’รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม)


 

เรื่อง : วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

เช้าวันนั้นอาจเป็นเช้าที่ควันกัญชาของ รวี มาคอสกี้ ไม่สามารถทำให้เขาครื้นเครงเช่นทุกเช้า และอาจเป็นเช้าที่ แจ้ง ใบตอง และผองเพื่อนนั่งซึมข้างต้นกล้วย และอาจเป็นเช้าที่ พี่สมร และผู้หญิงหลายหล่อนไม่มีอารมณ์แต่งหน้าทาปาก

เมื่อมันเป็นเช้าที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หยุดเดินทาง

ตลอดเวลาบนระยะทางของชีวิต เขาคือผู้ชายที่เปรี้ยว เฟี้ยว เท่ และแตกฉานในหลายศาสตร์

ผู้หญิง เหล้า ปืน ต้นไม้ อาหาร บ้าน และ ฯลฯ

แต่ รวี มาคอสกี้, แจ้ง ใบตอง, พี่สมร และตัวละครอีกหลายชีวิต ต่างยังคงทำหน้าที่ต่อไป และต่อไป แม้ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะหยุดชีวิตไว้ที่ตัวเลข 77

นักเขียนตาย แต่ตัวละครต้องแสดงต่อ

ในตูบกินเหล้าบูชาครูแห่งสวนทูนอิน แปะป้ายโดดเด่น: art is long, life is short

นั่น รวี มาคอสกี้ สะกิดแจ้งใบตอง “art is long, life is short, you know– Jang”

แจ้งเหน็บมีดพร้าที่สะเอวมองหน้ารวีอย่างจะเอาเรื่อง “แหม พี่แจ้ง พี่รวีเขาไม่ได้หาเรื่อง” พี่สมรเดินนวยนาดเข้ามาคั่นกลางคนทั้งสอง “พี่แกบอกว่า ชีวิตเรานั้นสั้นนัก แต่ศิลปะนั้นยืนยาว”

“ใช่มั้ยจ๊ะ” พี่สมรหันไปทางรวีก่อนบอกราคาต่อคืนของสมใจ

Yes, art is long, life is short

ทูนอิน: คืนต่อไปอาจร้างน้ำตา

(อาปุ๊ครับ ผมเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงเชียงใหม่บนรางรถไฟยาวนาน 19 ชั่วโมง ความทรมานอย่างหนึ่งของการเดินทางไกลและนานคือ ความหิว
สอง เพราะความหิวไม่มีเข็มนาฬิกา–เพื่อนร่วมทางพูดประโยคนี้ของอาผ่านริมฝีปากใต้แผงหนวดรุงรังของเขา

มีคนมากมายเหลือเกินอยากมาที่นี่และตอนนี้ และมีอีกหลายคนมากมายที่อยากพบเจอ-พูดคุย-รับฟังอาทั้งนั้น แต่คงไม่มีใครในวันนี้ได้รับการอนุญาตให้ทำเช่นนั้น

อาครับ ผมก็เช่นเดียวกับผู้คนอีกหลายหลากที่เป็นเจ้าของสายตาซึ่งโดนสำนวนเพรียวนมของอาขโมยเวลาไป แต่เวลาที่โดนฉกฉวยกลับมีบางสิ่งทดแทน

อาครับ แม้มันดูจะมิใช่กาละและเทศะ แม้ดูคล้ายกับเป็นการค้ากำไรกับความเศร้าที่มีตีน แต่ความจริงแล้ว เราต่างต้องการบันทึกเรื่องราวหนึ่งของคนผู้หนึ่ง ที่ตัวหนังสือของเขายังมีลมหายใจ และชื่อของเขาไม่สมควรได้รับการอนุญาตจากเวลาให้หลุดลืม— ผมต้องการบันทึก และมิใช่ด้วยมือ)

เราเงยหน้าขึ้นจากมือที่พนมแนบพื้นพรมสีแดงหลังก้มลงกราบหนึ่งครั้ง

ไม่กี่นาทีต่อมา ก็ได้รับอนุญาตจาก วงดำเลิง วงษ์สวรรค์ หรือ บักหำน้อย ลูกชายคนโต

พรุ่งนี้เราจะไปสวนทูนอิน

 

ที่นี่ทูนอิน

สวนทูนอินในสิบเก้า พ.ศ. ที่ผ่านมา ยังคงรกครึ้มไปด้วยไม้ป่า และอุดมไปด้วยความว่างเปล่าของกาลเวลา ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยพูดไว้ว่า เวลา มันหาได้มีสาระมากไปกว่าเป็นเพียงความว่างเปล่าที่ยืนรออยู่อย่างหิวกระหายเพื่อให้ผู้คนได้บรรจุเหตุการณ์ลงในมัน
จนเมื่อบ้านบนดอยหลังแรกได้ลงหลักปักฐานบนดินเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เหตุการณ์หลายหลากได้ทยอยบรรจุลงในมัน– เวลา
หาได้หยุดทำงานไม่ แม้สวนทูนอินในเวลานี้ ไม่มีเขาขึ้นมาด้วย แต่เวลาก็ยังคงทำงาน– ในคืนนี้, 23 มีนาคม 2552

