ตอกหมุดความรุนแรงชายแดนใต้ ท้าทายกระบวนการสันติภาพ

เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / ภาพ: ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์

 

กลางฤดูร้อนเดือนเมษายน คลื่นความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้กระเพื่อมขึ้นอีกครั้ง ด้วยรูปแบบการปฏิบัติการโจมตีอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ตัวเลขผู้สูญเสียจะไม่มากนัก แต่หากพิจารณาจากจำนวนครั้ง ความถี่ในการก่อเหตุ และขอบเขตพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ดูราวกับเป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์บางอย่างที่จำเป็นต้องตีความ

เหตุการณ์สำคัญไล่มาตั้งแต่ช่วงวันที่ 30 มีนาคม 2560 เกิดเหตุกราดยิงหน้า สภ.ระแงะ จังหวัดนราธิวาส จนตำรวจเสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 5 และวันที่ 3 เมษายน กลุ่มผู้ก่อเหตุกว่า 20 คน ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มจุดตรวจที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ทำให้ตำรวจบาดเจ็บ 12 นาย

จนกระทั่งในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืนวันที่ 6-7 เมษายน 2560 หลายพื้นที่ในสามจังหวัดต้องตกอยู่ในความมืดมิด หลังมีผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้ากว่า 50 ต้น และเผายางรถยนต์สร้างความปั่นป่วนอีกหลายจุด

ต่อเนื่องมาถึงคืนวันที่ 19 เมษายน 2560 เกิดเหตุพร้อมๆ กันใน 14 อำเภอทั่วพื้นที่สามจังหวัด รวมทั้งสิ้น 21 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บ 10 และผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2

ผลจากปฏิบัติการจู่โจมขนานใหญ่ในรอบนี้นำมาสู่การวิเคราะห์ในหลายแง่มุม มุมหนึ่งคือการแสดงศักยภาพของกองกำลังนักรบรุ่นใหม่ อีกมุมหนึ่งเชื่อว่าเป็นการประกาศแสนยานุภาพภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงแกนนำกลุ่ม BRN (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani: ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) คนใหม่

การก่อเหตุเพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตที่มีน้ำหนักไม่น้อย ดังเช่นเหตุวินาศกรรม 7 จังหวัดภาคใต้ หลังวันลงประชามติ จนมาถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยอาศัยการช่วงชิงจังหวะขณะที่รัฐไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำและอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน

ขณะที่อีกบทวิเคราะห์หนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือการส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจไปยัง ‘กระบวนการพูดคุยสันติภาพ’ (Peace Dialogue) ที่กำลังมีความคืบหน้าและมีข้อเสนอที่แหลมคมมากขึ้นเป็นลำดับ

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เสนอมุมมองผ่านสายตาสื่อมวลชนและข้อมูลทางวิชาการ เพื่อแกะรอยความหมายของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา และชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์นี้คือจุดท้าทายที่ทั้งฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายผู้เห็นต่างจำเป็นต้องปรับจังหวะก้าวใหม่ในกระบวนการต่อสู้ต่อรองที่มีชีวิตผู้คนเป็นเดิมพัน


ความถี่ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการตอกหมุดความรุนแรงรอบใหม่หรือไม่

อาจไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นความรุนแรงรอบใหม่ เพราะรูปแบบปฏิบัติการไม่ต่างจากเดิมนัก แต่ความหมายที่วิเคราะห์ได้จากปฏิบัติการในรอบเดือนเมษายนนี้ เห็นได้ชัดว่ามีนัยยะทางการเมืองสูงมาก เป็นนัยยะทางการเมืองที่สัมพันธ์กับพลวัตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เพราะไม่เพียงจะมีการลงมือก่อเหตุพร้อมกันกว่า 40-50 จุด ในคืนวันที่ 6-7 และ 19 เมษายนที่ผ่านมา ยังตามมาด้วยแถลงการณ์ของแผนกข่าวสารของ BRN ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศโดยอับดุลการิม คาลิบ ตัวแทน BRN เมื่อวันที่ 10 เมษายน โดยระบุเงื่อนไข 3 ข้อ ในการเจรากับรัฐบาลไทย

หลังจากนั้นมีข้อถกเถียง ตีความ ถอดความกันมากมายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ จนกระทั่งกลุ่มบีจารอ ปาตานี (Bicara Patani) ซึ่งเป็นวงสนทนาอภิปรายที่มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพก็ฟื้นคืนมาอีกครั้ง เพื่อตีความแถลงการณ์และปฏิบัติการทางการทหารของฝ่ายขบวนการ

นัยยะของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าที่ประมวลได้คือ ประการแรก สัญญาณที่สะท้อนจากปฏิบัติการเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งดูเหมือนจะไม่พอใจนักต่อความคืบหน้าในการพูดคุย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่พอใจต่อกระบวนการพูดคุย เพราะความคืบหน้าที่ปรากฏในเวลานี้คือ ทั้งสองฝ่ายกำลังพูดคุยลงลึกในรายละเอียด โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) และการลดปฏิบัติการทางการทหารของทั้งสองฝ่าย บนฐานของการมอนิเตอร์ผ่านคณะกรรมการร่วม ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความไว้วางใจ (Confidence Building Measures: CBMs) ระหว่างคู่สนทนา ซึ่งเป็นช่วงจังหวะแรกของการพูดคุยสันติภาพ

 

ณ ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่อาจไว้ใจกันได้ใช่ไหม

ธรรมชาติของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังกันอย่างยืดเยื้อในลักษณะนี้ แน่นอนว่าคู่ขัดแย้งย่อมไม่มีความไว้ใจกัน และเมื่อคู่ขัดแย้งได้มาพูดคุยกันก็ต้องวัดใจกันว่าท่านกับผมจะเดินหน้าต่อไปในรายละเอียดที่จริงจังมากกว่านี้และมีผลผูกพันมากกว่านี้ได้แค่ไหน

CBMs เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพิสูจน์สิ่งนี้ คือต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความแน่ใจจริงๆ ว่าคุยถูกคน คุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือมีหลักประกันได้ว่า เมื่อคุยกันในรายละเอียดที่ลึกลงไปกว่านี้แล้วจะสามารถแปรผลในทางปฏิบัติได้ ซึ่งปัญหานี้เป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างคลางแคลงใจกันมาตลอด รวมถึงสาธารณชนที่ข้องใจด้วยว่าคุยถูกคนหรือเปล่า ขณะที่ฝ่ายขบวนการเองก็ไม่แน่ใจว่าหลังคุยกันแล้วจะมีการหักหลังหรือไม่ หรือทางการไทยจะมีความจริงใจขนาดไหน มาตรการ CBMs จึงเป็นการวัดใจ วัดความมุ่งมั่น ซึ่งจุดนี้เป็นเพียงช่วงจังหวะเริ่มต้นเท่านั้นของกระบวนการพูดคุยสันติภาพทั้งหมด

แน่นอนว่าการพูดคุยหลายครั้งที่ผ่านมาทั้งในทางลับและทางเปิดก็มีปัญหาในลักษณะนี้ ว่าคุยถูกคนไหม คุยแล้วจะได้ผลหรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้ทั้งสองฝ่ายต้องพิสูจน์ด้วยการทำให้ดู เช่น การลดกำลัง เพื่อสร้างความไว้ใจกัน และตรวจสอบได้ว่าทำจริง

 

เพราะเหตุใดข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยจึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับฝ่ายขบวนการได้มากขนาดนี้

เพราะการใช้ความรุนแรงถือเป็นเครื่องมือหลักของขบวนการในการต่อสู้กับรัฐไทย ถ้าไม่ใช้กำลัง เสียงของพวกเขาก็จะไม่ถูกให้ความสำคัญทั้งจากรัฐไทย สาธารณชน รวมถึงประชาคมระหว่างประเทศ ฉะนั้น การเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ทางการทหารจึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจการต่อรองที่สำคัญของฝ่ายขบวนการ

ในขณะเดียวกัน มาตรการ CBMs ที่กำลังดำเนินอยู่จึงไปกระทบหลักของการใช้ความรุนแรง เพราะหากจะลดกองกำลังหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัย อาจเท่ากับเป็นการลดอำนาจการต่อรองของเขาด้วย

 

ข้อสังเกตเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายขบวนการ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปฏิบัติการความรุนแรงที่สวนทางกับกระบวนการพูดคุยด้วยไหม

มีคำถามมาตลอดว่า มาราปาตานีสามารถเป็นตัวแทนของฝ่ายขบวนการต่อสู้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า มี BRN บางส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วมกับมาราปาตานี และไม่เห็นพ้องกับกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่

สิ่งที่ยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้คือ แถลงการณ์จากแผนกข่าวสารของ BRN เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 รวมถึงคำสัมภาษณ์ของอับดุลการิม แกนนำ BRN ที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศ ซึ่งก็คล้ายกับข้อเสนอเดิมที่เคยยื่นต่อทางการไทยเมื่อปี 2556 และแถลงการณ์ในปี 2558

ใจความของแถลงการณ์คือ BRN ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับมาราปาตานี แม้อาจจะเห็นด้วยกับการพูดคุยในฐานะที่เป็นวิธีการหนึ่งในการต่อรองกับรัฐ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ข้อเสนอของพวกเขาจึงสะท้อนถึงความบกพร่องประการหนึ่งของกระบวนการพูดคุยก็คือ เขาต้องการให้มีสักขีพยานที่เป็นตัวแสดงระหว่างประเทศ โดยระบุชัดว่าต้องการให้มีฝ่ายที่ 3 หรือประชาคมนานาชาติเข้ามาร่วมด้วย

