Run from rape victim: วิ่งให้โลกรู้

เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพวิ่ง : Larisa Armstrong for ProjectBRA
ภาพสัมภาษณ์: Dahed Photography

 

18 กรกฎาคม 1999 หลังจากเลิกงาน ระหว่างเดินทางกลับที่พัก แคลร์ แมคฟาร์เลน (Claire Mcfarlane) วัย 21 ปี ถูกชายผิวดำ ที่เธอเรียกว่า Black African ลากตัวไปข่มขืน ชายคนนั้นมีอาวุธครบทั้งปืน มีด และสเปรย์พริกไทย

เธอโดนจู่โจมและต่อยเข้าท้องหลายทีจนทรุด ระหว่างการข่มขืนกำลังดำเนินไป สติสัมปชัญญะสั่งให้เธอหลอกไปว่า ตัวเองเป็นโรคร้ายและกำลังจะตายไปในปีนั้น แต่คนร้ายไม่เชื่อ ยังคงเดินหน้าข่มขืนต่อไป แต่จนแล้วจนรอดแคลร์ก็พยายามรวบรวมสติ พูดคุยกับคนร้ายต่อไป

ความพยายามของเธอไม่สำเร็จ…

สุดท้าย ร่างเปลือยเปล่าของแคลร์ถูกทิ้งไว้ริมถนนกรุงปารีส

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล เธอนอนรอหมออีกห้าชั่วโมง และเมื่อหมอมาถึง แม้จะโดยบังเอิญ หมอที่เข้าเวรวันนี้มีรูปร่างและสีผิวคล้ายกับผู้ที่ข่มขืน ความวิตกหวาดกลัวจู่โจมเข้าทวีคูณ

“อาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่เพิ่งผ่านการถูกข่มขืนมา มันลำบากใจมาก”

ชีวิตแคลร์เปลี่ยนไปทุกอย่าง ความฝันเรื่องการทำงานด้านศิลปะถูกโยนทิ้งไป ความหมดหวังเข้าแทนที่ และก็เหมือนกับหลายๆ คนที่คิดอยากฆ่าตัวตาย

แต่วันนี้แคลร์ตัดสินใจเล่าเรื่องราวของเธออย่างละเอียดสู่สาธารณะ ผ่าน ‘การวิ่ง’

หลังจากเข้มแข็งพอจะเปิดเผยเรื่องถูกข่มขืนต่อสาธารณะผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา แคลร์ตัดสินใจวิ่งในระยะทาง 3,000 กิโลเมตร 186 ประเทศที่มีชายฝั่งทะเล เพื่อเรียกร้องให้สังคมตระหนักและช่วยเหลือเหยื่อการข่มขืน ภายใต้โปรเจ็คท์ Beach Run for Awareness (ProjectBRA)

 

ปลายเดือนที่แล้ว แคลร์เดินทางมายังเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศลำดับที่ 10 ในการวิ่ง จากแผนที่วางไว้ว่าต้องใช้เวลาทั้งหมดสามปี โดยใช้เวลาประเทศละ 7-10 วัน และพยายามวิ่งด้วยเท้าเปล่าถ้าทำได้

ก่อนหน้าออกวิ่งหนึ่งวันในภูเก็ต แคลร์แวะมาพูดคุยและเปิดเผยเรื่องราวให้เราฟัง ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ภายใต้เสื้อเนื้อส่าหรีสีสดใสที่ได้มาจากการวิ่งในอินเดีย

หลายๆ ครั้งมีคนบอกว่า “การให้เหยื่อเล่าซ้ำ มันก็ไม่ต่างอะไรจากการถูกข่มขืนซ้ำ” หลายคนกลัวเรื่องนี้ แต่แคลร์กลับชิงพูดก่อนว่า

“ทุกคำถามมีค่าหมด ฉันไม่มีปัญหา (ตีตรา) กับคำถามใดๆ”

โดยไม่ต้องรอให้ใครถาม เธอเริ่มด้วยการเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ฟังอย่างชัดถ้อยชัดคำ

“หลังจากถูกข่มขืน ฉันถูกส่งเข้าโรงพยาบาล อยู่ในห้องฉุกเฉินเกือบ 10 ชั่วโมง ฉันได้รับบาดเจ็บเยอะมาก ขณะเดียวกันก็ต้องให้แพทย์ตรวจหาหลักฐานที่ร่างกายอย่างละเอียด