ที่ SAP-E-LEE_DELICIOUS หรือโรงครัว– ทวี ปิ่นแก้ว คนงานรุ่นบุกเบิกสวนทูนอินแนะนำตัวเองผ่านเหล้าตราสัตว์ปีกสีทองผู้ชอบร่ายปีกเหนือมังกร เขาพบเจอกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เชียงราย และนักเขียนสำนวนสวิงที่ทวีเรียกว่า ‘ลุง’ ผู้นี้ ได้ขอแรงหนุ่มช่วยสร้างบ้าน
แม้ว่าสรรพนามที่ใช้เรียกขาน ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะเคลื่อนเปลี่ยนไปตามอายุของผู้เรียก เขาอาจเป็นลุงผู้เป็นพี่ชายพ่อ อาจเป็นพี่ผู้อาวุโสกว่า อาจเป็นและอาจเป็นอีกหลายๆสรรพนาม แต่สำหรับเรา เราเรียกเขาว่า อา – เพราะอาคือญาติน้ำหมึกที่หลานๆน้ำหมึกต่างเคารพนับถือ

ทวีเล่าว่า “สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีไฟฟ้า ลุงปุ๊เขียนจดหมายให้มาช่วยปลูกบ้านที่โป่งแยง เปิ้นให้ค่าแรงวันละ 120 บาท ถือว่าดีขนาด” เขาว่า
“ปลูกเสร็จลุงปุ๊ไม่ให้ปิ๊กบ้าน แกว่า เอ็งไม่ต้องไปแล้วเชียงราย อยู่กับกูที่นี่”

ความมืดและเสียงเขียดบนดอยอาจทำให้สายตาและหัวใจของหนุ่มวัยระบัดอย่างทวีควานหาแสงสีและเสียงสาวในเวียง ชายหนุ่มที่หัวใจแกร่งอย่างหิน อาจโดนลมบาด

“มึงจะเอาเมีย กูแต่งให้” ทวีเลียนเสียงใหญ่มีกังวานอย่างสำเนียงลุงปุ๊

การผุดขึ้นของบ้านหนึ่งหลังในสวนทูนอินทำให้มีต้นไม้อีกหนึ่งร้อยชีวิตเกิดตามมา

’รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นคนรักต้นไม้ ถึงขนาดจดจำได้ว่าต้นไม้พันธุ์นี้ปลูกไว้ตรงไหน ดอกของมันจะหยีตายิ้มเบ่งบานฤดูใด หรือช่วงเวลาไหนที่มันเศร้าหรุบแสง
“ถ้าลุงปลูกบ้านหนึ่งหลัง เปิ้นจะลงต้นไม้ 100 ต้น แล้วจื่อได้หมด”

“เอ็งไปดู ต้นไม้ที่กูปลูกไว้มันตายยังวะ” เงาเสียงของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กังวานหลังแก้วเหล้าของทวี

“เปิ้นเป็นคนฮักต้นไม้น่ะ” ขัตติยะ อินตา หรือ นายยะ มือขวาด้านต้นไม้ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พูดเสริม “ต้นไม้ล้ม เปิ้นให้ไปพยุงให้มันตรง ไม่ให้โค่น”

“แน่นอนที่สุด กูเป็นคนรักต้นไม้ ถ้ามึงรักต้นไม้ กูก็รักมึง” เงาเสียงของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กังวานอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มันดังออกมาจากปากนายยะ “เปิ้นอู้กะผมน่ะ”

“เปิ้นเป็นคนสปอร์ต” ทวีว่า

“ลูกชายเปิ้นสองคน ผู้ใดเหมือนพ่อ?”

“เหมือนทั้งสอง — สปอร์ต พี่เลิง (วงดำเลิง วงษ์สวรรค์) เปิ้นส่งลูกหลานคนงานเรียนหนังสือหมดทุกคน จ่อย (สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์–ลูกชายคนเล็ก) นี่ผมเป็นผู้รับ-ส่งไปโรงเรียนมาตั้งแต่น้อยๆ” เขาว่า

สวนทูนอินนาทีนี้ยังมีรอยยิ้มเกลื่อนกลาดบริเวณโรงครัว แต่หลังจากแยกย้าย— ไม่แน่ใจ

“ผมกลัว” นายยะพูดพร้อมพยักหน้า หลังใครบางคนในวงสนทนาถามว่ากลัวไหม “ถ้าเปิดไฟสว่างๆ ผมไม่กลัว แต่ถ้ามืดๆ ก็หวั่นๆ”

“ผมไม่กลัว” ทวีเอ่ยแทรก “คนเคยอยู่ด้วยกันมาอย่างพ่อกับลูก”

“แล้วถ้าอามาคืนนี้ พี่ทวีจะพูดอะไรกับอา?”