คำอธิบายเพิ่มเติมคือ พวกเขาต้องการให้กระบวนการสันติภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งความหมายนี้ก็ถูกหลายฝ่ายตีความ โดยเฉพาะในเวทีบีจารอ ปาตานี ที่วิเคราะห์ว่า นอกจากจะต้องมีประชาคมระหว่างประเทศเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์และเป็นสักขีพยานแล้ว การพูดคุยก็ควรเป็นไปตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่มีการบีบบังคับ ภายใต้สถานภาพที่เท่าเทียมกัน

ทั้งหมดนี้สามารถบ่งบอกได้ว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพทั้งหมดนี้ฝ่ายขบวนการ BRN ไม่ได้ขัดข้อง

สิ่งหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ ณ ที่นี้ก็คือ หน่วยภายในของ BRN ที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยคือหน่วย Dewan Revolusi หรือสภาการปฏิวัติ ซึ่งเป็นหน่วยคุมกองกำลังของ BRN ขณะที่มาราปาตานีนำโดย BRN อีกปีกหนึ่งซึ่งเห็นด้วยกับการพูดคุยและเปิดหน้าในทางการทูต ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ก็คือการปะทะกันภายในของ BRN โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการพูดคุยและผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2556 ขณะที่ BRN อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่แน่ใจนัก ความขัดแย้งในลักษณะนี้จึงปรากฏออกมาเป็นปฏิบัติการตอบโต้ทางการทหารพร้อมๆ กับคำแถลงการณ์

 

ในเมื่อมาราปาตานีไม่สามารถควบคุมกองกำลัง BRN ให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ จะทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพสะดุดไหม

ถ้าจะใช้คำว่า ‘ควบคุม’ ก็อาจจะลำบากสักหน่อย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างมาราปาตานีกับ BRN ฝ่ายสภาการปฏิวัติค่อนข้างมีความซับซ้อนพอสมควร อาจกล่าวได้ว่าถ้าจะเดินหน้าไปสู่การพูดคุยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยหรืออะไรก็ตาม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายขบวนการต่อสู้จะต้องพูดคุยกันเองภายใน

แม้ว่าการเจรจาต่อรองกับรัฐไทยจะมีความสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็จริง แต่การพูดคุยภายในระหว่างฝ่ายขบวนการต่อสู้ด้วยกันเองก็เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญพอๆ กัน เพราะไม่เช่นนั้นอำนาจต่อรองของฝ่ายขบวนการจะลดน้อยลงทันที ถ้าพวกเขาเดินหน้าไปโดยที่ยังขัดแย้งกันเอง ปะทะกันเองในทางความคิด ในทางการเมือง แม้กระทั่งในทางการทหาร ก็อาจส่งผลให้กระบวนการพูดคุยสะดุดได้

มองอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายไทยเองก็มีปัญหาลักษณะนี้เช่นกัน เช่นเดียวกับฝ่ายที่ 3 ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในเวทีนี้ก็มีการต่อสู้แข่งขันด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีรัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่เป็นคนกลางในการอำนวยความสะดวก แต่ภายในรัฐบาลมาเลเซียเองก็มีการถกเถียงกันอยู่ว่า ทีมที่ทำหน้าที่ในเวลานี้เหมาะสมมากน้อยเพียงใด และเมื่อเทียบกับตัวแสดงอื่นๆ อย่างองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรเอ็นจีโอข้ามชาติ รวมถึงรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสนใจ เขาก็กำลังเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่า กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีผู้เล่นหลายฝ่าย และในแต่ละฝ่ายก็มีการแข่งขันประชันกันเอง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยและมีข้อตกลงร่วมกันได้ ฉะนั้น ภาพความรุนแรงที่ปรากฏออกมาให้เห็นในขณะนี้ จึงเป็นอาการหนึ่งของความขัดแย้งที่ไม่ลงตัว

 

ฝ่ายรัฐไทยมีเอกภาพแค่ไหนในกระบวนการสันติภาพ

ดูแบบผิวเผินประหนึ่งว่า รัฐบาล คสช. ค่อนข้างมีความเป็นปึกแผ่น มีความเข้มแข็งเป็นเอกภาพ เรามีนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่เป็นเข็มมุ่งของทางการไทย และทุกหน่วยก็มีการบูรณาการงบประมาณและโครงการต่างๆ เป็นปึกแผ่นพอสมควร แต่ข้อสังเกตของผมคือ ดูเหมือนจะมีการแข่งขันต่อสู้ภายในกันอยู่ว่าจะจัดการปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วยวิธีการใด

สิ่งที่ผมเห็นมีอยู่ 2-3 ทิศทางที่ประชันกันอยู่ และแต่ละทิศทางก็มีผู้เล่นที่ต่างกันและแข่งขันกันเองอย่างน่าสนใจ

