2,000 กิโลเมตร จากฮอนดูรัสถึงสหรัฐอเมริกา ผู้อพยพ 7,000 ชีวิต เดินเท้าหนีความจน

มันเริ่มต้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม โดยมีผู้อพยพเพียง 160 คนเท่านั้น แต่หลังจากข่าวคราวถูกเผยแพร่ออกไป คาราวานผู้อพยพที่หนีจากฮอนดูรัสขึ้นเหนือกว่า 2,000 กิโลเมตรสู่ประเทศเป้าหมายคือสหรัฐอเมริกาก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งอาจตัวเลขประมาณการณ์ว่าในคาราวานนี้อาจมีผู้ร่วมเดินเท้ามากถึง 7,000 ชีวิต

ปัญหาความรุนแรงและความยากจนในอเมริกากลาง เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผู้อพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮอนดูรัส เลือกหนีออกจากบ้านเกิดเพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า ทว่าการเดินเท้าหนีปัญหาของพวกเขาไม่ได้ง่ายเลย ไม่ใช่เพราะระยะทางเพียงอย่างเดียว แต่นี่กำลังเป็นปัญหาระหว่างประเทศ หลังโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณว่า ไม่ต้อนรับคาราวานผู้อพยพที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ซ้ำยังขู่ว่าจะตัดงบประมาณที่ให้การช่วยเหลือประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งฮอนดูรัส กัวเตมาลา และเอลซัลวาดอร์ หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขดีพอ อีกทั้งจะส่งทหารมาปิดชายแดนสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก เพื่อสะกัดกั้นผู้อพยพในกรณีที่แต่ละประเทศล้มเหลวที่จะจัดการปัญหา

รัฐบาลเม็กซิโกออกมารับปากรัฐบาลสหรัฐว่าจะไม่ยอมให้คาราวานผู้อพยพมุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ชายแดนสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังออกมาเตือนด้วยว่า เม็กซิโกจะให้ผู้อพยพขึ้นทะเบียนและเข้าสู่กระบวนการขอลี้ภัย แต่หากผู้อพยพคนใดพยายามหลีกเลี่ยงก็จะต้องใช้มาตรการส่งตัวกลับ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเม็กซิโกก็มีความพยายามที่จะให้สหประชาชาติเข้ามาช่วยจัดการปัญหานี้

แม้จะมีการออกมาขู่เป็นระยะๆ แต่คาราวานผู้อพยพที่เดินทางเข้าสู่ประเทศเม็กซิโกก็ส่งเสียงเป็นภาษาสเปนมาตลอดทางว่า “Si se pudo!” ซึ่งหมายถึง “เราทำได้!”

“เราต้องการไปที่สหรัฐอเมริกา” มาเรียอา อิรีอาส โรดริเกวซ หญิงวัย 17 ปีชาวฮอนดูรัสซึ่งเดินทางมาพร้อมกับสามีและลูกสองคน พูดกับสำนักข่าว The New York Times

“หากวันนี้เขาหยุดเราได้ เราก็จะกลับมาอีกครั้งอยู่ดี”

ส่วน โรเจอร์ พิเนดา ชาวฮอนดูรัสวัย 16 ปี ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับสมาชิกครอบครัวอีกห้าคน บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า ตนเองต้องการเพียงที่นอนและอาหารเท่านั้น

“เราหวังว่าทรัมป์จะยอมให้เราเข้าไปนะ” โรเจอร์ พิเนดา ซึ่งมาจากซานเปโดรซูลา เมืองในฮอนดูรัสที่เต็มไปด้วยปัญหาความรุนแรงพูดถึงความหวังอันแผ่วเบาของเขา

ในช่วงสามวันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเม็กซิโกอนุญาตให้ผู้อพยพ 1,028 คนข้ามแม่น้ำซูซิอาเต (Suchiate) บริเวณพรมแดนกัวเตมาลากับเม็กซิโกได้ แต่บางคนเลือกที่จะว่ายน้ำหรือล่องแพแทนการใช้สะพาน เพราะกระบวนการตามขั้นตอนนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า

ฮอนดูรัส

ตามรายงานของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ฮอนดูรัสคือหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดคดีฆาตรกรรมสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีปัญหาการว่างงานสูง ที่ผ่านมารัฐบาลฮอนดูรัสได้ออกมาประณามพรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนและกระตุ้นให้ประชาชนอพยพออกจากบ้านเกิด

แต่ อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ว่าที่ประธานาธิบดีเม็กซิโกซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งและจะเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยความเห็นใจว่า ผู้อพยพหนีจากบ้านเกิดไม่ใช่เพราะต้องการแสวงหาความสุข แต่เพราะความจำเป็นของการมีชีวิตอยู่ และเพื่อแก้ปัญหานี้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ควรหาทางลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอเมริกากลาง ซึ่งนี่จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า