“ขอโทษเปิ้นที่เคยลุกล้ำกันมา” เขาตอบทันที

“บางครั้งเปิ้นว่าเฮา ด้วยความที่เฮาเป็นคนมันต้องมีความโมโหน้อ อย่างผมทำสะพานเล็กๆ ทำเสร็จแล้ว เปิ้นมาว่า ไม่ทำๆ ไม่สวยๆ เฮาก็ว่า ‘แล้วทำยังไงครับ’ ผมนี่เถียงลุง เปิ้นจะมีใบหน้าดุ-เสียงดัง บุคลิกภายนอกเป็นอย่างนั้นนะ แต่ผมอยู่กับเปิ้นมานาน ขี้โกรธน่ะลุง แต่หายเร็ว”

ในตำบลโป่งแยงแห่งนี้ หากใครทำงานที่สวนทูนอินมักได้รับความไว้วางใจด้านการเงินเสมอ – เครดิตดี

แต่.. ถ้าคนงานคนไหนริใช้เครดิตนั้น

“ไอ้ห่า! กูบอกว่าอยากได้เงินอย่าไปเอาข้างนอก บอกให้มาเอาที่ติ๋ม”

ทวีเล่าว่า ลุงปุ๊ของเขาห้ามเด็ดขาดเรื่องเดียวคือเรื่องการพนัน

“เปิ้นบ่เตือนเรื่องเล่นผู้หญิงเพราะเปิ้นผ่านมาแล้ว แต่เล่นพนันเปิ้นเตือน เปิ้นบอกอย่าไปเล่นเสียดายเงิน ไอ้ห่า! ซื้อเหล้าซื้อเบียร์กินดีกว่า เปิ้นห้ามเล่นการพนันแต่เล่นผู้หญิงบ่ว่า”

“วันที่ 15 มีนาคม ที่นี่คงมีแต่ความเศร้า?”

“บ่มีความเสียใจ ดีใจด้วยซ้ำ” คำตอบทวี เรียกสายตาทุกคู่ผุดขึ้นมาจากแก้วเหล้า “มันบ่ต้องทรมานเปิ้น กินก็บ่ได้ อยากกินหยั๋งก็บ่ได้ หมอห้ามหมด กินปลาดุกก็บ่ได้ แกงปลาไหลใส่กล้วยน้อย แกงกะท้อนใส่กบ เปิ้นทรมาน”

“กูจะตายเมื่อไหร่ ไม่รู้เว้ย จะทำอะไรก็ลำบาก”

“เปิ้นก็รู้ตัวนะลุงน่ะ”

“เอ็งอย่าไปโศกไปเศร้าเลย ถึงคราวกูตายแล้ว” แม้ไม่เคยยินสำเนียงพูดของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่ยอมรับว่า นี่แหละสำเนียงพูดของเขา

“ถ้ากูตาย เอ็งก็อยู่บนดอยนี่นะ อย่าไปไหนนะ บ้านก็ปลูกให้อยู่แล้ว มึงอย่าไปไหน อยู่กับพี่เริง พี่จ่อย อยู่ดูแลสวนกูนี่แหละ” เป็นคำท้ายๆ ที่ลุงปุ๊พูดไว้กับทวี

เขาฝากดูแลคนกับต้นไม้

 

หอมราตรีในเรือนคึกฤทธิ์

เรือนปั้นหยาและบ้านทุกหลังที่ตั้งอยู่บนเนินดินหรือลาดต่ำ รวมถึงต้นไม้ โขดหิน สระน้ำ ถูกบรรจงออกแบบและจัดวางในตำแหน่งที่ ’รงค์ วงษ์วงษ์สวรรค์ คิดว่างามที่สุด
ผืนป่ารุงรังบนดอย ราวกับเขาเป็นนกบนฟ้า บินร่อน ก้มหน้าลงมอง แล้วจัดวางองค์ประกอบให้ชีวิตที่นี่

เกือบ 4 ทุ่ม เดินลาจากวงต้นไม้และรุ่นบุกเบิกสวนทูนอินลงไปที่ลาดต่ำ ผ่านประติมากรรม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักคิด ผู้ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คารวะ

ทุกวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี ลูกศิษย์อย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะทำพิธีเปลี่ยนแว่นตาที่สวมอยู่ให้ใหม่

เดินตามทางเดินไปไม่ไกล จะพบกับ ‘บ้านมิวเซียม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ ในเรือนปั้นหยานั้น มีคนหนุ่มสี่นายนั่งอยู่ก่อน

