เที่ยวลาวคราวนี้ ของฝากชิ้นเดียวที่ผมซื้อคือ ขา 1 ข้าง

Prostheses-museum-re

เรื่อง + ภาพ : ทรงกลด บางยี่ขัน

 

 

1

เที่ยวลาวคราวนี้ ของฝากชิ้นเดียวที่ผมซื้อคือ ขา 1 ข้าง

ผมหมายความตามนั้นจริงๆ

 

2

ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ผมพาตัวเองข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 จากจังหวัดมุกดาหารสู่แขวงสะหวันนะเขต แล้วก็เดินทางขึ้นเหนือแบบเที่ยวๆ หยุดๆ ไปเมืองท่าแขก แล้วยิงยาวไปยังเวียงจันทน์ นครหลวงของลาว ก่อนจะข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 1 กลับมายังจังหวัดหนองคาย

เมื่อเทียบกับสะหวันนะเขตและท่าแขกแล้ว เวียงจันทน์ดูไม่ค่อยมีเสน่ห์ยั่วยวนเท่าไหร่นักในสายตาผม เหตุผลก็คือ ผมเคยมาที่นี่แล้วหลายครั้งหลายหน ครั้งล่าสุดตอนที่มาทำ a day ฉบับลาว ซึ่งผมปักหลักอยู่นานกว่าสัปดาห์ ได้สัมภาษณ์คนเจ๋งๆ ในเวียงจันทน์มากมาย ได้ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นเวียงจันทน์ ได้ไปในสถานที่ต่างๆ ที่น่าจะไปครบถ้วน ทั้งสถานที่ขึ้นชื่อสำหรับนักท่องเที่ยว และสถานที่ลือชาสำหรับชาวเมือง

การมาเวียงจันทน์ในครั้งนั้นทำให้ผมอิ่มจนไม่ได้กลับมาเมืองหลวงของลาวอีกเลย 4 ปีเต็มๆ

การกลับมาในครั้งนี้ก็ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะกลับมาเที่ยว ผมแค่แวะมาคุยงานเท่านั้นเอง

เมื่อคุยงานกันจนลุล่วงแล้ว ผมก็นัดสังสรรค์กับเพื่อนเก่าชาวลาวที่เคยช่วยทำ a day ฉบับลาวเมื่อ 4 ปีก่อน กำลังหลักในครั้งนั้นคือพี่ปุ้ย แม่หญิงลาวสาวสวย ผู้จัดการสำนักพิมพ์ดอกเกด พร้อมด้วย ตีกับกบ ซึ่งในวันนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่วันนี้พวกเธอเรียนจบกันหมดแล้ว

กบกำลังคร่ำเคร่งกับการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Project Management ความตั้งใจของเธอคือ อยากกลับมาทำงานกับโปรเจ็คท์พัฒนาสังคมขององค์กรต่างๆ ในลาว ซึ่งเป็นงานที่เธอมีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลีอยู่เรื่อยๆ

 

ส่วนตีตอนนี้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานในระดับนานาชาติชื่อ COPE มีเป้าหมายคือช่วยเหลือผู้พิการจากกับระเบิดทั่วประเทศลาวCOPE-logo

พอนึกภาพว่าวันๆ ตีต้องเจอแต่ผู้พิการมากมายที่มารับความช่วยเหลือ ผมก็รู้สึกว่างานนี้มีคุณค่าแต่ว่าน่าจะทำแล้วหดหู่

เราก็เลยคุยเรื่องงานของตีแค่พอหอมปากหอมคอ แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องสนุกๆ ที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้แทน

บทสนทนาในคืนนั้นยืดยาวสมกับที่ไม่ได้เจอกันเนิ่นนาน ช่วงท้ายของการพูดคุย เราก็วกกลับมาที่เรื่องงานของตีอีกจนได้

มันไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์ แต่พอได้ฟังเรื่องราวแบบเต็มๆ ผมก็บอกตีว่า พรุ่งนี้ผมจะขอแวะไปเที่ยวที่ออฟฟิศตีเป็นที่สุดท้ายก่อนกลับเมืองไทย

 

3

กรุงเทพฯว่าร้อนแล้ว เวียงจันทน์ดันร้อนกว่า

ผมขี่จักรยานฝ่าเปลวแดดตอนเที่ยงวันไปบนถนนคอนกรีตร้อนๆ ผ่านตลาดเช้า ซึ่งตั้งใจว่าจะวนแวะกลับมาหาซื้อของฝากติดมือกลับเมืองไทย ขี่เลียบไปตามคูเวียง

เป้าหมายแรกของผมคือ ร้านไก่ทอด KFC คูเวียง ฟรายด์ ชิคเกน ร้านไก่ทอดบ้านๆ ที่อร่อยเหลือหลาย