หลังจากพักฟื้นในโรงพยาบาลก็ไปให้ปากคำกับตำรวจ เพื่อตอบคำถามต่างๆ เช่น เหตุการณ์เป็นอย่างไร หน้าตาคนที่ข่มขืนเป็นอย่างไร ใส่ชุดอะไร ฯลฯ ทำอย่างนี้ทุกวันติดต่อกันสามเดือน

จนฉันกลับบ้านที่ออสเตรเลีย ก็เลือกที่จะเขวี้ยงมันออกไปจากชีวิต แกล้งลบออกไปจากสมองเกือบๆ 10 ปี จนตำรวจที่ฝรั่งเศสติดต่อมาว่าจับผู้ต้องสงสัยได้แล้ว ฉันต้องกลับมาที่ปารีสอีกครั้งเพื่อชี้ตัว แน่นอนฉันจำหน้าเขาได้ ชี้ตัวไม่พลาด

ฉันต้องพูดเรื่องทั้งหมดอีกครั้งกับศาล ผู้พิพากษา และเข้าไปตรวจร่างกายเพื่อให้ได้หลักฐานทางการแพทย์มาพิสูจน์หาร่องรอยการถูกทำร้าย ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของฉัน

ฉันต้องบินไปกลับออสเตรเลีย-ฝรั่งเศสเป็นเวลาหกปี เพื่อต่อสู้คดีที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ เองทั้งหมด ประมาณ 900,000 บาท สุดท้ายเขาถูกจำคุกทั้งหมด 12 ปี แต่เขาก็ถูกปล่อยตัวออกมาหลังรับโทษไม่ถึงสี่ปี และศาลปฏิเสธคำร้องขอค่าชดเชยของฉัน

นั่นทำให้เหตุการณ์ทั้งหมดย้อนกลับมา และคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องออกมาพูดเสียที

เพราะอะไรคุณจึงตัดสินใจออกมาพูดอีกครั้ง

ฉันตัดสินใจที่จะเปิดเผยเรื่องตัวเองสู่สาธารณะเมื่อสองปีที่แล้ว (ปี 2014) ตอนนั้นฉันรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงพอแล้ว ฉันบอกกับเพื่อนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ในออสเตรเลีย แล้วเธอก็เขียนบทความเรื่องนี้ ตอนนั้นฉันรู้สึก (นิ่งคิด) ว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ถูกเวลาแล้ว แม้จะกลัวๆ อยู่บ้าง เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เมื่อบทความถูกตีพิมพ์ มันอเมซิ่งมาก มีฟีดแบ็คทางบวกเข้ามาเยอะมาก คนที่เผชิญเหตุการณ์เดียวกันติดต่อเข้ามาหาฉันมากมาย ทั้งหมดเป็นกำลังใจให้ฉันกล้าที่จะเดินหน้าต่อไป

ตอนนั้นสิ่งที่คุณกลัวคืออะไร

คือการเปิดเผยตัวเอง ฉันกำลังบอกโลกในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แม้ฉันจะผ่านการให้การกับศาลและบอกเพื่อนๆ มาแล้วก็ตาม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันพูดกับทุกคนบนโลกว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับฉัน

มันไม่ง่ายเลยที่จะเปิดตัวเองให้ทุกๆ การตอบรับ แต่มันถึงเวลาแล้วที่ฉันจะทำอย่างนั้น แม้ผลจะออกมาแย่ แต่ฉันก็เตรียมใจรับมันไว้

ก่อนหน้านั้นคุณเคยไปพบจิตแพทย์บ้างไหม

เคยค่ะ เมื่อตอนเกิดเรื่องใหม่ๆ ในฝรั่งเศส เขาให้ฉันพบจิตแพทย์ และจิตแพทย์ก็ให้ยานอนหลับกับยาคลายเครียด แล้วก็บอกฉันว่าเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง

ฉันรู้สึก เอิ่มมมม…ไม่รู้จะพูดอะไรดี เมื่อฉันกลับไปออสเตรเลีย ฉันทำตัวให้ยุ่งตลอดเวลา และบอกตัวเองว่า “ฉันสบายดี”

ตอนนั้นฉันกลับไปเรียนด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัย เวลาที่เหลือฉันเป็นครูสอนดำน้ำ ฉันทำสามงาน ทำงานกลางวัน-กลางคืน สุดสัปดาห์ ฉันไม่มีเวลาที่จะพัก ฉันไม่ต้องการที่จะมีเวลา หรือช่องว่างที่ทำให้ฉันคิดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับตัวเอง

มันไม่ใช่วิธีการที่เลวร้ายนะที่เราจะปฏิเสธอะไรสักอย่าง เวลาที่คุณจำเป็นต้องปกป้องตัวเอง ฉันดีใจที่ผ่านมาได้และได้เยียวยาตัวเอง

10 ปีต่อมา ตำรวจจับคนที่ข่มขืนได้ ฉันต้องย้อนความทรงจำทั้งหมดอีกครั้ง ความรู้สึกมันแตกต่าง นั่นทำให้ฉันรู้ว่าฉันต้องได้รับความช่วยเหลือ จิตแพทย์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ฉันกต้องเก็บเงินเอาไว้ต่อสู้คดี วิธีบำบัดของฉันคือ ไปหาคนที่อยากให้ฟังจริงๆ นอกจากนั้นฉันก็ใช้วิธีรักษาด้วยตัวเอง ฉันอ่านหนังสือเยอะ หนังสือช่วยฉันได้มาก โดยเฉพาะหนังสือ self help ต่างๆ และกีฬา

ทำไมถึงเป็นกีฬา

ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นเล่นกีฬาด้วยเหตุผลอะไร แต่เมื่อคุณผ่านวันร้ายๆ ในชีวิตมา และคุณต้องการเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย เมื่อใดที่ฉันรู้สึกอ่อนแอ ตกต่ำ ฉันจะหันไปหากีฬา เพราะมันทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้น กีฬาสร้างสุขภาพที่ดี ช่วยทำความสะอาดจิตใจ และยังช่วยให้ร่างกายแข็งแกร่งขึ้น และความรู้สึกที่ร่างกายแข็งแกร่งขึ้น ทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้น มีพลังมากขึ้น ฉันรู้สึกได้จริงๆ จากข้างใน

และที่ฉันตัดสินใจวิ่งตามประเทศชายฝั่ง เพราะการวิ่งด้วยเท้าเปล่าเป็นสิ่งน่าสนใจ เหมือนได้รับพลังงานมาจากพื้นดิน ที่ช่วยเยียวยาร่างกายได้

ฝันร้ายบ่อยไหม

เป็นเวลา 5-7 ปี ที่ฉันฝันร้ายหลายคืน และกลัวการเข้านอน กว่าฉันจะผ่านมาได้ แต่ที่น่าสนใจคือ ฉันพบว่าระหว่างการเดินทางและแชร์ประสบการณ์ให้สังคม พูดเรื่องตัวเองเยอะๆ บางครั้งฝันร้ายก็กลับมา แต่ตอนนี้ฉันเรียนรู้ที่จะจัดการมันได้ ฉันโอเค ฉันมีวิธีบริหารให้มันช้าลง

คุณระมัดระวังตัวกับสภาพแวดล้อมรอบข้างมากขึ้นหรือไม่

ใช่ ฉันมีสติและระมัดระวังขึ้นมาก ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน มีใครอยู่รอบๆ ข้างบ้าง การวิ่งในอินเดีย ศรีลังกา ประเทศที่ปฏิบัติกับผู้หญิงอีกแบบหนึ่ง เหมือนผู้หญิงเป็น a piece of meat ที่ผู้ชายจะทำอะไรก็ได้ในที่สาธารณะอย่างถนน รถประจำทาง รถไฟ มันคือการคุกคามทางเพศอย่างร้ายกาจ และเกิดขึ้นทุกวัน เวลาไปอินเดียฉันจึงไม่เคยออกไปไหนตอนกลางคืน เวลาไปไหนก็ใช้แท็กซี่แทนการเดิน มันคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ

ข่าวการข่มขืนส่งผลกับคุณมากน้อยแค่ไหน

ฉันได้ข่าวข่มขืนจำนวนมากจากทุกๆ ที่ ตอนนี้ฉันเรียนรู้ที่จะเห็นใจ แต่ไม่เก็บเอามาเป็นปัญหาในใจ เพราะฉันไม่อยากแบกรับความเจ็บปวดไปมากกว่านี้