ธาตรี แสงมีอานุภาพ และ ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ สองช่างภาพที่ขึ้นมาเป็นเรี่ยวแรงด้านความทรงจำบนแผ่นกระดาษให้ครอบครัว ‘วงษ์สวรรค์’ ในงานที่เพิ่งผ่านพ้น

ต้นฝน ทรัพย์นิรันดร์ และ สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ บักจ่อย สองเพื่อนซี้ที่แก้ผ้าโดดน้ำคลองสมัยที่รุ่นพ่อยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านริมคลอง – นนทบุรี

พวกเราจึงรวมกันเป็นห้าคน และต่างเป็นคนแปลกแก้วของกันและกัน นอกจากสองเพื่อนซี้คู่นี้

“กูเหงาว่ะ” บักจ่อยทำความรู้สึกตกหล่นต่อหน้าขวดเบียร์ที่วางไว้หลายขวด

“เออ มันต้องใช้เวลาหน่อย” ต้นฝนทำหน้าที่เพื่อนหอบเก็บความรู้สึกนั้นมาตระคองกอด

“กูว่า… มันเร็วไป”

สเริงรงค์เป็นสถาปนิกที่อเมริกา เขาเดินทางจากอเมริกากลับบ้าน หลังลมหอบเอาความวิตกลัดฟ้าข้ามไปฝาก

แต่… เขากลับมาไม่ทัน

เรารู้เพียงแค่นั้น และไม่ปรารถนาจะลงลึกเข้าไปในความรู้สึก – สาบาน

แอลกอฮอล์และเรื่องราวเริ่มทำให้เราไม่แปลกแก้วกัน

เราคุยกันตั้งแต่เรื่องความรัก ผู้หญิง การแต่งงาน เด็กแว้น สิ่งแวดล้อม ศาสนา และชีวิต

ขอสารภาพว่า เราไม่ได้กดบันทึกเส้นเสียงเหล่านั้นลงเทป – เรคคอร์ด สุ้มเสียงเดินทางเข้ารูหู เลี้ยวลดไปมา ชำแรกสู่ความทรงจำ

“สึนามิ แม่งทำคนรับบริจาคเป็นง่อย” ใครคนหนึ่งสบถค่อนข้างสุภาพ

“กูมีความเชื่อว่า มนุษย์แม่งมีศักดิ์ศรี” เพื่อนของเขาไม่ลดราวาศอก

ใครบางคนสรุปว่ามันเป็นเรื่องของการแจกปลาและวิธีการจับปลา

…………

“ถ้าเขามา มึงก็คุยกับเขาสิ” ต้นฝนว่า

“พ่อกูใจดีจะตาย”

”77 มีคนซื้อเลข 77 งวดที่กำลังจะออก” ผู้หลงรักตัวเลขเอ่ยแทรก

“ขอโทษ, พ่อผมไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ว่ะ”

…………

เรามีความรู้สึกว่า สเริงรงค์ตอนกลางวันกับสเริงรงค์ในเรือน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ค่อนข้างต่างกันในที่แห่งนี้เขาดูลุ่มลึกกว่า ชัดเจนกว่า หรือตอนกลางวัน เราไม่ได้เปิดปากพูดกัน

“จะมีเรื่องอะไรในวงเหล้าก็ตาม สุดท้ายมักก็มีเรื่องศาสนา” ช่างภาพหนึ่งในสองคนนั้นว่า

“วันที่ผมบวชเป็นพระ แล้วโยมพ่อโยมแม่นิมนต์มาฉันท์เพลที่บ้าน” น้ำเสียงของสเริงรงค์ทำให้ทุกหูเงี่ยฟัง

“ตอนนั้นผมบวชมาได้เดือนหนึ่ง มีความสุขมาก ผมก็บอกโยมพ่อว่า อาตมามีความสุขมากเลย อาตมาอาจจะบวชไม่สึกนะ” เขาเว้นจังหวะ ก่อนปล่อยสำเนียงกังวานใหญ่ที่ฟังคุ้นเคย

“เฮ้ย! ชีวิตทางโลกมันยังมีอะไรให้ศึกษาเรียนรู้อีกเยอะ”

“ถ้าเป็นพ่อคนอื่นคงดีใจที่ลูกอยากบวช แต่ผมว่ามันก็ใช่ ผมคิดว่าคนเราจะอะไรมาก เป็นคนดีสักสองวัน ชั่วหน่อยสักสองชั่วโมง มันก็โอเคแล้ว”

………

ตี 1 กว่า, สเริงรงค์มองไปทางห้องทำงานที่ยกตัวขึ้นสูง ที่ที่ครั้งหนึ่ง พ่อของเขาเคยนั่งอยู่ในนั้น

“เชื่อมั้ย ผมรู้สึกว่าไม่อยากเป็นสถาปนิก เพราะอะไรรู้มั้ย” เขาว่า “เพราะผมเห็นพ่อไม่เขียนก็อ่านอยู่ตลอดเวลา เข้าห้องน้ำก็มีหนังสือ เวลาป่วยก็ต้องมีกระดาษกับดินสอ มันทำให้ผมคิดว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องอยู่กับมันทั้งชีวิต ผมรู้สึกว่าผมไม่สามารถอยู่กับสถาปัตยกรรมได้ตลอดเวลา”