เป้าหมายถัดมา ผมขี่จักรยานออกนอกเมืองไปอีกนิด ก่อนที่ตัวจะละลาย ผมก็มาถึงสำนักงานของ COPE ผมตั้งใจว่าจะมาดูพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กๆ จัดทำอย่างง่ายๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเล่าเรื่อง ระเบิดในลาว

โชคไม่ดี ตีออกไปทำงานข้างนอก เราเลยไม่ได้เจอกัน

ก่อนเดินชมพิพิธภัณฑ์ ผมนึกถึงสิ่งที่ตีและพี่ปุ้ยเล่าให้ฟังเมื่อคืน พวกเขาบอกว่า ลาวเป็นประเทศที่มีกับระเบิดมากที่สุดในโลก ในช่วงสงครามเวียดนาม อเมริกาที่ใช้ไทยเป็นฐานทัพ บินผ่านน่านฟ้าลาวไปทิ้งระเบิดใส่เวียดนาม ถ้าทิ้งระเบิดไม่หมด เราก็ไม่อนุญาตให้เครื่องบินที่มีระเบิดลงจอดในเมืองไทย เครื่องบินเหล่านั้นเลยโปรยระเบิดที่เหลือใส่ลาวก่อนกลับเข้าสู่น่านฟ้าไทย

นอกจากนั้น อเมริกายังจงใจทิ้งระเบิดใส่ลาว เพื่อป้องกันการซ่องสุมกองกำลังของเวียดนามในลาว ผลก็คือ ลาวโดนทิ้งระเบิดเงียบๆ โดยที่โลกไม่เคยรู้อยู่ 10 ปี ทิ้งถี่ขนาด 10 นาทีมาที จนชาวบ้านต่างจังหวัดต้องเข้าไปอาศัยในถ้ำ แล้วออกมาทำนาในเวลากลางคืน ซึ่งไม่ค่อยมีการทิ้งระเบิด

สิ่งเลวร้ายที่สุดก็คือ ระเบิดพวกนี้ไม่ระเบิดทันที แต่จะทำงานเมื่อมีคนเหยียบ เมื่อกลิ้งครบตามจำนวนรอบที่กำหนดไว้ หรือตามเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย เท่าที่อเมริกาจะคิดค้นได้ ในลาวก็เลยเต็มไปด้วยกับระเบิดร้อยพ่อพันแม่ ราวกับพิพิธภัณฑ์ระเบิด เมด อิน ยูเอสเอ หรือจะเรียกให้ถูกต้องกว่าก็น่าจะเป็น ห้องทดลองระเบิดของสหรัฐอเมริกา

ระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาในลาวตลอดระยะเวลา 10 ปีนั้น ประมาณการว่าน่าจะอยู่ที่กว่า 260 ล้านลูก ส่วนใหญ่ถูกทิ้งลงมาตรงไหน ตอนนี้ก็ยังอยู่ตรงนั้น ส่วนใหญ่ยังทำงาน และพร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ

ประเทศลาวมีทั้งหมด 17 แขวง กับระเบิดเหล่านี้ตกค้างอยู่ในพื้นที่ของ 14 แขวง

ตีบอกว่า ทุกวันนี้อเมริกาให้เงินมาเก็บกู้ระเบิด (ซึ่งกู้ยากเหลือเกินเพราะระเบิดมันร้อยพ่อพันแม่มาก) เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ไม่รู้ว่าต้องเก็บอีกกี่ชาติถึงจะหมด และสิ่งที่พี่ปุ้ยรู้สึกแย่ที่สุดก็คือ อเมริกาไม่เคยให้เงินมาช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บจากการโดนกับระเบิดเหล่านั้น กลับเป็นประเทศอื่นๆ ที่ส่งเงินมาช่วยเหลือ

ไม่แปลกเลยที่คนลาวจำนวนมากจะเกลียดอเมริกาเข้าไส้

Prostheses-museum-1

 

4

เนื้อหาในพิพิธภัณฑ์เริ่มจากการทำความรู้จักกับระเบิดชนิดต่างๆ จากนั้นก็พาไปดูว่า ระเบิดเหล่านี้อยู่ในชีวิตชาวลาวอย่างไร

อย่างแรก คนลาวใช้ประโยชน์จากความเป็นโลหะของระเบิดเหล่านี้ พวกเขาสามารถเก็บไปขายได้ หรือถ้าไม่ขาย ก็เอาโลหะนั้นมาแปรรูปเป็นของใช้ในบ้าน เช่น มีด ขัน จาน ชาม กระดึงผูกคอควาย ส่วนกระสวยระเบิดตัวแม่ที่บรรจุระเบิดลูกเล็กๆ นับร้อย ซึ่งมีความยาวราวเมตร ก็ถูกนำมาใช้ทำเป็นเสาบ้าน

เราสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ทั่วประเทศลาว

 

ถัดจากนั้น นิทรรศการก็พาเราไปดูคนที่ประสบอุบัติเหตุจากระเบิด ทั้งเสียแขน เสียขา และเสียชีวิต นับรวมได้กว่า 12,000 ราย

Exif_JPEG_PICTURE

ถึงชาวบ้านจะเสียขา และไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ พวกเขาก็ยังหาทางช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ด้วยการทำขาเทียมแบบบ้านๆ ใช้เอง ไม่ว่าจะแกะจากไม้ ม้วนจากสังกะสี สานจากไม้ไผ่ ต่อเองจากพลาสติก และขาที่ทำจากวัสดุแปลกๆ เท่าที่จะคิดและหาอุปกรณ์มาทำได้ มันดูเหมือนขาของหุ่นกระป๋องโกโรโกโส ไม่ก็ขาของหุ่นฟางที่เน่าๆ ผุๆ มากกว่าขาของมนุษย์

ไม่รู้ว่าน้ำตาของผมไหลออกมาเพราะเห็นในความพยายามของผู้สูญเสียเหล่านี้ หรือไหลให้กับความโหดร้ายที่พวกเขาได้รับ

เนื้อหาในช่วงท้ายก็พูดถึงแขนและขาเทียมที่ COPE ช่วยนำไปมอบให้แก่ชาวบ้าน ว่ามันทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นยังไง

สิ่งที่ผมคิดเมื่อคืนว่างานของตีคงเต็มไปด้วยเรื่องหดหู่นั้นผิดถนัด ผมรู้สึกว่ามันเป็นงานที่สวยงามงานหนึ่งเท่าที่มนุษย์จะทำให้กันได้

ในมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เป็นห้องเล็กๆ ที่ตกแต่งเหมือนถ้ำที่คนลาวเข้าไปอาศัยหลบระเบิด ในห้องนี้มีหนังสารคดีเรื่อง Bomb Harvest ซึ่งได้รับการประดับช่อมะกอกจากหลายเวทีทั่วโลก ฉายวนให้เราดู เนื้อหาว่าด้วยการติดตามทีมงานเข้าไปเก็บกู้ระเบิดในภูมิภาคต่างๆ ของลาว รวมถึงการพูดคุยกับชาวบ้านผู้สูญเสียครอบครัวจากระเบิด

เป็นอีกครั้งที่น้ำตาของผมไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

ผมไม่สามารถนั่งดูสารคดีเรื่องนี้จนจบได้ ไม่อย่างนั้นผมคงตกรถไฟกลับกรุงเทพฯ ผมเลยรีบเดินออกมาที่ร้านขายของที่ระลึก แล้วคว้าดีวีดีแผ่นนี้ไปจ่ายเงิน
5 เหรียญสหรัฐ ช่วยให้เขาได้เอกซเรย์ 12 เหรียญ ช่วยให้เขามีอาหารทานได้ 1 สัปดาห์ 22 เหรียญ ได้วอล์คเกอร์ (ไม้เท้าที่มี 4 ขาแบบจับ 2 มือ) 30 เหรียญช่วยให้เขาได้รับการรักษาโดยนักกายภาพ และ 50 เหรียญ ช่วยให้เขาได้ขา 1 ข้างในระหว่างคิดเงิน ผมก็หันไปเห็นป้ายลายการ์ตูนน่ารักๆ ที่มีข้อความภาษาอังกฤษ ชักชวนให้บริจาคเงินเพื่อช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุจากระเบิดเหล่านี้

เหตุผลจูงใจแต่ละข้อก็น่ารักดี ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเพื่อเป็นของขวัญวันเกิด (ให้ตัวเองและคนอื่น) การซื้อเป็นของฝากจากประเทศลาวให้เพื่อน และซื้อเป็นของที่ระลึกสำหรับตัวเอง

ผมมองนาฬิกาแล้วพบว่า ผมคงแวะซื้อของฝากที่ตลาดไม่ทันแล้ว นั่นหมายความว่า ทริปนี้ผมไม่ได้ซื้อของฝากอะไรเลยสักชิ้น

ผมหันไปมองราคาของขา 1 ข้าง แล้วเปิดกระเป๋าสตางค์หยิบเงินจำนวนนั้นหย่อนลงในกล่องรับบริจาคที่ทำจากขาเทียม

มันเป็นของฝากที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้ช็อป และเป็นของฝากที่ผู้รับคงดีใจมากกว่าของฝากชิ้นไหนๆ

เที่ยวลาวคราวนี้ ของฝากชิ้นเดียวที่ผมซื้อคือ ขา 1 ข้าง

ผมหมายความตามนั้นจริงๆ

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร WAY ฉบับที่ 33

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า