเช่นกัน เหตุใดจึงไม่มีใครพูดถึงบ้าง ซึ่งการเรียกร้องในระดับนานาชาติ รวมไปถึงการถอดถอนรางวัลโนเบลคืนจาก อองซาน ซูจี ไม่ทำให้ปัญหาของชาวโรฮิงญาได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด
ราโชมอนในยะไข่
ในฐานะที่สนใจประเด็นการก่อการร้ายมาตลอด มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกเล่าเรื่องราวในรัฐยะไข่ที่มีกลุ่มคนโพกผ้าปิดหน้าปิดตาเข้าไปขับไล่ชาวบ้านให้ออกไปนอกพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะถูกฆ่า ซึ่งทุกคนที่เป็นทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม ต่างก็มีชุดเรื่องเล่าที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง
ชาวยะไข่ที่นับถือพุทธก็ชี้นิ้วไปยังกลุ่มชาวมุสลิม ส่วนชาวยะไข่ที่นับถืออิสลามก็ชี้ไปยังทหารพม่าที่ต้องการขับไล่พวกตนออกไปจากรัฐยะไข่ หรืออาระกัน นำไปสู่คำถามต่อบทบาทของกลุ่มก่อการร้ายในรัฐยะไข่เองที่กลับกลายเป็นการผลักประชากรออกไปนอกพื้นที่ ซึ่งนับว่าแปลกพิกลในเชิงของยุทธศาสตร์
“ในขบวนการก่อการร้ายทั่วไป ผมไม่ค่อยเห็นยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันคนออกนอกพื้นที่ หากกลุ่มโรฮิงญามีขบวนการก่อการร้าย เหตุใดถึงไม่ปกป้องคนที่เป็นมวลชนของกลุ่มกองกำลังเอาไว้” มาโนชญ์ไม่ได้ให้คำตอบ แต่ทิ้งคำถามไว้อย่างชวนใคร่ครวญ
ความเงียบงันของอาเซียน
“อาเซียนไม่ได้มองว่า ปัญหาของชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องเร่งด่วนอะไร”
มาโนชญ์อ้างอิงคำกล่าวของประธานอาเซียนต่อที่ประชุมสหประชาชาติที่ไม่ได้ประณามการใช้ความรุนแรงในพม่า แต่กลับพูดว่าพม่าพยายามให้มีหน่วยงานบรรเทาทุกข์ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการแถลงการณ์ของ อองซาน ซูจี และสอดคล้องกับแถลงการณ์ของรัฐบังคลาเทศที่ว่า คลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญาได้ยุติลงแล้ว
“ถ้ามีความพยายามผลักดันชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศจริง การที่อาเซียนออกแถลงการณ์หลังจากที่ทุกอย่างจบแล้ว และเงื่อนไขที่นางอองซาน ซูจี บอกว่าชาวโรงฮิงญาสามารถกลับเข้ามาได้ แต่ต้องสามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ตรงนี้ผมมองว่าน่าเป็นห่วง ในเมื่อออกไปโดยไม่มีเอกสารยืนยัน การกลับเข้ามายิ่งยากมากกว่า ถ้านี่เป็นแผนในการผลักดันคนโรฮิงญาออกไป ตอนนี้ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว และถ้าอาเซียนยังดำเนินบทบาทอยู่แบบนี้ อาเซียนระส่ำแน่” มาโนชญ์กล่าว
อาเซียนจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสันติภาพได้แค่ไหนนั้น สำหรับฐิติวุฒิมองว่า อาเซียนไม่มีกองกำลังทางทหารเพื่อสันติภาพ ฉะนั้น หากอาเซียนพยายามเข้าไปแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาในยะไข่ อาเซียนจะต้องระวังไม่ให้ตัวเองเข้าไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
“นอกจากนี้ ประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การข่มขืน ควรต้องพิจารณากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่าที่ถูกกระทำไม่แตกต่างกันด้วย หากเรายึดพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน”
ขณะที่ลลิตามองว่า คนที่จะเข้าไปแก้ปัญหาได้ คือ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ไม่ใช่อองซาน ซูจี ที่มีบทบาทเปรียบเสมือน ‘แม่’ ของชาวพม่า แต่ไม่ใช่บทบาทของผู้ที่จะแก้ไขปัญหาโรฮิงญาได้อย่างจริงจัง
“ที่น่าสนใจคือ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ออกมากล่าวขอโทษต่อนานาชาติที่ส่งความช่วยเหลือเข้าไปช้า ทั้งๆ ที่คนที่ควรจะออกมาพูดเรื่อง ควรเป็นอองซาน ซูจี มากกว่า”
ทั้งนี้ การไม่คุยกันระหว่างกองทัพพม่ากับพรรค NLD ของซูจี อาจเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ปัญหาโรฮิงญาไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็สงวนท่าทีของตนเอง
สุดท้าย มาโนชญ์ตอบคำถามที่ตั้งไว้แต่ต้นเรื่องว่า “เหตุใดไทยจึงไม่รับพวกเขาไว้?” โดยโยงกลับไปยังบรรดาประเทศมุสลิมที่ออกมาแสดงความเห็นใจชาวโรฮิงญา แต่ก็ไม่ยอมรับผู้อพยพเอาไว้เอง เพราะในระยะยาวการโอบรับชาวโรฮิงญาไว้ในประเทศตนเองในฐานะผู้อพยพ อาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะต่อให้แผ่นดินในรัฐยะไข่จะยากแค้นแค่ไหน แต่เมื่อชาติพันธุ์ใดเกิดขึ้นบนแผ่นดินนั้นแล้ว ก็ย่อมมีความรัก ความหวงแหน ในแผ่นดินเกิดของตนเอง
*คำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 (ที่มา: Voice TV)