แสงไฟในเรือนปั้นหยาแห่งนี้สาดจับที่เขา เงาที่ทอดร่างเขาทำให้เรารู้สึกว่า นี่คือเฉดเงาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

สเริงรงค์ลุกขึ้นเดินพร้อมกับเรา เราสองคนแยกทางกันตรงบริเวณรูปปั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กลิ่นหอมก็ดอกราตรีโชยมาตั้งแต่หัวค่ำ และยังไม่เจือจาง
สเริงรงค์เดินหายไปในความมืด

ปลายทางคือห้องทำงานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

และเบื้องหลังของเขา ยังอวลด้วยกลิ่นหอมของดอกราตรี

 

 

TIM, I LOVE YOU

ความรักของพญาอินทรีกับลมใต้ปีก

ความรักคืออะไร? ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ หากใครคนนั้นไม่เคยหิวรัก

’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในวัย 41 เคยพูดไว้ว่า ผมไม่รู้จักความรัก สาบาน ผมบอกคุณตรงๆ ไม่รู้ว่ามันเป็นไง อย่างโรมีโอกับจูเลียตของเชคสเปียร์นั่น เรียกความรักรึ ผมว่าไม่ใช่นะ เป็นความหลงใหลของกวีคนหนึ่ง…

พ.ศ.ที่เขาสาบานว่าไม่รู้จักความรัก ตรงกับพ.ศ.ที่ วงดำเลิง วงษ์สวรรค์ ลูกชายคนโตเกิด ก่อนหน้านั้นสามปี เขาพบกับ สุมาลี ตระการไทย ที่โคราช
และหลงรักทันที

ปีต่อมา 2514 ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ฝากแหวนไว้ที่นิ้วนางด้านซ้ายของเธอ ก่อนที่ปีถัดมา สุมาลีจะเปลี่ยนนามสกุลเป็น วงษ์สวรรค์

บ่ายวันถัดมา ใครบางคนทำน้ำตาร่วงลงจากฟ้า ฝนชุ่มสวนทูนอิน นั่นทำให้เราติดอยู่ในเรือนใหญ่ ซึ่งมี สุมาลี วงษ์สวรรค์ หรือ ป้าติ๋ม นั่งอยู่กับลูกชายทั้งสอง และมิตรผู้มาเยี่ยม

“ไม่หรอก ก็ธรรมดานี่แหละ (หัวเราะ) จะไปขอลายเซ็นนี่ไม่เอา” ป้าติ๋มบอกไม่ได้กรี๊ด ’รงษ์ วงษ์สวรรค์ ในพ.ศ.นั้น เพียงแต่เคยอ่านงานของเขาอยู่บ้าง

“อ่านตามนิตยสารฟ้าเมืองไทย ตอนนั้นที่ได้อ่าน ป้าหารายได้พิเศษไปสมัครขายหนังสือที่ร้านหนังสือใกล้บ้านตอนเย็น คิดว่าเขาเขียนหนังสือไม่เหมือนนักเขียนคนอื่น เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างในตอนแรก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นแฟนหนังสือติดตามงาน”

หงา คาราวานบอกว่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์ในวัยหนุ่ม ถือเป็นดารา-เท่-หล่อ-ดูดี ขณะตัวหนังสือของเขาปรากฏผู้หญิงอยู่หลายหล่อน

“คิดค่ะ จากตัวหนังสือก็คิดเหมือนคนอื่นนะคะ แต่การกระทำของเขาที่ไปหาเราที่โคราช ไปบ่อยสม่ำเสมอ ก็คิดว่าเขาคงไม่หลอกเราหรอก” ป้าติ๋มหัวเราะ

“ไม่งั้นก็ไม่แต่งงานด้วย เราก็ยังเป็นสาวอยู่นี่”

ในสมัยที่ยังอาศัยอยู่บ้านบางซ่อน และต่อเนื่องมาถึงยุคบ้านริมคลอง ป้าติ๋มเล่าว่า ญาติน้ำหมึกจะแวะเวียนมาที่บ้านเป็นประจำ เมื่อนึกถึงแกงหม้อโต ป้าติ๋มก็ระบายยิ้ม