ด้านแรกคือ งานยุทธศาสตร์ที่เน้นไปสู่การพูดคุยสันติสุข ซึ่งมีคณะพูดคุยนำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล (ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี) โดยมีคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 230/2557 รองรับ และมีงบประมาณสนับสนุน แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อเราโฟกัสดูในระดับพื้นที่จะเห็นว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งนำโดยแม่ทัพภาคที่ 4 ก็จะมีจุดเน้นอีกอย่างหนึ่ง คือเน้นการดึงประชาชนเข้าสู่โครงการ ‘พาคนกลับบ้าน’

ดูเผินๆ เหมือนกับว่าทั้งสองทิศทางนี้จะเสริมกัน แต่จริงๆ แล้วก็ขัดแย้งกันอยู่ในตัว โดยฝ่ายแรกมองว่าถ้าจะสนทนากับข้าศึกก็ต้องยอมรับในสถานภาพของเขา เพื่อจะสนทนากันอย่างลงลึกถึงรากเหง้าของปัญหา พูดง่ายๆ ก็คือต้องให้การยอมรับศัตรูของตัวเองระดับหนึ่ง กระบวนการทางการเมืองจึงจะไปต่อได้ ขณะที่ฝ่ายหลังก็พยายามลดกำลังรบของศัตรู โดยไม่แคร์ว่าเหตุผลของขบวนการต่อสู้คืออะไร ไม่สนว่าขบวนการต่อสู้มีข้อเรียกร้องอย่างไร พูดอีกแบบก็คือไม่ให้ความสำคัญต่อสถานะทางการเมืองของอีกฝ่าย รัฐทำหน้าที่เพียงแค่เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้กลับคืนสู่บ้าน ซึ่งก็เป็นกระบวนการทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง แต่ยืนอยู่บนสมมุติฐานที่แตกต่างกัน

ถามว่าทั้งสองกระบวนการนี้จะขัดแย้งกันอย่างไรในอนาคต ก็คือเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ทางการไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะหนุนแนวทางไหน เพราะในอนาคตความท้าทายต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพจะหนักหน่วงยิ่งกว่านี้ จะมีประเด็นที่น่าลำบากใจกว่านี้ รวมถึงจะมีข้อเสนอที่ท้าทายและยากจะยอมรับมากกว่านี้

ฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้เราจะเห็นความขัดแย้งภายในเกี่ยวกับทิศทางของรัฐชัดเจนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มปรากฏร่องรอยนี้อยู่ ว่ารัฐไทยจะเน้นไปในทิศทางไหน นี่คือข้อสังเกตที่ผมเห็น

 

ย้อนกลับไปมองเรื่องความขัดแย้งภายในของกลุ่มมาราปาตานี เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะต้องมีการปรับขบวนใหม่

มองในแง่บวก ความขัดแย้งภายในของเขาถือเป็นเรื่องดี เป็นโอกาสที่เขาจะสามารถถกเถียงหาเหตุผลและปฏิรูปตัวเอง แต่เรื่องหนึ่งที่เรามีความรู้น้อยมากก็คือ พลวัตและความเปลี่ยนแปลงภายในของขบวนการต่อสู้มีหน้าตาอย่างไร พวกเขามีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีพื้นที่ในการแก้ไขข้อขัดแย้งเหล่านี้หรือไม่

ความท้าทายนี้ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ของฝ่ายขบวนการต่อสู้เอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ทั้ง BRN PULO หรือกลุ่มต่อสู้อื่นๆ ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทาย แต่เรื่องใหญ่ก็คือถ้าคุณไม่สามารถหาข้อยุติที่ลงตัวได้ นอกจากจะทำให้เวทีพูดคุยชะงักแล้ว อำนาจต่อรองของฝ่ายเขาเองก็จะลดน้อยลง ลดน้อยจนกระทั่งว่าการต่อสู้ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ช่วยให้เขาขยับอำนาจต่อรองได้เพิ่มมากขึ้นหรือยืนระยะการต่อสู้ในอนาคตได้อีก

จังหวะเวลาของการมีโต๊ะพูดคุยครั้งนี้ คือโอกาสสำคัญที่พวกเขาจะต้องตระหนักว่าการรวมตัวกันต่อสู้เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่เป็นแค่สิ่งสำคัญเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน ถ้าทิศทางของฝ่ายรัฐไทยยังไม่ลงรอยก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ในอนาคตโต๊ะพูดคุยอาจถูกให้ความสำคัญน้อยลง รวมทั้งเข็มมุ่งของรัฐบาลไทยอาจหันไปให้ความสำคัญในทิศทางอื่น และทำให้มาตรการการใช้กำลังปราบปรามอาจหวนกลับมาอีกครั้ง

หากเป็นเช่นนั้น ความซวยจะไม่ได้บังเกิดกับฝ่ายขบวนการต่อสู้ หรือทำให้รัฐบาลมาเลเซียเสียหน้าเท่านั้น แต่ความซวยจะบังเกิดต่อประชาชนในพื้นที่อย่างพวกผม ผู้คนในพื้นที่อาจต้องเผชิญชะตากรรมความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ์ขนานใหญ่อีกรอบ