คุณรู้สึกอย่างไรกับผู้ชายทั่วไป และผู้ชายผิวดำแบบ Black African

ตอนแรกฉันรู้สึกเศร้ามากๆ ที่ถูกข่มขืนโดยคนผิวดำ ต่อมาก็รู้สึกแย่กับผู้ชายผิวดำ นั่นเพราะฉันคิดแบบสเตอริโอไทป์ พอเห็นคนกลุ่มนี้ก็เอาแต่ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงทำแบบนี้ พอเวลาผ่านไป ฉันจึงพยายามบอกกับทุกคนว่าอย่าเหมารวม ฉันไม่ชอบตัดสินคนอื่น

กับผู้ชายทั่วไปฉันไม่ได้รู้สึกเกลียด เพราะพวกเขาไม่ได้ทำอะไร สิ่งที่ฉันทำคือ พยายามเอาตัวเองออกมาเพื่อเยียวยา

ที่ผ่านมาฉันก็เคยคบผู้ชายนะ เพียงแต่ตอนนี้ไม่ได้คบ (ยิ้ม) ฉันอยากโฟกัสกับการวิ่งมากกว่า

ประเทศแรกที่ฉันตัดสินใจวิ่งคือ แอฟริกาใต้ เมืองเคปทาวน์ มันดีมาก อากาศดี ทรายนุ่ม มันคือการแสดงให้เห็นชีวิตหลังจากโดนข่มขืน ว่าจะหาวิธีก้าวข้ามมันได้อย่างไร และฉันผ่านมันมาได้จริงๆ อย่างโอเคด้วย และพอถึงจุดหมายเราลืมทุกอย่างไป เพราะเราโฟกัสกับมันอย่างเดียว เปรียบไปก็เหมือนการเดินทางของชีวิตนั่นแหละ

ถ้ามีโอกาสพูดกับคนที่เคยเจอเหตุการณ์อย่างคุณ แต่ยังคงปิดปากเงียบ คุณจะพูดว่าอะไร

การถูกข่มขืนไม่ใช่ความผิดบาปของคุณอย่างแน่นอน และไม่มีสิ่งใดที่คุณควรอับอาย ได้โปรดรวบรวมความกล้าในทุกเซลล์ร่างกายคุณ แล้วบอกกับใครสักคน

สิ่งที่ฉันอยากจะบอกคือ คุณไม่จำเป็นต้องบอกเรื่องนี้กับคนรู้จัก เพราะบางคนที่คุณรู้จักอาจตัดสินคุณ เราอาจเล่าให้คนที่ไม่รู้จักฟัง มีสายด่วนมากมายที่คุณสามารถคุยได้อย่างปลอดภัย

ถ้าเพื่อนถูกข่มขืนและเลือกบอกเราเป็นคนแรก เราจะช่วยเขาอย่างไร

คุณไม่จำเป็นต้องพูดอะไร หลีกเลี่ยงคำถามเช่น ตอนนั้นแต่งตัวอย่างไร ทำไมออกไปเดินคนเดียวตอนดึกๆ อย่างนั้น…มันคือการตำหนิ มันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แค่ฟังเขา และถามว่าอยากให้ช่วยอะไรบ้าง ฉันโอเคนะกับปฏิกิริยาอย่างอาการช็อกหลังจากฟังครั้งแรก เพราะเขาไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร มันโอเค เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญคือให้เขาเลือกว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร นี่คือกุญแจสำคัญของเรื่องนี้

คำถามคือสิ่งสำคัญ แต่ควรถามแบบถูกต้อง เช่น ให้ฉันพาไปไหนมั้ย คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง ต้องการอะไรมั้ย คุณอยากบอกอะไรมากกว่านี้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้น

ถ้าเราให้ความเห็นใจเขามากๆ มันจะเป็นข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน

แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจรู้สึกดี แต่บางคนจะยิ่งโกรธ แต่เชื่อว่าถ้าเรานั่งข้างๆ เขา และบอกว่าฉันจะฟังเธอ ให้เธอบอกว่าต้องการอะไร…มันไม่มากไปหรอก

อย่าลืมว่า ความเงียบ คือการโทษตัวเองอย่างหนึ่ง แต่การพูด คือการเรียกศักดิ์ศรีกลับคืนมา และให้อิสระกับตัวเองได้เยียวยา


สนับสนุนและเรียนรู้โครงการ ProjectBRA เพิ่มเติมได้ที่:
facebook.com/projectbra
projectbra.org
องค์กรช่วยเหลือผู้ถูกข่มขืน กระทำรุนแรงและคุกคามทางเพศ:
apsw-thailand.org
wmp.or.th

 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า