“สมัยนั้นลูกยังไม่เกิดหรอกแต่งงานกันใหม่ๆ ที่บ้านเราก็จะมีญาติน้ำหมึกมาอยู่เยอะ ศิลปิน นักเขียน อย่างหงา คาราวาน ปั๋ง–คุณเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ คุณศิริพงศ์ จันทร์หอม แล้วก็อีกหลายท่านก็จะมารวมตัวอยู่ที่นั่นน่ะค่ะ ป้าจะทำแกงหม้อโตๆเอาไว้ คือใครมาก็มาตักทานได้เลย ข้าวก็มีหุงไว้ ไข่ก็จะเตรียมไว้เยอะ เวลาใครมาก็…พี่ติ๋มขอไข่ดาวฟอง ไข่เจียวฟอง…ถ้าอาหารหมดก็จะเป็นอย่างนี้ล้อมวงทานข้าวกันเยอะค่ะ”

หลังจากแต่งงาน ป้าติ๋มลาออกจากงานเสมียนที่ศาลเด็กและเยาวชนที่โคราช มานั่งแท่นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ภายในบ้าน

ทำกับข้าว ดูแลลูก-สามี-ญาติน้ำหมึก, เลขาฯ, จดบันทึก, ค้นข้อมูล, ส่งต้นฉบับ และ ฯลฯ

“ใครจะเชื่อบ้าง ป้านั่งรถเมล์ไปส่งต้นฉบับ ฟ้าเมืองไทย เดลินิวส์ โลกดารา พวกคุณไม่ทันหรอกนะโลกดารา” สิ้นเสียงป้าติ๋ม ผู้ฟังหลายวัยต่างยกมือแย่งแย้งกันชุลมุนในเรือนหลังใหญ่

ต้นฉบับของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ขึ้นชื่อเรื่องความสะอาด-ข้อมูลถูกต้อง-เนี๊ยบ-ละเมียดละไม และ ฯลฯ เขาเขียนด้วยดินสอเป็นร่างแรก หากเขียนผิด จะใช้น้ำยาลบคำผิดลบ ก่อนจะพิมพ์ดีด

“หลังๆ มานี่ เขาลองใช้คอมพิวเตอร์ แต่เขารับไม่ไหว ก็เลยไม่เอา ทำไม่เป็น ไม่รู้อะไรดาวขึ้นเต็มเลย (หัวเราะ)” ป้าติ๋มเล่า

งานเขียนในบางประโยคบนบรรทัดเล็กๆ ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มีคนเล่าให้ฟังว่า เขาใช้เวลาค้นข้อมูลเพื่อนำข้อมูลที่ถูกต้องสู่สายตาคนอ่านนานค่อนคืน แม้ประโยคนั้นจะผ่านสายตาคนอ่านไม่กี่วินาที

และป้าติ๋มคนนี้คือบรรณารักษ์

“บางทีก็ค้นสุดฤทธิ์เลยเพราะหนังสือที่บ้านเยอะมาก เป็นบรรณารักษ์ของบ้านล่ะค่ะ”

บนถนนของการเดินทาง เขานั่งหลังพวงมาลัย ขณะป้าติ๋มนั่งเคียงข้าง หากผ่านแม่น้ำ ลำคลอง ป้ายบอกทาง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มักวานให้ป้าติ๋มเป็นคนจดบันทึก

“เขามักจะให้จดเวลาด้วยจะได้รู้ว่าใช้เวลาเท่าไหร่จากจุดนี้ไปจุดนั้น แล้วมีสถานที่อะไรที่มีชื่อแปลกๆ จะจดหมดคะ เราไปจากอำเภอนี้ไปอำเภอนั้น ระหว่างทางมีสะพานมีแม่น้ำอะไร บ้านอะไร เราออกจากตรงนี้เวลาอะไรไปถึงจุดนั้นเวลาไหน เขาเป็นคนละเอียดน่ะค่ะ”

“ในเรื่องการเดินทางมีอีกอย่างหนึ่ง เขาจะไม่ให้ลูกหลับเขาไม่ชอบให้ลูกๆ หลับ” บักหำน้อยเสริมขึ้น

“เออ ใช่ๆ ใช่เลยคะ”

“เขาอยากให้ดูต้นไม้ดูธรรมชาติดูสิ่งแวดล้อมที่เราผ่านไป เขาไม่ชอบมากๆ คือเขาไม่ดุหรอก แต่เขาไม่ชอบให้ลูกๆ เดินทางแล้วมานั่งหลับ มันไม่ได้ประโยชน์อะไร” ลูกชายคนโตของเขาพูดถึงพ่อ

คำบอกเล่าของวงดำเลิงพาเรานึกถึงประโยคหนึ่งของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ : การเดินทางคือสายตาของนักเขียน

“แม้กระทั่งขับรถไปก็บอกให้ป้าร่าง เขาคิดออกมาแล้วให้ป้าเขียนในกระดาษ จะมีสมุดตลอด พอถึงบ้านเขาก็พิมพ์ ทำอย่างนี้หลายครั้งเพื่อต้นฉบับจะได้ไม่ขาด ป้าจดค่ะแต่พอถึงบ้านเขาทำเองทุกอย่าง พิถีพิถันเรียบร้อยสะอาด ช่วงหลังป้าก็เสนอพิมพ์ให้นะคะ แต่เขาไม่เอา เขาพิมพ์เอง เขาว่าเขาพิมพ์ได้”