ฉะนั้น ตอนนี้ในฝ่ายขบวนการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นมาราปาตานี PULO และฝ่าย Dewan Revolusi ของกลุ่ม BRN ก็ควรต้องคิดใคร่ครวญเรื่องนี้ให้หนัก

คำถามสำคัญในวินาทีนี้คือ จะทำอย่างไรให้เวทีพูดคุยสันติภาพมีความครอบคลุมทุกฝ่าย ความท้าทายในฝ่ายขบวนการต่อสู้คือ ทำอย่างไรจึงจะดึง BRN ส่วนที่เหลือให้มาเข้าร่วมกำหนดทิศทางและมีบทบาทนำในมาราปาตานี ไม่เช่นนั้นก็จะเจอปัญหาที่ตามมาคือ ถ้าการพูดคุยสันติภาพไม่เวิร์ค ก็ต้องสร้างช่องทางใหม่

ความลำบากในการสร้างช่องทางใหม่จะหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะการพูดคุยสันติภาพไม่อาจตบมือข้างเดียวได้ ซึ่งเวลานี้รัฐบาลยอมรับการมีอยู่ของกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ มีนโยบายรองรับ และมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ฉะนั้น หากขบวนการต่อสู้ไม่ยอมรับแนวทางนี้แล้วจะไปสร้างช่องทางใหม่ก็จะเป็นเรื่องยากลำบากกว่าเดิม

ทำไมหลังจากมีการพูดคุยสันติภาพแต่ละครั้งจึงมักเกิดเหตุรุนแรงตามมาแทบทุกครั้ง

เพราะการใช้กำลังความรุนแรงเป็นอำนาจต่อรองหลักของฝ่ายต่อต้านรัฐ และยังเป็นการส่งเสียงต่อรองกับฝ่ายของเขาเองด้วย เพื่อให้เสียงของพวกเขามีน้ำหนักในโต๊ะพูดคุย

อีกเหตุผลเพราะว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นกระบวนการทางการเมือง เป็นการต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้น ยิ่งมีการพูดคุยสันติภาพก็มักจะปรากฏความรุนแรงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตามมาเสมอ พูดอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่การใช้กำลังก็ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ฝ่ายต่างๆ ยังคงเลือกใช้ แม้กระทั่งในฝ่ายรัฐเอง การปราบปราม การปะทะ การจับกุม ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการพูดคุย

พูดอย่างเป็นรูปธรรม ต่อให้มีการจัดทำเขตพื้นที่ปลอดภัยก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงจะหายไปเลย ความรุนแรงนั้นอาจมาจากกลุ่มที่เรียกว่า ‘ตัวป่วน’ (spoiler) หรือกลุ่มที่ต้องการบ่อนทำลายกระบวนการพูดคุยสันติภาพและพื้นที่ปลอดภัยด้วยข้ออ้างที่มีน้ำหนัก ขณะเดียวกันก็อาจมีการสร้างความรุนแรงในเขตรอบนอกพื้นที่ปลอดภัย เพื่อต้องการให้เห็นว่า แม้จะหยุดความรุนแรงได้ในบางพื้นที่ แต่ก็สามารถสร้างความรุนแรงในบางพื้นที่ได้ด้วยเช่นกัน และอีกรูปแบบคือ อาจเกิดความรุนแรงแบบปูพรม เพื่อตอบโต้ต่อความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งอาจเป็นฝีมือของใครก็ได้ ฝ่ายใดก็ได้

ฉะนั้น เราเองก็ต้องทำใจ แม้ในอนาคตจะมีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือปิดลับระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่ความรุนแรงก็จะยังคงมีอยู่ และเป็นความรุนแรงที่มีนัยยะทางการเมือง แต่อย่างน้อยที่สุด การพูดคุยนอกเหนือจากเป็นการพิสูจน์ความมุ่งมั่นจริงใจของทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังทำให้เราเริ่มมองเห็นว่ามีปฏิกิริยาจากฝ่ายใดบ้าง พื้นที่ไหนบ้าง

 

ข้อสังเกตเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้นำ BRN คนใหม่ (ดูนเลาะ แวมะนอ) ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในรอบนี้ด้วยหรือไม่ รวมถึงเป็นการประกาศศักยภาพของกลุ่มกองกำลังรุ่นใหม่ตามที่ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์หรือไม่

คงต้องแยกทั้งสองประเด็นนี้ออกจากกัน คือการเปลี่ยนประธานสภาองค์กรนำ BRN คนใหม่ กับประเด็น ‘คนหน้าขาว’ หรือนักรบรุ่นใหม่ๆ