หลังทำต้นฉบับเสร็จ ต้นฉบับจะถูกทำก็อปปี้ไว้สามชุดเพื่อรอเข้าแฟ้ม และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ป้าติ๋มได้มีโอกาสอ่าน — เป็นสายตาแรก

“บางประโยคนะคะ อย่างที่บอกน่ะค่ะ ป้าจะได้อ่านเป็นคนแรก แล้วบางประโยคของอา เราอ่านแล้วหัวเราะขึ้นมาเลย (หัวเราะ) อูย…คิดได้ยังไง แต่ก็ไม่ได้บอกเขานะคะ เราก็อ่านในฐานะเราเป็นนักอ่านคนหนึ่ง เออ ประโยคนี้คิดได้ยังไง—อย่างนี้ก็มีเยอะ”

หลายทศวรรษที่งานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่เคยลาพักร้อนหนีห่างผู้อ่าน คำว่า ‘พญาอินทรี’ จึงแทนการกรำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่พญาอินทรีจะไม่สามารถบินได้เลย หากวันนั้นไร้ลม— ลมใต้ปีก

กรรณิกา เพชรแก้ว ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ผู้ใกล้ชิดกับครอบครัววงษ์สวรรค์ เป็นคนใช้คำนี้

“อาปุ๊เคยพูดหรือเขียน ว่าการที่นั่งมองออกไปนอกหน้าต่างก็คือการทำงานของนักเขียน ซึ่งพี่คิดว่าถ้าภรรยาไม่เข้าใจ ครอบครัวไม่เข้าใจ ก็จะขัดแย้งตรงนี้ แต่พี่ติ๋มเข้าใจ พี่ติ๋มนอกจากมีความรักแล้ว อย่างหนึ่งที่เขามีกับสามีคือความศรัทธา ศรัทธาต่อตัวนักเขียนคนนี้มาก เขาทุ่มเทรับใช้ทุกอย่างไม่ให้มีอะไรมาขุ่นข้องหมองใจ เวลาอานั่งคิดงาน พี่ถึงบอกว่า งานหลายปีที่ผ่านมาของอาที่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งก็คือตรงนี้ด้วย เขาไม่ต้องคิดเรื่องอื่นอีกเลย—เขียนหนังสืออย่างเดียว”
“ป้าติ๋มครับ, อาปุ๊เป็นคนโรแมนติกมั้ย” เราถาม

“ก็มี… ก็มีนะคะ ช่วงที่เขาเข้าโรงพยาบาลช่วงหลังๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาเพ้อมากๆ เพ้อแทบจะสองวันสองคืนเลย พอเขาหายเพ้อเรียกสติกลับคืนมา…” ป้าติ๋มหยุดพูด หันไปทางวงดำเลิง “อันนี้แม่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย”

เขาเงียบและรอฟังอย่างตั้งใจ

“ติ๋ม—ผมรักคุณ”

 

 

น้ำตาของปีกนก

หลายวันแล้วที่เราลงมาจากสวนทูนอิน และโบกมือลาเมืองเชียงใหม่ แต่ยังมีเรื่องราวหลายสิ่งติดค้างในความทรงจำ โดยเฉพาะเที่ยงวันหนึ่งในศาลาวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
หลังเพล, เรานั่งอยู่กับป้าติ๋ม และวงดำเลิง ต่อหน้ารูปถ่ายของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

ทั้งห้องเงียบจนได้ยินเสียงฝีเท้าของความเศร้าย่ำอยู่บนหัวใจคนทั้งสอง

“ไม่มีอะไรบอกเหตุเลย” ป้าติ๋มเอ่ยขึ้น

เช้าวันนั้นปกติดีทุกอย่าง

“เขาเริ่มทานอาหารได้หลังจากทานไม่ค่อยได้มา 3-4 เดือน เริ่มหิวเริ่มอยากทานนั่นทานนี่ อยากทานอะไรป้าก็ไปซื้อหามาทำให้ทาน เออ เขาบอกกับป้าว่า พรุ่งนี้วันเสาร์จะเข้าไปทำงาน ให้เด็กทำความสะอาดห้องทำงานหน่อย อาจจะไปทานอาหารเช้าที่นั่น นี่แหละค่ะ ความต้องการสุดท้ายของเขา”

“เขาเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน” บักหำน้อยว่า

“…………………..” เราเงียบ

“เขาบอกว่า ชีวิตเขามีแต่อ่านกับเขียน มันก็จริงน่ะค่ะ อ่าน—จะทานข้าวก็อ่าน มีแต่เวลาหลับนั่นแหละ นอกนั้นก็นั่งโต๊ะทำงาน เขาบอกว่าเขาไม่คิดอะไรหรอก คิดแต่เรื่องที่จะเขียน นี่ความจริง ผมไม่คิดอะไรผมคิดแต่เรื่องที่จะเขียน—พรุ่งนี้จะเขียนอะไร”

หน่วยน้ำตาของป้าติ๋มออกมายืนปริ่มๆ

“อาปุ๊เคยร้องไห้ให้ป้าติ๋มเห็นมั้ยครับ?”

“ไม่ค่อยหรอก หลังๆ นี่นะ ป้าสังเกตเห็น เวลาที่ลูกจะกลับ (อเมริกา) เห็นเขาจะมีน้ำตา ไม่รู้ว่าทำไม คงจะอายุมากแล้วมั่งค่ะ พ่อจะน้ำตาซึม”

“แล้วเขาจะชอบพูดกับเราว่าขอบคุณสำหรับทุกสิ่งนะที่ทำให้กับบ้าน แล้วเขาจะบอกว่าเขารักเรา แล้วเราก็จะเห็นอย่างที่แม่เห็นคือน้ำตาซึม ก็จริงอย่างที่แม่พูด ทุกครั้งที่เรากลับมาบ้าน แม้กระทั่งทางสายโทรศัพท์เวลาเราคุยกับเขา เขาจะพูดกับเราว่าภูมิใจในตัวเรา ดีใจที่ทำให้ที่บ้าน”

“อาปุ๊มักพูดคำไหนกับพี่เลิง”

“บอกเสมอว่าให้เป็นคนที่ทำงานหนักแต่ต้องพักผ่อนบ้าง”

“ให้รักเพื่อนมากๆ” ป้าติ๋มเสริม

เทป-เรคคอร์ดถูกสั่งให้หยุดทำงาน เพราะหน่วยน้ำตาที่เริ่มไถลตัวลงมาจากดวงตาของป้าติ๋ม

“… อยากจะพูดอะไรหน่อยหนึ่งเนาะ” ป้าติ๋มพูดขึ้น “ตั้งแต่วันแรกน่ะค่ะ ลงมาจากบ้านก็ฉุกละหุกมาก มาอยู่โรงพยาบาลแล้วก็มาอยู่วัด ยังไม่ได้ขึ้นสวนทูนอินเลย เพิ่งขึ้นเมื่อคืนก่อน ป้าขึ้นไปนะ เหมือนว่าทั้งสวนทูนอินเขาจะโศก… ต้นไม้เหมือนเขา… ขาดใบร่วงน่ะลูก….”

“…………….” เราเงียบ และว่างเปล่า

“ค่ะ… เราขับรถผ่านไป ต้นไม้ต้นนี้….”

“พี่ก็รู้สึกอย่างนั้นนะ แต่ไม่ได้คุยกับแม่หรอก ก็คือขึ้นไป เหมือนทั้งไม้ทั้งป่าเหมือนเขาเงียบ”

“เหมือนเขาเศร้า… เหมือนไม่มีชีวิต…. ดอกไม้ก็บานนะ… บานสวยงาม แต่ยังไงก็ไม่รู้… มันไม่มีชีวิต ป้าเข้าไปห้องน้ำเห็นผ้าเช็ดตัวผืนที่ตากไว้ให้เขาครั้งสุดท้าย… ก็ยังตากอยู่เลยลูก ป้าตากไว้ยังไงก็ยังอยู่อย่างนั่นแหละ…”

“บรรดาแมว – เราเลี้ยงแมวไว้หลายตัวน่ะครับ พอเราลงจากรถ หลายๆ ตัวก็วิ่งมาหาก็เดินคลอเคลียจนถึงบ้านทุกตัวเลย มาอยู่กับเราไม่ไปไหนเลย ปกติสัญชาตญาณแมวก็อิสระใช่มั้ย อันนี้มาคลอเคลียไม่ห่าง ทั้งๆ ที่บางตัวอย่างไอ้แดดไอ้ฝนไม่ค่อยมาสุงสิงกับเรา ทีนี้มานั่งเฝ้าประตูทางออกเลย เขาคงรู้สึกได้ เขาคงคิดถึงพ่อ”

“……………………”

“……………………”

หลายวินาที ไม่มีใครถาม ไม่มีใครตอบ

แน่นอนที่สุด ไม่มีช้างเท้าหน้า-เท้าหลัง เราถือคติรัสเซีย ว่านกปีกเดียวบินไม่ได้ ผู้ชายกับผู้หญิงก็เหมือนนกคนละปีกที่มารวมกัน…

แหงนหน้ามองประโยคจากบรรทัดข้างบนที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยพูดไว้เมื่อปี 2537 แล้วกรุณาก้มหน้าลงบรรทัดถัดไป

สุมาลี วงษ์สวรรค์

คือปีกอีกข้างของเขา.


หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Main Way นิตยสาร WAY ฉบับที่ 24 ปี 2552

 ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในสายตา อนุชิต นิ่มตลุง

 

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า