ประเด็นแรก แน่นอนอย่างที่เราทราบกันว่า BRN เพิ่งสูญเสียสะแปอิง บาซอ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานของ BRN ที่ป่วยมาเป็นเวลานานแล้ว แม้จะยังมีอิทธิพลทางความคิด ทางจิตวิญญาณอยู่ แต่เท่าที่ทราบและจากข้อวิเคราะห์ของนักวิชาการบางท่าน เราพบว่าโครงสร้างการทำงานภายในของ BRN ก็ประสบปัญหามาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว

โครงสร้างของ BRN ที่เราเคยเข้าใจกันว่าเป็นโครงสร้างแข็งๆ มีสายบังคับบัญชาเป็นลำดับขั้น แต่ปัจจุบันอาจไม่ได้มีลักษณะที่แข็งตัวและบริหารจากบนลงล่างแบบนั้นแล้ว ทั้งหมดเป็นผลมาจากการปรับตัวจากการสู้รบกับรัฐบาลไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น อำนาจในการสั่งการหรือต่อรองอาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผู้อาวุโสระดับบน แต่อำนาจจริงๆ อยู่ในระดับกลาง หรือเป็นแกนนำแถวสอง แถวสาม

ถ้าสมมุติฐานนี้ถูกต้องก็หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับบนอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อพลวัตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากนัก เพราะการนำจริงๆ อยู่ที่คนระดับกลางที่ยังมีกำลังวังชา มีพลังความคิดแข็งแกร่ง คุมกำลังได้ และพยายามรักษาช่องทางต่อสู้ของตัวเองต่อไปในอนาคตและสืบต่อให้คนรุ่นหลัง ฉะนั้น การเปลี่ยนผู้นำสูงสุดอาจไม่มีผลอะไรมากนัก

แต่ปัญหาใหญ่ของพวกเขาก็คือ นอกจากจะเลือกใครขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว หนึ่ง-เขาจะปรับโครงสร้างภายในอย่างไรให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สอง-จะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งภายในได้อย่างไร สาม-จะกำหนดทิศทางที่แน่นอนชัดเจนให้กับสมาชิกร่วมต่อสู้อย่างไร นี่คือความท้าทายของ BRN มากกว่าแค่เรื่องการเปลี่ยนตัวผู้นำ

เรื่องนี้สัมพันธ์กับประเด็นการปฏิบัติการของกองกำลังรุ่นใหม่ ข้อสังเกตประการหนึ่งที่อาจตีความได้จากปฏิบัติการเมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2560 คือการไม่มุ่งเน้นไปที่ ‘เป้าแข็ง’ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มุ่งที่จะทำลายสิ่งอื่นแทน เช่น ระเบิดเสาไฟฟ้า เผายาง แบบแผนในลักษณะนี้นอกจากเป็นการก่อกวนแล้ว ยังเป็นแบบแผนของการฝึกคน เป็นการทดสอบจิตใจคนรุ่นใหม่ๆ ที่ดึงเข้ามา

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า มีการผลิตนักรบรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ทางการเองก็ยอมรับความจริงในเรื่องนี้ ศัพท์เฉพาะที่เขาเรียกขานกันเล่นๆ ก็คือพวก ‘หน้าขาว’ หมายถึงพวกที่ยังไม่มีร่องรอยหรือประวัติคดีความมั่นคง และนั่นหมายความว่า สายพานการผลิตกองกำลังนักรบยังคงทำงานอยู่ตลอด ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เพียงเพราะโครงสร้างองค์กรที่ยังเวิร์คอยู่ แต่มันสะท้อนให้เห็นว่า รากเหง้าของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข มันจึงสามารถถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขเพื่อระดมกำลังได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นมาเป็นวัยหนุ่มฉกรรจ์ในช่วงเวลาของความขัดแย้งรุนแรงตลอด 13 ปีที่ผ่านมา คนพวกนี้พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตนักต่อสู้

ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามีสายพานการผลิตกองกำลังแบบนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยที่เราไม่สามารถคลี่ปมที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ไม่ว่าจะในทางประวัติศาสตร์มลายูปาตานี อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ความขัดแย้งเหล่านี้ถ้าไม่ถูกจัดการ ไม่ถูกให้ความสำคัญ กระบวนการผลิตเหล่านี้ก็จะยังมีอยู่ และจะท้าทายต่อกระบวนการทางการเมืองในอนาคตด้วย

 

สถานการณ์การเมืองภายในของรัฐไทยที่อยู่ในภาวะง่อนแง่น ถือว่าเป็นปัจจัยเร่งความรุนแรงด้วยไหม

ในความเห็นผม การเมืองระดับชาติอาจเป็นเพียงเงื่อนไขแวดล้อม แต่ไม่มีผลโดยตรงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะความง่อนแง่นทางการเมืองแบบนี้ดำรงอยู่ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

จะเห็นว่าการเมืองภายใต้รัฐบาลต่างๆ กับการเคลื่อนไหวของทั้งพันธมิตร นปช. กปปส. รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิ์ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และปัญหาเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเต็มพื้นที่ของการเมืองระดับชาติ แต่กลับค่อนข้างสัมพันธ์น้อยมากกับไดนามิคที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ยกตัวอย่างเช่น หลังรัฐประหาร 2557 พื้นที่อื่นทั่วประเทศมีการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเยอะมาก แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีความพยายามที่จะจำกัดการเคลื่อนไหวอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ยังถือว่ามีที่ทางให้กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม นักวิชาการ และกลุ่มต่างๆ มากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทหารที่แม้จะมีอำนาจเต็มมือ แต่ก็ยังต้องสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ถ้ามองจากสายตาของรัฐบาล ดูเหมือนว่าการจัดการปัญหาการเมืองระดับชาติกับปัญหาชายแดนภาคใต้นั้นแตกต่างกัน และมีความอ่อนไหวเปราะบางที่แตกต่างกัน เพราะปัญหาชายแดนภาคใต้มีนัยยะทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองของชาติพันธุ์และการเมืองระหว่างประเทศด้วย ฉะนั้น ปัญหาการเมืองในส่วนกลางอาจไม่ใช่ตัวเร่งสถานการณ์เสียทีเดียว แต่เป็นเพียงเงื่อนไขแวดล้อม

พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ในจังหวะเวลาที่สังคมไทยหรือรัฐบาลไทยอ่อนแอ มองแบบผิวเผินนี่อาจเป็นโอกาสของฝ่ายขบวนการต่อสู้ปาตานีในการที่จะขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ในตลอดสิบกว่าปีเราก็พบว่า ที่ผ่านมาพวกเขาก็ทำได้เพียงเท่านี้ ขีดความสามารถทางการทหารและในทางการเมืองของพวกเขาทำได้แค่นี้ และดูเหมือนว่าพวกเขาก็ตระหนักดี ว่าตัวเองก็มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร เพราะในขณะที่มีโอกาสเอื้ออำนวยขนาดนี้ ศูนย์กลางกรุงเทพฯอ่อนแอขนาดนี้ แต่พวกเขาก็ทำได้แค่นี้เอง

สิ่งนี้น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายขบวนการควรจะต้องสรุปบทเรียนว่า จริงๆ แล้วตัวเองมีขีดความสามารถขนาดไหน และจะต่อรองกับรัฐบาลไทยอย่างไร ถ้าจะยืนระยะการต่อสู้ต่อไปพวกเขาก็ต้องคิดทบทวนตัวเอง ซึ่งข้อเสนอของผมในเวลานี้ เรื่องหนึ่งที่พวกเขาต้องเร่งทำก็คือ ไม่ใช่การไปเรียกร้องกับฝ่ายต่างๆ มากเท่ากับการเรียกร้องกับฝ่ายตัวเองและผนึกกำลังกัน เพราะมีเพียงสิ่งนี้เท่านั้นที่จะทำให้อำนาจต่อรองของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น และจะนำไปสู่การต่อรองกับรัฐบาลไทยได้อย่างมีความหมายยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ คือ ต้องหันมาสู่กระบวนการสันติภาพ

 

13 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการใช้ยุทธวิธีความรุนแรงของฝ่ายขบวนการจะไม่สามารถต่อรองกับรัฐไทยได้มากกว่านี้ เช่นนั้นแล้วปลายทางควรเป็นอย่างไร

ข้อสรุปของผมคือ การเน้นหนักยุทธวิธีทางการทหารเพียงอย่างเดียวไม่เวิร์คแล้ว สิ่งที่ขบวนการต่อสู้จำเป็นต้องทำคือ การปรับยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สอดรับกับสถานการณ์ ซึ่งในวินาทีนี้การเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะที่สุด เพราะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลังมาก มันทำให้ผู้คนต้องหันมาถกเถียงกันและหาทางออกให้ได้ว่า จะจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้อย่างไร

เงื่อนไขหนึ่งในการพูดคุยที่ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ 3 ข้อเสนอของ BRN ก็คือ เงื่อนไขหนึ่งในการพูดคุยที่ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ 3 ข้อเสนอของ BRN ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เวทีพูดคุยไม่เพียงถูกจับตาตรวจสอบจากผู้คนในพื้นที่เท่านั้น หากแต่รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศและมิตรประเทศต่างๆ ด้วย และทำอย่างไรให้กระบวนการพูดคุยได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อเสนอที่แหลมคมและเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก

ถ้าเครื่องมือในการพูดคุยมีความสำคัญ เราจำเป็นจะต้องพูดคุยกับคนนอกพื้นที่ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันด้วยไหม

เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ถือว่ายากลำบาก เพราะแม้กระทั่งคนในพื้นที่เองก็ยังเจอคำถามแบบนี้อยู่ทุกวัน โดยเฉพาะคำถามที่ว่า เราจะเข้าใจกระบวนการสันติภาพนี้อย่างไร มันมีความหมายสำคัญอย่างไร ทำไมต้องพูดคุยกับฝ่ายที่เห็นต่าง

คำถามแบบนี้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่มากพอสมควร และคนนอกพื้นที่ก็คงมีคำถามแบบเดียวกัน ว่าทำไมต้องไปคุยกับ ‘โจรใต้’ ทั้งๆ ที่เขาทำร้ายคน ซึ่งเป็นคำถามใหญ่มาก เพราะต้องไม่ลืมว่าตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมามีคนจากต่างพื้นที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ในภาคใต้และต้องสูญเสียผู้คนไปมากมาย วันดีคืนดีรัฐบาลบอกว่า เราต้องหันมาพูดคุยประนีประนอมกัน หรือต้องพาเขากลับบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสร้างความยอมรับ

ฉะนั้น ความท้าทายของรัฐบาลไทยจะสามารถชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของการพูดคุยสันติภาพ และจะระดมแรงสนับสนุนได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ที่ฝ่ายขบวนการเองต้องหาคำตอบด้วย

แต่จุดชี้วัดอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ถ้าเราเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง มีการรณรงค์หาเสียงโดยพรรคการเมืองต่างๆ ผมไม่แน่ใจว่าแต่ละพรรคจะสนับสนุนเรื่องการพูดคุยสันติภาพให้เป็นนโยบายสำคัญของพรรคมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของผมก็คือ ไม่ว่ากลุ่มการเมืองใดหรือสีเสื้อใดที่เคยขึ้นครองอำนาจในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายต่างก็สนับสนุนกระบวนการสันติภาพทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ทำให้การพูคุยสันติภาพก้าวกระโดดอย่างสำคัญ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการสานต่อการพูดคุยในทางลับ แม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการก็ตาม ส่วนยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้มีการผลักดันให้เกิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่ผมไม่แน่ใจก็คือ หากมีการเลือกตั้งภายใน 1-2 ปีข้างหน้า แต่ละพรรคการเมืองจะนำเสนอวาระที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ต่อสังคมไทยอย่างไร

 

ถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คาดว่าการพูดคุยสันติภาพจะมีความคืบหน้าในทิศทางที่ดีขึ้นหรือรวดเร็วขึ้นไหม

เรื่องความรวดเร็วนี่ตอบไม่ได้ชัดนัก เพราะเรื่องแบบนี้จำเป็นต้องช้าและต้องชัวร์ เพราะไม่ใช่ตบมือข้างเดียว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลฝ่ายเดียว ไม่ว่ารัฐบาลใดจะขึ้นมาก็ตาม แต่เกี่ยวข้องกับฝ่ายขบวนการต่อสู้และประชาชนในพื้นที่ด้วย

ผมเชื่อว่า การมี สส. การมีพื้นที่ในสภาผู้แทนราษฎร มีกรรมาธิการ และมีกลไกติดตามตรวจสอบต่างๆ จะสามารถช่วยสะท้อนเสียงที่แตกต่างหลากหลายของคนในพื้นที่ได้ ถ้าโครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันก็เปลี่ยนไปมากพอสมควรอันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าเรายังมีร่องรอยของโครงสร้างที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนเข้าไปทะเลาะถกเถียงกันได้ในรัฐสภา ก็ยังมีโอกาสที่ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีช่องทางส่งเสียงมากขึ้น และน่าจะทำให้กระบวนการสันติภาพมีความหมายมากขึ้น

 

คงไม่ถึงกับต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ใช่ไหม

ผมเองก็ไม่แน่ใจนัก จากการย้อนกลับไปดูรายละเอียดการพูดคุยในทางลับหลายครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้เรื่องเลย เมื่อย้อนกลับไปทบทวนดูจึงทำให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า การพูดคุยที่ผ่านๆ มามันสะสมต้นทุนทางการเมืองให้กับทุกฝ่าย พูดง่ายๆ ว่าไม่เสียหลาย เป็นทั้งบทเรียน ทั้งโอกาส ทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งไอเดียใหม่ๆ ที่สังคมไทยไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุย

ฉะนั้น การพูดคุยในทางลับตั้งแต่ 2548 เป็นต้นมาจนถึงสิบกว่าปีนี้ แม้จะเปลี่ยนตัวแสดงไปบ้าง แต่ก็มีบทเรียนมากขึ้น รวมทั้งข้อเสนอบางเรื่องที่ไม่เคยถูกยอมรับก็ได้รับการตอบสนองในเวลาต่อมา

รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือ ข้อเสนอพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยล้มเหลวมาแล้ว แต่ภายหลังได้มีการปรับปรุงใหม่และจัดตั้งกลไกคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย มาราปาตานี และฝ่ายที่สาม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ของแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีบทเรียนความผิดพลาดจากอดีต

 

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า